Activists protested in front of the Administrative Court in Chiang Mai in March, where they filed a lawsuit against the government for failing to protect people's health and the environment. Photo: Sayan Chuenudomsavad

ถอดบทเรียนวิกฤติ PM2.5 และอนาคตอากาศสะอาดของประเทศไทย I The Lessons Learned from PM2.5 and Right to Clean Air

ประเด็นเนื้อหาถอดความและเรียบเรียงจากเวทีเสวนา Dialogue Forum 4 l Year 4: ถอดบทเรียนวิกฤติ PM2.5 และอนาคตอากาศสะอาดของประเทศไทย I (The Lessons Learned from PM2.5 and Right to Clean Air) โดยสำนักข่าว Bangkok Tribune ร่วมกับ Decode.plus, ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม, และ SEA Junction ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเด นาวร์ (Konrad Adenauer Stiftung, Thailand Office)

สถานการณ์ภาพรวมวิกฤติ PM2.5

ผู้อำนวยการกองการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ พันธ์ศักดิ์ ถิรมงคล

PM2.5 มันคือมลพิษทางอากาศตัวหนึ่ง ซึ่งการจัดการหรือการแก้ไขมลพิษทางอากาศจริงๆ แล้วมันมีกระบวนการหรือวงจรในการจัดการอยู่ ซึ่งการแก้ไขตัวนี้ก็ใช้วงจรนั้นเหมือนกัน แต่พูดถึงวงจร จุดเริ่มต้นมันอาจจะดูยาก อยากจะเริ่มด้วยการบ่งชี้ปัญหา บ่งชี้สถานการณ์

ในสถานการณ์ของเรา อันนี้ก็เป็นผลการตรวจวัด PM2.5 ตลอดทั้งปี ตรวจวัดทั้งปี 4 ปีย้อนหลัง สีชมพูจะเป็นปีล่าสุดปี 2566 จะเห็นว่าปัญหา PM2.5 มันเกิดซ้ำๆ นี่เป็นภาพรวมของประเทศ เกิดตั้งแต่มกราคมไปจนถึงพฤษภาคม เสร็จแล้วหน้าฝนมันจะลดลงมา ปลายปีเกิดขึ้นมาอีก การบ่งชี้ปัญหาคือการเอามาตรฐานไปจับแล้วบอกว่ามันมีปัญหาหรือว่าไม่มีปัญหา 

มาตรฐานของเดิมในอดีตใช้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ใน 24 ชั่วโมง แต่ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2566 ได้ปรับเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. อันนี้เป็นภาพรวมทั้งประเทศ แต่ถ้าแยกย่อยออกไปเป็นพื้นที่ มันจะมีความต่างกันเล็กน้อย ถ้าติดตาม Air 4 Thai กรุงเทพมหานครจะเริ่มประมาณพฤศจิกายน-ธันวาคม ไปจนถึงเดือนมีนาคม พีคสุดจะอยู่ที่กุมภาพันธ์ ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มมกราคมไปถึงพฤษภาคม ส่วนภาคใต้จะอยู่ที่กรกฎาคมถึงตุลาคม อันนี้ก็คือตัวบ่งชี้สถานการณ์ 

สถานการณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้นมาได้จากปัจจัย เปรียบเทียบแต่ละปีตั้งแต่ปี 2564-2566 ของกรุงเทพฯและปริมณฑลกับของ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีความแตกต่างกัน แตกต่างอย่างไร? ปี 2566 ในกรุงเทพมหานครรุนแรงกว่าปี 2565 แต่ไม่ถึงปี 2564 แสดงว่ามาตรการที่ดำเนินการในกรุงเทพมหานครประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งก็คือ ไม่รุนแรงที่สุดเพราะว่ามาตรการมีทุกปี มีแผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ มีการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง มีแผนเฉพาะกิจมาใช้ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าปี 2566 มันจะรุนแรงกว่าปี 2565 แต่ก็ยังไม่ถึงปี 2564 เพราะฉะนั้น กรุงเทพพอไหว ส่วน 17 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2566 รุนแรงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา แสดงว่าภาคเหนือเอาไม่อยู่ มาตรการที่ใช้อยู่ไม่พอ 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหามี 2 ปัจจัย ปัจจัยที่คุมได้กับปัจจัยที่คุมไม่ได้ ปัจจัยที่คุมได้คือแหล่งกำเนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะ ไฟในป่า การเผาในพื้นที่การเกษตร มลพิษข้ามแดน โรงงานอุตสาหกรรม อันนี้เป็นสิ่งที่มนุษยฺสร้างขึ้น เราควบคุมด้วยมาตรฐาน ถ้าเป็นแหล่งกำเนิดยานพาหนะ มาตรฐานต้องมี รถใหม่ก็มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เราคงเคยได้ยินยูโร 4 ถึง ยูโร 6

ไฟในป่า ไฟในพื้นที่เกษตร ไปกำหนดมาตรฐานระบายมลพิษไม่ได้ ต้องใช้วิธีอื่นเป็นมาตรฐานอื่น ส่วนเกษตรอาจจะใช้ GAP มาตรฐาน GAP มาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่จะมาควบคุม เรื่องของอุตสาหกรรมมีมาตรฐานได้ อันนี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ แต่ไม่ใช่ควบคุมได้ง่ายๆ 

สำหรับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เลยคือทางด้านอุตุนิยมวิทยา อันนี้ควบคุมไม่ได้ จะเห็นว่าเมื่อความกดอากาศสูงจากทางเหนือพัดเข้ามาในประเทศไทย จะทำให้เพดานการลอยตัวของอากาศมันกดต่ำลง เหมือนเพดานห้องเรามันขยับขึ้นลงได้ ถ้าหน้าหนาวมันขยับลงไป  ถ้าหน้าอื่นๆ มันขยับขึ้นไป มันก็คือระบายออกไปได้ ฝุ่นที่เกิดขึ้นปกติอย่างในกรุงเทพมหานคร รถวิ่งปกติทุกฤดู แต่หน้าอื่นมันระบายได้ หน้าหนาวมันระบายออกไม่ได้ เพดานมันกดต่ำมันเลยอัดแน่นเกินมาตรฐาน 

แต่แหล่งกำเนิดที่ควบคุมได้ในแต่ละพื้นที่ของประเทศมันไม่เหมือนกัน ภาคเหนือหลักๆ ก็คือไฟในป่ากับเกษตร ป่าส่วนใหญ่จะอยู่ทางเหนือตอนบน เกษตรก็จะอยู่เหนือตอนล่าง ในกรุงเทพและปริมณฑลหลักๆ ก็คือการจราจร แล้วก็มีอุตสาหกรรมบ้าง กับอาจจะมีหมอกควันข้ามแดนมาจากพื้นที่ข้างเคียงรวมถึงต่างประเทศด้วย ภาคอีสานที่ผ่านมามีส้มๆ ขึ้นอยู่แถบนี้ใน Air 4 Thai เพราะลมพัดมาจากตะวันออกเฉียงเหนือ ทางตะวันออก เพื่อนบ้านเราเผาพัดเข้ามา เรารู้เพราะว่าแถวนี้ไม่ส้ม ส้มแค่บริเวณชายแดน ในกรุงเทพเรารู้ว่ามาจากการจราจร มีการวัดอยู่ 2 ลักษณะ ถนนกับพื้นที่ทั่วไป ส้มๆ คือริมถนน พื้นที่ทั่วไปสีเหลืองจะชี้ชัดว่ามาจากจราจร ภาคใต้เมื่อเดือนที่แล้วมีขึ้นสีเหลืองเพราะพัดมาจากอินโดนีเซีย 

อันนี้จะให้เห็นว่าพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะเหนือตอนบนมาจากไฟในป่า 93% ทั้งป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ล่างๆ ลงมา เกษตรก็จะเริ่มเข้ามา ข้อมูลเหล่านี้มาจากจุดความร้อนที่มีการมอนิเตอร์โดยใช้ดาวเทียมซึ่งหน่วยงานก็คือ GISTDA จะเป็นคนผลิตข้อมูลตัวนี้ขึ้นมา แล้วเราก็เอามาใช้เพื่อในการประเมินสถานการณ์ 

l Credit: PCD

ในการจัดการเราต้องกำหนดเป้าหมาย มีการปรับเป้าหมายให้เข้มงวดขึ้น มีการปรับปรุงมารตรฐาน PM2.5 จาก 50 มคก./ลบ.ม เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม ค่า AQI ค่าสีก็ต้องปรับตาม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าฉบับใหม่มันจะเข้มงวดขึ้น จากเดิมถ้าไม่ถึง 50 มคก./ลบ.ม หรือในช่วง 38 – 50 มคก./ลบ.ม เป็นสีเหลือง ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว สีเหลืองจะไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม ฉะนั้นค่าพวกนี้จะปรับ แล้วมันดีอย่างไร? มันเตือนเร็วขึ้น มันเตือนให้มีการแก้ไขเร็วขึ้น 

การกำหนดเป้าหมายกับการควบคุมแหล่งกำเนิดต้องสัมพันธ์กัน เป้าหมาย PM2.5 เราเอามาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งมีค่าแนะนำไว้ ดูเฉพาะ 24 ชั่วโมงเพื่อความง่าย เขาแนะนำที่ 15 มคก./ลบ.ม แต่องค์การอนามัยโลกทราบว่าแต่ละประเทศมีบริบทไม่เหมือนกัน มีการพัฒนา ความเจริญตามเทคโนโลยี เศรษฐกิจไม่เหมือนกัน เขาก็เลยไปทำเป็นค่าเป้าหมายไว้ 4 ระดับเป็น Interim Target 1, 2, 3, 4 ก่อนจะไปถึงค่า Guideline Interim Target 

ระดับ 1 อยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม, ระดับ 2 เท่ากับ 37.5 มคก./ลบ.ม, ระดับ 3 อยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม, ระดับ 4 อยู่ที่ 15 มคก./ลบ.ม ใช้เวลา 10 ปีที่เราปรับเปลี่ยนลงมา มันจะต้องสอดคล้องกับตัวควบคุมแหล่งกำเนิด Interim Target 1 ควบคุมจากแหล่งกำเนิดได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม มาตรฐานรถยนตร์ใหม่เป็นยูโร 2 ยูโร 3 ได้ เมื่อเราปรับมาตรฐานเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม รถใหม่จะต้องเป็นยูโร 5 ยูโร 6 ขึ้นไปเพื่อให้มันระบายมลพิษ PM2.5 น้อยลง ถ้าเป็นยูโร 5 PM2.5 จะน้อยลง หายไป 90% จากที่เคยระบาย 100 เหลือระบายแค่ 10 แต่ว่ารถยนต์เก่ามันอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองกว่าที่จะเปลี่ยนได้  จะเปลี่ยนรถได้ก็ 5-10 ปี เพราะฉะนั้นอันนี้จะเห็นผลในระยะยาว 

แน่นอนว่าเมื่อกำหนดมาตรฐานเข้มงวดขึ้น มันต้องกระทบครัวเรือน เราจะมาใช้ฟืนหุงข้าวอะไรกันไม่ได้แล้วแบบในอดีต เมื่อเข้มงวดมากขึ้น ใช้แก๊ซหุงต้มก็ไม่ได้ อย่างที่ประเทศที่เขาเข้มงวดกำหนดค่าไว้ที่ 15 มคก./ลบ.ม เขาใช้เตาไฟฟ้าหมด มันไม่มีมลพิษไม่มีฝุ่น ฉะนั้นมันต้องปรับให้สอดคล้องกันว่าทำไมมาตรฐานเข้มงวดและมาตรฐานควบคุมมลพิษหรือวิธีการต้องเข้มงวดขึ้น มันถึงต้องมีการไปดูแลการปรับการเผาในที่โล่ง การดูแลไฟภายในป่า ไฟในพื้นที่เกษตร และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

เปรียบเทียบสถานการณ์ปี 2566 กับสถานการณ์เดิมมาตรฐานเดิม ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเลยในมาตรฐานใหม่มันจะส้มมากขึ้นแดงมากขึ้น เพราะฉะนั้น อยู่ไม่ได้ เมื่อเปลี่ยนมาตรฐาน ambience แล้ว มาตรฐานควบคุมมลพิษต้องเข้มงวดขึ้น ประชาชนต้องร่วมมือมากขึ้น ของ 17 จังหวัดภาคเหนือจะยิ่งหนักเลย ก็จะแดงมากขึ้นทั้งระยะเวลาแล้วก็พื้นที่ โดยรวมจะแดงมากขึ้น เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงนำมาสู่การยกระดับการแก้ไขปัญหา เป็นการเพิ่มมาตรการ 

การยกระดับการแก้ไขปัญหา PM2.5 ปี 2567

ในปี 2567 มาตรการก็เป็นการเอาของทุกๆปีเอาทุกแผนที่มายกระดับ ซึ่งมีอยู่ 5 ปัจจัยที่ยกขึ้นมาทำเป็นแผนซึ่งจะเสนอกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 1. การกำหนดเป้าหมาย เราควรกำหนดเป้าหมายเป็นเฉพาะเจาะจง จับ”ปลาใหญ่” ถ้าเราจับปลาตัวเล็กๆ ใช้มือจับก็ได้ ถ้าจับปลาใหญ่แน่นอนว่าต้องมีการลงทุน การเตรียมตัว เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีการเตรียมสิ่งอื่นๆ เครื่องมือ งบประมาณ บุคลากรเพื่อที่จะจับปลาใหญ่กัน 

เรื่องของงบประมาณ แน่นอนว่าภาครัฐพูดทุกครั้งว่างบประมาณไม่พอ ก็จะต้องดึงภาคเอกชนมาช่วยลงทุนในการที่จะแก้ไขปัญหา PM2.5 ของประเทศ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมแต่ต้องมีกฎระเบียบที่ต้องเอื้อ เพราะฉะนั้นส่วนที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปปรับปรุงเรื่องระเบียบเพื่อให้เขาเข้ามาช่วยได้สะดวก แล้วก็ต้องมีสิทธิมีผลประโยชน์ที่ให้ตอบแทนเขาด้วยเหมือนกันเพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบกัน 

Credit: PCD

สำหรับกลไกในการแก้ปัญหาถัดมา เดิมกลไกแก้ปัญหาใช้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้ไขปัญหา ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะแก้ปัญหาได้ต้องยกระดับทั้ง 2 ระดับ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานแต่ว่าไม่ได้สื่อสารว่าทำอะไร เพราะฉะนั้นก็จะมีข้อกังขา ข้อคำถามอยู่เสมอว่าทำอะไรกันอยู่ภาครัฐ ทำไมถึงปล่อยให้มีปัญหา เพราะฉะนั้นเราจะเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหามากขึ้น ถี่ขึ้น ตรงจุดมากขึ้น 

