ประเด็นเนื้อหาถอดความและเรียบเรียงจากเวทีเสวนา Dialogue Forum 3 l Year 4: “เขื่อน” ในพื้นที่มรดกโลก (Dam or No Dam? in the Country’s Natural World Heritage Sites) โดยความร่วมมือของสำนักข่าว Bangkok Tribune, Decode.plus, ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม, และ SEA Junction ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเด นาวร์ (Konrad Adenauer Stiftung, Thailand Office)

เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและความท้าทายในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทย
ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สุนีย์ ศักดิ์เสือ
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก โดยปกติแล้วสิ่งที่มีการพูดคุยกันมีหลายเรื่อง เช่น การอัพเดตกิจกรรมต่างๆ ที่ทางส่วนมรดกโลกดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของตนเอง หรือกิจกรรมที่ดำเนินตามมติของคณะกรรมการมรดกโลก นอกจากนี้ ก็มีการพิจารณาเรื่องรายงานสถานภาพของแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว หรือมีการพิจารณาถึงแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตรายด้วย และมีการพิจารณาถึงแหล่งใหม่ที่มีการเสนอในการขึ้นเอกสารบัญชีรายชื่อเบื้องต้นหรือเป็น nomination ที่จะเป็นมรดกโลก นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาในเรื่องของการปรับขอบเขตของแหล่งมรดกโลกบางแห่งด้วย และมีการรายงานสถานะภาพของตัวพื้นที่ การพิจารณาถึงเงินทุนจากกองทุนในการใช้ในการสนับสนุนกิจการของแหล่งมรดกโลก บางพื้นที่ที่มีการร้องขอเข้ามา และมีบางพื้นที่ที่พูดเรื่องรายงานทางการเงิน อันนี้จะเป็นประเด็นต่างๆ ที่จะมีการพูดคุยกันในกลุ่มคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ
ปกติแล้วเราจะประชุมกันปีละ 1 ครั้ง ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2 อาทิตย์ อันนี้จะเป็น format ปกติ ซึ่งที่ผ่านมา การประชุมครั้งล่าสุดเดือนกันยายนเป็นครั้งที่ 45 ในส่วนของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกคือตั้งแต่ 2515 และที่มีการประชุมครั้งแรกตั้งแต่ปี 2520 ในปี 2520 ตอนนั้นก็เป็นการประชุมกับประเทศสมาชิกต่างๆ แล้วก็มาถึงปี 2521 เป็นการประชุมที่เริ่มมีการพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ
ในส่วนที่มีเกี่ยวข้องกับประเทศไทยก็เข้ามาในช่วง ปี 2534 ก็คือมีการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทั้งอยุธยา สุโขทัย และทางธรรมชาติก็คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ที่เป็นทางมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย ข้ามมาในปี 2535 ตอนนั้นก็จะมีในส่วนของบ้านเชียงที่ได้ขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 3 ของประเทศไทย
แล้วเราก็ทิ้งช่วงมาจนกระทั้งถึงปี 2548 เราได้ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแหล่งที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งในการขึ้นทะเบียนครั้งนั้น ตัวมติคณะกรรมการมรดกโลกมีการบ้านในหลายๆ เรื่อง ในส่วนของกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ให้มีการทำการบ้าน เพื่อที่จะมีประสิทธิภาพหรือป้องกันปัญหาอะไรต่างๆ ที่อาจจะยังมีอยู่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการที่เราจะดูแลรักษาทรัพยากร
แล้วเราก็ทิ้งช่วงมาในปี 2564 เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราได้มีโอกาสขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศไทย ซึ่งก็คล้ายคลึงกันกับของฝั่งดงพญาเย็นเขาใหญ่คือ มีการบ้านที่เราต้องมาทำเพิ่มเติม เพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามเงื่อนไข ตามแนวทางของตัวอนุสัญญาด้วย แล้วก็ล่าสุด 19 กันยายน ที่ผ่านมา ก็เป็นความภาคภูมิใจของพวกเราคนไทยที่ได้มีการขึ้นทะเบียนศรีเทพเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ก็ 31 ปีจากตั้งแต่ปี 2534 ที่ผ่านมา ก็ได้ศรีเทพมาอีกแหล่งนึง

ในภาพรวม ประเทศไทยเราก็มีมรดกโลกทางวัฒนธรรมก็คือ สุโขทัย อยุธยา บ้านเชียง ศรีเทพ ในส่วนของทางธรรมชาติก็คือ ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แล้วก็แก่งกระจาน แล้วก็ปัจจุบัน ภายหลังจากการประชุม (ครั้งที่ 45) สิ้นสุดลง ก็ทำให้ปัจจุบันทั่วโลกมีแหล่งมรดกโลก 1,199 แห่ง ทางวัฒนธรรม 993 แห่ง ทางธรรมชาติมีเพียง 227 แห่ง
ซึ่งทั้งหมดนี้ พันกว่าแห่ง มี 56 แห่งที่อยู่ในภาวะอันตรายเนื่องมาจากภัยคุกคามในประเทศต่างๆ แล้วก็จะเห็นได้ว่า 3 แห่ง จากพันกว่าแห่งจาก 50 กว่าปีที่มีอนุสัญญา ถูก delete ถูกถอดถอน บ่อยครั้งอาจจะมีข่าวออกไปที่บอกว่าดงพญาเย็นจะถูกถอน แก่งกระจาน อะไรต่างๆ จะถูกถอนจากการเป็นมรดกโลก โดยกระบวนการแล้ว มันไม่ถึงขนาดนั้นที่จะถอดถอน มันมีขั้นตอนหลายขั้นตอนที่จะไปถึงจุดนั้น ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา มี 3 แห่ง ที่ถูก delete ออกไปที่เห็นได้ว่า ณ ปัจจุบัน เขาไม่ได้มีการคงสภาพตามที่ขึ้นทะเบียน ไม่หลงเหลือสภาพแล้ว อันนั้นเป็น 3 แห่ง ปีนี้เองมีแหล่งที่ขึ้นทะเบียนใหม่ 42 แห่ง ทางธรรมชาติ 9 แหล่ง นอกจากนี้ ก็มีกลุ่มที่มีการปรับปรุงขอบเขตหรือมีการผนวกพื้นที่เพิ่มเข้ามา อันนั้นก็เป็นภาพรวมของโลกเรา ในส่วนของตัวอนุสัญญามรดกโลก
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (2534) ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2534 ตามหลักเกณฑ์ของมรดกโลกทางธรรมชาติ จะมีอยู่ 4 หลักเกณฑ์ จะมีหลักเกณฑ์ข้อที่ 7, 8, 9, 10 เรื่องข้อที่ 7 ความสวยงาม ข้อที่ 8 เรื่องความโดดเด่นทางธรณีสันฐาน ข้อที่ 9 เรื่องระบนิเวศน์ชีววิทยา และข้อที่ 10 เรื่องของชนิดพันธุ์สำคัญที่อยู่ในภาวะคุกคามในถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์ต่างๆ ตรงนั้น ซึ่งในส่วนของทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งก็ขึ้นทะเบียนใน 3 หลักเกณฑ์ ข้อ 7, 9, 10 ความสวยงาม ระบบนิเวศน์ และพืชพันธุ์สำคัญ
ต่อมาปี 2548 กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ขึ้นทะเบียนในหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 ในส่วนของชนิดพันธุ์สำคัญ มีเรื่องของจระเข้น้ำจืด เรื่องของถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง แล้วก็ช้างป่าด้วย คือพูดถึงชนิดพันธุ์สำคัญ ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม อันนี้เรามองในระดับสถานภาพของโลก เราอาจจะมองว่าช้างในประเทศไทยเยอะ มีถึง3-4 พันตัว แต่ในมุมมองของโลกมันเป็นสัตว์ที่อยู่ในภาวะที่ถูกภัยคุกคามต่างๆ อันนี้เป็นส่วนของดงพญาเย็นเขาใหญ่ ต่อมาล่าสุดคือกลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าแก่งกระจานก็เช่นเดียวกันกับทางเขาใหญ่ ขึ้นทะเบียนในหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 ชนิดพันธุ์สำคัญคือ เรื่องของจระเข้น้ำจืดด้วย ไซต์ทางธรรมชาติที่หลงเหลือ มีเรื่องของเสือ ช้าง วัวแดง สัวต์ป่าต่างๆ
ในส่วนเรื่องของการส่ง tentative list ใหม่ เมื่อปี 2564 ที่มียื่นเอกสารไป แล้วก็ประชุมครั้งนี้ที่ผ่านมาก็ได้รับรองเป็นทางการ คือเอกสารเสนอเบื้องต้นของแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน อันนี้เป็นในภาพของประเทศไทยว่า แหล่งอนุรักษ์มรดกโลกทางธรรมชาติอยู่ในประเทศไทยมีคุณค่า มีความสำคัญในด้านไหน








ข้อห่วงกังวลคณะกรรมการมรดกโลก
ที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นข้อห่วงกังวลหรือคำแนะนำจากมติคณะกรรมการมรดกโลกตั้งแต่มีมรดกโลกทางธรรมชาติตั้งแต่ปี 2534 ในส่วนของทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งจนเรื่อยมาถึงป่าแก่งกระจาน ก็มีในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การลักลอบตัดไม้ทางฝั่งดงพญาเย็นเขาใหญ่ เรื่องไม้พยุง การล่าสัตว์ เส้นทางการคมนาคมที่มีการตัดผ่านผืนป่าที่จะทำให้ป่ามีขนาดเล็กลงและมีภัยคุกคามตามมา เรื่องของการบุกรุกพื้นที่ ปริมาณนักท่องเที่ยว ประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ เรื่องความเป็น unity ของพื้นที่ และเรื่องการพัฒนาโครงสร้างเพื่อการเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนต่างๆ อันนี้ก็เป็นประเด็นต่างๆ ที่เราพบเจอมาตั้งแต่เรามีมรดกโลกทางธรรมชาติ
ทีนี้ล่าสุดในส่วนของกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ ที่มีมติมาก็มีในเรื่องที่กล่าวมาคือ เรื่องไม้พยุง เรื่องการป้องกันปราบปราม ความร่วมมือระหว่างประเทศ เรื่องของอทุยานแห่งชาติทับลานที่ต้องมีการปรับปรุงแนวเขต เรื่องของการปรับปรุง พรบ.อุทยานแห่งชาติ และ พรบ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่าในประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชน สิ่งที่กระทบกับชุมชนจากการปรับปรุง พรบ. มีอะไรบ้าง เรื่องของตัวชี้วัดการดำเนินงานต่างๆ เรื่องของความต่อเนื่อง ความเพียงพอของงบประมาณ และเรื่องของเส้นทางถนนที่มีการร้องขอ และในขณะเดียวกัน มีในส่วนของข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้าง ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และอยู่รอบพื้นที่ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวคุณค่าของผืนป่าตรงนี้ได้ ก็มีมติในรายละเอียด อันนี้คือในส่วนของกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่
