“เสียงจากภาพ” (Photovoice) โดยสามัญชนคนธรรมดาริมแม่น้ำโขง

ชุมชนริมแม่น้ำโขงที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขง กำลังประยุกต์ใช้เครื่องมือวิจัย “เสียงจากภาพ” เพื่อถ่ายทอดมุมมอง ตัวตน อัตลักษณ์​ โลกทัศน์ อารมณ์ความรู้สึก จินตนาการ ความเป็นอยู่ ความต้องการ และความใฝ่ฝัน ผ่านภาพและเรื่องเล่าเกี่ยวกับภาพที่ผลิตสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้มีอำนาจและมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

“เสียงจากภาพ” ช่วยเสริมพลัง (empowerment) ให้กับคนในท้องถิ่นและชุมชน หรือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอย่างไร, รศ.ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และวนิสา นารองศรี อธิบายความ

“เสียงจากภาพ” ในงานวิจัยชุมชน

“ภาพเกี่ยวกับคนและสิ่งต่างๆ ของคนอีสาน” ไม่ได้ถูกทำให้ปรากฏในโลกออนไลน์โดยนักวิจัย อาจารย์ ผู้สื่อข่าว หรือนักทำสารคดี นักศึกษา นักพัฒนาเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐ และ เจ้าหน้าที่จากภาคเอกชนจากภายนอกเท่านั้น แต่ “คนอีสาน” เองก็สามารถนำเสนอตัวตนและความเป็นศิลปินผ่าน “เสียงจากภาพ” (Photovoice) ได้อย่างน่าสนใจ ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพแบบง่ายๆ แต่ค่อนข้างสมบูรณ์ในรูปแบบของภาพประกอบเสียง ดังที่ ณนิชษร ชนาจอมทอง ผู้ใหญ่บ้านหญิงบ้านสำโรง ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เอ่ยว่า:

“ก่อนจะได้เรียนการถ่ายภาพ ก็อยากถ่ายก็ถ่ายเลย หลังจากที่มีสอนเก้าช่อง (หลักการแบ่งองค์ประกอบภาพออกเป็น9 ช่อง เพื่อสร้างความสมดุลย์ให้กับภาพถ่าย) การถ่ายภาพของหนูก็จะเป็นภาพแนวนอนอยู่แล้วเพราะเคยชิน แล้วภาพมันจะกว้าง เวลาลงเฟซบุ๊กมันดูง่าย เรื่องของแสง รู้สึกว่าถ่ายภาพได้มากขึ้น ปกติก็จะซูมหาขวดน้ำเลย พอรู้จักเก้าช่องมันก็ดีขึ้น”

จันจิรา นาป่ง เป็นคนในชุมชนบ้านคันท่าเกวียน เธอเกิดและเติบโตในชุมชนแห่งนี้และมีการศึกษาระดับปริญญาตรี เธอมีความสัมพันธ์กับแม่น้ำโขง เธอไม่อยากไปทำงานไกลบ้านเพราะบ้านและแม่น้ำโขงคือที่สุดของเธอ ทั้งอาชีพหาปลา ความรู้ตามฤดูกาล และความเป็นหมู่พวกและเครือญาติ ที่ถ่ายภาพ ฤดูกาลปลาขึ้น (ดังภาพ) เล่าเทคนิคการถ่ายภาพว่า: “ภาพนี้เวลาเที่ยงหนูมองไม่เห็น กล้องถ่ายอะไรมาก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะแสงมันมาก แล้วหนูไม่เห็นกล้องเลยค่ะ แล้วตอนนี้กล้องมันซูมสองเท่า หนูไม่เห็นมันซูมก็เลยถ่ายไปเลย เรียกได้ว่าถ่ายโดยฉับพลัน แต่ตั้งใจไปถ่าย”

“ฤดูกาลปลาขึ้น” ถ่ายภาพโดย จันจิรา นาป่ง ณ บ้านคันท่าเกวียน ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ถ่ายภาพ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เวลาถ่ายภาพ 12.00 น.