ก็เลยมาถึงฉบับใหม่ที่จะกำหนดเป้าหมาย 10 ป่าสงวน 10 ป่าอนุรักษ์ พื้นที่เกษตรรอบโรงไฟฟ้า ตัวนี้คือปลาใหญ่ ซึ่งเราคิดว่าถ้าเราลดการเผาลงไปให้ได้ 50% ก็คือพื้นที่ป่า สำหรับพื้นที่อื่นๆ ก็ 20% พื้นที่เกษตร 10% มันจะส่งผลให้ PM 2.5 ลดลงโดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จะลดลงมาเยอะ 40% จากค่าเฉลี่ย จำนวนวันก็จะลดลง 30% สำหรับพื้นที่รองๆ ก็จะลดหลั่นกันลงมา แล้วมันจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น การท่องเที่ยวมีศักยภาพมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟู 

จะจับปลาใหญ่กันเครื่องไม้เครื่องมือมันก็ต้องใหญ่ด้วย แรงงานมันก็ต้องเยอะด้วย เพราะฉะนั้นต้องทุกหน่วยต้องมาร่วมกันทั้งภาครัฐกับภาคเอกชนต้องมาเสริมกันเพื่อให้เป้าหมายนี้มันเกิดขึ้นได้จริง ส่วนประชาชนสามารถจะติดตามข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์หรือการปฏิบัติงานผ่านสื่อของทางกรมควบคุมมลพิษ แฟนเพจ FB และทาง 1650

Suea Fai and Mae Ping officers fought the fires hard with leaf blowers in their hands when the fires ravaged Mae Ping National Park early this year.
Photo: Sayan Chuenudomsavad

ไฟในป่า

ผู้อำนวยการส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นครินทร์ สุทัตโต

ไฟในปีที่ผ่านมา ถามว่ามากไหม? ก็มาก แต่ถ้าเทียบกับปี 2563 ปีนั้นรุนแรงกว่า ปีที่ผ่านมามีจุด hotspot (ทั่วประเทศ) อยู่ประมาณ 1.7 แสน อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประมาณ 70,000 ป่าสงวนประมาณ 50,000 ในภาพรวม ซึ่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในโซนภาคเหนือมีประมาณ 50,000 กว่า สาเหตุที่เกิดไฟหลักๆ บอกได้ทั้งหมดว่าทั้ง 100% เกิดจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ ปศุสัตว์ พื้นที่เกษตร และก็เผาขยะต่างๆ 

อันนี้คือภาพรวมตัวเลขสะสมของทั้งประเทศทั้งหมดของ hot spot คือ 172,841 จุด อยู่ในพื้นที่ป่าประมาณ 1.2 แสน เป็นป่าสงวนประมาณ 5 หมื่น ป่าอนุรักษ์ 7 หมื่น อันนี้คือภาพรวม ซึ่งถ้าเทียบกับตัวเลข ปี 2563 ที่อยู่ประมาณ 85,000 อันนี้คือยังน้อยกว่าปี 2563 

มีการตรวจวัดและมีปัจจัยของสภาพอากาศเข้ามาทำให้เกิดผลกระทบกับทางภาคเหนือค่อนข้างรุนแรง มีอยู่ 52,000 จุด อยู่ในโซนเชียงใหม่ค่อนข้างเยอะ ภาคกลาง ภาคตะวันออกที่จังหวัดกาญจนบุรีบริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ถูกเผาไหม้เยอะที่สุดของเขื่อน อยู่ที่ประมาณ 10,500 จุด ภาคใต้เล็กน้อย ภาคอีสานมีประมาณ 7,500 จุด ซึ่งหนักๆ จะอยู่ที่โซนภาคเหนือ ประกอบกับพื้นที่มีสภาพอากาศกดอากาศลงมา มันทำให้หมอกควันไม่ลอยไปไหน มันถูกกดลงมา 

ภาคเหนือเป็นพื้นที่เผาไหม้โดยรวมของป่าอนุรักษ์ เรามีป่าอนุรักษ์ประมาณ 73 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ประมาณ 12.76 ล้านไร่ของปีล่าสุด อยู่ในโซนภาคเหนือถึง 8.9 ล้านไร่ นี่เรานับแค่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ก็จะค่อนข้างหนัก 

ในภาพรวม ระหว่างเกิดเหตุการณ์ที่มันไหม้ขึ้น เราในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรงในการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่า เราก็ปรับแผนไปเรื่อยๆ ยกระดับการทำงาน นอกจากสถานีไฟป่า 150 สถานีแล้ว เรามีกำลังคนทั่วประเทศประมาณ 6,500 คนเท่านั้น เราก็พยายามใช้หน่วยงานภายใต้สังกัดของกรมอุทยานฯ อย่างเขตรักษาพันธุ์ฯ อุทยานฯ ที่เข้ามาช่วยในการดับไฟ ยกระดับการประชาสัมพันธ์ขึ้นไปเรื่อยๆ อันนี้คือภาพรวม เรามีสถานีอยู่ทางภาคเหนือ 71 สถานี ถามว่าพอไหม? มันไม่เพียงพอ เพราะพื้นที่มันเยอะมาก

เรามีชุดเสือไฟเป็นชุดพิเศษ เหมือนกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษอยู่ทั้งหมด 15 ศูนย์ ก็มีทั้งหมด 250 ชุด ชุดนี้มีไว้สำหรับการสวิงกำลังไปช่วยพื้นที่วิกฤต พื้นที่มีความเสี่ยงสูง อันนี้ก็จะไปตามภารกิจที่มีไฟรุนแรง เคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ ไปเสริมกับภารกิจหรือหน่วยงานในพื้นที่หลักที่เขารับผิดชอบประจำอยู่แล้ว สถานีไฟป่าหนึ่งหน่วยอาจจะดูพื้นที่อนุรักษ์ 2 พื้นที่ แต่ถ้ารุนแรงมากกำลังไม่พอก็จะใช้ชุดพิเศษเข้าไปช่วย แล้วก็ไปดูแลในพื้นที่ที่เป็นวิกฤต ส่วนใหญ่ก็จะระดมขึ้นไปทางเหนือเกือบทั้งหมด 

สถานีทำงานร่วมกับชุมชนอยู่แล้ว เขาจะมีเครือข่ายชุมชนในพื้นที่นอกพื้นที่ จะมีการวางแผนทำงานร่วมกันกับชุมชน กับหัวหน้าป่าอนุรักษ์ในการที่จะดูแลไฟไม่ให้เกิด บางครั้งก็อาจไปช่วยชุมชนทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เกษตรในการจัดการเชื้อเพลิง ก่อนการเกิดวิกฤต

ปีที่ผ่านมา หลายจังหวัดที่ผู้ว่าฯ ประกาศห้ามเผาตั้งแต่วันที่เท่านี้ถึงเท่านี้ หยุดช่วงนี้ ห้ามเผาเลยเด็ดขาด ซึ่งถามว่าในทางปฏิบัติห้ามได้ไหม? ก็ไม่ได้ ชุมชนยังมีวิถีชีวิตเดิมๆ เขายังผูกพันกับป่า ยังใช้ไฟในการทำกิจกรรมกับป่า เข้าไปหาของป่า เข้าไปป่ารกหาเห็ดยาก มีความเชื่อว่าถ้าไม่เผาแล้วยอดผักหวานไม่แตก จำเป็นต้องใช้ไฟในการเผาให้มันแตกยอดอ่อน เข้าป่าแล้วหาเห็ดได้ง่ายเพราะว่ามันไม่รกแล้วก็เดินป่าได้ง่าย เพราะฉะนั้นเราจะห้ามเขายากมากโดยเฉพาะพื้นที่เกษตรที่จะต้องเตรียมพื้นที่ในการก่อนทำการเกษตร เราไปบอกว่าคุณห้ามเผานะ คุณใช้แรงคนเข้าไปถาง เข้าไปเคลียร์พื้นที่ ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนั้นสูงมากและแรงงานเขาไม่พอ วิธีง่ายที่สุดในการเตรียมพื้นที่เกษตรคือการจุดไฟเผาเลย เมื่อเราห้าม เขาก็ต้องแอบเผา เมื่อแอบเผา ก็ควบคุมไม่ได้ เมื่อควบคุมไม่ได้ ก็เป็นการเผาวงกว้าง เขาต้องการเผาพื้นที่เกษตร 10 ไร่ แต่การที่เขาแอบจุดอาจลามไปถึง 100 ไร่ 200 ไร่ 300 ไร่ มากกว่าหลายเท่าตัว

l Credit: DNP

ปีนี้ก็เป็นการถอดบทเรียนจากปีที่ผ่านมาว่า ในเมื่อห้ามไม่ได้ เราจะทำอย่างไร? อันนี้เป็นโจทย์ เรามีการคุยว่าต้องมีการเข้าไปคุยกับชุมชน คุณต้องการเผาขอบเขตเท่านี้ เผาจำกัดและควบคุมให้มันดับได้ใน 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้อยู่ในวงจำกัด เขาใช้พื้นที่ได้แล้วก็ไม่ลามเข้าไปในพื้นที่ป่าก็จะสามารถช่วยได้ เรามีทีมประชาสัมพันธ์ ท่านอธิบดีสั่งให้ชุดพญาเสือไปเคาะประตูบ้าน เพื่อที่จะลดไฟในปีที่ผ่านมาซึ่งก็เป็นปัญหาที่หนักมาก รุนแรง ใช้กำลังเจ้าหน้าที่จากส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่รับผิดชอบไฟป่าโดยตรงเข้ามาช่วยกัน ก็แก้ไขปัญหาไป ถ้าประเมินแล้วถือว่า ไม่ประสบผลสำเร็จ ปีที่ผ่านมาค่อนข้างรุนแรงมาก 

เรามีเครือข่ายภาคเหนือ อสส. เรามีเงินอุดหนุนกับหมู่บ้านเครือข่าย ภาคเหนือเรามี 769 หมู่บ้านในการที่ให้เขามาช่วยดูแลพื้นที่ แต่ว่าในเงินจำนวนนี้อาจไม่มากเท่าไหร่สำหรับชุมชนที่จะให้เขามาช่วยเฝ้าไฟ ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้ มันก็ไม่มากเพียงพอ แล้วก็การที่คนในหมู่บ้านเข้ามาทำกิจกรรมมีไม่ครบครอบคลุมทั้งหมดทุกคน ก็ยังมีบางคนซึ่งไม่เข้ามาร่วมแล้วเป็นผู้จุดไฟอยู่ ก็ยังมีค่อนข้างมาก

เมื่อมาตรการมันรุนแรงขึ้น เราก็เริ่มมีมาตรการปิดป่า ห้ามคนเข้าไป เรามีการปิดป่าทั้งหมด 104 แห่งโดยเฉพาะทางโซนภาคเหนือ ห้ามบุคคลเข้าในพื้นที่ป่า เฝ้าระวัง ถ้าเข้าไปเจ้าหน้าที่เจอก็มีการเปรียบเทียบปรับซึ่งได้ผลในระยะหนึ่ง แต่ว่าสถานกาณ์ไฟมันรุนแรงขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว มันก็อาจไม่ได้ผลเท่าไหร่ 

ตัวเลขที่เห็น เราเพิ่มแผนงานต่างๆ ที่เราเก็บเผาปริมาณเชื้อเพลิงต่างๆ มีการอบรมของจิตอาสาเพื่อสร้างเครือข่ายทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ

Normally, forest fires will burn forest fuels on the ground until they have finished. They will then extinguish as there are no fuels left to burn, but often forest fires burn over trunks of trees and from there they will burn them until they collapse. The fires will then sweep across firebreaks or forest paths and spread to the forests on the other side, triggering forest fires over and over this way.
Photo: Sayan Chuenudomsavad

พัฒนาการของวิกฤติ PM2.5

คุณบัณรส บัวคลี่ ที่ปรึกษาฝ่ายข้อมูลและนโยบายเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

ความรู้สึกของคนในพื้นที่คือการอยู่กับปัญหามายาวนานมากเกินกว่า 17 ปี นี่นับแค่ตั้งแต่ที่เอาเรื่องเข้า ครม.เป็นต้นมา ทุกปีๆ หน่วยงานแต่ละหน่วยของรัฐ อุทยานฯ กรมฯ ทุกหน่วยก็ถอดบทเรียน แต่ที่สังเกตคือบทเรียนของแต่ละหน่วยไม่ถูกหยิบมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ถอดแล้วทิ้ง ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์มีอยู่ปีหนึ่ง หลายปีมาแล้ว เขาบอกว่ามีปัญหาเรื่องการถ่ายโอนภารกิจจากกรมป่าไม้ ให้ อปท. แต่ อปท. ก็ไม่ได้ทำ กรมป่าไม้ก็ไม่มีเงิน เราก็คิดว่าเขาจะเอาเรื่องนี้ไปใส่ในกระบวนการแก้ไขปัญหา ก็นับตั้งแต่นั้นก็ไม่เคยมีการแก้ตรงนี้ ทุกๆ ปี ก็จะมีท่านผู้เกี่ยวข้องมาเจอ ข่าวในพื้นที่ว่ามีการถ่ายโอนแล้ว แต่เขาไม่ได้ทำ คนที่ได้รับการถ่ายโอนก็บอกไม่เห็นมีเงิน 

จากทั้ง 2 กรมที่เล่ามาก็ใช่ที่ว่าแต่ละปีมีปัญหา ที่เล่ามามันมีปัญหากองๆๆ มันก็ใช่หมดเลย โจทย์ที่เราอยากเห็นก็คือว่า ปัญหาตรงนี้ ที่มีอยู่ จะแก้อย่างไร มันเป็นจุดที่อยากจะทราบ อยากจะทราบมายาวนาน ทุกๆ ครั้งที่เรามานั่งเจอกันในวงนี้ เราจะมาบอกว่าเนื่องจากว่ากำลังขาด กำลังขาดก็เติม เนื่องจากว่าชาวบ้านยังมีความเชื่อต้องเผาขยายวง เขาก็เผาที่เดิมแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดอย่างนั้นซ้ำรอยขึ้น อันนี้คือโจทย์ เป็นสิ่งที่อยากเห็น อยากเห็นจุดเปลี่ยน จุดที่เราเล่าซ้ำๆ ทุกปีแบบเดิม จะทำอย่างไรที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนอย่างแท้จริง ยกระดับอย่างแท้จริง แก้ตรงจุดที่เราเล่ากันมาว่าเกิดอะไรขึ้น 