ต่อมาส่วนของป่าแก่งกระจาน พอขึ้นทะเบียนแล้วก็มีการบ้านเรื่องต่างๆ อย่างที่ในปีนี้ ก็มีข้อมติคณะกรรมการมรดกโลกในเรื่องของความร่วมมือของไทยกับเมียนมาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ข้ามพรมแดนร่วมกันของพื้นที่รอยต่อ การดำเนินการตามข้อแนะนำของ IUCN Mission ที่เดือนพฤศจิกายนปลายปีที่แล้ว กรมได้มีโอกาสเอาผู้เชี่ยวชาญที่ IUCN จัดมาไปเยี่ยมเยียนที่บ้านพุระกำ อันนั้นมีข้อแนะนำต่างๆ เรื่องของ พรบ. เรื่องที่เรามีคณะกรรมการที่ปรึกษากลุ่มป่าฯ เรื่องของแนวกันชน และมีเรื่องของข้อห่วงกังวลเรื่องเขื่อนที่มีการเสนอขอก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง บริเวณบ้านพุระกำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่มีข้อห่วงกังวลและข้อแนะนำในตัวมติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งล่าสุด
ถ้าเรามาดูในภาพรวมตั้งแต่ที่เราขึ้นทะเบียนทุ่งใหญ-ห้วยขาแข้ง ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และจนมาถึงแก่งกระจาน เราจะพบได้ว่า ในส่วนของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตั้งแต่ขึ้นทะเบียนปี 2548 คณะกรรมการฯ บอกว่ามีการบ้าน แต่ก็เป็นในเรื่องอื่นๆ เป็นภัยคุกคาม หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานก็ตาม
แต่ต่อมาในปี 2554 ในการประชุมครั้งที่ 35 เป็นปีแรกที่เริ่มมีมติข้อห่วงกังวลในเรื่องของการที่จะสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ ไล่มาตั้งแต่ปี 2554-60 ก็คือมีมาตลอดที่มีข้อมติที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แล้วมาเว้นช่วงเนื่องจากปี 2560 มีมติให้ส่งรายงาน หลังจากนั้นปีถึงสองปีมีการเว้นช่วงไป ประกอบกับช่วงโควิด แล้วส่งรายงานใหม่ แล้วก็มามีมติอีกครั้งในปี 2564 แล้วก็ข้ามมาที่ ปี 2566 ซึ่งในทุกปีที่ผ่านมา ก็จะมีมติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอ่างเก็บน้ำ เรื่องเขื่อน
สิ่งที่มีการกล่าวถึงในตัวมติโดยสรุปคือ มีการกล่าวถึงเขื่อนห้วยโสมง เขื่อนห้วยสะโตน เขื่อนลำพระยาธาร และเขื่อนต่างๆ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และรอบพื้นที่ ข้อเสนอในการสร้างต่างๆ ซึ่งในตัวมติข้อห่วงกังวล มีการขอให้มีการหยุดก่อสร้าง ให้ยกเลิกแผนงาน หรือในส่วนที่มีการก่อสร้างไปแล้วก็ขอให้มีแผนมาตรการ mitigation plan ที่ชัดเจนที่จะป้องกันและบรรเทาผลกระทบ ให้มีการติดตามและประเมินผลที่ชัดเจน แล้วก็คือในช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมา ก็มีในส่วนเรื่องของการขอให้จัดทำ SEA (Strategic Environmental Assessment) อันนี้คือภาพรวมที่ผ่านมา
ล่าสุดที่ไปร่วมประชุมมา ในส่วนที่มีการดำเนินงาน IUCN ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ปรึกษาก็ร่วมกับที่ปรึกษาทางแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จัดทำคู่มือในการที่จะประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำเป็น Guideline ก็เป็น Toolkit ออกมาว่า การที่จะประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในบริบทของการเป็นมรดกโลก มีขั้นตอนอะไรอย่างไร ซึ่งตรงนี้ทางศูนย์มรดกโลก องค์กรที่ปรึกษา มีความพยายามที่จะให้ State Party ประเทศสมาชิกได้นำ Guideline นี้ไปใช้
ก็ถือว่าเป็นคู่มือมีรายละเอียดที่ครอบคลุม ก็อยากจะฝากสำหรับกลุ่มต่างๆ ที่จะทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางกรมชลประทาน หรือว่าสื่อต่างๆ อาจจะมีการศึกษาว่า Guideline มีอะไร มีทั้งเรื่อง concept ต่างๆ ที่เราดู และเรื่องคำศัพท์อะไรต่างๆ เพื่อที่จะให้เรามีความเข้าใจบริบทต่างๆ องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เรื่องของความแตกต่าง SEA EHIA EIA ตรงนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ที่จะได้มีการดูข้อมูล steps ต่างๆ ในการทำ SEA หรือว่า EIA ควรจะมีการเริ่มอย่างไร ใครควรจะเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง ประเด็นต่างๆ ควรจะหาข้อมูลในเรื่องไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
ท้ายที่สุด ในส่วนที่อยู่ใน Guideline ตัวนี้ ในส่วนของกรมอุทยานฯ ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานดูแลพื้นที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ และประเทศไทยในฐานะที่เราเป็น State Party ภายใต้อนุสัญญานี้ เราก็พร้อมจะทำตามข้ออนุสัญญา พันธะกรณีที่ประเทศได้มีการเข้าสัตยาบรรณไว้ ฉะนั้น Guideline ตัวนี้ก็จะเป็นสิ่งที่กรมอุทยานฯ จะนำมาใช้ในการที่จะดำเนินการ SEA ต่อไป ในขณะเดียวกันในส่วนของประเทศไทย บริบทประเทศไทย มีคู่มือที่จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตรงนี้มีคู่มือที่ออกมาตอนปี 2565 ก็เป็นคู่มือที่เราใช้ด้วย
ข้อความหนึ่งที่อยู่ในตัวคู่มือนี้ก็คือว่า ประเทศสมาชิกของอนุสัญญาฯ ถูกคาดหวังว่าเราจะมีการดำเนินงานภายใต้พันธะกรณีที่เราไปให้สัญญา ไปให้สัตยาบรรณไว้ภายใต้ตัวอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งการที่เราประเมินผลกระทบต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผลกระทบเรามีการมองในทุกบริบท มันจะมีผลกระทบต่อคุณค่าของพื้นที่จากข้อเสนอโครงการเหล่านี้ต่างๆ หรือไม่ มีการพิจารณาโครงการครบถ้วนสมบูรณ์กระบวนการตัดสินใจ ก่อนจะมีการตัดสินใจใดๆ เพื่อให้เรามีความมั่นใจว่า เราสามารถที่จะช่วยดูแลแหล่งมรดกโลกที่เป็นพื้นที่พิเศษอันนี้ไว้ได้ อันนี้ เรามองในเรื่องของระยะยาวด้วย
ก็ในส่วนของปีหน้าก็คือว่า ตามมติของปีนี้ ทั้งฝั่งดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และฝั่งแก่งกระจาน สิ่งที่เป็นการบ้านต่างๆ เหล่านี้ ประเทศไทยจะต้องทำรายงานรวบรวมส่งภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 นั่นหมายความว่า ถ้าการประชุมปีหน้าเกิดขึ้นตามปฏิทินปกติ ไม่มีเหตุการณ์อะไรมาแทรกแซง ก็จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม เพราะฉะนั้น ในการประชุมครั้งต่อไป อาจจะยังไม่มีวาระที่เกี่ยวข้องกับดงพญาเย็น-เขาใหญ่และแก่งกระจานเข้าในวาระพิจารณา ยกเว้นแต่ว่าองค์กรที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการมรกดกโลกได้รับข้อมูลจากบุคคลที่ 3 อาจจะมีข้อห่วงกังวล ข้อ concern อะไรที่ critical มากๆ แล้วถูกเข้าบรรจุเป็นวาระ แต่โดยปกติแล้ว น่าจะยังไม่ได้เข้าในการประชุมครั้งหน้าที่เราจะต้องส่งปลายปี ก็อาจจะเป็นการประชุมในปี 2568 ในครั้งที่ 47 อันนั้น เราจึงต้องมาเป็นการส่งการบ้านว่า โจทย์ที่คณะกรรมการมรดกโลกให้มา 1-4 เรามีการดำเนินการในแต่ละเรื่องไปอย่างไร มีความก้าวหน้าไปอย่างไร น่าจะเป็นประมาณนั้น

“เขื่อน” ในพื้นที่มรดกโลก
คุณเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา ที่ปรึกษาอธิบดี กรมชลประทาน
ขอเริ่มจากคำถามที่ว่า ทำไมเราจะต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม? สมมติว่า วันดีคืนดีเราตื่นขึ้นมาแล้วเปิดก๊อกน้ำ ปรากฎว่าน้ำปะปาไม่ไหล จะโทษใครดี ไม่ได้จ่ายค่าประปา? ถ้าจ่ายแล้วยังไม่ไหล ก็ต้องโทษคนที่หาน้ำเอามาทำประปาว่าทำอะไรผิดพลาดไปมั้ย เป็นที่มาว่า ประเทศเรา ถึงแม้จะมีน้ำเยอะอยู่ แต่ดูจากความต้องการใช้น้ำที่เรามีในปัจจุบัน จะเห็นว่ายังขาดอีกเยอะ ประมาณ 49,000 ล้าน ลบ.ม./ปี
คาดการณ์ว่า ในอนาคต การขาดแคลนน้ำ ถ้าหากได้มีการพัฒนาตามแผนที่ทางรัฐบาลได้วางตามแผน ตามกรอบยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการน้ำ 10 ปี การขาดแคลนน้ำก็น่าจะลดลงได้ แต่ก็ยังขาดแคลนประมาณ 45,000 ล้าน ลบ.ม./ปี ก็เป็นที่มาว่า เราจะต้องมีการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของเรา
ทำไมต้องไปสร้างอยู่ในป่าด้วย? ทำไมไม่สร้างเขื่อนในเมือง? ทุกคนคงรู้จักเขื่อนภูมิพลอยู่ที่จังหวัดตาก การสร้างเขื่อนต้องสร้างตรงภูมิประเทศที่เป็นช่องเขาน้ำไหลออกมา แล้วเราจะสร้างเขื่อนทำนบปิดช่องเขาไว้แล้วทดน้ำที่มันไหลออกมา โดยใช้ภูเขาสองข้างเป็นกำแพงโอบอุ้มที่จะเก็บน้ำเอาไว้
เพราะฉะนั้น พื้นที่ราบข้างล่างมันไม่สามารถทำเขื่อนกักเก็บน้ำได้ ข้างล่างส่วนใหญ่จะต้องเป็นฝายหรือประตูระบายน้ำ มันเก็บกักน้ำได้แค่ลำน้ำ ปริมาณน้ำมันเก็บไว้ได้น้อย ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ เรา? คือคนไทยนั้นแหละ ที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากชุมชนเราขยายตัวพื้นที่เกษตร เราขยายตัว แม้แต่ภาคอุตสาหกรรม แม้แต่ในเรื่องของน้ำเสียน้ำเค็มที่รุกขึ้นมาที่เราต้องใช้น้ำจืดผลักดันออกไป ดังนั้น พื้นที่สร้างเขื่อนจึงต้องอยู่ในป่า สร้างในเมืองก็ไม่ได้หรอก
กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ ถ้าดูตอนบนทางทิศเหนือ ในส่วนของที่ติดกับจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ตอนนี้กรมชลประทานได้พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำเอาไว้แล้ว มี 5 แห่ง ก็คือ เขื่อนมูลบน เขื่อนลำปลายมาศ เขื่อนห้วยลาย อ่างลำนางรอง อ่างลำจังหัน อันนี้ก็บริการพื้นที่เกษตรและการอุปโภคบริโภคในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรีมย์ อ่างเก็บน้ำเหล่านี้สร้างตั้งแต่ก่อนปี 2548 ก่อนประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกในพื้นที่นี้ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เราจะสร้างไว้ที่พื้นที่ขอบๆ อุทยานฯ ไม่ได้สร้างเข้าไปลึกลงไปข้างใน เพื่อลดผลกระทบของที่จะรบกวนเขตอุทยานฯ ขณะนั้น หลังจากปี 2548 ก็ประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลก
ส่วนทิศใต้ที่มีการสร้างไว้แล้วในพื้นที่จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว ก็มีอ่างเก็บน้ำห้วยปือ อ่างเก็บน้ำหนองไม้ป้อง อ่างเก็บน้ำทับลาน อ่างเก็บน้ำพุดทับปง และก็มีเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง เขื่อนนฤบดินทรจินดาหรือเขื่อนห้วยโสมง และเขื่อนขุนด่านปราการชล 2 เขื่อนนี้ที่บอกว่าเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ แต่จริงๆ เราเก็บน้ำประมาณ 200 ล้าน.ลบ.ม. เศษๆ เท่านั้นเอง เมื่อเทียบกับเขื่อนภูมิพล อันนั้นเก็บน้ำประมาณหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย เพราะตอนนี้เราคงทำขนาดนั้นไม่ได้แล้ว

โครงการที่อยู่ในแผนงานที่อยู่ในรอบๆ ผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ มีทั้งหมด 7 แห่ง ตัวแรกคืออ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อันนี้อยู่ในขั้นของการที่กรมชลประทานส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ทางกรมอุทยานฯ พิจารณา ซึ่งก็ยังไม่เห็นชอบกับรายงานฯ ก็ยังให้กรมชลประทานไปดำเนินงานศึกษาและแก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนนี้ กรมชลประทานเพิ่งส่งตัวรายงานกลับเข้าไปเมื่อเดือนมิถุนายน คาดว่ากรมอุทยานฯ ก็จะพิจารณาร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ตัวถัดมาคืออ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ ตัวนี้ highlight เลย อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อที่จะเก็บกักน้ำ เป็นอ่างที่คู่กับเขื่อนขุนด่านปราการชล คลองมะเดื่อจะอยู่ทางเลี้ยวซ้ายขึ้นไป โครงการนี้อยู่ภายใต้แผนโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางประกงตอนบน ซึ่งจริงๆ ต้องสร้างคู่กัน 2 เขื่อน แต่เขื่อนขุนด่านฯ ได้รับการอนุมัติให้สร้างเสร็จไปก่อนแล้ว ส่วนนี้ก็เลยตามมา ตอนนี้ทางกรมชลประทานก็ได้มีการดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว ส่งเข้าสู่กรรมการพิจารณารายงานเรียบร้อยแล้ว
ลักษณะของโครงการนี้ เป็นการเก็บน้ำยาวๆ ไปตามลำน้ำ ปลายน้ำมันเลยทะลุเข้าไปในพื้นที่เขาใหญ่สักหน่อยหนึ่ง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นพื้นที่ราบตรงกลาง 2 ฝั่งของเขื่อน จะเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ หรือ นส.3 ของชาวบ้าน อุทยานก็จะอยู่ขอบๆ ของภูเขา 2 ฝั่งซ้ายขวา
ตัวต่อไปคือ ใสน้อย-ใสใหญ่ อยู่ในลุ่มน้ำแควหนุมาน ตัวนี้เดิมจะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ปิดกั้นทั้งใสน้อยใสใหญ่เลย แต่จากการที่หารือร่วมกันแล้ว หลายฝ่ายแม้แต่ทางกรมอุทยานฯ เอง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่อุทยานฯ หรือพื้นที่มรดกโลกเป็นประเด็นกว้าง ก็จะลดลงมาปิดแค่ตรงช่องของลำน้ำใสน้อยเพียงแห่งเดียว ซึ่งก็จะช่วยลดพื้นที่ป่าที่ถูกรบกวนลงไปได้ แล้วขณะเดียวกันก็ลดปริมาณน้ำเก็บกักลงไปด้วย ขณะนี้ก็มีการลดลงมา เหลือแค่เขื่อนใสน้อยอย่างเดียว
ตัวที่ 4 น่าจะเป็นลำพระยาธาร อยู่คู่กันกับใสน้อย-ใสใหญ่ อยู่ในเขตมรดกโลกทั้งตัวเขื่อนเลย จากการพิจารณา มันอาจจะต้องกระทบต่อการเป็นพื้นที่มรดกโลกมาก ก็เลยมีการหารือร่วมกันทั้งกรมชลประทาน กรมอุทยานฯ และหลายๆ ฝ่าย เลยเห็นว่าอาจจะเปลี่ยนแผนลดผลกระทบลง อาจไม่ได้มีการปิดกั้นตรงนั้น ยกเลิกตรงนั้นไป แต่ว่าไปทำเป็นเขื่อนเล็กๆ บริเวณขอบๆ ของอุทยานฯ แทน ได้แก่เขื่อนห้วยซัน แล้วก็อ่างเก็บน้ำยางหมู่ แล้วตรงนั้นก็มีอ่างทับลานอยู่แล้วก็อาจจะขยายเพิ่มความจุขึ้น ซึ่งการลดขนาดลงเป็น 3 อ่าง ก็จะทำให้ลดผลกระทบต่อพื้นที่ตรงนี้ลงได้ ต่อไปก็คือวังมืด ปัจจุบันก็มีการหารือหลายๆ ฝ่ายเช่นกัน เห็นควรที่จะชะลอ ยกเลิกโครงการนี้ออกไป ก็คงไม่ได้มีการดำเนินการต่อไป อีก 2 ตัวก็คือ อ่างเก็บน้ำคลองบ้านนากับคลองหนองแก้ว ปัจจุบันก็อยู่ในแผนของการเตรียมความพร้อมเฉยๆ ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดใด
ทั้ง 7 โครงการนี้ ถามว่ามันอยู่ขั้นตอนไหน? ก็อยู่ในขั้นตอนของการ “เตรียมความพร้อม” ทั้งหมดเลย ไม่มีตัวไหนที่ทางกรมชลประทานตั้งแผนงานก่อสร้างเลย ยังไม่มีตัวไหนเลย แต่เรื่องของการเตรียมความพร้อม เราอยู่ภายใต้แผนแม่บทที่ทางรัฐบาลกำหนดไว้ว่าต้องหาแหล่งน้ำ โดยเฉพาะของส่วนลุ่มน้ำบางประกงตอนบนที่มีแผนว่าจะต้องหาแหล่งน้ำมาช่วยเหลือในพื้นที่เหล่านี้จะต้องทำอย่างไร ทางกรมชลประทานเองก็มีหน้าที่ในการรับมาปฏิบัติว่าต้องศึกษาเตรียมความพร้อม ถ้าเค้าถามว่าทำตรงไหนได้บ้าง เราก็จะได้บอกถูกว่าต้องทำตรงนี้ ขนาดเท่านี้ แล้วก็ทำแล้ว จะมีผลกระทบอย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมที่เราศึกษาไว้
ซึ่งในส่วนนี้ จะเป็นข้อมูลในการไปสนับสนุนกรมอุทยานฯ ในการที่จะไปศึกษาผลกระทบในเชิงยุทธศาสตร์ SEA ที่กำลังทำอยู่ ก็จะดึงข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ แล้วก็จะประเมินว่าทรัพยากรธรรมชาติตรงนี้มันรองรับการพัฒนาพื้นที่ได้หรือไม่ ก็เป็นการทำงานร่วมกัน ทางกรมเราก็ให้ข้อมูลไป
อันนี้เป็น 7 โครงการที่อยู่ในแผนงาน อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ว่าสร้างแล้วจะปล่อยให้เป็นตามชะตากรรมของมัน มันก็จะมีแผนเรื่องของการป้องกันแก้ไขผลกระทบที่จะมีต่อมรดกโลกด้วย ถ้าหากเราพิสูจน์ให้ทางคณะกรรมการมรดกโลกเห็นว่า มันไม่กระทบ OUV หรือคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลของเขาได้ มันก็สามารถที่จะพัฒนาได้ เพราะทางมรดกโลกเองเขาก็ไม่ได้จะให้ประเทศภาคีหยุดการดำเนินการไปในเรื่องของการพัฒนาประเทศโดยที่จะห้ามเข้ามาแตะต้องพื้นที่มรดกโลก
อย่างเช่นเขื่อนนฤบดินทรจินดา เราก็ได้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกเช่นกัน ก็ร่วมกับกรมอุทยานฯ แสดงให้เขาาเห็นถึงความตั้งใจแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มีการนำเสนอ แล้วพาเข้าไปดูในพื้นที่ ปัจจุบันก็ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขอยู่ ถ้าจำไม่ผิดก็ตอนประชุมที่ประเทศกาต้า เราก็ได้รับคำชื่นชมจากคณะกรรมการมรดกโลกในเรื่องของแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการก่อสร้างเขื่อนแก้ไขเขตมรดกโลกตรงนี้
สรุปสุดท้ายคือ เขื่อนที่สร้างในเขตมรดกโลกแล้วเป็นอย่างไร ผมยกตัวอย่าง 2 เขื่อนขนาดใหญ่ 1.เขื่อนนฤบดินทรจินดา ส่วนเขื่อนข้างล่างคือ เขื่อนขุนด่านปราการชล ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าทั้งหลาย ก็ได้มีการสำรวจปี 2565 ก่อนหน้านั้น ของเขื่อนขุนด่านฯ ได้มีการทำ Post EIA ด้วย เข้าไปสำรวจในพื้นที่ที่เป็นเขื่อน
ในพื้นที่ผืนน้ำที่เราเก็บกักน้ำไว้ กรมชลประทานได้ทำเรื่องส่งมอบคืนให้ประกาศให้เป็นเขตอุทยานฯ ทางน้ำของเขาไปแล้ว เพื่อที่จะใช้กฎหมายอุทยานเข้ามาครอบตรงนี้ ป้องกันไม่ให้คนบุกรุกเข้าไปทำลาย เพราะฉะนั้น ในส่วนของการบุกรุก ไม่มีอย่างสิ้นเชิง เพราะตอนเราสร้างเขื่อนนฤบดินทรจินดา เราเอาคนที่เดิมตรงนี้เป็นพื้นที่เกษตรเข้าไปปลูกยูคาลิปตัส ปลูกอะไรเยอะแยะไปหมด เราเอาคนออกมาทั้งหมด ไม่ให้คนเข้าไปเลย ปัจจุบันไม่มีการบุกรุกในพื้นที่นี้ เนื่องจากเรามีการตั้งหน่วยพิทักษ์และจุดสกัด
ในส่วนของการสำรวจพื้นที่ของป่า เนื่องจากขอบของอ่างเก็บน้ำในช่วงที่น้ำลดลงมันก็จะเป็นพื้นที่ที่มีต้นหญ้าทั้งหลายขึ้นมา ก็จะมีสำรวจพบร่องรอยของสัตว์ป่าเข้ามาหากินหลายชนิด รวมถึงสัตว์หายาก ตอนแรกเราคาดว่าน่าจะหายไปจากพื้นที่เหล่านี้แล้ว ไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว แต่เข้าไปสำรวจก็ได้ค้นพบอย่างนกสองตัวนี้ นกไอ้งั่ว กับนกโกโรโกโส ซึ่งมันก็กลับมาทำรังมาหากินอยู่ที่นี่ ตอนที่ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสำรวจเขาก็ดีใจ เขาไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วตอนนี้มันมีแล้วเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ แสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าไม่มีคนเข้าไปรบกวนในพื้นที่ อันนี้อาจจะช่วยคลายกังวลส่วนหนึ่งสำหรับคนที่ยังกังวลว่าไปสร้างเขื่อนในพื้นที่นี้อาจจะทำให้คุณค่า OUV มันลดลง
คำถาม: เขื่อนที่สร้างบริเวณเขาใหญ่ดงพญาเย็นเป้าหมายหลักเก็บน้ำเพื่อใคร เพื่ออะไร?
อันดับแรกเลยคือ เพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชนที่อยู่ในจังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว อันที่ 2 ประเทศเรามีพื้นที่เกษตรเยอะ แต่อาศัยรอน้ำฝนอยู่ พื้นที่เกษตรเหล่านี้ก็รอต้องการใช้น้ำตรงนี้เพื่อเอามาช่วย อันที่ 3 แม่น้ำบางประกงถูกน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาทุกปี เราต้องผลักดันไว้ไม่ให้น้ำเค็มมาเลยจากบริเวณโรงพยาบาลอภัยภูเบศวร์ ซึ่งแต่ละปีใช้น้ำผลักดันตรงนี้เยอะมาก ถ้าหากว่าน้ำขึ้นมา ก็ใช้น้ำประปาตรงนั้นไม่ได้เลย รวมไปถึงพวกสมุนไพรทั้งหลายที่มันอ่อนไหวต่อเรื่องของน้ำเค็มเหล่านี้ มันต้องใช้ปริมาณเยอะตรงนี้ ถึงจะต้องพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เก็บไว้เพื่อใช้ในการดันน้ำออกไป ส่วน SEA ตอนนี้ดำเนินการโดยกรมอุทยานฯ แต่กรมชลประทานสนับสนุน EIA ที่เราศึกษา เขาก็ดึงตัวนี้ไปประเมินได้

ข้อห่วงกังวลคณะกรรมการมรดกโลกต่อ “เขื่อน” ในพื้นที่มรดกโลก
ผู้อำนวยการส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติและพื้นที่สงวนชีวมลฑล กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดาราพร ไชยรัตน์
ในเรื่องของอนุสัญญามรดกโลกในพื้นที่ของมรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทย ประเด็นเรื่องของความเกี่ยวข้องในเรื่องของการดำเนินการเรื่องเขื่อน รวมถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณะขนาดใหญ่ ในมุมมองของอนุสัญญามรดกโลก และในบริบทของมรดกโลกทางธรรมชาติ ประเทศไทยเกี่ยวข้องในส่วนใดบ้าง?