จันจิรา เล่าภาพ “ฤดูกาลปลาขึ้น” ว่า: “ภาพนี้เป็นช่วงฤดูปลาน้ำขึ้นค่ะ ชาวบ้านจะรอหว่านแหค่ะ มันจะเป็นจุดที่ปลาขึ้น ชื่อว่าคอนกินปลา ในภาพคือโซนลาว เป็นจุดหว่านแหของคนแถวนั้นค่ะ ไม่สามารถที่จะหว่านตรงไหนก็ได้ เวลาน้ำไหลแรงๆ มันก็จะมองเห็นปลาค่ะ พอมองเห็นปลาคนก็จะหว่านพร้อมกันทีละ 3 คน คนยืนข้างบนสุดก็จะเป็นคนดูน้ำ ดูปลา ในภาพคนจะต่อคิวกัน หว่านแล้วก็จะเอาปลาขึ้นมาเพราะว่าข้างล่างมันเรียบค่ะ มีหลายที่ แต่ว่าถ้าเป็นที่แคบก็จะหว่านได้ที่เดียว เลยต้องต่อคิวกัน

“อยู่นี่เขาก็จะอยู่ทั้งวันทั้งคืนค่ะ ช่วงปลาขึ้นมากๆ จะได้ปลาคนละกระสอบเลย ที่กล้าไปถ่ายฝั่งลาวเพราะที่นั่นเขามีความเป็นพี่เป็นน้องกัน ถ้าไม่ขึ้นไปบนหมู่บ้านก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ถือว่าไปรบกวนอะไร แต่ว่าลุงที่พาหนูไปแกเป็นคนหาปลาประจำ บางวันคนไม่ได้ไม่มีอะไรกิน ลุงที่พาไปแกก็เอาปลาให้คนที่เขามาหาปลา แบ่งให้กิน มีบางคนที่รออยู่ข้างบน ได้ปลาไปแล้ว จะไปเอาขี้ปลาออกรอ เพราะปลามันจะเน่าถ้ามีขี้อยู่ข้างในตัวปลา ปลาทุกตัวจะตายหมดเพราะต้องเอาขี้ปลาออกเหลือตัวปลาไปทำปลาร้า”

แม่สอน จำปาดอก ผู้นำหญิงด้านสิ่งแวดล้อมจากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7จังหวัดภาคอีสานและองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงจังหวัดอุบลราชธานี บ้านสำโรง ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ถ้ามุมมันมืดแม่จะไม่ถ่าย เราจะต้องการที่สว่างๆ ใช้ หลักเก้าช่องอยู่ค่ะ ถ้าเราจะเอาภาพกว้างก็แนวนอน ถ้าภาพใกล้ๆ ก็จะถ่ายภาพใกล้ๆ แล้วใช้แนวตั้ง ถ่ายระยะไกลแบบเวลาที่เรือมามันอยู่ไกลเราจะถ่ายไกล คิดว่ามันสวย เอาภาพนั้นเป็นหลัก

“บุ่งปลาพอน” บ้านสำโรง ถ่ายภาพโดย แม่สอน จำปาดอก บ้านสำโรง ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ถ่ายภาพ 24 เมษายน พ.ศ.2566 เวลาถ่ายภาพ 16.00 น.

แม่สอน เล่าภาพนี้ว่า: “บุ่งนี้มันสำคัญกับเราเพราะว่าเวลาน้ำลดลงไปปลาจะเข้ามาวางไข่ตามขอบหินที่ชุมชนเรามีอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีทั่วไปมีบางจุด ปลามันมาวางไข่เราก็จะอนุรักษ์ไว้ดูแลปลาเอาไว้ พอฝนตกน้ำเข้าบุ่งมาปลาเล็กปลาน้อยพวกนี้ก็จะโตแล้วก็ออกไปสู่แม่น้ำโขง”

อุษา จันทรักษา บ้านสำโรง ตำบลสำโรง อำเภอโพธ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า: “สำหรับการถ่ายภาพของหนูจะเป็นภาพแนวนอนให้เห็นบริบทมีพวกท้องฟ้า เห็นหลายอย่าง มันจะได้ภาพรวมๆ ภาพแนวตั้งก็จะเป็นอยากโฟกัสอะไร เลือกถ่ายไกลๆ เพื่อจะได้เห็นภาพกว้างๆ แสงส่วนมากจะไม่ถ่ายย้อนแสง จุดโฟกัสโทรศัพท์ตอนนี้ก็เป็นเก้าช่อง”

“หาดหินที่ริมโขง” ถ่ายภาพโดย อุษา จันทรักษา ณ บ้านสำโรง ตำบลสำโรง อำเภอโพธ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
ถ่ายวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ถ่ายเวลา เวลา 17.30 น.