เรื่องความท้าทาย ปี 2550 เรื่องฝุ่นเข้า ครม.เป็นปีแรก รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ นับนิ้วตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ย้อนหลังได้ว่า 17 ปี พอปีที่ 15 ก็ว่ายาวนานแล้ว แต่แล้วก็ผ่านมาเป็นปีที่ 16 ปีนี้จะเป็นปีที่ 17 แล้ว มันยาวนานมาก เอาเฉพาะที่เป็น turning point ที่มันควรจะเปลี่ยนแต่ยังไม่เปลี่ยนคือ ปี 2550 เอาเรื่องเข้า ครม.นับจากนั้นก็เอาเข้า ครม.ทุกปี การเอาเข้า ครม.ของประเทศนี้ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่นะ แต่เมื่อดูมติ ครม.ย้อนหลังกลับไปปวดใจทุกปี

จุดที่ทำให้สังคมตื่นตัวขึ้นมาในสังคม ใหญ่ๆ คือภาพดอยหัวโล้นที่น่าน ตอนนั้นตัวเลข GISTDA ยังไม่ออกเผยแพร่ ก็เป็นเฉพาะวงใน ฉะนั้นในยุคนั้นสังคมชี้เป้าไปที่ดอยหัวโล้นและข้าวโพดซึ่งส่วนหนึ่งก็จริง เพราะในยุคแรกการเผาข้าวโพดตอซังเป็นภูเขาเลย และก็เผากันไม่บันยะบันยัง ตอซังมันจะใหญ่มากเยอะมาก แต่ก็ทำให้สังคมเขวไปว่าโจทก์ของปัญหามลพิษฝุ่นภาคเหนือก็ต้องข้าวโพด ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ใช่ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น 

จุดที่สังคมตื่นขึ้นมาอีกตัวคือ PM2.5 ขณะนั้นประเทศไทยเราก็มีมาตรฐาน PM2.5 แล้ว แต่ว่ายังไม่ประกาศใช้ให้สาธารณะทราบ แต่ว่าสิ่งที่ทำให้สังคมตื่นขึ้นมาคือการมีแอพพลิเคชันต่างประเทศ คนเลยรู้ว่ามี PM2.5 คนก็รู้สึก มันคืออะไร เริ่มมีข้อมูลว่าต้องใช้แผ่นกรองเพราะเข้าไปในร่างกายโดยตรง ไม่กี่ปีเครื่องฟอกอากาศขาดที่เชียงใหม่ เป็นจุดเปลี่ยนอีกจุด ซึ่งในที่สุด คพ. ก็นำมารายงานอย่างเป็นทางการให้เราทราบอีกใน 2-3 ปีถัดมา

แต่จุดที่คิดว่ามันมีผลกระทบสูงเพราะว่ามันนำไปสู่มาตรการคือ ในจังหวัดเชียงรายประสบความสำเร็จในการควบคุม hot spots ผู้ว่าฯ ท่านเป็นนายอำเภอมาแทบทุกอำเภอ แล้วท่านก็สั่งกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ บริบทพื้นที่ของเชียงรายมันมีนาข้าวมาก พื้นที่ป่า 20% ต่างจากแม่ฮ่องสอนที่มีป่า 80% เชียงใหม่ 70% เชียงรายก็เลยควบคุมได้ 

ยุคที่ควบคุมได้คือ คสช. ทางทหารควบคุมดูแลพื้นที่นี้ เห็นเป็นโมเดล เลยนำมาสู่แนวทางคำสั่งห้ามเผ่าเด็ดขาดโดยใช้จังหวัดเชียงรายเป็นต้นแบบ เขาทำอย่างไรจังหวัดอื่นต้องทำอย่างนั้น ซึ่งทาง ผอ. ก็บอกแล้วในวงนี้ว่าไม่สำเร็จ แต่ละพื้นที่มีเงื่อนไขต่างกัน มันก็ห้ามได้ปีเดียว นอกนั้น พื้นที่อื่นเผาหมดทั้งๆ ที่เป็นช่วงที่ห้าม ซึ่งเราก็ต้องเอาบทเรียนนี้มาถอดกันว่าจะทำอย่างไร

Credit: บัณรส บัวคลี่/ เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

ปี 2563 เป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งก็คือ PM 2.5 อยู่ใน Air 4 Thai แต่ก่อนหน้านั้นของ app อื่นๆ ที่ของเอกชนรวมทั้งของมหาลัยที่รายงานทำให้เครื่องฟอกอากาศขาดตลาด แล้วก็เป็นกระแส ในช่วงปี 2562-2564 มันเป็นช่วงเปลี่ยนอีกช่วงหนึ่ง สภาลมหายใจฯ ตั้งขึ้นมาเพราะปี 2562-2563 ฝุ่นมันมาก แล้วก็ทำหน้าที่กดดันภาครัฐ รวมกลุ่มหลายๆ ฝ่ายเพื่อบอกว่าต้องแก้ๆ แล้วปี 2564 ก็เริ่มใช้แอพพลิเคชั่น Fire D ขึ้นมา

จุดที่เป็นจุดเปลี่ยนในเชิงมาตรการในเชิงข้อท้าทาย โดยมีคณะทำงานไฟแปลงใหญ่ คณะทำงานที่มี ดร.เจน (เพจ ฝ่าฝุ่น) มี GISTDA มีหลายๆ ท่านอยู่ในนั้น ก็เอาข้อมูลจาก GISTDA มาร้อยกัน เอามาเป็น  layer แล้วซ้อนๆ กันเรียกว่า Big Data ก็สะท้อนให้เห็นภาพลึกภาพใหญ่ของปัญหาที่เราคลำๆ กันมาว่าสาเหตุมันคืออะไร มันจำแนกแจกแจงออกมาว่าอยู่ในป่าทางภาคเหนืออยู่ในป่ามากที่สุด แต่ว่าภาคเกษตรก็ยังเป็นเรื่องใหญ่อยู่ แจกแจงออกมาก็นำไปสู่สิ่งที่ท่านผอ.พันศักดิ์บอกว่ามีรายใหญ่ขึ้นมา ปี 2566 ท่าน ผอ.บอกว่ามีมาตรฐานใหม่ ที่สังเกตก็คือว่า  GISTDA ปรับเว็บไซต์ใหม่แล้วมีจุดซ้ำซากขึ้นมา ซึ่งตรงนี้อยากจะชี้ว่ามันเป็นจุดที่ต้องสนใจหน่อยหนึ่ง 

ถ้าอยากจะจำแนกแยกแยะ ที่ผ่านมา 8 ปีแรก ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ฉีดน้ำขึ้นฟ้า สังคมไม่ได้ตื่นตัวอะไรมาก แต่ 8 ปีหลังจากนั้น สังคมตื่นขึ้นมา แล้วเที่ยวควานหาปัญหากันอยู่ เป็น 8 ปีที่มีความพยายามหลากหลาย อย่างน้อยมีชุดมาตรการใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างเช่น มีการห้ามต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม เป็น 8 ปีที่ไม่สำเร็จ ตื่นตัว แต่ไม่สำเร็จ

Credit: บัณรส บัวคลี่/ เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

“ไฟกลางคืน”

เมื่อกี้ ผอ.พันศักดิ์ บอกว่าเสนอข้อปัญหา ก็เอาลักษณะของปัญหามาสะท้อนให้เห็นเหมือนกัน ขอเรียกว่าอาการของโรค จุดๆๆ ในรูปเป็นของนาซ่า แต่จริงๆ ไฟมันไม่ไหม้ขนาดนั้น แผนที่กับจุดมันไม่สอดคล้องกันแต่มันสะท้อนให้เห็นว่าใน 1 เดือนของปี 2566 ย้อนหลัง มีจุดความร้อนในภูมิภาคเรา เราเป็นภูมิภาคของการใช้ไฟ เดือนมีนาคมสูงสุด แต่สิ่งที่ประเทศไทยต่างจากประเทศเพื่อนบ้านคือ เป็นไฟกลางคืน ในระบบวิ่งเวียนของดาวเทียมสองรอบ รอบกลางวัน ตั้งเป็นสีแดง รอบกลางคืนสีน้ำเงิน ที่โชว์ให้เห็นอยู่ในภาพ ถ้าสังเกตประเทศไทยมีสีน้ำเงินมากที่แสดงให้เห็นในภาคตะวันตก ขณะที่พม่าลาว กัมพูชา มีสีแดง 

เคยสังเกตว่าในประเทศลาว กลางวันเขาจุด กลางคืนหายหมด เพราะเขาเป็นไฟทำไร่ทำนา ไฟเกษตร ควบคุมไฟได้ ขณะที่ของเรามันมาทั้งกลางวันกลางคืน ทีนี้มันจะมีการนำเสนอข้อมูลอีกชนิดหนึ่งคือ เอาไฟมาต่อเป็นอนุกรมขึ้นเว็บ พอเอาไฟมาเรียงเป็นอนุกรม เราก็จะเห็นพฤติกรรมของไฟว่า มันขึ้น ไม่ดับ ลามไปด้วยทั้งกลางวันกลางคืน ปัญหาของเราคือเรามีไฟกลางคืนมาก เป็นไฟนอกการควบคุม uncontrolled ไฟที่ลักลอบ นี่เป็นปัญหานอกเหนือจากจุดสถิติความร้อน สถิติความร้อนมันเป็นจุดล็กๆ แล้วดับได้ แต่ไฟที่ลามไปเรื่อยเป็นพันไร่คุณภาพของมันแตกต่างกัน อันนี้เป็นลักษณะพฤติกรรมของไฟ อาการของโรค 

เราพูดถึงเรื่องจำนวน hot spots ท่าน ผอ.พูดว่ามีจำนวนเท่านี้ ภาคเหนือมีจำนวนเท่านี้ เคยเอามาเทียบ ในปี 63 เชียงใหม่มี 20,000 ลำปางมีแค่ 6,000 -7000 จุด แต่ปรากฎว่าพอมาดูพื้นที่เผาไหม้ของ GISTDA เท่ากันเลย ขนาดการไหม้คือ 1.3 ล้านไร่ ก็แสดงว่า บางทีแล้วจุดความร้อนอย่างเดียว ตัวชี้วัด hot spots ที่เราใช้มันไม่เพียงพอ มันต้องใช้ตัวชี้วัดอื่นๆ ด้วยเพื่อชี้ให้เห็นพฤติกรรม ขนาดของปัญหา ลักษณะพฤติกรรมของปัญหาและความรุนแรง การที่ประเทศไทยมีไฟสีน้ำเงินเยอะๆ แบบนี้เป็นปัญหา เพราะไฟพวกนี้ไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ประเทศลาวมีไฟแดงๆ เยอะมาก แต่ว่ามันควบคุมได้ ถ้าตอนเย็นก็ดับพร้อมกัน จึงเป็นข้อท้าทาย 

16 ปีที่ผ่านมามันนานเพียงพอแล้ว นับจากปีนี้เป็นต้นไป ทั้งการมีรัฐบาลใหม่ มีความตื่นตัวในสังคม มีชุดข้อมูลอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมที่เรียกว่า Big Data ที่เอาข้อมูล 10 ปีย้อนหลังมาซ้อนๆ กันที่ทำให้เห็นแล้วว่าเรามีไฟในป่า 65% เกษตร 32% ซึ่งเฉพาะเกษตร อ้อยน้อยสุด นาข้าวมากสุด 67% ข้าวโพด 19% อันนี้คือ 10 ปีที่ผ่านมา ปี 53 -62  เป็นตัวชี้ อันนี้คือสิ่งที่เอาข้อมูลมาร้อยกันมันมี data มันมีลักษณะของพื้นที่แบบธรรมดา เป็น hot pots เฉยๆ หรือเป็น burned scars? เอามาเป็นดาต้า แต่ถ้าเราเอาข้อมูลมารวมกัน มันเป็น information ซึ่งพอเอามารวมกันแล้วถ้าเรามองเห็นมันจะเป็นความรู้ใหม่ knowledge แล้วก็สามารถที่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะหาทางออกให้โรคเรื้อรังนี้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ได้

ข้อมูล GISTDA ของปี 2566 สถิติ 10 ปีย้อนหลัง ป่า 64.9% ข้าวโพด บวกนาข้าว เกษตรอื่น ๆ รวมกันได้ 33% แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนการไหม้ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ป่า 64-65% เกษตรก็ 30% กว่า ที่แตกต่างกันคือปัจจัยที่ผันแปรแต่ละปี มันมีปัจจัยอยู่ 3 อย่าง คือภูมิอากาศ เอลนินโญ ลานินญา ภูมิประเทศ และแหล่งกำเนิด แหล่งกำเนิดกับภูมิประเทศจะนำไปสู่ภูมิสังคมที่เราคอนโทรลได้ การอนุญาตวอลลุมมันเล็กลงเหลือ 8-10 ล้านไร่ บางปีก็สิบกว่าล้านไร่ แต่สัดส่วนมันไม่ไปไหน มันเท่านี้แหละ

จุดที่จะชี้ให้เห็นก็คือว่า เราบอกว่าเรามีปัจจัยที่เราควบคุมได้กับปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ปัจจัยที่ควบคุมง่ายที่สุด สิ่งที่มีเจ้าของอยู่แล้วคือเกษตร แต่ว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ทั้งที่มีวาระแห่งชาติมา เกษตรไม่ลดเลย แทบไม่ลดเลย เรามีวาระแห่งชาติว่าด้วยอ้อย น้ำตาล บอกว่าจะเหลือ 0 ก็ไม่เหลือ 0 บอกว่าจะเผาไหม้เหลือ 10%  ก็ยัง 30% ก็แสดงว่ามันมีอะไรสักอย่างที่เราต้องยกระดับ มันมีอะไรสักอย่างที่ทำไม่สำเร็จ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเกษตรซ้ำซากมันมีอยู่ 30% แล้วเรารู้อยู่แล้วว่าพื้นที่อยู่ตรงนั้นมีเจ้าของอยู่ที่นั้น เราก็รู้แต่ทำไมลดไม่ได้ นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำ

ในขณะเดียวกันเรื่องของป่า โจทย์ดั้งเดิมเมื่อ 17 ปี ก่อน และปี 2566 ก็ยังชี้ว่าไหม้อยู่ 64% ป่า 10 ป่า ป่าที่ไหม้ซ้ำซากเป็นแสนไร่ที่ไหม้ซ้ำๆๆ เป็นป่าที่เป็นเป้าหมาย เป็นปลาตัวใหญ่ ขณะที่รัฐบาลโดยคณะทำงาน ดร.บัณฑูรก็เรียกข้อมูลมาดู มี 10 ป่า สถิติไหม้สูงสุดก็ซ้ำซ้อนใกล้เคียงกับ 10 ปีย้อนหลัง สถิติเฉลี่ย 10 ปี ย้อนหลังกับสถิติปี 2566 แทบไม่ต่างกันคืออุทยานใหญ่ที่มีชื่อลำดับต้นๆ จะอยู่ชั้นบน เป็นดิวิชั่นสูงเช่นเดิม  อันนี้ไม่ต้องถกเถียงอะไรกันแล้ว ทั้งสถิติย้อนหลัง ค่าเฉลี่ย และสถิติล่าสุด มันบ่งบอกว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ต้องเปลี่ยนวิธีการ ปัญหามันมีอยู่แล้ว เรื้อรังอยู่ เรารักษาด้วยวิธีการเดิมๆ มานานแล้ว มันก็ไม่หายซักที ถึงเวลาหรือยังที่ต้องเปลี่ยน

Credit: บัณรส บัวคลี่/ เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

หมอกควันข้ามแดน

เรื่องของหมอกควันข้ามแดนยังไงก็กระทบเรา ภาพปี 2565 มันเป็นปีของลานินญา ภาพช่วงเมษายนก่อนสงกรานต์ จำได้ว่าต้นเดือนเมษายนฝนตกมากตกทั่วทั้งภาคเหนือ ทำให้ชื้นไม่มีไฟอยู่ในสัปดาห์นั้น ภาพดาวเทียมจะเห็นว่าไม่มีจุดความร้อนเลย แต่ในลาวมี เพราะว่าเขาเป็นไฟคอนโทรล คือไฟที่ยังไงก็จุดได้ สถิติปีนั้นลาวเยอะมากเพราะเป็นปีที่ขยายการเกษตร ข้าวโพด มันสัมปะหลังราคาดีมาก วันๆ หนึ่งขึ้นเป็น 6,000 – 7000 จุด บางวันพุ่งไป 10,000 จุด ถือว่าสูงมาก ข้างล่างเรียกว่า ASMC ของที่สิงคโปร์ ลาวเป็นแชมป์แทนพม่า เคยคุยกับพี่น้องลาว เขาบอกว่าราคาดีทั้งข้าวโพดและมันสัมปหลังเลยขยายพื้นที่ 

แต่จุดที่อยากจะชี้ให้เห็นคือว่า ถึงเราไม่เผาเลยก็ยังมีควันข้ามมา ในฤดูนั้น เมษายนลมต้องพัดจากตะวันตกไปตะวันออก แต่โดยฟิสิกของความร้อน ของควัน พื้นที่ของเราเย็นของเขาร้อนกว่า เขาก็จะพัดมาหาเรา ในเดือนนั้นอำเภอเฉลิมพระเกียรติขึ้นมา 200 มคก./ลบ.ม. ในเมืองน่านขึ้น 100 มคก./ลบ.ม. ขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ย 24 ชม. เราไม่เผาอะไร แต่มีแหล่งที่มาใกล้ๆ 200 กิโลเมตร มันก็ทำอันตรายเราพอสมควรเลย ระดับที่อันตรายประมาณ 70 มคก./ลบ.ม. ถึงที่สุด ยังไงก็ต้องแก้ ยังไงต้องมีวิธีการในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหา 

ในช่วงที่ผ่านมาเรามีความพยายามผลักดันคุยกับชาวบ้านชาวช่องว่า อยากจะเผาใช่มั้ยก็มาทำข้อตกลงร่วมกัน ตรงไหนเผาได้ ไม่ได้ ตรงนี้เป็นแนวทางทางออก ให้ balance กันระหว่างผลกระทบกับผลประโยชน์ อยากได้เห็ดอะไรก็ว่าไป แล้วก็ผลกระทบด้านสังคม ด้านสุขภาพ ตอนนี้เรามีความพยายามที่จะ balance กันให้ได้ คุยกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ เห็นความพยายามอยู่ แต่มันไม่ง่าย เพราะแค่คำว่า “ไฟจำเป็น” ในมุมมองแต่ละคนไม่เท่ากัน ที่จำเป็นจริงๆ ก็มี จำเป็นรองลงมา หรือจำเป็นแต่เลื่อนได้ ในอนาคตจุดที่ win-win ก็ต้องลองคุยกันจริงๆ จนถึงจุดที่ลงตัวจริงๆ

ในอนาคต โจทย์ก็คือว่าถึงเวลาหรือยัง 17 ปี มันแบ่งเป็น 3 ยุค ยุคแรกเป็นยุคที่อยู่ใต้โพรงเลย เอาน้ำมาฉีดขึ้นฟ้า คนก็ยังไม่รู้ PM เหลืองไปทั้งเมือง ก็ยังไม่เป็นไร ยุคที่สอง คนเริ่มตื่น มีแอพลิเคชั่น มีข้าวโพด เขาหัวโล้น คนเริ่มรู้แล้วว่า PM2.5 คืออะไร รู้ว่าต้องใช้เครื่องฟอกอากาศ ใช้หน้ากาก N95 แล้วไปจี้ผู้ว่าฯ ว่าต้องใช้นโยบายไหนจนมาสู่จุดที่ว่า แต่มันก็ยังไม่ใช่ 

นับตั้งแต่ พศ.นี้ นับว่าเป็นจุดที่ดี เพราะเรามีฐานข้อมูลนำมาสู่ภาพช้างทั้งตัวว่าปัญหาคืออะไร รู้ว่ามาตรการอะไรที่ต้องดำเนินการ เริ่มมีขบวนการทางสังคมที่ก้าวหน้าขึ้น แต่คำถามคือจะเริ่มได้จริงมั้ย จะทะลุเพดานใหม่ได้หรือยัง ดูข่าวท่าน รมต. แล้วก็ท่านรองนายกฯ ไปตรวจศูนย์อากาศฯ แล้วก็บอกว่าจะมีการยกระดับ มีการแถลงข่าวรายวัน รายสัปดาห์ ก็ชื่นชม แต่อย่างไรก็ตาม จุดที่เป็นจุดอ่อนในชุดแก้ปัญหาตั้งแต่ปี 64-66 ก็คือ ระบบราชการไทย มันเป็นแท่งๆ เรามีวาระแห่งชาติ ในส่วนของเกษตรบอกให้ไปแก้การเผาในนา แต่ผลปรากฏว่าในภาคเกษตรก็ยังเป็น 32.5% ไม่เปลี่ยนแปลง เรามีกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ มีวาระแห่งชาติ แต่ไปดูก็ไม่มีใครทำ 

สิ่งที่อยากทราบคือ ปีที่แล้วคนแม่สายเรียกร้องให้มีการประกาศเขตภัยพิบัติ ผู้ว่าฯ ไม่สามารถประกาศได้เพราะระเบียบมหาดไทยไม่มีรองรับให้ประกาศได้จากเหตุควันมากระทบ ไม่มีไฟในพื้นที่ มีการประชุมหลายครั้งแต่ก็บอกว่าต้องรอมาตรฐานใหม่ คำถามคือ มันต้องมีการแถลงของมหาดไทยด้วย ท่านรองนายกฯ บอกว่าปีนี้ต้องมีการแก้ที่มหาดไทย ระเบียบใหม่ที่คนแม่สายไม่ว้าเหว่แล้ว แล้ว อปท. เขาโอนเงินมาให้ 3-5 ล้านบาทเพื่อเอาไปจัดการไฟ มันก็ต้องมีเรื่องต้องยกระดับมหาดไทยด้วยในแผนนั้น ส่วนในอุตสาหกรรมเรามีวาระแห่งชาติว่าอ้อยต้องเป็นศูนย์ ใส่เงินไปหมื่นล้านแล้วแต่ปรากฏว่ายังมีเผาอีก ทำยังไงถึงจะยกระดับขึ้นมาว่าต้องอีกกี่เปอร์เซนต์

กระทรวงเกษตร มหาดไทย อื่นๆ รวมทั้งอุตสาหกรรม แล้วก็ป่าไม้ด้วย คือ ยังไม่พูดภาษาเดียวกันทั้งแพค

Protesters expressed their feelings during the protest against the government’s handling of the PM2.5 haze in Chiang Rai early this year.
Photo: Bangkok Tribune

แนวคิดกฏหมายอากาศสะอาด

รศ. ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย (Thailand CAN)

สิ่งที่อยากเอามาถอดบทเรียน เป็นทางออกได้ ไม่ได้ถอดแล้วทิ้งคือ มันมีปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะปัญหา PM2.5 และมลพิษทางอากาศมันมีความสลับซับซ้อนสูง เวลาที่เราฟังจากหลายๆ ท่านก่อนหน้า มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ เวลาที่เราจะแก้ปัญหานี้ มันก็คงต้องมีความซับซ้อนไม่แพ้กัน ในฐานะตัวแทนเครือข่ายอากาศสะอาดแห่งประเทศไทย เป็น think tank และขับเคลื่อนสังคมด้านนี้และทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่นด้วย เราไม่ถนัดงานพื้นที่ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่เราเอาโจทย์ยากๆ ที่เรียนรู้มาจากเครือข่าย สภาลมหายใจภาคเหนือ จังหวัดต่างๆ และองค์กรต่างๆ ที่ชี้เป้าว่า ปัญหาเชิงพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง 

เราเริ่มงานมา 4 ปีกว่า เราริเริ่ม พรบ.อากาศสะอาดฉบับประชาชน เข้าชื่อหนึ่งหมื่นชื่อซึ่งเป็นสิ่งที่เขียนรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเปิดช่องทางให้ประชาชนแสดงสิทธินี้ เราก็ต้องดูต้นทางด้วยว่าให้สิทธิมาแบบไหน เมื่อตรวจสอบจากประเทศทั้งหลายทั่วโลก มันก็มีหลายเวอชั่นของการให้สิทธินี้ ตั้งแต่จริงจัง เข้มข้น จนถึงไม่จริงจัง ไม่เข้มข้น 

ในรัฐธรรมนูญปี 60 ก็ได้เขียน Right to Legislation Initiatives ออกมาเป็นพิธี ไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้นจริงซะทีเดียว เลยมีปราการต่างๆ ดักเอาไว้มาก เช่น ถ้าเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการเงิน ก็ต้องขอ approve จากนายกฯ ก่อน ถึงจะปล่อยให้กลับมาเข้าสู่อำนาจนิติบัญญัติ เข้าสู่วาระการประชุมได้ อันนี้ก็เป็นข้อจำกัดอันใหญ่ซึ่งเป็นต้นน้ำด้วย ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือ อยากเห็นว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งถัดไป อยากให้แก้ไขบทบัญญัตินี้เสียเพราะมันไม่เกิดประโยชน์เลยที่จะเขียนไว้เป็น format แต่ content ไม่ได้

อันที่สอง เมื่อเราได้ทะลุออกมาเป็นร่างกฎหมาย ประชาชนได้เข้าชื่อยื่นเสนอต่อสภาฯ แล้ว เนื้อหาในร่างก็จะต่างจะฉบับอื่นแน่นอน เพราะว่าเราไม่ได้เอาฐานเสียงมาเป็นตัวตอบโจทย์ แล้วเราก็เป็นกลางมากๆ เป็นนักวิชาการ เราก็ไม่ต้องออกแบบโดยติดเงื่อนไขเกรงใจใคร ฉะนั้นเราเห็นแล้ว มันไม่ใช่แค่งานชิ้นนี้แต่เป็นงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่เสนอมาแล้วว่า โครงสร้างรัฐราชการแบบเดิมมันไม่ตอบโจทย์ความซับซ้อนของปัญหา โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องซับซ้อน มันต้องการโครงสร้าง ระบบ การปฏิรูปเพื่อให้ตอบโจทย์นี้ได้ แพล็ตฟอร์มเดิมมันพิสูจน์ตัวเองมานานแล้วว่าตอบโจทย์ไม่ได้ เราวิ่งหนีปัญหาเชิงโครงสร้าง การปฏิรูประบบโครงสร้างทั้งหลาย เราไม่อยากปรับแม้แต่นิดเดียว มันก็แก้ปัญหาวนในอ่างไม่ทะลุไปถึงไหนเสียที อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้และอยากเห็นมันเปลี่ยนแปลง

ถัดมา กฎหมายส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่กฎหมายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ในยุคกลางเก่า กลางใหม่ ทั่วโลกไม่ว่าจะ OECD หรือ UN ยุคสมัยมันเปลี่ยนฐานคิดจากกฎหมายที่เป็น government based ไปแล้ว มันต้องการพื้นที่ให้ประชาชนหรือว่า rights based เพิ่มขึ้น เราจะเห็นว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย จะมีการเปิดช่องของการมีส่วนร่วมประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่มันก็ยังเป็น government based อยู่ดี กฏหมายแบบ rights based เป็นตัวตั้งแล้วค่อยสาวไปถึงหน้าที่รัฐว่าควรเป็นอย่างไร นานๆ เราถึงจะเห็นแล้วมันก็อยู่แค่ระดับร่างกฎหมาย ไม่ค่อยสำเร็จออกมาเป็นตัวกฎหมาย 

หรือมันปรากฏอยู่แต่เป็นพิธี ถ้าเราพูดถึง ladder of public participation ทางทฤษฎีทั่วโลก ประเทศที่พัฒนาแล้วมีระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า เขาจะให้ความสำคัญกับการไต่บันไดจากระดับต่ำๆ ตั้งแต่ rights to information ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงปานกลาง ค่อยๆ ขยับบันไดไปในระดับที่สูงขึ้น ขั้นกว่า ระดับเข้มข้นอาจจะเป็น co-operation เป็น co-management ของรัฐกับชุมชน เพื่อตอบโจทย์ของชุมชนนั้นๆ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนและเปราะบางสูง ต้องใช้ความใส่ใจในการเข้าถึงต้นตอปัญหา ต้องเข้าใจภูมิสังคม ปัญหาปากท้องและเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ที่ผ่านมาบันไดการมีส่วนร่วมของประชาชน เรายังเป็นต่ำถึงปานกลาง และเป็นแบบพิธีกรรมมากกว่าจะเน้นตัว content แท้จริง ก็อยากเห็นว่ากฎหมายใหม่ควรจะมีอะไรที่ยกระดับได้แล้ว