ในส่วนแรกในของตัวอนุสัญญามรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเอง เมื่อเราไปเป็นภาคีแล้ว ตัวบทบัญญัติเขาได้บัญญัติไว้ว่า “รัฐภาคีมีหน้าที่ในการระบุ คุ้มครองป้องกัน อนุรักษ์ นำเสนอ และส่งต่อไปยังชนรุ่นหลัง มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่ตั้งอยู่ในดินแดนและครอบครองโดยรัฐนั้น”
ส่วนที่สองก็คือแนวอนุรักษ์ตามอนุสัญญามรดกโลก หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า Operational Guideline ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวโครงการขนาดใหญ่ในเรื่องของเขื่อน มันก็จะมีอยู่ 2 ประเด็น ก็คือย่อหน้าที่ 172 เรื่องของข้อมูลที่ได้รับจากรัฐภาคีหรือ Third Party กรณีที่รัฐภาคมีโครงการขนาดใหญ่ คณะกรรมการมรดกโลกขอให้รัฐภาคีแจ้งผ่านเลขาคณะกรรมการฯ ว่า กำลังจะดำเนินการหรือว่าให้ใครเข้าไปดำเนินการในตัวแหล่งมรดกโลก ไม่ว่าการฟื้นฟูสภาพหรือการก่อสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลของพื้นที่โดยเร็วที่สุด ตั้งแต่ทราบเลย ในขั้นตอนแรกเลย เพื่อที่ทางคณะกรรมการฯ จะได้ให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้มั่นใจว่าคุณค่าที่เป็นสากลของแหล่งได้รับการปกป้องไว้อย่างสมบูรณ์
ส่วนที่ 2 ก็คือเรื่องของกรณีการขึ้นทะเบียนของแหล่งในบัญชีมรดกโลกในภาวะอันตราย ก็คือในย่อหน้าที่ 180 ก็คือมันจะเป็นในกรณีของแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งความอันตรายเขามองไว้ 2 อย่าง คือ อันตรายอย่างชัดแจ้ง และอันตรายที่มีความเป็นไปได้ ในประเด็นเรื่องโครงการขนาดใหญ่ในเรื่องเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ มันถือเป็นอันตรายอย่างชัดแจ้ง
ซึ่งมันก็จะมีการยกตัวอย่างไว้อย่างหลักๆ 3 ประการ ถ้าประชากรของชนิดพันธุ์หรือประชากรของชนิดพันธุ์ที่มีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลลดลงอย่างมากๆ ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือการดำเนินการของมนุษย์ อย่างเช่น การล่า ก็จะเป็นภาวะอันตรายที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน และเรื่องของการเสื่อมอย่างรุนแรงของความสวยงามตามธรรมชาติ รวมถึงคุณค่าทางทางวิทยาศาสตร์ของแหล่งเอง ซึ่งเรื่องนี้จะมองไปที่เรื่องของการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ การสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งน้ำมันไปท่วมพื้นที่สำคัญ รวมถึงโครงการพัฒนาสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น ถนนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และเรื่องของการบุกรุกแนวเขต แหล่งต้นน้ำที่มันส่งผลต่อความสมบูรณ์ของแหล่งด้วย อันนี้คืออันตรายที่เขามองว่ามันชัดแจ้งและอาจส่งผลให้ไปอยุ่ในภาวะมรดกโลกในภาวะอันตราย
อันที่สามคือ มติของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญที่เกิดขึ้นเมื่อมีการประชุม ในส่วนของมรดกโลกทางธรรมชาติของไทย ในการประชุมครั้งที่ 42 ณ ปี 2561 ที่บาเรน ก็มีการพูดถึงเรื่องของสาธารณูปโภคและเรื่องของการประเมินสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า SEA รวมถึงการประเมินแหล่งที่เรียกว่า HIA (Heritage Impact Assessment) เขาให้ข้อมติและข้อเสนอแนะไปว่า โครงการที่จะมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มันส่งผลต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่งทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ในพื้นที่หรือรอบเขตที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ขอให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ก่อนการดำเนินโครงการ และก็ให้มีความมั่นใจว่ามีการแก้ไขตัวที่ตั้งรวมถึงเส้นทางที่จะดำเนินการก่อนมีการอนุมัติโครงการ ทั้งนี้ ในกรณีที่กำลังจะมีการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ก็ต้องแจ้งให้ศูนย์มรดกทราบอย่างที่แจ้งไป ย่อหน้าที่ 172 และมติต่อมาคือการอยากให้รัฐภาคีเห็นความจำเป็นของการดำเนินการ SEA กับ HIA ในพื้นที่มรดกโลก
มาถึงตัวมรดกโลกทางธรรมชาติที่มีประเด็นเรื่องของเขื่อนและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ซึ่งรวมถึงเขื่อนเช่นเดียวกัน ในครั้งที่ 44 (2564) ของกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ก็คือ เน้นย้ำให้มีการยกเลิกการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่อย่างถาวร เนื่องจากเขาได้รับรายงานของการพัฒนาโครงการ จริงๆ มีการพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว ห้วยสะโหมง ตอนนั้นก็คือเขาจะบอกแค่ว่าให้มีมาตรการนี่นั่น แล้วพอมาปี 2560 ก็ได้ยินเรื่องของห้วยสะโตน ลำพระยาธารขึ้นมา เขาก็ขอให้เราระงับแผนการดำเนินงานเรื่องพวกนี้ และได้ยินต่อมาอีกเรื่อยๆ ทีนี้มาเป็น pack 7 เขื่อน ที่มีแนวโน้มว่ามีการพิจารณา อาจจะเกิดขึ้นทั้งในพื้นที่และรอบพื้นที่ จนต่อมาอีกเรื่อยๆ มาเป็นแพ๊คว่ามี 7 เขื่อน 7 อ่างที่ มีแนวโน้มว่าจะมีการพิจารณาว่าอาจจะเกิดขึ้นทั้งในพื้นที่และรอบพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็นรอบเขาใหญ่
ในการประชุมครั้งที่ 44 เป็นการประชุมออนไลน์ที่จัดโดยจีน เขาก็เลยขอให้ไทยยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่แหล่งอย่างถาวร เนื่องจากได้รับรายงานอย่างที่บอก แล้วครั้งนี้เขาก็บอกว่า ขอให้ทางไทยดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ทั้งในภาพรวมของลุ่มน้ำรวมถึงตัวแหล่ง พื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ไปด้วยเลย แล้วให้รายงานแผนการจัดการและแผนการพัฒนาในภาพรวมของลุ่มน้ำในอนาคต ส่วนตัวข้อเสนอโครงการของการสร้างเขื่อนโดยรอบพื้นที่ของแหล่งมรดกโลก เขาก็ขอให้ระงับไว้ก่อนจนกว่าการศึกษา SEA จะแล้วเสร็จ แล้วได้รับการตรวจสอบโดยศูนย์มรดกโลกแล้วทาง IUCN ซึ่งเป็น Advisory Body ของคณะกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติ
เรื่องการดำเนินการต่อจากการประชุมครั้งที่ 44 ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2564 ทางประเทศไทยได้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 2/2564 19 สิงหาคม 2564 ซึ่งมติคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมอุทยานฯ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมถึงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาตร์ หรือ SEA โดยให้กรมอุทยานฯ เป็นหน่วยงานหลักและมอบหมายให้ทางกรมชลประทานชะลอดำเนินการเรื่องของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำโดยรอบพื้นที่มรดกโลกไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับผลการศึกษาในเรื่องของ SEA
แล้วก็ 2 เดือนถัดมา ก็คือตุลาคมปีเดียวกัน ทางคณะทำงานเร่งรัดการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสำนักงาน กปร. มีมติให้ทางกรมอุทยานฯ ของบประมาณการดำเนินงานโครงการ SEA จากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ซึ่งในช่วงปี 2565 ทางกรมอุทยานฯ ทำหนังสือของบประมาณไปทางสำนักงาน กปร. ซึ่งก็ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินงานในการสร้างอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ เพื่อที่จะไปดูข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนในพื้นที่และโดยรอบพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ ซึ่งตอนนั้นเขาลงพื้นที่ 4 แห่ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 จนถึงเดือนมีนาคม 2566 ก็คือ ที่ห้วยสะโตน คลองมะเดื่อ คลองใสน้อย-ใสใหญ่ และลำพระยาธาร
ซึ่งพอเขาลงพื้นที่เสร็จแล้ว เดือนมิถุนายน 2566 ทางคณะทำงานก็มาประชุมกันอีกครั้งและได้เปลี่ยนมติว่า เนื่องจากไปดูพื้นที่มาแล้วและงบประมาณของสำนักงาน กปร. จะเป็นงบกลาง จะมีการให้ได้เพียงปีเดียวเลยเปลี่ยนเป็นขอให้ทางกรมอุทยานฯ ตั้งงบประมาณในการดำเนินโครงการ SEA ในงบการบูรณาการน้ำ ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ก็จะช่วยพิจาณาขับเคลื่อน โดยจะเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือ กนช.พิจารณาให้ว่าเรื่องนี้มันเป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการ

ต่อมาในปีเดียวกัน ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 45 ที่เพิ่งจัดขึ้น ในประเด็นเรื่องของเขื่อน จากที่เราโดนแค่ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ รอบนี้เราโดนเพิ่มขึ้นมาในพื้นที่มรดกโลกป่าแก่งกระจาน คือของเขาใหญ่ก็เหมือนเดิมของปี 2564 เพียงแต่ว่าเขาเน้นย้ำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า เขารับทราบแล้วว่าพื้นที่โดยรอบที่มีโครงการเราจะระงับการดำเนินการไว้ก่อนจนกว่าเราจะมีผลการพิจารณาจากการพิจารณา SEA แต่ทีนี้เขาก็เน้นย้ำไปอีกว่า การสร้างเขื่อนในพื้นที่มรดกโลก มันขัดกับความเป็นมรดกโลก เขาก็เน้นย้ำไว้ ขอให้ไทยปรึกษาหารือกับทาง IUCN ในเรื่องของข้อมูลทางเทคนิคในเรื่องของการดำเนินการประกอบการพิจารณา SEA
และในพื้นที่มรดกโลกเขาใหญ่ เขาให้มีการยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำโดยสิ้นเชิงโดยไม่ต้องรอผลพิจารณาจาก SEA และก็ได้ขอความมั่นใจว่า พื้นที่โดยรอบ ให้มีการระงับไว้ก่อนจนกว่าผล SEA จะออก และมีการส่งผลไปมรดกโลกและได้รับการประเมินจาก IUCN อีกครั้งหนึ่ง คือ ให้ suspend แขวนไว้ก่อน รอผล SEA (ในส่วนของพื้นที่โดยรอบ) ส่วนข้างในขอให้หยุด 100% ถ้าแปลตามมติคือ โดยรอบแขวนไว้ก่อน รอ SEA แล้วค่อยดูว่าตรงไหน ควรจะสร้างหรือจะไม่สร้าง
คำถาม: สมมติว่าระหว่างนี้มีการเดินหน้าสร้าง เอาแค่เดินหน้าสร้างยังไม่ต้อง ตอก อิฐ เสา ปูน เดินหน้าทำต่อมีผลต่อการขึ้นทะเบียนเพื่อเล็งจะแขวนหรือถอนออกจากความเป็นมรดกโลกไหม?
มันอาจจะเข้าข่ายในข้อ 180 คือ มันยังมีโอกาส เป็นการสร้างโดยที่ไม่สามารถตอบได้ว่า มันจะส่งผลต่อคุณค่าความเป็นสากลของแหล่งมรดกโลกของเราหรือไม่ เพราะฉะนั้น มันก็มีความเสี่ยง มันก็มีโอกาสที่จะถูกพิจารณา มันก็จะมีเรื่องที่หนักกว่าการต้องรายงานเขาคือ Reactive Monitoring คือ ทาง IUCN และศูนย์มรดกโลกจะมีโอกาสจะส่ง Mission มาดูปัญหาในพื้นที่ว่ามันมีปัญหาอะไร แล้วเขาจะช่วยอะไรได้ไหม จริงๆ ของเราก็เคยมีชุด Mission ลงพื้นที่มาอยู่เหมือนกัน (แก่งกระจาน)
สำหรับกลุ่มป่าที่ 2 ที่เพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของเขื่อนรอบนี้เลยก็คือ กลุ่มป่าแก่งกระจาน ก็คือมีมติขึ้นมาว่าเขามีข้อห่วงกังวลในเรื่องของการสร้างเขื่อนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี บริเวณที่มันติดกับมรดกโลก ซึ่งจริงๆ ไม่ได้อยู่ในมรดกโลก แต่อยู่ใกล้มาก ซึ่งมันอาจส่งผลกระทบต่อ OUV ของแหล่งมรดกโลก รวมถึงการเกิดความขัดแย้งต่อชุมชนท้องถิ่นด้วยเหมือนกัน เขาขอให้ทางรัฐภาคีซึ่งก็คือประเทศไทย แจ้งศูนย์มรดกโลกก่อนการตัดสินใจ และ ขอให้ดำเนินการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม (HIA) โดยใช้แนวทางของตัว Guideline ของทางมรดกโลก ในการดำเนินการ ทั้งนี้ ทางเลือกเขาอยากให้มีทางเลือก No Go คือทางเลือกไม่มีโครงการด้วย ให้มันเป็นทางเลือกหนึ่งในการพิจารณา อันนี้คือภาพรวมของปี 2566 ที่เพิ่งจะจบไป
อย่างที่ทางท่านผู้เชี่ยวชาญจากทางกรมชลประทานได้นำเรียน มีเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว และก็มีแผนงานที่จะสร้างในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่และใกล้เคียงค่อนข้างเยอะ ข้อมูลที่มีอาจไม่อัพเดตเท่า ที่สร้างเสร็จแล้ว สีน้ำเงิน 11 แห่ง และที่มีโครงการคือ 7 แห่ง คือปรับไปแล้ว อาจจะน้อยลง ซึ่งตัวลุ่มน้ำที่ทางมรดกโลกกล่าวถึง กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 4 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำมูล 47% ลุ่มน้ำบางประกง 46% ลุ่มน้ำโตนเลสาปที่ติดอยู่ทางด้านกัมพูชา ประมาณ 5% และแม่น้ำป่าสักที่อยู่ทางโซนด้านซ้าย ประมาณ 1% ที่เราจะต้องมีการศึกษา
ส่วนของที่ตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำบริเวณใกล้เคียงกับกลุ่มป่าแก่งกระจานที่เขาพูดถึงก็คือ โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง ก็อยู่ในบริเวณพื้นที่น้ำท่วมถึง ก็คือพื้นที่หมู่บ้านพุระกำ ซึ่งเป็นโครงการของกรมชลประทานที่อยู่ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยของลุ่มน้ำภาชีและจังหวัดราชบุรี ด้านซ้ายคือเขตพื้นที่มรดกโลก ถึงจะอยู่ข้างนอกก็จริง แต่ยังอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯ และในช่วงการเสนอเอกสารขึ้นทะเบียนครั้งแรกของพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน พื้นที่ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเสนอให้เป็นแหล่งมรดกโลก
SEA: การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์
ผู้อำนวยการส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติและพื้นที่สงวนชีวมลฑล กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดาราพร ไชยรัตน์
แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับตัว SEA กับตัว HIA หรือตัวการประเมินทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่มีต่อแหล่งมรดกโลก ทางประเทศไทยหรือกรมอุทยานฯ ใช้แนวทางของประเทศไทยและแนวทางของ IUCN ของไทยก็คือ ใช้แนวของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีตัวแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ได้มีการปรับปรุงไปเมื่อปี 2564 ในการดำเนินการร่วมกับตัว Guidance ของทาง UNESCO ที่เขาเผยแพร่ออกมา เราจะใช้สองตัวนี้เป็นตัวหลักในการพิจารณาออกมา
ทั้งนี้ SEA กับ HIA การที่เราจะมีการพัฒนา ก็คือเพื่อที่จะมั่นใจว่าโครงการที่เราจะทำมันส่งผลกระทบต่อ OUV น้อยที่สุด มีการวางแผน มีมาตรการ ที่พร้อมในการปกป้องตัว OUV อย่างยั่งยืนเพื่อที่จะส่งผลมีการดูแลพื้นที่มรดกโลกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งข้อแตกต่างนิดหนึ่งของตัว SEA กับตัว EIA หรือ HIA อย่างเขาใหญ่โดนให้ทำ SEA เพราะว่ามันมีตัวแพคเกจมากกว่า 1 โครงการ เขาจะมองในเรื่องของเป็นระดับของนโยบาย แผนหรือตัวโปรแกรม เพื่อที่จะดูว่าในอนาคต ถ้าจะมีตัวโครงการหลายๆ โครงการ มันจะส่งผลยังไงในระดับนโยบายเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่ในตัวของ EIA หรือตัวของ HIA จะมองของเรื่องของโครงการเดี่ยวๆ จะมองเรื่องของถ้าทำแล้ว ควรจะมีลดผลกระทบอะไรยังไง อันนี้คือข้อแตกต่างที่ชัดเจนของตัว SEA กับตัว HIA
การประเมินสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์อันนี้จะเป็นของกลุ่มดงพญาเย็นเขาใหญ่ จริงๆ ตอนนี้คือ มติ ค.ร.ม.ได้เห็นชอบในหลักการของร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ที่เสนอโดย สศช.ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้ อยู่ในการพิจาณาของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ค.ร.ม. และตอนนี้ในส่วนของกรมอุทยานฯ เอง ก็กรอกข้อมูลในตัวระบบฐานข้อมูลบูรณาการนั้น หรือที่เรียกว่า Thai Water Plan เพื่อที่จะเสนอของบปกติของการดำเนินการของบ SEA ซึ่งจะต้องเป็นของงบปี 2568
ทั้งนี้ ในช่วงการรอคอย มันก็จะสอดคล้องกับตัวระเบียบสำนักนายกฯ ว่า พอระเบียบสำนักนายกฯ ได้รับการประกาศในราชกิจานุเบกษา มันจะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 90 วัน แล้วก็จะมีผลจากนั้นไปอีก 180 วัน มันจะมีการออกตัวแผนว่า มันจะมีแผนไหนบ้างที่จะต้องดำเนินการทำ SEA ในการจัดทำแผน ซึ่งหนึ่งในนั้น จะมีตัวแผนการจัดการมรดกโลกของป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ด้วยเหมือนกัน รวมระยะเวลาตัวแผนออกมาเราคาดว่าเราจะได้รับงบต้นปีงบประมาณ 2568 ก็คือช่วงปลายปี 2567 พอดี แล้วเราคาดว่าตัว TOR ที่เราทำไว้ เราตั้งระยะเวลาไว้ที่ 540 วัน เพราะฉะนั้น เราคาดว่าเราจะสามารถทำตัวรายงาน SEA แล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2569 อันนี้ ก็จะเป็นภาพรวมของการดำเนินงานของเขื่อนในบริบทของมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งประเทศไทย
คำถาม: ถ้าอย่างนี้ต้องดู SEA ก่อน กรมชลฯ หยุดทุกโครงการในพื้นที่เขาใหญ่ดงพญาเย็นแล้วใช่ไหม?