อุษา เล่าภาพว่า: “ขาลงไปหาปลามีคนบ้านอื่นแล้วก็มีพ่อค้ามาติดต่อซื้อปลา พอหมดฤดูหาปลาบริเวณนี้เป็นที่ท่องเที่ยวในฤดูร้อนคนจะมาเล่นน้ำ มีทั้งรถปิคอัพ ซาเล้ง มีชาวบ้านหมู่บ้านอื่นมาด้วย เรียกว่าหาดหินร้อยไร่ ฤดูปลาขึ้นจะเป็นแบบนี้”

เครื่องมือวิจัย “เสียงจากภาพ

“เสียงจากภาพ” คือเครืองมือการวิจัยแบบหนึ่งที่ช่วยเสริมพลัง (empowerment) ให้กับคนในท้องถิ่นหรือชุมชน ได้แก่ ผู้หญิง ผู้ชาย เพศต่างๆ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนจน หรือ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา เนื่องจาก “เสียงจากภาพ” ได้เปิดพื้นที่ให้กับมุมมอง ตัวตน อัตลักษณ์​ โลกทัศน์ อารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการ ความเป็นอยู่ ความต้องการ และ ความใฝ่ฝัน ผ่านภาพและเรื่องเล่าเกี่ยวกับภาพที่คนท้องถิ่นหรือคนชายขอบผลิตสร้างขึ้นมา เพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้มีอำนาจและมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น แก้ไขปัญหาที่ชุมชนคือคนชายขอบเผชิญอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ เจ้าของเสียงจากภาพยังรับรู้ได้ว่าตนเองมีความรู้และมีความสามารถในการถ่ายภาพและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนและคนชุมชนรอบข้างของตนผ่านภาพ การรับรู้เกี่ยวกับตนเองและการเสริมสร้างเครือข่ายสำนึกร่วมในฐานะคนในย่านหรือละแวกเดียวกันต่อสาธารณะอีกด้วย

“เสียงจากภาพ” เน้นการเล่าและชวนให้เกิดคำถามและบทสนทนาต่อไปว่า “เจ้าของเสียงจากภาพ” คือใคร เขาคิดอะไรระหว่างกดปุ่มโทรศัพท์ถ่ายภาพนั้น เขาต้องการสื่ออะไร ถึงใคร เขาต้องการใช้ภาพเพื่อชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร เขาแสดงออกถึงอำนาจความรู้ ตัวตน คุณค่าต่อธรรมชาติและสิ่งรอบตัว โลกทัศน์ระหว่างตัวเขาและโลกทางธรรมชาติและนิเวศที่รายล้อมตัวเขาอย่างไร การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และการเรียกร้องให้คนมีอำนาจหันมาสนใจ และรับฟัง ดังภาพ “เฮือค้างโค้ก” (เรือติดค้างบนหิน)

“เฮือค้างโค้ก” (เรือติดค้างบนหิน) ถ่ายภาพโดย อิสริยา ปัญญาสู้ ณ บ้านปากลา ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ถ่ายภาพ 18 เมษายน พ.ศ.2566 เวลาถ่ายภาพ 11.00 น.

อิสริยา เล่าภาพว่า: “เฮือ (เรือ)ค้างโค้ก …มันก็จะเกี่ยวกับน้ำ (น้ำโขง) ที่ว่าถ้าน้ำขึ้นน้ำลงไม่ตามฤดูกาลอย่างในรูปนี้ ถ้าน้ำลดลงมากๆ เรือก็จะติดอยู่บนหินหรือว่าค้างโค้กในภาษาอีสานอย่างที่เห็น เรือก็จะแตก เราก็จะเสียเงินในการซื้อของมาซ่อม แล้วในการซ่อมต้องใช้ระยะเวลา รวมทั้งเสียเวลาในการเอาเรือลงน้ำ เสียเวลาหาปลาหารายได้จากการประมงที่เคยทำอยู่”

“หอย” ถ่ายภาพโดย อิสริยา ปัญญาสู้ บ้านตามุย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ถ่ายภาพ เวลา 10.00น.

อิสริยา เล่าภาพว่า: “หนูว่าถ้าพอถึงเวลาที่น้ำลดลงก็ดีนะคะ เราก็จะได้ไปหาหอยมาทำกับข้าวรวมทั้งหารายได้ให้กับตัวเอง แต่ก็มีทั้งข้อเสียตรงที่ว่า หมู่บ้านอื่นเขาไม่มีน้ำโขงไม่มีบุ่งมีหอยเหมือนบ้านเรา เขาก็จะพากันมาเต็มรถ กระบะมา

“ครั้งเดียวไม่พอ มาบ่อยด้วย แต่ก็คงห้ามไม่ได้เพราะเราใช้แม่น้ำโขงร่วมกันไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ ค่ะนั่นแหละ เขามาเพื่อที่จะมาเอาหอยไปกินไปขาย แต่หมู่บ้านข้างนอกเขาไม่ได้เหมือนบ้านเรานะคะ เขาอาจจะเอาไปทั้งหอยตัวเล็กไม่เหลือไว้ให้มันโต ต่อไปอาจจะไม่มีให้กินแล้วก็ได้นะคะพี่ดรีม เพราะอาจสูญพันธุ์ไปเลยถ้ายังทำแบบนี้”