บทบาทภาคประชาสังคมที่เข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ว่ารัฐจะเปิดให้เข้าร่วม หรือเข้าร่วมโดยสมัครใจก็แล้วแต่ เราพบว่ากฎหมายที่ผ่านมา แม้ว่าจะทันสมัยก็ยังเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐ ยิ่งระยะหลังเราก็เห็นกฎหมายที่ออกมาดำเนินการสกัดกั้นการทำงานของภาคประชาชน เราอยากเห็นว่ามันต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ รัฐสมัยใหม่ไม่พึงต้องกลัวว่าจะสูญสิ้นอำนาจรัฐ เราเป็น partners กัน รัฐสมัยใหม่ต้องใช้เวลาในการศึกษา ถ้าจะมีการช่วงชิงต้องทำให้เกิดความชอบด้วยกฎหมายอย่างแท้จริง ไม่ใช่การช่วงชิงชิงการได้ผลประโยชน์อะไร ด้วยการใช้คำว่า “นโยบายสาธารณะ” เพื่อผลประโยชน์สาธารณะมาบังหน้า มันไม่มีความจำเป็นที่ต้องกลัว มันต้องอยู่ในโหมดของรัฐสมัยใหม่ได้แล้ว 

เมื่อมาดูภาคประชาสังคมเอง ก็อาจจะไม่เข้มแข็งมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะส่วนหนึ่งก็อยู่ในระบบที่เขาไม่ได้เปิดรับเต็มที่ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นตัวภาคประชาสังคมเองแบบไทยๆ ที่แบ่งเป็นก๊วน ยังไม่สร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ยึดโยงให้เข้มแข็งมากพอที่จะมีพลังกดดันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เราก็อยากเห็นตรงนี้

ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม ร่ำเรียนมาด้านนี้โดยตรง เรียนสาขากฎหมายสิ่งแวดล้อม และเรียนสิ่งแวดล้อมข้ามสาย เราก็จะเห็นว่าทั่วโลกผ่านร้อนผ่านหนาวในการนับหนึ่ง สร้างกฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เกิดเป็นสาขาใหม่ เราเห็นความชักช้า งุ่มง่าม ขั้นตอนการทำ transition ในกฎหมายไทย ต่างประเทศเขาก็เริ่มต้นพอกับเรา 1992 หลังการประชุม  Rio  หลายประเทศก็ขมีขมันทำกฎหมายสำรองให้ตอบโจทย์ใหม่การพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่กฎหมายสิ่งแวดล้อมบ้านเรายังไม่ไปไกล ยังใช้เวลานานมากในการเปลี่ยนผ่าน ร่างพรบ.ปรังปรุงสิ่งแวดล้อมฉบับปัจจุบันจะเป็นความหวังหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ เพราะมีส่วนร่วมน้อยมาก เท่าที่สังเกตเห็นก็ยังเหมือนระบบเดิม ไม่เปลี่ยนฐานแพล็ตฟอร์มมาก

ถัดมาก็เป็นความรู้ความเข้าใจ ความตระหนักของสังคมและประชาชน เมื่อเจอปัญหาซ้ำซากไปเรื่อยๆ พยายามแล้วก็ไม่เกิดผลเสียที หลายคนก็หมดกำลังใจ ท้อถอย ยอมจำนนต่อปัญหา ยอมตายก่อนเวลาอันควร ยอมเป็นมะเร็งปอด ยอมตายไปเลย ทั้งๆ ที่ไม่ควรเป็นแบบนั้น เรื่องนี้เป็นสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การอยู่รอด ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกตายแบบไหนก็ได้ ไม่ใช่ต้องตายแบบถูกคนอื่นบังคับเลือกว่าเป็นมะเร็งปอดอันเนื่องมาจากไม่ได้สูบบุหรี่ แต่อยู่ในพื้นที่ PM2.5 กระหน่ำ 

UN เพิ่งประกาศสิทธิในสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิมนุษยชน สิทธิในอากาศสะอาดก็เป็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมประเภทหนึ่งซึ่งก็เป็นสิทธิมนุษยชนด้วย ทางเครือข่ายอากาศสะอาดก็เพิ่งจัดเสวนาเรื่องนี้ไป ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศในการขยายผล อธิบาย แล้วกสม. ของไทยก็ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย เพราะถ้าฐานแห่งสิทธิเข้าใจชัดเจนแล้ว ฐานอำนาจรัฐก็ต้องปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างด้วย 

ถัดไปจากเรื่องนี้ก็คือทุน องค์ประกอบหลักในเรื่องนี้ถัดจากรัฐก็คือทุน จะทุนใหญ่หรือเล็ก ก็ยังใช้วิถีการผลิตแบบ business as usual เสียเป็นส่วนใหญ่ จริงอยู่ เรามีทุนที่สามารถเปลี่ยนวิถีการผลิตไปแล้ว แต่ว่าโลกทั้งใบไม่ได้อยู่ที่เดิม คิดว่าจะขายภายในประเทศโดยไม่ข้องแวะกับตลาดโลก ก็คงต้องระวังให้ดี ถ้าจะไปเกี่ยวกับการค้าโลก เราก็จะถูกป้อนจากทุกทิศทุกทาง กดดันมาตลอดเวลาว่าถ้าจะประกอบธุรกิจในโลกต้องมี ESG ต้องมี responsible business and human rights ตอนนี้ก็มีความคืบหน้าในระดับหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ครบ loop ต้องการเห็นสิ่งแบบนี้บรรจุเข้าไปในกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายอื่น รวมไปถึงกฎหมายอากาศสะอาดด้วย 

ที่ผ่านมาเราจะเห็นความพยายามจัด priority ร่างกฎหมายกลุ่ม atmosphere ที่ประกอบไปด้วย 4 spheres ก็พบว่าจะให้ความสำคัญกับกฎหมายอวกาศก่อน แล้วค่อยมา climate change แล้วกฎหมายอากาศสะอาดมาทีหลัง เราก็เข้าใจอยู่ว่ามันมีแง่มุมในการช่วงชิงในระดับสากล แต่ในความเป็นจริงแล้วการจัดอันดับความสำคัญนี้ในแง่ความเป็นตายของประชาชนน่าจะกลับกันหรือเปล่า? ให้น้ำหนักและความสนใจมาที่กฎหมายอากาศสะอาดมากขึ้นหน่อยไหม มันเป็นชั้นบรรยากาศที่ใกล้จมูกคน อยู่กับความเป็นตายชัดเจน และอีกอย่างสารพิษบางตัวที่อยู่ในกฎหมายอากาศสะอาดก็เป็นตัวเดียวกับที่อยู่ในก๊าซเรือนกระจก เพียงแต่ไม่ใช่ทุกตัวที่ซ้ำกัน แง่มุมอาจจะไม่เหมือนกันซะทีเดียว เราอาจจะ merge กฎหมายสองตัวเข้าด้วยกันก็ได้ เป็นกฎหมายอากาศสะอาดและกฎหมาย climate change ก็ได้ ลองทำดู ไม่อยากให้ตกขบวน แล้วองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรก็ตั้งคำถามว่าทำไมไทยถึงจัด priority แบบนี้ 

อยากให้มาสนใจว่าเราจะแก้ปัญหาปลายน้ำไปเรื่อยๆ แบบนี้ไม่ได้ การให้น้ำหนักไปที่ litigation oriented หรือว่าเมื่อมีคดีเพราะทนไม่ไหวค่อยไปฟ้องศาล ทำให้คดีสิ่งแวดล้อมล้นศาลปกครองเต็มไปหมด มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำหรือเปล่า? ตอนนี้ในประเทศที่เขาพัฒนาเรื่องกม. สิ่งแวดล้อมมาเยอะกว่าเรา เราได้คุยกัน ผู้เชี่ยวชาญก็หันมาสนใจในสิ่งที่เราทำด้วยซ้ำไป การ take initiative based on legislation oriented ชิงสกัดตั้งแต่ต้นน้ำอาจจะได้ผลมากกว่า เพราะว่าคุณไปฟ้องคดีศาลท่านก็จะตัดสินบนพื้นฐานตัวบท ถ้าตัวบทเก่าคร่ำครึ ล้าสมัย ตอบโจทย์อะไรไม่ได้ ประเทศเราเป็น civil law system ที่ศาลตัดสินตามตัวบท ฉะนั้น ถ้าตัวบทยังไม่ได้ทำอะไร ตัวกฎหมายสาระบัญญัติไม่ได้ทำอะไร ทำแต่ตัวกฎหมายวิธิพิจารณาความอย่างเดียว คิดว่าต้นน้ำมีปัญหา จะไปกองรวมกันที่ปลายน้ำก็กะไร ก็ต้องแก้ไขกัน

สุดท้าย ร่างพรบ. อากาศสะอาดมีหลายตัวมาก มีหลายร่างที่ถูกปัดตกไปแล้ว ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาดยังไม่ถูกปัดตก ค้างอยู่ที่นายกฯ คนใหม่ รอดูว่าท่านจะทำอย่างไร แต่ไม่ว่าใครจะร่างไม่สำคัญ ขอให้ร่างให้ดี เอาข้อดีของหลายร่างมาประกอบกันยกระดับให้ดียิ่งขึ้น แต่คงไม่มีใคร happy ถ้าเห็นร่างพรบ.อากาศสะอาดไม่ตรงปก เป็น green washing เสียเอง หน้าปกอย่าง เนื้อหาอีกอย่างหนึ่ง ก็คงไม่มีใครอยากเห็น ถ้าเป็นในต่างประเทศที่ระบบเขาดีพอ ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกทุกขณะแบบนี้ เขาจะสามารถทำให้ทุกร่างไปเจอกันที่รัฐสภาอย่างสง่างาม แล้วใช้เวทีรัฐสภาอภิปราบแลกเปลี่ยนโดยคำนึงผลประโยชน์ส่วนรวมสูงสุด ไม่ใช่ผลประโยชน์ของกลุ่มมาเป็นตัวต่อรองกันไปมาจนสภาพไม่เหลือ 

ร่างพรบ.อากาศสะอาดที่พึงประสงค์ต้องปลดล็อควังวนได้ ไม่ใช่ประนีประนอมกันไปมาจนท้ายที่สุดเสียคุณค่าความต้องการให้มันเกิดขึ้น ตัวกฎหมายนี้จะเป็นตัวปลดล็อคอะไรหลายอย่าง เรื่องการไม่บูรณาการ  รัฐถ่ายโอนอำนาจแต่ไม่มีงบประมาณ และอีกหลายเรื่อง นี่ก็คือเป็นสิ่งที่เราศึกษามาว่าสิ่งที่เป็นกับสิ่งที่หวังไม่สัมพันธ์กันทีเดียว และค่อนข้าง contrast ด้วย ก็หวังว่าเวทีนี้จะช่วยสะกิดให้เราสามารถเห็นอะไรในภาพฝัน สามารถนำเอาประสบการณ์ที่ผ่านมามาต่อจิ๊กซอว์และหาทางออกร่วมกันได้

Fires ravaged Doi Luang Chiang Dao north of Chiang Mai province consecutively in April and spread to nearby fields.
Photo: Sayan Chuenudomsavad

ปัญหาเชิงโครงสร้างและแนวคิดร่างกฏหมายอากาศสะอาด

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฏหมายว่าด้วยอากาศสะอาด และผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI)

วาระแห่งชาติมีมาตั้งแต่ปี 62 มันเป็นฝุ่นพิษ พาโลหะหนักและสารเคมีทางการเกษตรมา ก่อให้เกิดมะเร็ง อยากให้ช่วยสื่อสารประเด็นนี้ว่า นี่คือฝุ่นพิษ ไม่งั้นเราจะเห็นคนแก่ คนท้อง แม่ลูกอ่อนเอาตัวเองออกไปในช่วงนี้โดยไม่ปกป้องตัวเอง เราปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้ ประเด็นสำคัญคือ ถ้าร่วมกันเราแก้ปัญหาได้ แต่จะร่วมกันอย่างไร เดี๋ยวมี solutions ความรับผิดชอบร่วม ภาคเอกชน คนที่ปล่อย ภาครัฐที่รับผิดชอบ และเราเองผู้บริโภค ก็สามารถร่วมกันแก้ได้ อย่าอยู่บนมายาคติว่า ทนๆ กันไป ฝุ่นมา 4 เดือนก็ทนกันไป เดี๋ยวก็พ้นไปช่วงฤดูฝุ่น เราต้องข้ามมายาคตินี้ไปให้ได้ 

รัฐบาลนี้ยังประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องแก้ ใช้แรงจูงใจ เกี่ยวข้องถึงเรื่องเศรษฐกิจและเพื่อนบ้าน รวมทั้งสิทธิในที่ดินทำกิน เกี่ยวกับเรื่องฝุ่นอย่างไร ตรงนี้ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริงเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ภายใต้คณะทำงานฯ ที่พยายามยกร่างกฎหมาย ปัญหาเรื่องฝุ่นเป็นแค่ภูเขาน้ำแข็ง ตัวที่เป็นรากฐานปัญหาคือปัญหาของระบบราชการ นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่พูดถึงระบบแผน ระบบงบประมาณ การทำงานที่ไม่บูรณาการ ข้ามกรมข้ามกระทรวง ปัญหาเรื่องข้อจำกัด นี่คือเรื่องแรกที่ต้องแก้ ถ้าจะแก้ปัญหาฝุ่น solutions หรือตัวกฎหมายที่จะออกมาก็ต้องแก้เรื่องนี้ 

ส่วนที่สอง เหมือนที่ท่านนายกฯ เศรษฐาไปพูดเวทีที่เชียงใหม่ ปัญหาฝุ่นคือปัญหาความยากจน เศรษฐกิจ ถึงโยงกับปัญหาที่ดินทำกินในสไลด์แรก รัฐบาลเดินมาถูกทางว่าต้องแก้สิทธิที่ดินทำกินถึงจะแก้ปัญหาฝุ่นได้ ปัญหาเรื่องการใช้ทรัพยากรในป่าที่ภาคป่าไม้รับผิดชอบอยู่แล้วทุกปี ต้องไปแก้เรื่องนี้ ความมั่นคงในสิทธิทำกิน และต้องแก้ในเรื่องของความล้มเหลวของตลาดที่ปล่อยให้ข้าวโพดขยายเข้าไปในป่า บุกรุกป่าต้นน้ำ อันนี้เป็นความล้มเหลวของกลไกตลาดที่ไม่มีกฎกติกากำกับ อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่กฎหมายใหม่ที่จะออกมาต้องตอบโจทย์ประเด็นเหล่านี้ให้ได้