คุณเกื้อศักดิ์: ครับถูกต้อง ตอนนี้ต้องรอผลการศึกษา SEA ให้เสร็จก่อน ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไป ส่วน 7 โครงการที่นำเสนอก็เป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมทางด้านวิชาการเท่านั้นเอง ไม่ได้มีการลงไปทำอะไรสักอย่างเลยในเรื่องที่เกี่ยวกับการก่อสร้างในพื้นที่การก่อสร้างโครงการ
คำถาม: แล้วอย่างพื้นที่ขอบๆ ดงพญาเย็น อย่างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ อันนี้ก็หยุดด้วยเช่นเดียวกัน รอ SEA เช่นเดียวกันใช่ไหม?
คุณเกื้อศักดิ์: ใช่ครับ ถูกต้อง จริงๆ ต้องบอกว่าทางกรมชลประทานเราเองเราเป็นหน่วยปฏิบัติ เราไม่ใช่หน่วยนโยบาย คนที่จะพิจารณาว่าจะต้องพัฒนาหรือหยุดพัฒนาก็เป็นหน่วยนโยบายไปคือ ทางรัฐบาล เราเตรียมความพร้อมเท่านั้นเอง
ผอ.ดาราพร: SEA จะดูในภาพใหญ่เลยว่า จะมีโครงการพัฒนาอะไรที่เขามอง อันนี้พูดเฉพาะดงพญาเย็นเขาใหญ่ เขาให้มองระดับลุ่มน้ำ 4 ลุ่มน้ำ ก็ต้องดูว่ามีโครงการพัฒนาใดมีอยู่ใน 4 ลุ่มน้ำหลัก แล้วโครงการพัฒนานั้น ถ้าทำหรือไม่ทำ จะส่งผลกระทบต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของมรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่อะไรยังไงบ้าง ไม่เฉพาะเรื่องเขื่อน มันอาจจะเป็นเรื่องของโครงสร้าง คมนาคม เรื่องการท่องเที่ยวด้วย ยุทธศาสตร์มันมองระยะยาว 10 ปี 20 ปี ตอนที่ศูนย์มรดกโลกให้เราดำเนินการ SEA ให้มองในภาพอนาคต นโยบายของชาติมองในอนาคตอย่างน้อย 5 ปี ไว้ยังไง เราคาดหวังว่ามันคงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง (การจัดทำ) ใน 2 ปีนี้
ข้อเสนอแนะ IUCN ต่อคณะกรรมการมรดกโลก
คุณสุปราณี กำปงชัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
เวลาพูดถึง IUCN มันจะมี 3 ส่วนในการทำงาน วันนี้ที่มาคือเป็นตัวแทนของสำนักงานประเทศไทย เป็นแผนงานประเทศไทยที่ทำงานใกล้ชิดกับกรมอุทยานฯ ส่วนที่ 2 คือส่วนเอเชีย Regional office คือสำนักงานภูมิภาคเอเชียที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับทาง Thailand program อีกที แล้วส่วนที่เป็น Advisory ของทางคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งส่วนนั้นก็จะเป็นคณะทำงานอีกคณะหนึ่งที่อยู่ที่ส่วนกลางของ Switzerland ซึ่งทีนี้ 3 ส่วนที่ทำงานด้วยกัน Thailand program ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลความเป็นจริง สถานการณ์ทั้งหมดที่มีอยู่โดยที่เราทำงานใกล้ชิดกับทางกรมอุทยานฯ กับองค์กรภาคประชาสังคม การลงพื้นที่ไปรับรู้รับฟังจากพี่น้องโดยตรง เรามีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล แล้วนำมาเสนอส่งให้ทาง Regional office และ IUCN ส่วนกลาง เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวข้อเสนอแนะใดๆ หรือว่าผลกระทบที่เรามองเห็นแล้วเป็นข้อห่วงกังวลจากภาคประชาสังคมจะถูกรวบรวมและนำส่ง ซึ่งคณะจริงๆ ที่ทำหน้าที่ในการประมวลข้อเสนอแนะต่อตัวคณะกรรมการมรดกโลก จะเป็นทาง IUCN ส่วนกลางที่ Switzerland
ทีนี้ทางส่วนกลางเองก็ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ตัวร่างข้อคำตัดสินใจที่ออกมา ก็เป็นตัวข้อเสนอแนะที่ทาง IUCN และองค์กรที่ทำงานร่วมกันได้รวบรวมข้อมูล ข้อเสนอไปเรียบร้อยแล้ว แต่สุดท้ายแล้ว คนที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจจริงๆ ว่า เขาจะเห็นชอบต่อตัว recommendation นี้หรือไม่ คือภาคี 21 ประเทศ ที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งประเทศไทยก็ทำหน้าที่นั้นอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้ง 21 ประเทศนี้จะมี term ทั้งหมด 4 ปี ด้วยกัน ซึ่งเข้าใจว่าปี 2023 เป็นปีสุดท้ายของการทำงานของคณะชุดนี้แล้ว
ดังนั้น ข้อตัดสินใจทั้งหมดจะมาจากการพิจารณาในการกลั่นกรอง ชั้นที่ 1 จากทาง country office ของกรมอุทยานฯ และองค์กรภาคี พูดคุยปรึกษาหารือกัน แล้วไปชั้นที่ 2 ไปที่คณะกรรมการของ IUCN ระดับภูมิภาค และก็ไปที่ head quarter ดังนั้นข้อมติตัดสินใจที่เราเห็นตรงนี้ จะเป็นของทั้ง 21 ประเทศ ได้พิจารณาร่วมกันแล้ว ส่วนเรื่องการ monitorข้อห่วงกังวล ตัว IUCN เองหรือทางกรมอุทยานฯ มีกลไกในการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน
ขณะเดียวกัน IUCN เองก็ทำงานกับภาคีอื่นๆ ในพื้นที่ด้วย มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับพี่น้องแล้ว ส่วนประเทศไทยก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการแจกแจงตัว stakeholders ที่เราจะลงไปพบปะพูดคุยคือใคร ส่วนตัวคณะกรรมการหรือผู้แทนพิเศษเขาจะมีกรอบการทำงานของเขาอยู่แล้วว่า ด้วย TOR เขาจะมา monitor อะไรบ้าง ซึ่งอันนี้เป็นการอธิบายให้เห็นบทบาทส่วน monitor ที่ทาง ผอ.ดาราพร บอกว่าเขาอาจจะส่งตัว Advisory Mission เข้ามา ซึ่งตัวนี้ เป็นการดูพิเศษว่าจะมีการส่งข้อห่วงกังวลใดๆ ไปที่ตัวที่ปรึกษาที่ IUCN ส่วนกลางไหม ก็จะเป็นหน้าที่ของ IUCN ในการที่จะตรวจสอบค้นหาความเป็นจริงว่า สถานการณ์ที่ถูกรายงานขึ้นไปเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่

การมีส่วนร่วม
คุณสุปราณี: จริงๆ มันเป็น 1 ในมาตราที่อยู่ใน operational guide line อยู่แล้ว ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน การรับรู้รับทราบแต่แรกหรือกิจกรรมใดก็ตามที่จะเกิดในพื้นที่มรดกโลก ดังนั้น การเริ่มต้นของการประกาศเป็นมรดกโลกแล้วด้วยซ้ำ ทีนี้เมื่อมีกิจกรรมหรือใดใดเกิดขึ้นมาในพื้นที่ ในกรณีการมีส่วนร่วมของประชาชน มันจะต้องถูกนำไปพิจารณา และเป็น 1 ในกระบวนการทำงานของประเทศไทยด้วย
ซึ่งตรงนี้ที่จะต้องทำรายงาน เมื่อเขาให้ข้อเสนอแนะแล้ว ประเทศไทยมีเวลา 1 ปี ในการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ และข้อเสนอแนะ พูดมาชัดเจนเลยว่า จะต้องมีการปรึกษาหารือกับพี่น้องในพื้นที่เพื่อจะได้มติความเห็นชอบว่า คิดเห็นอย่างไร และเขามองว่าตัวเองมีบทบาทอย่างไรในการเข้ามาช่วยบริหารจัดการพื้นที่ตรงนี้
ทั้ง SEA และ EHIA มันจะมองทั้งด้านสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แน่นอนพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หรือพี่น้องประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมที่ได้รับจากโครงการในพื้นที่นั้นๆ มันต้องมีการปรึกษาหารือ ต้องมีการรับรู้รับทราบว่า ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นคืออะไร และที่สำคัญมาตรการในการบรรเทามันคืออะไรบ้าง แล้วอย่างที่ ผอ.ดาราพร เน้น ย้ำ คือ No Go option คือไม่สร้างเลย เป็นไปได้หรือไม่ เราต้องเอา stakeholders ทั้งหมด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพื้นที่มาพูดคุยกัน ซึ่งอันนี้เป็นหัวใจสำคัญจริงๆ ของการเป็นพื้นที่มรดกโลก

การคัดค้านและข้อห่วงกังวลของภาคประชาสังคม
คุณอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
จากการลงพื้นที่ ถึงแม้จะมีคำเตือนจากคณะกรรมการมรดกโลกมาแล้ว แต่ว่ากระบวนการการศึกษาการเดินหน้า การสำรวจวิจัยมันยังเดินหน้าต่อไป แล้วคนในพื้นที่บอกเราเสมอว่าเขาไม่เคยจะใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเลย เขามีความกังวลใจตลอดว่า วันนี้จะมีน้ำท่วมบ้านเขาไหม จะเกิดอะไรขึ้น มีการประชุมอะไรอีกไหม ช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมามีการประชุมในพื้นที่ตลอด ชาวบ้านต้องออกไปทำงานตลอด เขาพูดกับเราตลอดว่าเราไม่เคยได้อยู่อย่างสงบสุขเลย เราต้องออกไปปกป้องพื้นที่ตัวเอง ต้องออกไปปกป้องป่า ก็เลยตอบสั้นๆ ว่า เรายังไม่สบายใจ
ไม่ได้อยากจะตั้งประเด็นกับกรมชลประทาน แต่อยากจะตั้งประเด็นคำถามกับรัฐบาล มี 2 ประเด็นหลักๆ ของเหตุและผลในการคัดค้าน เนื่องจากพื้นที่ที่จะก่อส้รางเขื่อนมันคือป่าอนุรักษ์ และมันคือป่ามรดกโลกด้วย นิยามในนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ถูกกำหนดไว้เพื่อทำหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยกรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งป้องกันภัยธรรมชาติต่างๆ ให้กับมนุษย์เราด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 มันระบุว่า การที่มันมีทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ดี มันจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนและทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี อันนี้ตัวแผนระบุไว้
ในส่วนของอนุสัญญาความตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ที่เราไปให้สัตยาบรรณไว้ ซึ่งการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ เราต้องคิดถึงอนุสัญญาเหล่านี้ด้วย เมื่อ ปี 2565 รัฐบาลไทยได้ไปเข้าร่วมปฏิณญา Glasglow คือการหยุดตัดไม้ทำลายป่าให้ได้ไปในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 กระบวนการทำงานหรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐบาลไทยก็เหมือนจะสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้น คำมั่นสัญญาหรือปฏิณญาที่เราเข้าร่วมไว้ ล่าสุด 20 กันยายน นายกฯ ได้ไปเข้าร่วมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ไปให้คำมั่นสัญญา ไปย้ำสิ่งที่ท่านนายกประยุทธ์ได้เคยได้พูดไว้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่านก็ไปตอกย้ำว่า ประเทศไทยยินดีที่จะเข้าร่วมและทำตาม และก็ยังพูดถึงเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกด้วย