ล่าสุด ป่ายังเป็นตัวหลัก ยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นปลาตัวใหญ่ 10 ปีย้อนหลัง ข้าวโพด 6% ปีนี้ขยับมาที่ 14% GISTDA เขารวมไร่หมุนเวียนไปด้วย ถ้าหักออกไป 2% แสดงว่า 10 ปีที่แล้ว ข้าวโพดเป็นตัวการ 6% ปีนี้เพิ่มมาเป็น 12% หรือ 2 เท่า นาข้าวดีขึ้น 10 ปีที่แล้วเผาอยู่ 22% ล่าสุด 10% ก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้างในทางดีขึ้น อ้อยที่เป็นข่าวมากๆ 10 ปีที่แล้ว 3% ตอนนี้ลดเหลือ 2% ก็ดีขึ้น อ้อยที่สิงห์บุรีที่เดียวกว่า 80% เป็นอ้อยไม่เผา ด้วยระบบ incentives ทั้งหลาย เราจะ scale up เข้ามาในร่างกฎหมาย

เราขอตัวเลขมาทั้งป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ 10 พื้นที่ที่ไหม้สุดอยู่ตรงไหน ที่จะชี้เพิ่มเติมคือ งบเท่าไหร่ คนเท่าไหร่ งบกันไฟของทั้ง 10 อุทยานฯ คือ 9 ล้านบาท กับพื้นที่อนุรักษ์ที่ต้องดูแลกว่า 7 ล้านไร่ มีข้าราชการ 14 เจ้าหน้าที่ 6 ลูกจ้างประจำ 59 คน ส่วนลูกจ้างชั่วคราวและอาสาสมัครไม่มีสวัสดิการดูแลชีวิตเขา เจ็บป่วยล้มตายก็ต้องระดมทุนบริจาคกัน มีคนทั้งหมด 79 คน ทั้ง 10 อุทยานฯ พื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ เครื่องเป่าลมเวลาดับไฟมี 37 เครื่อง อันนี้คือในพัสดุของราชการ ที่เอกชนบริจาคไม่รวมในนี้ โดรนที่วันนี้ควรจะมีแล้วก็ไม่มี ก็แปลกใจ ที่มีอยู่คืออาสากับเอกชนเอามาช่วย เรือที่อุทยานศรีนครินทร์ พื้นที่เหนือน้ำที่ไหม้ไปกว่า 4 แสนไร่มีเรือลำเดียว ไม่ต้องถามว่าทำไมป่าถึงไหม้ไปกว่า 65% นี่คือปัญหาในเชิงโครงสร้างที่พูดถึง ต้นปีนี้ 7 ล้านไร่ที่เขาดูแลไหม้ไป 3 ล้านไร่ คิดเป็น 46% ของพื้นที่อนุรักษ์ใน 10 พื้นที่นี้ 

คิดง่ายๆ ที่เอาไปปลูกทดแทน ปลูก 10 ไร่ หมื่นกว่าบาท เราเสียต้นทุนไปปีนี้ เฉพาะต้นปี 3.8 หมื่นล้าน ไม่รวมท่องเที่ยว เจ็บป่วย คนตาย นี่เป็นสิ่งที่ต้องบอกรัฐบาลอย่าให้เสียเงิน 3.8 หมื่นล้านนี้เลย เงินที่ควรจะให้ (เป็นงบทำงาน) มากกว่า 9 ล้านต้องมี สิ่งเหล่านี้จะอยูในร่างกฎหมาย

อีกด้าน เราเห็นความพยายามเข้าไปแก้ปัญหาของเอกชน ความรับผิดชอบที่ดีขึ้น คุณศุภชัย (CP) ไปที่สบขุ่นไปที่น้ำพาง เซ็นทรัลไปที่น่าน มิตรผลไปที่สิงห์บุรี ไร่อ้อย 85% ไม่เผา รับซื้ออ้อยตันละ 1,000 บาทจะได้ไม่ต้องเผา สนับสนุนเรื่องเครื่องจักรเก็บเกี่ยว SCG ไปทำบ่อน้ำใช้นวัตกรรมเป็นของเหลวที่เทราดไปแล้วเหมือนเราฉาบปูน พอแห้งก็กลายเป็นเหมือนผ้าใบคุม กันน้ำซึม เป็นสระพวง ทำแบบนี้ 30 สระย่อยๆ พื้นที่ตรงนี้เคยข้าวโพดแต่ปัจจุบันนี้เป็นมะม่วง ไม่ต้องเผาเลย เผาไม่ได้ มะม่วงน้ำปลาหวานใน Seven มาจากที่ลำปาง จากพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่เปลี่ยนมาเป็นปลูกมะม่วง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง 

แต่ในสถานการณ์ที่ไหม้กันอยู่เป็นล้านไร่ ถ้าเราทำแบบนี้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ถ้าสเกลปัญหามีอยู่ 100 เราทำแบบนี้ ให้เต็มที่คือได้ 30% นั่นหมายความว่าอีก 70% เป็นปัญหาที่เราทำไม่ทันทั้ง sizes และ speed โจทย์คืทำอย่างไรทั้งในร่างกฎหมายและการแก้ไขปัญหา เพราะกฎหมายกว่าจะออกมาอย่างเร็วคือปีครึ่ง 

Credit: ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์

ในกระบวนการที่จะแก้ปัญหาวันนี้ เป็นที่มาของการบ้านที่เราเสนอ (ข้อเสนอเพื่ออนาคตอากาศสะอาด) มีทั้งหมด 11 ข้อใหญ่ ใน 6 ข้อ (1.พื้นที่มุ่งเป้า 3 แห่ง (ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนฯ พื้นที่เกษตรรอบโรงไฟฟ้าชีวมวล) 2.ระบบงบประมาณเพื่อการป้องกัน เผชิญเหตุ และฟื้นฟูเยียวยา 3.ภาคเกษตรกรรม 4.การทำงานเชื่อมโยงของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 5.การปรับปรุงและจัดทำระเบียบกฏหมายที่เกี่ยวข้อง และ 6.การสื่อสารสาธารณะ_แบ่งระยะดำเนินการแต่ละข้อเป็น 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน (ปี 2567) ระยะเร่งรัด และระยะต่อไป) ตอนนี้คือต้องจับปลาใหญ่หรือป่าในพื้นที่อุทยานฯ เราขอข้อมูลไปว่าถ้าหน่วยดับไฟป่า หัวหน้าอุทยานฯ ต้องการเครื่องมือ งบประมาณจะเป็นเท่าไหร่ นี่คือข้อมูล บางอุทยานฯ ต้องการเงินไม่ถึง 2 ล้านบาท (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม ต้องการแค่ 1.83 ล้าน) ถ้ารัฐบาลจัดให้ตรงนี้ไม่ได้ ก็พิสูจน์ฝีมือกัน รวมแล้ว 10 อุทยานฯ ต้องการเงิน 74 ล้าน แทนที่เราจะไปเสียเงิน 3.8 หมื่นล้านกับการปลูกป่า ขอเงินแค่ 74 ล้าน เพื่อไปตอบโจทย์ อัพเกรดให้เจ้าหน้าที่

สิ่งสำคัญคือมาตรการที่ 3 (ของข้อเสนอการจัดการพื้นที่พุ่งเป้า) ไฟในป่าที่เป็นปลาตัวใหญ่เกิดจากการหาของป่า คิดเป็น 35% ของไฟในป่า ไทยไม่มีไฟป่า มีแต่ “ไฟในป่า” ที่เกิดจากคน ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้คือไปทำกติการ่วม รัฐกับชุมชนไปทำกติการ่วม ซึ่งมีอยู่แล้วในพรบ.อุทยานฯ ปี 62 ในมาตรา 65 มาทำกติการ่วมกัน เราไปดูที่เขตรักษาพันธุ์ฯ อุทยานฯ หลายแห่งก็ทำกติกานี้ออกมาแล้ว เป็นบทเร่งรัดที่ต้องทำ เป็นกติกา จะไปหาของป่า จะเก็บประเภทใดได้บ้าง ปริมาณเท่าไหร่ เก็บในโซนไหน เวลาไหน ขออย่างเดียว อย่าเผา ตอนนี้เริ่มทำแล้ว 

สิ่งที่ต้องทำคือ ไปเร่งรัดทำใน 10 อุทยานฯ นี้ในทันฤดูไฟปีหน้า วันนี้ก็เริ่มทำออกมาแล้ว สิ่งที่ต้องทำอีกอย่างคือ แนวกันคนพร้อมกับแนวกันไฟเพราะไฟเกิดจากคน ปีนี้อธิบดีกรมอุทยานฯ อรรถพลเน้นแนวกันคน ทั้งหมดนี้เป็นเช็คลิสต์ที่ต้องทำ จับปลาใหญ่ทั้งในป่าสงวนและอุทยานฯ จะทำอะไรบ้าง ในป่าสงวน มีพื้นที่ดูแลเยอะกว่า ก็ต้องการงบประมาณมากหน่อย แต่ก็เทียบไม่ได้กับ 3.8 หมื่นล้านที่เราต้องเสียไป 

สิ่งที่ต้องทำอีกอย่างคือ การเร่งทำระบบสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินแบบไม่ให้กรรมสิทธิ์ที่เรียกว่าแปลงรวมหรือ คทช. ที่ไปแจกกันในเวลาครม.สัญจร ทำไมต้องทำเรื่องนี้? เดิมทีในป่าสงวนมีคนอยู่ แล้วเขาไม่รู้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาจับเมื่อไหร่ จะกลายเป็นผู้ต้องหาเมื่อไหร่ เขาก็ปลูกข้าวโพดเพราะมันแค่ 3 เดือนก็เก็บได้ ไม่มีความมั่นคงในเรื่องสิทธิ พอมีเรื่อง คทช.เข้าไป ที่เราไปดูที่แม่แจ่ม น่าน ก็เปลี่ยนได้ เปลี่ยนจากข้าวโพดระยะสั้นมาเป็นมะม่วง อะโวคาโด้ นุ่น ล่าสุดที่แม่แจ่มเปลี่ยนมาเป็นผักอันทรีย์ มีระบบแปลง มีหลังคา โรงเรือน เปลี่ยนจากข้าวโพดมาเป็นผัก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีระบบสิทธิในที่ดินอย่างมั่นคง ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับ เขาก็กล้าลงทุน เอกชนก็เข้าไปสนับสนุนได้

อีกตัวที่เป็นตัวมุ่งเป้า พื้นที่เกษตรที่เผา เราเห็นตัวเลข วันนี้เราก็ให้เอาเทคโนโลยีมาใช้ เริ่มจาก GISTDA เอาข้อมูลโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศมาดูว่าอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วก็ให้ลองทำดูว่า ในรัศมี 5 กม.จากโรงไฟฟ้าชีวมวลมีการเผาอยู่มั้ย รวมแล้วแสนไร่ แล้วลองขยายไปเรื่อยจนถึง 50 กม. ได้ประมาณ 4 ล้านไร่ ทำไม 50 กม. เกือบ 4 ล้านไร่? ภาคเอกชน SCG บอกว่าถ้าจะให้เขาขนวัสดุเกษตรที่เคยเผาเขาสามารถไปได้ถึง 70 กม. ต้นทุนโลจิสติกส์เขาทำได้ เราเอาแค่ 50 กม. จะได้ 4 ล้านไร่ ทำลิสต์มา คนที่ดูแลโรงงานไฟฟ้าเหล่านี้มีใครบ้าง กำลังผลิตเท่าไหร่ เราก็มุ่งเป้าไปเลย 

ถ้าเอา 3 พื้นที่นี้ คือมุ่งเป้าตัวใหญ่ แล้วก็ไปสู่การมุ่งหน้าแก้กฎหมายต่อไป

ต่อมาปัญหาของภาครัฐคือ งบประมาณ เราดูแล้วมี 4 ส่วนที่มาทำได้ ปีนี้งบภาครัฐ delay อาจจะใช้ได้อย่างเร็วก็กลางปีหน้า เรานึกถึงงบกลางที่จะเอามาใช้ โดยจะใช้ตั้งแต่ก่อนเกิดฝุ่น และในช่วงสถานการณ์เกิดฝุ่นโดยที่ไม่ต้องประกาศเขตภัยพิบัติ ที่ผ่านมาปัญหาการประกาศเขตภัยพิบัติมีเยอะ แล้วก็เตรียมไว้ใช้ฟื้นฟูเยียวยา แล้วก็งบภาคเอกชนที่มีประกาศของ BOI ที่รองรับเรื่องนี้ 

อีกส่วนหนึ่งได้ยินรัฐบาลนี้พูดเยอะคือ SLB (Sustainability-linked bond) จะเป็นอีกตัวหนึ่งที่เข้ามาในสเกลเริ่มต้น 5 พันล้านบาท ดึงการมีส่วนร่วมเข้ามาได้ในระยะต่อไป ตั้งแต่ปี 62 ที่มีวาระแห่งชาติ ปี 63 มีแผนแม่บทปฏิบัติการเรื่องฝุ่น ปัญหาที่ตามมาในเชิงระบบคือไม่มีงบ เพราะว่าแต่ละหน่วยงานที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทแผนบูรณาการต้องไปของบเอาเอง นั่นคือปัญหาของระบบในเชิงโครงสร้าง 

สิ่งที่ทำจะแก้ปัญหานี้ได้ต้องไปอาศัยงบบูรณาการที่มีอยู่แล้ว ในพรบ.วิธีการปี 61 เป็นข้อเสนอ และจะเขียนไว้ในร่างกฎหมายที่กำลังจะออกมาว่าแผนปฏิบัติการแผนแม่บทให้ใช้งบประมาณแบบบูรณาการภายใต้พรบ. วิธีการที่มีอยู่แล้ว 

มาตรการงบลงทุน BOI ออกมาตั้งแต่ปลายปี 65 เขียนไว้เพื่อส่งเสริมการลงทุนและชุมชนที่ให้เอกชนเข้ามาช่วยลงทุน คนลงทุนคืองบเอกชนเอง BOI ไม่ได้สนับสนุนการลงุทน ตรงนี้มีงบเกี่ยวกับฝุ่นตรงการสนับสนุนเกษตรยั่งยืน การลงทุนด้านแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เกษตรยั่งยืนแบบ BOI คืออะไร? ตัวอย่างเช่น การปลูกข้าวแบบปล่อยมีเทนต่ำ คือนาข้าวแบบไม่เผา ข้าวเป็นตัวการอยู่ที่ 10% ในปีนี้ มาใช้มาตรการนี้ เงินลงทุนภาคเอกชน เขาลงทุนแล้วได้อะไร? ได้ยกเว้นภาษี 200% เขาลงทุน 100 ล้าน เขายกเว้นภาษี 200 ล้านเพื่อมาช่วยทำตรงนี้