นอกจากมีโครงการในพื้นที่อนุรักษ์แล้ว อีกประเด็นใหญ่ที่เรามีปัญหาเวลาเกิดโครงการเข้ามาในพื้นที่ป่า เรามองว่า ระบบกลไกการตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อมของบ้านเรามีปัญหามาก ในที่นี้หมายถึงกระบวนการจัดรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA EHIA SEA HIA เราคิดว่ากระบวนการเหล่านี้มีปัญหาตั้งแต่กระบวนการศึกษา กระบวนการประเมิน ตรวจสอบ การประชุม รายงานต่างๆ ไม่ว่าเราหยิบจับรายงานต่างๆ ไม่ว่าเล่มไหนมา เราเจอประเด็นปัญหาหมด ทำให้เรารู้สึกว่า ความจริงกระบวนการกลไกการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมหลักมันดีมาก เพราะมันจะทำให้เรามั่นใจว่าการพัฒนาประเทศมันไปกันได้กับสิ่งแวดล้อม มันเดินคู่กันไปได้เพราะหลักการมันดี แต่ทุกโครงการที่เราหยิบมา เราเจอปัญหาตลอด
กระบวนการตามกฎหมาย ในกฎหมายเขียนไว้ว่า ทางหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการสามารถจ้างบริษัท ที่ปรึกษาเอกชนเองได้ มันยังไม่มีตามกฎหมายที่องค์กรอนุรักษ์พยายามจะขอให้มีการแก้ไขกฎหมาย อยากให้มีเหมือนเป็นกองทุนกลาง เวลามีโครงการอะไรก็ตาม อยากให้หน่วยงานที่มีโครงการเอาเงินมาไว้ในกองทุนนี้แล้ว แลัวอาจจะเป็น สผ. เป็นกองเลขาฯ ที่จะใช้เงินนี้จ้างบริษัทหรือองค์กรไหนก็ได้ที่เป็นอิสระจากกัน แต่ตอนนี้ ด้วยตัวกฎหมายเอง มันยังเป็นการที่หน่วยงานรัฐ (เจ้าของโครงการ) จ้างบริษัทที่ปรึกษาได้โดยตรง พยายามเสนอในกฎหมายหลายครั้งแล้ว แต่ว่าไม่เคยถูกเอาต่อยอด มันควรจะต้องแก้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม หลักการดี แต่ (รายงาน EIA) มีปัญหาทุกเล่ม เราหยิบมามีปัญหาตลอด เราเจอประเด็นตลอด
อ่างเก็บน้ำหนองตาดั้งอยู่เขตรักษาพันธุ์ฯ แม่น้ำภาชี ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อปี 2562 คณะกรรมการฯ ได้มีความเห็นหลักๆ 2 ประเด็น ที่ต้องมาศึกษาเพิ่มเติม ก็จะมีเรื่องของการสำรวจพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่เพิ่มขึ้น เหนือพื้นที่น้ำท่วมขึ้นไปอีก 5 กิโล ซึ่งก็ถือว่าอาจจะทำให้เราสบายใจขึ้นนิดหนึ่งที่อย่างน้อยมันมีข้อท้วงติงและมีการสำรวจเพิ่มขึ้นมา ซึ่งทางกรมชลประทานก็ให้ความร่วมมือในการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจเหมือนกัน
พี่น้องประชาชนทำอยู่ที่เป็นเรื่องปกติเลย คือ การไปยื่นคัดค้านโครงการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยเหตุและผล ปกติเราไปยื่นโครงการต่างๆ เราจะมีเหตุผลและทางออกให้เสมอ คือ นอกจากนั้น เราช่วยสำรวจด้วย อันนี้คือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า เราไปเจออะไรในพื้นที่ ก็ต้องบอกว่ามีประเด็นนิด คือ เราได้ตัวรายงาน (ผลกระทบ สวล.) ของโครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้งมาเล่มเดียว เราไม่เห็นสมเสร็จในตัวรายงาน แต่อันนี้คือกล้องที่พวกเราที่นั่งอยู่ด้วยกันตรงนี้ไปช่วยกันตั้งกับเจ้าหน้าที่ เครือข่ายในพื้นที่ยังคงเดินหน้าปกป้องบ้านของตัวเองอยู่และร่วมสำรวจด้วย


l Credit: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
นอกจากอันนี้ โดยส่วนตัวไม่เคยเจอสมเสร็จพร้อมกัน 3 ตัว แต่เขาไปตั้งจนได้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และไม่เกินพื้นที่ที่ให้สำรวจขึ้นไปอีก 5 กิโล ยังอยู่ในพื้นที่นั้นอยู่ อันนี้คือสิ่งที่เราเจออีก อันนี้คือสิ่งที่ชาวบ้านไปตั้งกล้องมา เพื่ออย่างที่บอกว่า เรายื่นคัดค้านเราก็มีเหตุและผล เราคัดค้านอะไรเพราะอะไร และในพื้นที่นั้นมันมีอะไรอยู่ อันนี้สิ่งที่ได้ เค้าปีนเขาขึ้นไปตั้งกล้องข้างบน ได้ภาพเลียงผา
ฝั่งดงพญาเย็นเขาใหญ่ก็เหมือนกัน เครือข่ายก็ทำงานคัดค้าน ไปคัดค้านไปยื่นจดหมายที่นู้นที่นี่ แล้วก็สำรวจ พวกเราใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการนำ ในการที่จะบอกว่าทำไมเราต้องปกป้องรักษาพื้นที่นี้ ในนี้ก็มี ดร.เชาวลิต ไปร่วมสำรวจปลาในพื้นที่นี้ให้ด้วย อันนี้เราต้องบอกว่า เราไม่ไม่ได้คัดค้านหัวชนฝาว่า ห้ามสร้าง แต่เรามีเหตุผลและเรามีทางออก ส่วนฝั่งห้วยสะโตน บริเวณอุทยานแห่งชาติตาพระยา อันนี้พื้นที่ส่งมาว่าห้วยสะโตนมีอะไร (มีบันทึกภาพเสือโคร่งได้) ซึ่งเขาใหญ่ยังไม่มี แสดงว่า พื้นที่นี้สำคัญมาก และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และจะเป็นพื้นที่ที่สร้างอ่างเก็บน้ำเหมือนกัน แต่เราก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันเหมือนกันว่ามันมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในพื้นที่
การประเมิน “ขีดจำกัดความปลอดภัย” ของโลก มีการศึกษาวิจัยต่อเนื่องยาวนานมาหลายปี แต่ประเมินล่าสุด ค่อนข้างจะเป็นที่ฮือฮาในวงการวิทยาศาสตร์พอสมควร เนื่องจากมันมีการประเมินครบทั้ง 9 ด้านแล้ว แล้วมันทำให้ประชาคมโลกรู้ว่า เราก้าวข้ามขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกมาแล้ว 6 ข้อ จาก 9 ข้อ โลกไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป นักอนุรักษ์ไม่ได้โลกสวย เพราะโลกไม่สวยเหมือนเดิมแล้ว คือปกติธรรมชาติถ้ามีสิ่งคุกคามเล็กน้อย มันจะยืดหยุ่นและสามารถที่จะคืนกลับมาเป็นอย่างเดิมได้ แต่ตอนนี้ ทางวิทยาศาสตร์มันออกมาแล้วว่า ตอนนี้ปัญหาที่เราเผชิญหนักที่สุด คือ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ อันนี้ อันดับ 1 เลย ซึ่งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจริงๆ แล้ว มันจะส่งคือสุดท้ายส่งผลต่อความมั่นคงของเราเอง ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางชีวิต ความปลอดภัยและทรัพย์สิน เพราะว่า พอสภาพอากาศ หรือสภาพสิ่งแวดล้อม มันไม่เหมือนเดิม สุดท้ายทุกอย่างมันจะตกมาที่เราทั้งหมด เราก้าวข้ามมา 6 ข้อแล้ว เหลืออีก 3 ข้อเท่านั้น โลกเราไม่เหมือนเดิมแล้ว
อันนี้เป็นคำถาม อาจไม่ใช่แค่น้ำ โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ร่วมด้วย ตอนนี้วิกฤตสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ โลกเราไม่เหมือนเดิม เราไม่ได้อยุ่ในภาวะโลกร้อนแล้วตอนนี้ เราอยู่ในภาวะโลกเดือดแล้ว เรายังสามารถบริหารจัดการน้ำแบบเดิมๆ ในปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ที่เราไม่เคยพบมาก่อน เราไม่สามารถคาดเดาหรือคาดการณ์ได้ ได้อยู่อีกหรือไม่ หลายๆ ครั้งเราจะพบว่า ณ ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ไม่มีน้ำ ก็เป็นคำถามกับประชาชนในพื้นที่ว่าอ่างที่อยู่รอบๆยังไม่มีน้ำเลย แล้วทำไมไปสร้างอ่างใหม่อีก
พี่สืบคือผู้มาก่อนกาล และได้พูดทุกอย่างไว้หมดแล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่า 30 ปี ผ่านมา เรายังมาพูดในประเด็นเดิมๆ แล้วยังต้องมานั่งพูดอยู่ในเวทีที่ถกเถียงกันว่า เราจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร ซึ่งไม่ต้องเชื่อนักอนุรักษ์ก็ได้ แต่ขอให้เชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ตอนนี้สิ่งแวดล้อมเราไม่เหมือนเดิมแล้ว เราทำได้เพียงแค่ชะลอความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พี่สืบพูดว่าเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ควรมานั่งเถียงกันแล้วว่าจะใช้ทรัพยากรยังไง มันควรจะต้องหยุดภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมทุกอย่างได้แล้ว ทุกวันนี้มันควรต้องหยุดแล้ว จากผลทางวิทยาศาสตร์ที่มันออกมาในระดับโลก ที่นักวิทยาศาสตร์หลายประเทศเขาทำวิจัยร่วมกัน
ถ้าพูดถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากร ยกตัวอย่างเลยคือ พื้นที่หนองตาดั้ง พุระกำ เขาทำแนวกันไฟทุกปี โดยไม่ได้รับงบประมาณจากที่ไหนเลย เขาบอกเราตลอดว่า มันคือบ้านของเขา เขาต้องรักษา ไฟป่าเกิดขึ้นเกือบทุกปี บัวเคยไปเดินแนวกันไฟกับพวกพี่ๆ คือเขาทำแนวกันไฟกว้างมาก กว้างจนเราเดินกันไม่ไหว แต่เขาทำกันได้ เขาทำทุกปี นี่คือชาวบ้านเขาทำ นอกจากนี้เขามีการทำฝายซึ่งกรมชลประทานไปช่วยทำให้ เขาก็มาช่วยขุดลอกเพื่อให้คนในพื้นที่เองใช้น้ำได้ หรือแม้แต่เรื่องอ่างเก็บน้ำ ความจริงคือเขาพยายามเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายๆ หน่วยงานว่า อ่างนี้มันยังไม่เต็ม หรืออ่างนี้รั่ว คุณมาช่วยแก้ไขก่อนได้ไหม ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟังประชาชนในพื้นที่ ก็น่าจะมีการมาปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่มันมีอยู่แล้วให้มันสามารถใช้การได้ก่อน อย่างน้อย มันทำให้เขามั่นใจได้ว่า มันคือสิ่งที่มีแล้วเขาได้ใช้ประโยชน์จากมันจริงๆ



เสียงจากพื้นที่