ปัญหาสิ่งแวดล้อม (ภายใต้กรอบ BOI) ทำอะไรบ้าง? ปัญหาเรื่องฝุ่น ใช้ได้เลย ตั้งแต่ BOI ประกาศมาตรการนี้มา เรามีข้อมูลมาจนถึงเดือนกรกฎาปีนี้ มีผู้มาใช้ไปแล้ว 14 โครงการ เงินลงทุน 450 ล้านบาท ตัวอย่างเช่น บริษัทมิตรผล สยามคูโบต้า อินโนเวชั่น นี่คือสิ่งที่ช่วยสเกลอัพ ในโมเดลน้ำพาง แม่แจ่ม เราก็ต้องดึงภาคเอกชนมาร่วม

ป่าอนุรักษ์ที่เป็นปลาใหญ่ที่ไหม้ไป 3 ล้านไร่ ป่าสงวนอีก 1 ล้านไร่ แล้วก็ 10 พื้นที่รอบโรงไฟฟ้า 10 กม. รวมเป็น 4.7 ล้านไร่ คิดเป็น 48% ของพื้นที่เผาปี 66 ทำไปจะได้อะไร? ภาคเอกชนจะได้การยกเว้นภาษี ได้ประโยชน์เรื่องการรายงาน ถ้าเขาอยู่ในระบบตลาด ก็รายงาน SDGs และหลายโครงการ นาข้าวไม่เผา ก็เป็นกระบวนการไปสู่ Carbon Credit มองในมุมบวกนี่เป็นความรับผิดชอบ แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ บริษัทเกษตรที่ต้องรับผิดชอบ แล้วต้องมาเปลี่ยนที่ตัวการให้เป็นพื้นที่ไม่เผา นี่เป็น solutions ที่เขียนไว้ในกฎหมาย ในกฎหมายช่วง 3-5 ปีแรก เป็นช่วง transition ยังไม่ใช่มาตรการบังคับ แต่จะใช้มาตรส่งเสริม ให้ปรับตัว หลังจากนี้ค่อยใช้มาตรการลงโทษ 

ถ้าแบ่งช่วงของการรับมือฝุ่น จะได้เป็น 3 ช่วงคือ การรับมือสาเหตุที่ต้นทาง ช่วงการเผชิญเหตุ และช่วงการฟื้นฟูเยียวยา ในกฎหมายเราจะให้ความสำคัญกับการลดสาเหตุที่แหล่งกำเนิดเพื่อลดปัญหาในช่วงการเผชิญเหตุ และลดความเสียหายที่เราต้องจ่ายช่วงฟื้นฟูเยียวยา กฎหมายใช้แนวคิดนี้ ดึงสรรพกำลังมาแก้ในช่วงแรก ให้ระยะเวลาในการปรับตัวในระยะหนึ่ง และหลังจากนั้นค่อยบังคับลงโทษ 

พอลงในดูในราย sector จะเห็นรูปธรรมมากขึ้น ข้าวโพดเดิมเป็น 6% พอต้นปีก็ขยายมามากขึ้น อันนี้เป็นความล้มเหลวในการกำกับกลไกตลาดเสรี ซึ่งเราปล่อยต่อไปไม่ได้ ช่วงเร่งรัด ฤดูฝุ่นต้นปี จัดการเศษวัสดุไม่เผา ขนไปที่โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนไปใช้ประโยชน์อื่นๆ มีตัวอย่างทำได้หลายแบบ ตัวหลักเราเอามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ ไม่เผา เอาเข้ามาที่โรงไฟฟ้าได้ ใช้มาตรการ BOI เพื่อสเกลอัพการแก้ไข 

ระยะเร่งด่วนคือฤดูฝุ่นในปีนี้ ในระยะเร่งรัดคือ ระบบตรวจสอบย้อนกลับ การรับรองผลผลิตแบบไม่เผาที่เราเรียกว่า PM2.5 free วันนี้เริ่มทดลองแล้วที่แม่แจ่ม นำเอาเครื่องมือที่อยู่แล้วในกฎหมาย นำเอาเกษตรพันธสัญญาที่วันนี้เราได้ข้อมูลชัดเจนว่าบางบริษัทใช้เกษตรพันธสัญญา แต่รูปแบบที่เป็นตัวสัญญาเราไม่ได้ไปดูในรายละเอียด เราสามารถใช้เครื่องมือทางกฎหมายที่มีอยู่แล้วได้ การเปิดเผยข้อมูล รายงานด้านสิทธิมนุษยชน คุยกับตลาดแล้ว สิทธิมนุษยชน สิทธิในอากาศสะอาด สิทธิในสิ่งแวดล้อมต้องถูกรายงานกับตลาด สำหรับบริษัทที่เป็น  listed company 

ระยะต่อไป ตัวอย่างโครงสร้างระบบของข้าวโพด ทำไมข้าวโพดถึงขยาย? เพราะมีความต้องการในธุรกิจปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การแก้ในระบบโครงสร้าง เราต้องมาวางแผนเลยว่า demand ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเท่าไหร่และมาดูว่าเราต้องการพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพดเท่าไหร่ เอาเฉพาะในประเทศไม่ต้องขยายไปต่างประเทศ และอยู่บนพื้นที่ราบไม่ใช่พื้นที่สูง 

กระทรวงเกษตรต้องไปออกแบบมา มองเชิงระบบ ภาพใหญ่ ทำ zoning ออกแบบ และเปลี่ยนข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่สูงให้มาอยู่บนที่ราบ และควรจะอยู่ตรงไหน กระทรวงเกษตรมี agri map อยู่แล้วว่ามีพื้นที่ตรงไหนที่ไม่เหมาะสมกับการเกษตร ปลุกข้าวไม่เหมาะสมก็มี ไม่เหมาะสมกับระบบชลประทาน เราก็เอาข้าวโพดบนพื้นที่สูงเหล่านั้นให้มาอยู่บนพื้นที่ราบ แก้ปัญหาการใช้พื้นที่เกษตรไม่เหมาะสมที่กระทรวงเกษตรต้องการเปลี่ยนอยู่ พรบ.เศรษฐกิจการเกษตร มาตรา 15 มีระบุ “เขตเกษตรเศรษฐกิจ” ก็คือ zoning เกษตร และใช้มาตรการจูงใจส่งเสริมที่มีอยู่แล้วมาผนวกกับมาตรการ BOI และในกฎหมายฉบับนี้ที่จะออกมามากขึ้นในช่วงการปรับเปลี่ยน 5 ปีแรก นี่คือการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง

ข้าวก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันว่าเร่งด่วนเราจะทำอะไร เร่งรัดเราจะทำอะไร และระยะต่อไปเป็นการปรับเปลี่ยนเป็นนาข้าวไม่เผา นาข้าวกับการใช้วัสดุการเกษตร เราเห็นตัวอย่างดีๆ มากมาย อ้อยก็เช่นเดียวกัน มีระยะเร่งด่วนและเร่งรัดเพื่อการเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง 

สิ่งที่ตามอีกอย่างหนึ่งจากการเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างคือ กรรมการฝุ่นแห่งชาติ จะเกิดขึ้นในกฎหมายที่จะออกมา เรามองภาพว่าแหล่งกำเนิดฝุ่นซึ่งมีมากมายไม่ว่าจะเป็น คมนาคม ไฟฟ้า เกษตร อุตสาหกรรม ป่าไม้ ก่อสร้าง ฝุ่นข้ามแดน จริงๆ มีกฎหมายหมดเลย มีกรรมการแห่งชาติดูแลทั้งหมดเลย 

ยกตัวอย่างเช่น ภาคป่าไม้มีกรรมการป่าไม้แห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ คณะกรรมการป่าชุมชน และอีกหลายกรรมการ ทั้งหมดนี้ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ไปเทกองรวมกันที่กรรมการฝุ่น ในกฎหมายที่กำลังออกมาต้อง design ระบบทำงานและให้ความรับผิดชอบตามกรรมการเหล่านั้นด้วย 

ขณะเดียวกันกฎหมายที่มีอยู่ต้องเอามาใช้ วันนี้หลังจากตั้งกรรมการแห่งชาติฝุ่นขึ้นมา จะส่งการบ้านไปยังกรรมการเหล่านั้นให้ทำอย่างน้อย 3 เรื่องคือ จะมีมาตรการเพิ่มเติมตามกฎหมายอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา ท่านจะออกแบบมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การเงินการคลังจากกฎหมายที่มีอยู่อย่างไร เช่น ธกส. ปล่อยกู้เพื่อการเกษตร แต่ต่อไปการปล่อยกู้ต้องผูกกับเงื่อนไขว่าคนที่รับสินเชื่อนั้นต้องไม่เผา รัฐบาลที่ดูแลสินค้าเกษตรต่อไปต้องผูกกับมาตรการว่าเกษตรกรต้องไม่เผา หรือเกษตรเศรษฐกิจที่อยู่ในพรบ. เศรษฐกิจการเกษตรนี่เป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้วใช้ได้เลย นี่คือตัวอย่างของเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้ได้เลยและจะต้องถูกออกแบบไว้ในกฎหมายด้วย 

สุดท้าย เรื่องกฎหมายและเรื่องเร่งด่วนของหน่วยงานภาครัฐ เราพบข้อจำกัดมากมาย อย่างเรื่องการนำใบไม้ออกจากป่าอนุรักษ์ ยังมีความผิดตามกฎหมาย หรือเรื่องโดรน ทำไมไม่มี? เพราะจะซื้อแล้ว แต่จะซื้อปีแรกก็โดนตรวจสอบเลยเพราะเหตุเรื่องมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ต้องเขียนป้องกันเพราะมองทุกอย่างว่ามันจะโกง เลยเป็นเหตุว่าทำไมอุทยานไม่มีโดรนสักลำ 

เราจะไปแก้กฎระเบียบตรงนี้ เรามองไปถึงเรื่องระเบียบกลางที่จะปลดล็อคกฎระเบียบย่อยๆ ทั้งหลายซึ่งเคยมีออกมาในปี 65 เป็นระเบียบกลางเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางทะเล เรื่องน้ำมันรั่วเคยแก้ปัญหาไม่ได้เลย มันติดกฎคล้ายๆ กัน ทางแก้คือออกระเบียบกลางเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางทะเล ออกมาแล้วเมื่อ ปี 65 เราจะใช้แนวคิดเดียวกันในระยะเร่งรัดสำหรับเรื่องฝุ่น

มาถึงวันนี้เราต้องช่วยกัน วันนี้เราต้องเรียกมันว่า ฝุ่นพิษ อย่าไปเรียกมันว่าหมอกควัน ฝุ่นควัน แต่เป็นฝุ่นพิษ เราอยากให้สื่อทำยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนอย่างถูกต้อง ลดความสับสน ยิ่งมีมาตรฐานใหม่ที่ ลดจาก 50 มา 37.5 มคก./ลบ.ม ดราม่าเกิดขึ้นแน่ “จำนวนวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในรัฐบาลนี้มากสุดเป็นประวัติการณ์” headlines แบบนี้มาแน่ เพราะตัวค่ามาตรฐานมันเข้มข้นขึ้น ที่สำคัญคืออยากให้ช่วยสื่อสารเพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงาน ในการเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าทำได้จะช่วยได้เยอะ ช่วงสถานการณ์ฝุ่นเรานึกถึงรูปแบบพิเศษที่หมอทวีศิลป์มาช่วยสื่อสาร (ในช่วงโควิด) เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้คนปกป้องตัวเอง ดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี 

วันนี้ถอดบทเรียนกันมาหลายรอบ ตอนนี้นำร่องที่เชียงใหม่แล้ว ข้อสรุปชัดเจนจากเวทีเชียงใหม่ว่า หยุดเผา ไม่ใช่คำตอบ ออกมาสื่อสารสักเดือนหนึ่งแล้ว แนวคิดร่างกฎหมายเราไม่ใช้แนวคิด zero burning เราใช้พื้นฐานเรื่อง fire management การจัดการไฟอย่างถูกต้องมีกฎกติกา ใช้ไฟอย่างจำเป็น เทคโนโลยีทุกวันนี้สามารถติดตามได้ เปลี่ยนกฎเกณฑ์การควบคุมคุณภาพอากาศอย่างเข้มข้น มีกฎกติกาให้ปฏิบัติได้ มีระบบแจ้งเตือนค่าฝุ่นแบบ cell broadcast ผู้ให้บริการมือถือยิงข้อความมาทันที เราทำแบบนั้นได้กับเรื่องฝุ่น คนที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นเข้มข้น ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ค่าฝุ่นมันก็แจ้งเตือนขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ต้องทำให้เกิดขึ้น 

ภาพสุดท้าย เป็นโจทย์ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงระบบ เชิงโครงสร้าง ต้องแก้ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ต้องแก้การกำกับควบคุมตลาดเสรี เราต้องออกแบบสิ่งเหล่านี้ แก้เรื่องกฎหมาย ให้สิ่งเหล่านี้อยู่ในกฎหมาย 

ส่วน solutions การแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและระยะเร่งรัดเราส่งรัฐบาลไปแล้ว รอกลไกที่จะตั้งขึ้น ส่วนกระบวนการทางกฎหมายจะเป็น draft final ส่งให้รัฐบาลได้ในกลางเดือนพฤศจิกายน

A corn plantation on Myanmar’s side bordering Mae Sai district was burnt up by the fires that spread across the border to Thailand’s Doi Chang Moob and some coffee plantations there in mid-April.
Photo: Sayan Chuenudomsavad

ความท้าทายของเกษตรพันธสัญญาและฝุ่นควันข้ามแดน

ดร. บัณฑูร: ในตัวกฎหมายจะมีหมวดว่าด้วยการจัดการฝุ่นพิษข้ามแดน เราก็ดูตัวอย่างการแก้ปัญหามาจากเพื่อนบ้าน หนึ่งในนั้นคือสิงคโปร์ เราก็ถอดร่างกฎหมายของสิงคโปร์เอามาออกแบบให้เหมาะกับสถานการณ์ของประเทศไทย ก็เป็นหมวดว่าด้วยการจัดการฝุ่นพิษข้ามแดน 