คุณสมบัตร์ วริทิกรกุล ชาวบ้านพุระกำ: ลึกๆ แล้ว ธรรมชาติเป็นหัวใจของมนุษย์และสัตว์นานาชนิด ผมอยู่กับธรรมชาติ ที่เรายึดถือ ก็คือ เราจะไม่ทำลายธรรมชาติ เราใช้วิธีตามในหลวง ร. 9 เราทำแก้มลิงเพื่อไม่ให้กระทบ และดึงน้ำส่วนนี้มาใช้ เป็นน้ำประปาภูเขา เป็นน้ำการเกษตรได้ การที่ใช้น้ำการเกษตรคือ เอาน้ำตรงนี้มาเติมตรงบ่อ อย่างหนองตาดั้ง เอาน้ำจากพุระกำมาเติมตรงบ่อ ถ้าน้ำมันลดมาก เราสามารถปิดไม่ให้ใช้ น้ำก็จะเพิ่มขึ้นจนเต็ม พอจะใช้ก็ปล่อยลง เราบริหารได้ ผมเข้าใจเพราะผมเป็นกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำพุระกำหนองตาดั้ง บางทีชลประทานไม่เป็นตัวของตัวเอง คือเอาคนอื่นมาเป็น back เอาคนอื่นให้คิดทำตาม เราเองก็ไม่ค่อยพอใจ รัฐบาลที่เราเลือกมาก็บอกว่าเป็นรัฐบาลของประชาชน ถามว่าของประชาชนจริงหรือเปล่า เราอยากให้รัฐบาลเปิดให้กว้าง มองให้ไกล มองถึงรากหญ้าบ้าง ไม่ใช่มองแต่ข้างบนว่า เราเดือดร้อนอะไร เราต้องการอะไร
อย่างวันนี้เราไม่อยากเข้ามากรุงเทพหรอกมันลำบาก มันร้อน เราอยู่ในป่าเข้าบ้านในป่าบ้านเราเย็นสบาย เรายังมองเห็นภาพของต้นไม้ และครอบครัวเรา สมมติวันนี้ผมไม่มีตังค์สักบาท ผมหุงข้าวหม้อนึง ผมไปเก็บผักอะไร ผมอยู่ได้ อยากจะกินปลา บ่อเราเลี้ยงปลา เราเอาเบ็ดไป เราตกได้ 4-5 ตัวพอกินแล้ว เราจึงยึดมั่นในประสบการณ์ เรายึดมั่นเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ชีวิตแบบพอเพียง แล้วไม่ให้กระทบกับธรรมชาติ ธรรมชาติจะเป็นมรดกของลูกหลานอนาคต และเป็นลมหายใจของราชบุรีของเรา
ถ้าเราเกิดทำอ่างนี้ไป ทำความเสียหาย 2,000 กว่าไร่ มันเป็นคุณค่ามหาศาลสำหรับทรัพยากรในดิน มด อะไรต่างๆ มันก็ตายไปด้วย แล้วเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า ถ้าสร้าง มันก็ต้องย้ายเหมือนคนที่ต้องย้าย ไม่มีความสุขหรอก อาหารการกินของเขาเคยกินตรงนั้น บริเวณนั้น อ่างขึ้นมาเกิดขึ้นเขาก็ต้องย้ายไปหากินที่อื่น เกิดเจอนายพรานสัตว์ป่าเขายิงอีก ตอนนี้สัตว์ป่า หนองตาดั้งกับพุระกำเยอะมาก
คุณเปเล่ กัวพู้ ชาวบ้านพุระกำ: ถ้าเราทำอ่างเก็บน้ำที่หนองตาดั้งที่มีปัญหากันทุกวันนี้ มันจะทำให้ป่าต้นน้ำเสียหายเป็น 3000 กว่าไร่ โดยรัฐบาลชุดที่แล้วที่ผมติดตามข่าว ก็ว่าเราจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว ถามว่า ถ้าเราไปทำหมด 3,000 ไร่ แล้วถามว่าเพิ่มหรือลด เพิ่มพื้นที่หรือลดพื้นที่ ผมอยากจะถาม ไม่อยากพูดยาว อยากเน้นที่อ่างเก็บน้ำตัวเล็กๆ
(อ่างที่มีในพื้นที่) ในตระนาวศรี มีอยู่ 7 ตัว รูปถ่ายออกมาประมาณนี้ งบประมาณก็คง 10 ล้านบาทขึ้นไปเป็นอย่างต่ำหรือไม่ได้ ผมถามว่าจะเก็บน้ำหรือว่าเลี้ยงวัว เราจะพัฒนาในอนาคต แล้วมี 7 ตัวแล้ว จะทำตัวที่ 8 ซึ่งตัวนี้จะกินพื้นที่สามพันไร่ ถามว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือว่าจะลดพื้นที่สีเขียว
คุณกมลลักษณ์ สุขพลี เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่: สำหรับคลองมะเดื่อ เป็นตัวแทนผืนป่าดงพญาเย็นเราตาม monitor ทุกตัว เราพบว่า timeline ของโครงการน่ากังวล เพราะจะมี time line เล็กๆ ที่แทรก เหมือนกับพุระกำ ชาวบ้านก็ “เปรี้ยวๆ มีรถอะไรไม่รู้เข้ามาอีกแล้ว เปรี้ยวๆ มีคนโทรมาอีกแล้ว เปรี้ยวๆ มีจดหมายอะไรไม่รู้อีกแล้ว”เราได้รับสารแบบนี้เกือบทุกวัน ชาวบ้านห่วงกังวลเพราะว่าความไม่โปร่งใส มีการเข้าไปแบบนักท่องเที่ยวคือ เข้าไป ค่อยๆ ซื้อ ค่อยๆ ปรับ แล้วค่อยๆ บอกว่ามรดกโลกไม่ได้ช่วยอะไรเขา แล้วก็เป็นเราที่บอกว่า ตอนนี้ที่ยังอยู่เพราะว่ามรดกโลกค้ำไว้อยู่ ต้องให้เขาปรับความเข้าใจ ซึ่งชาวบ้านเองก็เข้าใจ
แต่ว่าที่เราห่วงเลยตอนนี้คือ time line สำหรับปีนี้ เครือข่ายได้พัก 2 เดือน ที่ชาวบ้านไม่ต้องทำหนังสือ เรียกร้องหรืออะไร เราเพิ่งได้พัก พักจากหน่วยงานราชการ แต่ว่ากลายเป็นว่า ช้างเขามาลงพื้นที่ ฝูงล่าสุดวันที่ 7 ฝูงนี้มีจำนวน 25 ตัว ใช้พื้นที่คลองมะเดื่อ ยังไม่รวมกับฝูงอีกฝูงหนึ่งที่อยู่ royal hill คนละฟากเขา ชาวบ้านบอกว่าเขาใช้ตรงนี้ทุกปี แต่ว่าจากการสำรวจในรายงาน EIA บอกว่าช้างไม่ได้ใช้ แต่วันนี้เราได้ทั้งคลิป แล้วก็ภาพประจักษ์ว่าเขาใช้จริงๆ มีเลียงผา หมาใน ที่ดูด้วยตัวเอง ประสบด้วยตนเองเลยคือ หมูป่าฝูงเกือบพุ่งชน เราเดินเข้าไปเงียบๆ เขาก็จะชาร์จเรา อันนี้ที่เราเห็นนะ แล้วก็ที่สำคัญทั้งช้าง แล้วก็ตะกอง เราพบตะกองในคลองมะเดื่อ ได้ทั้งลำธารในทุกช่วงทุกฤดู ในหน้าร้อนเราจะเห็นวางไข่ต้องเป็นต้นน้ำที่สมบูรณ์มากจริงๆ ที่ไม่มีการรบกวน
แล้วถ้าเหนือขึ้นไปเรามีคลองมะเดื่อที่เป็นแนวกันชนกระทิงไม่ให้ลงมาหาชาวบ้าน ป่าตรงนั้นที่ยังพอ support ช้าง 60 กว่าตัว ไม่ใช่แค่ 25 60 ตัวในฤดูแล้ง อันนี้ที่เรากังวล แล้วก็อยากจะเพิ่มในคลองของนครนายก ไม่ได้มีแค่ห้วยปืน ยังมีคลองโบสถ์ คลองสีเสียด วังม่วง วังบอน เขาคอก นี่คืออ่างเก็บน้ำเราจะบอกเลยว่า คลองมะเดื่อเป็นง่ามเขาสุดท้ายแล้วที่ยังเหลืออยู่ ที่เหลือมีอ่างเก็บน้ำรอบหมดแล้ว
คำถาม: ถ้าสร้างเขื่อนขึ้นมาทำลายพื้นที่ป่า จะมีปัญหา เรื่องช้างสูญเสียพื้นที่จะออกมาสู่ชุมชนมากขึ้นมันจะเกิดตรงนี้ไหม?
ผอ.สุนีย์: มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ถ้าพื้นที่น้ำท่วมเป็นพื้นที่ที่มันมีการเป็นเส้นทางในการที่เขาออกหากิน ถ้าเราไป block พื้นที่ กลายเป็นพื้นที่น้ำท่วม เขาก็จะต้องเบี่ยงไป ทีนี้เบี่ยงไปไปเจอป่า หรือเจอพื้นที่ชุมชน อันนี้มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ มันก็ case by case แล้วแต่ ณ ตรงจุดนั้น
คุณเกื้อศักดิ์: เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ตอนนี้ช้างป่าของเราค่อนข้างชื่นชอบในเรื่องของผลผลิตทางการเกษตร ก็เลยจะกินพวกนี้เยอะ ต้องเรียนอย่างนี้ว่าถ้ามีการก่อสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อจริงๆ วิธีการที่เราทำการก่อสร้างแล้ว เราต้องตัดใหม่บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมออกให้หมด วิธีการตัดไม้ตั้งแต่ขอบข้างนอกค่อยๆ ไล่เข้าไป เพื่อเป็นการผลักดันสัตว์ป่าที่มาหากินให้เขาถอยเข้าไป ประกอบกับอีกส่วนคือ การช่วยเหลือสัตว์ป่าในการที่เขาจะพ้นจากการถูกน้ำท่วม มีการสำรวจต่างๆ
ในประเด็นที่ถามว่าถ้าสร้างสัตว์ป่าจะออกมาพื้นที่มากขึ้นหรือไม่ อันนี้เราได้มีการทดลองเหมือนกัน โดยใช้แบบจำลองใส่พฤติกรรมของสัตว์เข้าไป ใส่ตัวเร้า ตัวกระตุ้นหรือตัวที่จะส่งผลกระทบต่อสัตว์เข้าไป เพื่อดูว่าหลังจากนั้นมันจะเคลื่อนย้ายหรือมีทิศทางการเคลื่อนที่อย่างไร เราทำ 4 ชนิด มีช้าง กระทิง กวาง หมี พบว่าทิศทางที่เขาจะเคลื่อนที่จะเข้าไปป่าลึกมากกว่าข้างนอก ตามแบบจำลอง พื้นที่บริเวณนี้ช้างก็คงไม่ออกมา คือมันไม่ได้ว่าสร้างแล้วแค่นั้น มันประกอบกับแผนปฏิบัติการแก้ไขในเรื่องของสัตว์ป่าด้วย จะมีของในเรื่องการปลูกพืชอาหารสัตว์ในป่า เรื่องของการทำสำรวจติดตามพฤติกรรม ทุกอย่างอยู่ในแผนปฏิบัติป้องกันแก้ไขผลกระทบ จริงๆ ในส่วนของป่าไม้ก็มีการ ปลูกป่าเพิ่มเติม 2 เท่า อะไรต่างๆ นี้
ผอ.สุนีย์: คือแบบจำลองที่ท่านผู้เชี่ยวชาญพูดถึง มันก็คือโปรแกรมที่ใช้ทั่วไปในบริบทของการศึกษาด้านธรรมชาติ ทรัพยากร ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ความถูกต้องแม่นยำ ข้อมูล factor ต่างๆ ที่นำเข้าเพื่อมาประมวลผล อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องดูกันว่า ข้อมูลมีความถูกต้องเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เวลาไหน ที่ไหน ตรงนี้เป็นสิ่งที่พูดถึงและดูด้วย ตัวแบบจำลองใช้ทั่วไป กรมอุทยานใช้โมเดลนี้ในการศึกษาในหลายพื้นที่ด้วยเช่นกัน
การตัดสินใจเชิงนโยบาย
ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สุนีย์ ศักดิ์เสือ
ส่วนของ SEA น่าจะเป็นระดับใหญ่ ระดับยุทธศาสตร์ คือ direction ของประเทศ เราต้องการจะไปทางไหน รัฐบาลหรือระดับบริหาร ต้องการให้พื้นที่ส่วนนั้นมุ่งไปทางไหน มุ่งไปในเรื่องการพัฒนา หรือการอนุรักษ์ หรือมุ่งให้มันควบคู่กันไป อันนี้เรื่องที่ 1
แล้วสิ่งที่ได้ออกมา ต้องมีทางเลือก มี option อย่างทางเลือกที่ 1 คือไม่สร้าง อย่างที่คุยกันไปแล้ว no go option นี่คือไม่สร้าง อันนี้เรามองจากกรณีของมรดกโลก option ต่อๆ มาคือ ทางเลือกที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อตัวคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่ อันนั้นคือสิ่งที่จะมีข้อเสนอในการศึกษาการทำ SEA แล้วถ้าเรามี option ต่างๆ แล้วถูกหยิบยกขึ้นมาตัดสินใจ ทางเลือกนั้นๆ จะต้องมีแผนบรรเทาผลกระทบว่า ถ้าเรามีแผนโครงการดำเนินการตามทางเลือกนั้นๆ แล้ว มันจะส่งผลกระทบอย่างไร แล้วเราจะแก้ไขหรือจะป้องกันปัญหานั้นอย่างไร ต้องมีการฟื้นฟู เคลื่อนย้ายสัตว์ป่าไหม จะต้องมีการตั้งหน่วยพิทักษ์ ป้องกันหน่วยพื้นที่แล้วอาจจะมีพื้นที่น้ำท่วมในการเข้าหน่วยจุดอื่นหรือไม่ ต้องมีการ monitor อย่างไร อันนี้คือสิ่งที่ตามมา
แล้วหลังจากที่มีการเลือกทางเลือกนั้นแล้ว ในกระบวนการดำเนินการแล้วจะต้องมีการ monitor ติดตามหรือ follow up ต่อด้วยว่า เมื่อได้ดำเนินการไปแล้ว มันเป็นไปตามที่เราวางแผนไหมมาตรการต่างๆ ต้องมีการปรับปรุงหรือไม่อย่างไร อันนี้ก็เป็นภาพของ SEA
ผอ.ดาราพร: จาก TOR ที่ทางกรมฯ ได้ตั้งไว้ การตั้งคณะทำงาน คือเรากำหนดไว้ที่ 540 วัน เกือบ 2 ปี แล้วถามว่าขั้นตอนการตรวจสอบ ด้วยความที่แผนผืนป่าดงพญาเย็นที่ต้องใช้ขั้นตอน SEA ในการดำเนินการ มันเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ที่จะมีกำลังมีผลบังคับใช้ ซึ่งภายใต้ระเบียบนี้ ทาง สศช. เค้าจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการอยู่ 2 ชุด ซึ่งก็คือคณะกรรมการด้านการมีส่วนร่วม และคณะกรรมการด้านวิชาการ ซึ่งเขาก็จะมีส่วนในการช่วยเรื่องของการมีส่วนร่วม ช่วยเรื่องของวิชาการด้วย ส่วนหนึ่ง
แล้วเรามองในส่วนของกรมฯ เองว่า ในการตรวจรับงาน นอกจากคณะกรรมการตรวจรับงานแล้ว เราจะตั้งคณะกรรมการกำกับ ซึ่งเราจะพยายามเชิญหน่วยงานหรือบุคลากรที่มีองค์ความรู้ให้ข้อมูลทางด้านวิชาการ เพื่อที่จะดูว่าตัวข้อมูลใช้ได้หรือไม่ นอกจากนี้ตัวรายงาน SEA เสร็จแล้ว มันต้องส่งไปที่ศูนย์มรดกโลกเพื่อให้ทางศูนย์มรดกโลก รวมถึง IUCN international ประเมิน แล้วต้องบอกเราอีกทีว่าใช้ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น มันจะไม่ใช่ขั้นตอนที่ใครจะดูก็ได้ มันมีกระบวนการของมันอยู่ เราน่าจะมั่นใจได้ค่อนข้างสูงว่ามันน่าจะใช้ได้จริง
ด้วยความที่การประเมินระดับยุทธศาสตร์มันเป็นการประเมินภาพใหญ่ ประเมินระดับนโยบาย มันไม่ได้ลงลึกเหมือนการทำ HIA EIA ที่บ้านเรามีการดำเนินการ ฉะนั้น ข้อมูลประกอบการพิจาณาก็จะเป็นภาพใหญ่เหมือนกัน มันจะไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดถึงขั้น จะต้องเก็บข้อมูลลึก เรามองว่าระยะเวลาเกือบ 2 ปีมันน่าจะเพียงพอ
คำถาม: คนเคาะสุดท้ายที่ว่าจะเอา scenario ไหน ฉากทัศน์ไหน พัฒนาแบบไหน ตัวเลือกไหนคือใคร?
สุปราณี: จริงๆ มันมีคณะทำงานของประเทศไทย ที่เป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์ชาติในระดับสูงสุด หรือแม้แต่ตัวแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นฉบับที่ 13 ก็มีคณะทำงานกำกับเช่นกัน ดังนั้นในภาพรวมของประเทศ มันจะเริ่มมาจากตรงนั้นก่อน แต่ในระดับเชิงพื้นที่ ก็จะมีคณะกรรมการย่อยในระกับ SEA อีกชั้นหนึ่งที่จะพิจารณาร่วมกัน
คุณอรยุพา: นโยบายป่าไม้แห่งชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของเราระบุว่า ประเทศไทยควรจะต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ป่าอนุรักษ์ 25 ป่าเศรษฐกิจ 15 แต่ตัวแดงๆ ใหญ่สุด ประเทศไทยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะสิ้นสุดในปี 2580 ตั้งเป้าไว้ว่า เราจะมีพื้นที่สีเขียวทั้งหมดร้อยละ 55 แต่จะให้ดูตัวเลขสีแดงว่า 4 ปีที่ผ่านมาตัวเลขพื้นที่ป่าเราลดลงอย่างต่อเนื่อง มันจะไปถึงได้จริงหรือไม่ ในขณะที่หน่วยงานของรัฐก็มีโครงการพัฒนา หลายๆโครงการ การทำถนน เหมืองแร่ สัมปทาน มันใช้พื้นที่ป่าหมดเลย แต่รัฐก็ตั้งเป้าไว้เองว่าเขาจะต้องมีพื้นที่สีเขียวให้ได้ทั้งหมดร้อยละ 55 แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 35 พื้นที่เศรษฐกิจร้อยละ 15 พื้นที่เศรษฐกิจและตัวเมืองอีก 5 แต่ทุกวันนี้ป่าลดลงและจากที่ได้ข่าวมาจากอาจารย์คนที่แปลภาพถ่ายดาวเทียมทุกๆปี จะประกาศในมกราคม 2567 ว่า 4 ตัวนี้พื้นที่ป่าลดลงระดับแสนไร่ แต่ปีที่จะประกาศในมกราคม 2567 อาจารย์แง้มข้อมูลว่า รอบปีที่ผ่านมา ป่าเราอาจจะหายไปสองแสนไร่ ป่าเราลดลงทุกปีๆ แต่เราตั้งเป้าไว้แบบนี้ คำถามถึงรัฐบาลว่า เราจะเอาอย่างไรกันแน่ น้ำก็ต้องการ ป่าก็ต้องการ ท่านจะเดินไปทิศทางไหน
คุณเกื้อศักดิ์: ครับสำหรับการพัฒนาประเทศในยุคใหม่นี้ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มันต้องคำนึงถึงความสมดุลในเรื่องของการพัฒนาด้วย ในเรื่องของการอนุรักษ์ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางกรมชลฯ กำลังดำเนินการอยู่ อย่าง 7 แสดงมานี้มีการลดขนาด มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเยอะมากมาย ก็เพื่อให้มันมีความสมดุล แต่ขระเดียวกันมันมีคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ คือเขาต้องการใช้ และกับกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ อย่างในเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องป่าไม้หรือสัตว์ป่า เขาเสียประโยชน์ มันต้องมาหาจุดสมดุลกัน เราต้องสร้างโครงการที่ไม่ใหญ่เกินไป แต่ขณะะเดียวกันก็ไม่เล็กจนเกินไปจนเอาใช้ไม่ได้ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน คงจะเป็นโครงการไม่ใหญ่มาก ไม่เล็กมาก แล้วอีกส่วนที่ต้องช่วยกันคือ ทุกชุมชนต้องช่วยประหยัดน้ำมากขึ้น ต้องตระหนักมากขึ้น ในทุกภาคเกษตรก็ต้องใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้น้ำแบบประหยัดมากขึ้น วิธีการเดิมลดน้ำแบบเดิมๆ ก็คงไม่ได้ อาจต้องใช้ระบบน้ำหยด สปริงเกอร์อะไรก็แล้วแต่
ส่วนระบบภาครัฐเอง กรมชลฯ เองก็ต้องไปดูเรื่องการสูญเสียต่างๆของน้ำในระบบ ต้องส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสุดท้ายความต้องการใช้น้ำมีจริงๆ แล้วพัฒนาตรงนี้มันก็ไม่ได้แล้ว SEA บอกว่ารุกไปมากกว่านี้ OUV ได้รับผลกระทบแล้ว ตรงนี้อาจจะจำเป็นต้องหาแหล่งน้ำอื่นๆ โดยการวิธีผันน้ำจากลุ่มน้ำอื่น หรือใช้วิธีผันน้ำจากเพื่อนบ้านมาใช้ได้หรือไม่ อันนี้อาจจะเป็นอีกอันที่ต้องทำ หากจำเป็น แต่ว่าก็ต้องลงทุนสูง รัฐบาลจะต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรเป็นอีกทางเลือก
คุณสุปราณี: จริงๆ แล้วถ้าเรามองทิศทางการพัฒนาประเทศไทยมันจะไปสอดคล้องอนุสัญญาต่างๆ มันเป็นกรอบข้อตกลงต่างๆ ในโลกที่ประเทศไทยไปลงนามเอาไว้ ซึ่งอันนั้นในประชาคมโลกมีการตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าต่อไปนี้เราจะมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีนี้การตีความหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มันแล้วแต่ประเทศว่าเราจะดำเนินการทิศทางไปทางไหน มันจะมีเป้าเรื่องน้ำ เรื่องป่า ก็คือเป็นที่มาการตีความ SDGs และมีการตีเป้าอย่างที่ให้ตัวอย่างมา เช่น ตัวอย่างภาคป่าไม้ที่เป็น SDG15
ดังนั้น กำหนดกรอบในการพัฒนาประเทศเอง มันล้อไปตามกรอบโลก เราอาจไม่มีทางเลือกมากนักว่าเราจะทำประเทศให้ฉีกออกไปจากกรอบโลกได้ไหม มันก็ไม่สามารถไปในทิศทางนั้นแล้ว มันก็อาจจะเป็นไปตามที่เราตามที่เราตกลงกรอบกระแสโลกไว้ มันเป็นแผนที่นำทางสำคัญในการพัฒนากรอบประเทศไทย
ทีนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนที่เข้ามาก็ต้องดำเนินการตามกรอบนี้ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งสำคัญที่สุดทรัพยากรบ้านเรา ที่เราไปให้สัญญาไว้ว่าจะรักษาทรัพยากรโลก ส่วนความต้องการทางเศรษฐกิจที่จะเดินทางไปตอนนี้ เรามีแนวคิดของการทำเศรษฐกิจสีเขียว เรามี Green Economy Blue Economy เราไปถึงขั้น NET POSITIVE IMPACT ทีนี้ ประเทศไทยจะวางทิศทางอย่างไร ดังนั้น ทั้งตัวนักการเมืองเอง ทั้งตัวข้าราชการเอง ก็เป็นการบ้าน รวมถึงพี่น้องประชาชนด้วยว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศจะทำอย่างไรให้มันเป็นไปตามกรอบโลก กรอบประเทศที่เราไปตกลงเอาไว้
หมายเหตุ: คุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตคณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (คชก.) ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้ว หากจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ จะอยู่ในรูปแบบของ Feasibility Study ที่เน้นการศึกษาฯ ในเบื้องต้น เพื่อนำมาใช้ประเมินความเป็นไปได้ของโครงการเพื่อดำเนินการขั้นต่อไป ซึ่งมักหมายถึงการดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งโดยกระบวนการจัดทำรายงาน EIA สามารถตีความได้ว่า โครงการได้เริ่มเดินหน้าดำเนินการแล้ว เพราะการจัดทำ EIA เป็นไปเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด โดยที่คณะผู้ชำนาญการฯ มีหน้าที่ตามกฏหมายเพียงพิจารณากลั่นกรองแนะนำให้ข้อคิดเห็นในการแก้ไขลดผลกระทบนั้นๆ EIA และกระบวนการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการฯ ไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการยุติโครงการได้ โดยผู้ที่จะพิจารณาตัดสินใจยุติหรือไม่ยุติโครงการคือเจ้าของโครงการนั้นๆ เมื่อพิจารณาชั่งน้ำหนักข้อคิดเห็นของคณะผู้ชำนาญการฯ ซึ่งที่ผ่านมา หากรายงาน EIA ผ่านการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการฯ เจ้าของโครงการโดยเฉพาะหน่วยงานรัฐมักเดินหน้าโครงการนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป รวมไปจนถึงการขออนุมัติรับทราบจากคณะรัฐมนตรี
“ถ้าเราดูจากกระบวนการจัดทำ EIA มันไม่ใช่แค่การเตรียมความพร้อมอย่างที่บอก มันไม่ควรไปพัฒนาอะไรใหญ่โตตั้งแต่แรกแล้วเพราะมันเป็นมรดกโลก ถ้าเรายังผลักดันโครงการต่อ เราอาจถูกถอนจากการเป็นมรดกโลกได้” คุญหาญณรค์กล่าว
สไลด์ประกอบการบรรยายของท่านวิทยากร