ผอ.พันศักดิ์: เรื่องที่พูดมาทั้งหมดสุดท้ายแล้วมันจะออกมาเป็นกฎหมายอากาศสะอาด แต่มันใช้เวลา บางส่วนที่จะเอาใช้ในอากาศสะอาดก็ถูกเอามาทำมาตรการเสนอการยกระดับในปีนี้ เข้ากรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและก็คิดว่าจะได้รับความเห็นชอบและนำเอามาใช้เลย ในทางปฏิบัติมันเริ่มตั้งแต่วันนี้ แต่ผลที่จะได้มันต้องใช้เวลา บางส่วนก็ได้ทันที คือตอบคำถามว่า ทำทันที? ทำแล้ว 

ส่วนเรื่องสิงคโปร์เราก็ไปดูกฎหมายเขามา ก็ต้องเอามาปรับใช้ กฎหมายเขามีกระบวนการสืบสวนเราก็จะใช้กระบวนการสืบสวนเหมือนกัน แต่เรื่องการสืบสวนแล้วมีความผิดจะลงโทษอย่างไร สิงคโปร์ก็ยังไม่มีบทลงโทษตรงนั้น ขั้นตอนที่เขาใช้คือใช้บทลงโทษเชิงสังคม ประกาศให้รู้ว่าใครบริษัทไหนที่ทำให้เกิดผลกระทบ แต่เรื่องการฟ้องร้องยังเป็นเรื่องกระบวนการทางกฎหมายที่ยังไปไม่ถึงตรงนั้นแต่สังคมกดดันแล้ว ใช้สังคมกดดันไปก่อน ก็คิดว่าคงเป็นแนวทางเดียวกัน 

นอกจากสิงคโปร์เราก็ดูประเทศอื่นด้วย ที่ EU อย่างของฝรั่งเศส เพิ่งไปประชุมกับผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายของฝรั่งเศสว่าบ้านเราก็ใช้กฎหมายแม่แบบเป็นฝรั่งเศส เขาก็มีปัญหาคล้ายๆ กัน ต้องเอามาประยุกต์ใช้ คือมันต้องมีพัฒนาการ เวลาเราจะทำมาตรการอะไรสักอย่างหนึ่งมันต้องมีความพร้อมทั้งสังคมเราด้วย ฉะนั้นทำแล้วและต้องทำต่อไป มีเป้าหมายแน่นอน ถ้าร่วมกันก็เป็นไปได้

จะเป็นมาตรการเชิงสังคมก่อน แต่ว่ามันต้องมีระบบในการสอบสวนก่อน จะไปกล่าวหาแบบไม่มีหลักฐานก็ไม่ได้ เท่าที่หารือกับผู้ประกอบการมา ทุกรายบอกว่าจะไม่รับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่เผา แต่ตอนรับซื้อเขายังไม่เผาไงแล้วเอามาขาย เขาเผาทีหลังแล้วจะสอบสวนยังไง คือระบบตรวจสอบย้อนกลับนี่สำคัญ แล้วมันจะมีขึ้นมาได้อย่างไร ก็ต้องมีเทคโนโลยีมีระบบฐานข้อมูลที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ออกฎระเบียบให้ไปตรวจสอบย้อนกลับได้ 

ดร. บัณฑูร: ในระยะเริ่มต้นเราก็ใส่เข้าไปแล้วในตัว report การทำธุรกิจที่จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ตัวรายงานนั้นเป็นหลักฐานว่าคุณทำอย่างไรบ้าง 

ส่วนเรื่อง Traceability จะอยู่ในตัวบทเฉพาะกาลของระบบกฎหมายเพื่อเร่งการทำงาน ขณะเดียวกันเราก็พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อสืบสวน แล้วก็มาถึงภาพการปรับเชิงโครงสร้าง ก็มาดูกันว่าปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้องการเท่าไหร่ เอา demand มาเป็นตัวตั้งก่อน ดูว่าถ้าปริมาณเท่านี้แล้วพื้นที่ปลูกในประเทศไม่พอ จะอ้างว่าต้องไปปลูกในต่างประเทศ มันก็ไปต่อไม่ได้ ก็ต้องมาจัดการลด demand เป็นอีกตัวที่ตามมา

สินค้าบางอย่างมันตรวจโดยลักษณะไม่ได้ สิ่งที่จะดูได้ว่าเผามีตัวเดียวคืออ้อย อ้อยเข้าโรงงานเขาจะรู้ได้เลยว่าอ้อยเผาหรือไม่เผา มันมีร่องรอย แต่อย่างข้าวหรือข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนแล้วเอามาขาย ค่อยเผาทีหลัง ตอนที่เราเห็นของมันบอกไม่ได้ว่าเผาหรือไม่เผาเพราะของจริงมันอยู่ที่ไร่ เขาอาจจะยังไม่ได้เผาตอนที่เอาของมาส่ง ความยากมันต่างกันตรงนี้

คุณบัณรส: คำว่า “เกษตรพันธสัญญา” มันฝังอยู่ในประเทศไทยเรานานพอสมควร โดยเฉพาะที่หมายถึงข้าวโพดที่เผา เพราะว่าชุดข้อมูลแรกเริ่มของเราไปทำในพื้นที่พันธสัญญา ก็ได้ชุดข้อมูลข้าวโพดพันธสัญญามา หลังจากนั้นผมก็ไปตรวจสอบดู นอกจากพื้นที่พันธสัญญาแล้วก็ยังมีข้าวโพดชนกลุ่มน้อยนอกพื้นที่เกษตรพันธสัญญา บนเทือกเขาในรัฐฉานเยอะมากซึ่งใหญ่กว่าพันธสัญญา ก็ต้องดูเพิ่มว่าข้าวโพดที่ไหลมาจากพันธสัญญาสัดส่วนอาจน้อยกว่า 

แล้วการไปบังคับให้เขาไม่เผามันยากมาก ทุกอย่าง ความเป็นพื้นที่ พฤติกรรมต่างๆ แต่ในความยาก มันก็มีความง่ายคือ CBAM EU กำลังใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอน ข้าวโพดเราใช้เยอะ มันก็แปรมาเป็นสินค้าส่งออก 2 ชนิดคือ เอามาเลี้ยงไก่เป็นไก่ส่งออก แล้วก็ที่ส่งออกอาหารสัตว์ล้วนๆ รวมๆ เกิน 2 แสนล้าน ตอนนี้ผู้ประกอบการที่ส่งเข้า EU เขารู้แล้ว ก็เริ่มตรวจสอบย้อนกลับให้ได้ว่ามันไม่ได้ปล่อยคาร์บอน ระบบนี้ก็กำลังพัฒนาในไทยแต่มันยังไม่ได้เริ่ม เพราะฉะนั้นปีนี้เป็นปีปล่อยผี มีการขยายข้าวโพดเป็นดอยๆ ในเขตภาคเหนือเยอะมาก ข้าวโพดทุกเม็ดเป็นที่ต้องการเพราะ demand เยอะกว่า supply 

การแก้ปัญหาแบบนี้คือการใช้ supply side คำว่า CBAM ก็จะรู้ว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จะไปตรวจสอบย้อนหลังมันก็ไม่ง่าย ก็ต้องมาดูในรายละเอียดว่าเขาจะตบตา EU ได้มั้ย

แล้วตัวเลขที่ ดร.บัณฑูรบอกว่าตัวเลข 10 ปี นาข้าวมันเยอะกว่า ตอนนี้ข้าวโพดมันสูงขึ้นมา จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมามันมีนโยบายไม่รู้ว่าเป็นการชี้นำของใครไม่ทราบให้ลดการปลูกข้าว มันก็มาพร้อมกับเพิ่มใบอนุญาตผลิตอ้อย น้ำตาล เขาก็แปลงนาข้าวเป็นอ้อยน้ำตาลพอสมควรและเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดขึ้น มันไม่ใช่ว่านาข้าวเขาไม่เผาแล้ว แต่โดยสัดส่วนการปลูกมันลดลงจากนโยบาย เป็นข้อสังเกตขึ้นมา

ดร.บัณฑูร: ข้าวโพดพื้นราบนี่แทบจะไม่เผา มันสามารถเอาเครื่องจักรเข้าไปเก็บเกี่ยว สร้างรายได้จากตัวการใช้วัสดุการเกษตร เป็นชีวมวล ปัญหาคือข้าวโพดดอยที่ติดปัญหาเรื่องความสูงชัน เครื่องจักรเข้าไปไม่ได้ 

ข้าวโพดในไทยก็จะมีบริษัทใหญ่ๆ คือ ซีพี เบทาโกร คากิล ที่เป็นตัวใหญ่ๆ และรายย่อยๆ อีก มีหนึ่งในสามบริษัทนี้ที่เขามี market share ในการปลูกข้าวโพดอยู่ 40% บริษัทนี้ทำระบบ traceability มานานแล้ว เราก็ท้าทายเขา ขอดูขอตรวจสอบ เขาก็เอาข้อมูลมาให้ดูว่า 40% ที่เขาดูแล มี contract farming พื้นที่ตรงไหนบ้าง เราเอาดาวเทียม GISTDA mapping ดูว่าสิ่งที่คุณทำอยู่ไม่เผาจริงมั้ย ตอนนั้นเช็คดู 110 ราย มีเผา 4 ราย ก็บอกว่า 4 รายที่เจอในระบบคุณทำอะไรบ้าง เขาบอกว่าเจอครั้งแรกตักเตือน เจอครั้งที่สองก็เอาออกจากระบบ contract farming คือตอนนี้เรารู้แค่ 40% แต่อีก 60% เรายังไม่รู้ว่าเขาอยู่ในระบบ traceability แค่ไหน แต่ 40% แรกใช้เกษตรพันธสัญญา อันนี้โยงกับสิ่งที่บอกว่าในกฎกระทรวงเกษตร เกษตรพันธสัญญามีผลต่อความมั่นคง ต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรสามารถออกแบบรูปแบบเกษตรพันธสัญญาให้เอาไปใช้ได้ เป็นการบอกว่าเราใช้กฎหมาย contract farming ได้อย่างไร 

ถ้าเราลดการปลูกข้าวโพดแบนตอนนี้เลยได้มั้ย ไม่ให้ข้าวโพดข้างนอกเข้ามา เขาก็จะบอกว่ามันทำให้ไม่พอ ผลกระทบก็คืออาหารสัตว์ราคาสูง ส่งผลกระทบกับอาหารคนที่เรากินอยู่ หมู ไก่ก็จะราคาสูงขึ้นตามมา ตรงนี้ก็ต้องใช้การออกแบบเป็นระยะและใช้การวาง phasing เพื่อแก้ปัญหาให้ครบ

คุณบัณรส: ต้องยอมรับว่าหลายอย่างจำเป็นต้องใช้ไฟอยู่ ทำยังไงให้มันสมเหตุผลที่สุด ถูกจังหวะเวลาที่สุด อย่าไปเติมในจังหวะที่พีค คือข้าวโพดในวงจรของประเทศไทยมันมีจังหวะเวลาของมัน 2 รอบ ในเวียดนาม 3 รอบด้วยซ้ำไป หลายๆ พื้นที่ รอบหลักคือก่อนหน้าฝน แต่เวลาเขาเผาบนดอยมันก็ต้องรอให้แห้งสุดซึ่งตรงกับช่วงปลายมีนาต้นเมษาเพราะเผาก่อนที่ฝนจะมา แต่ว่าบางแห่งก็เลทได้ เคยมีการไปต่อรองบอกว่าให้เลทได้มั้ย รอพฤษภาได้มั้ย หลังสงกรานต์ได้มั้ย อย่าให้มันผสมโรงกัน เขาก็บอกว่าภูมิปัญญาต้องเผาให้มันแห้งที่สุด เชื้อราจะน้อย 

ที่สุดแล้วการแก้ปัญหานี้คือการยกระดับมาตรฐานการผลิต การใช้ชีวิตคน มาตรฐานการผลิตภาคเกษตรก็คือเป้าหมายการแก้ปัญหา เป็นกระบวนการใหม่ วิธีคิดใหม่ ทำอย่างที่จะยกระดับมาตรฐานนั้นให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด นี่คือโจทย์

Chiang Mai was shrouded by the PM2.5 haze early this year.
Photo: Sayan Chuenudomsavad

บทสรุป

ดร.บัณฑูร: อันแรกต้องอยู่บนความเข้าใจและความเชื่อมั่นว่าปัญหานี้แก้ไขได้ การแก้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย แม้แต่ในหน่วยงานภาครัฐก็ไม่ใช่กระทรวงทรัพฯ หรือกรมป่าไม้อย่างเดียว แหล่งกำเนิดฝุ่นก็มาจากหลาย sectors หน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วนก็ต้องทำงานของตัวเองและมีกลไกประสานกัน 

ความท้าทายใหญ่เลยอยู่ในข้อแรกที่เลขานายกฯ ถามว่า เชื่อเลยหรือว่านี่เป็นปัญหาของเรื่องฝุ่นที่ต้องแก้? เราตอบว่า ใช่ คือ ปัญหาระบบราชการ มันก็โยงมาถึงความท้าทายด้วยว่าภายใต้ระบบราชการที่เป็นเรือลำใหญ่ไททานิค การจะหันหนึ่งองศามันก็ต้องอาศัยแรงผลักดัน และมันก็มีแรงต้านแรงเฉื่อย มันก็เป็นความท้าทาย

คุณบัณรส: สั้นๆ แบ่งเป็นซ้ายขวา before และ after ฝั่งซ้ายก็คือวิธีคิดแบบน้ำ มาก็ตั้งทำนบกั้นน้ำ ส่วนทางขวามือเป็นวิธีคิดแบบกระบวนคิดใหม่ มีนโยบายที่เป็น political will ด้วย เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ว่าด้วยการเปลี่ยนกระบวนการ การยกระดับ การแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน ปากท้อง เหมือนอย่างการผลิตข้าวโพด 

อันที่สองต่อมาเป็นเรื่องกระบวนการปฏิบัติ before ก็คือแบบแท่ง มีวาระแห่งชาติก็ยังต่างคนต่างทำ แต่ after ทำอย่างไรให้เป็นกระบวนการแบบบูรณาการในเรื่องเดียวกันให้สามารถมารุมจัดการกันได้ มีเป้าหมายร่วม เป็นความท้าทายใหญ่ทั้งสิ้น บูรณาการอย่างไรให้เปลี่ยนไปจากระบบราชการแบบเดิม

ถอดความโดย เสียงอักษร The Recorder

สไลด์ประกอบการบรรยายของท่านวิทยากร

FB LIVE RECORDING: DIALOGUE FORUM 4 I YEAR 4: THE LESSONS LEARNED FROM PM2.5 AND RIGHT TO CLEAN AIR