การเก็บข้อมูลด้วย “เสียงจากภาพ

ผู้เขียนทำงานวิจัยชิ้นเล็กๆ ใน 5 ชุมชนริมโขงในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ บ้านสำโรง ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร บ้านดงนา ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ บ้านปากลา ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม บ้านคันท่าเกวียน ตำบลนาโพธิ์ อำเภอโขงเจียม บ้านตามุย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี คาดว่าทั้ง 5 ชุมชนจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มหรือเขื่อนสาละวันที่ถูกบรรจุในแผนการสร้างของคณะกรรมการธิการแม่น้ำโขง

ตัวเขื่อนมีขนาดใหญ่มากถึง 1,872 เมกกะวัตต์ โดยจะสร้างพาดผ่านแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม ระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว หากเป็นไปตามแผน เขื่อนนี้จะสร้างภายในอีก 7 ปีข้างนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ชาวประมงที่หากินในแม่น้ำโขงจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนแห่งนี้หากสร้างจริง ซึ่งภาพ “ช่วยกันสางมอง” ที่ปรากกฎนี้จะไม่เห็นอีกต่อไป

“ช่วยกันสางมอง” ถ่ายภาพโดย ณนิชษร ชนาจอมทอง ณ บ้านสำโรง ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร
วันที่ถ่าย 6 มิถุนายน พ.ศ.2566เวลาถ่าย 17.00 น.

ณนิชษร ในฐานะผู้ใหญ่บ้านหญิงได้ เล่าภาพของเธอว่า: “เจอชาวบ้านกำลังหาปลา ที่ประกอบอาชีพประมง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงปลาขึ้นจะหาได้ไม่ต่ำกว่า สิบยี่สิบกิโล เป็นฤดูที่ชาวบ้านตื้นเต้น เป็นการช่วยกันสางมอง ช่วงปลาขึ้นหาปลาได้ตลอดเวลา บางทีก็จะค้างคืน ช่วยกันสางมอง ออกหาปลาด้วยกันแล้วก็แชร์กัน มองประมาณ 6 – 8 เซนต์ เป็นการไหลมองบางทีก็จับ ช่วยกันมันจะเสร็จเร็วขึ้น แบ่งเท่าๆ กัน ไปเรือลำเดียวกัน”

“เสียงจากภาพ” ที่นำเสนอในบทความนี้ เกิดมาจากความต้องการสื่อสารสาธารณะโดยชาวบ้านอีสานริมแม่น้ำโขงกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง คนอีสานจะมีเขื่อนตามลำน้ำโขงและลำน้ำสาขาของ

แม่น้ำโขงที่กระทบคนอีสานมากที่สุดถึง 5 แห่ง เพราะพรมแดนส่วนมากของภาคอีสานมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว เขื่อนที่มีแล้วที่กระทบแล้วได้แก่ เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง อีก 5 เขื่อนกำลังจะสร้างได้แก่ เขื่อนปากลาย เขื่อนสาระคาม เขื่อนปากชม (ผามอง) เขื่อนบ้านกุ่ม (สาละวัน) และ เขื่อนภูงอย

Credit: เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง, หนังสือสรุปสถานการณ์แม่น้ำโขงกำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง (www.mymekong.org, 2022)

“คนธรรมดาริมแม่น้ำโขง” เก็บข้อมูลและนำเสนอผลการวิจัยด้วย “เสียงจากภาพ”

เพื่อบอกเล่า “ตัวตนคนโขง” และแน่นอนว่า ชาวบ้านทุกคนที่เป็นนักวิจัยมีสมาร์ทโฟนที่สามารถถ่ายภาพได้ และแต่ละคนมีเฟซบุ๊กที่อัปโหลดรูปภาพต่างๆ ที่ตนเองถ่ายลงพื้นที่ออนไลน์ส่วนตัว รวมทั้งมีไลน์แอปพลิเคชันสำหรับการแชร์รูปภาพของตัวเองมาก่อนร่วมโครงการวิจัยฯ ของเรา โครงการวิจัยเพียงแต่เข้ามาช่วยเติมเทคนิคการถ่ายภาพ รวมทั้งการให้ข้อมูลว่าเสียงจากภาพคืออะไร สิ่งที่จะสื่อในภาพมีความหมายอะไร และต้องการสื่อภาพนั้นๆ ให้ใครรับรู้และนำมาสู่การปรับเปลี่ยนมุมมองต่อคนริมโขงอย่างไร

การเติมเต็มสิ่งดังกล่าวไม่เพียงเสริมจินตนาการว่าจุดหมายปลายทางที่ “เสียงจากภาพ” อยากจะสื่อไปถึงนั้นคืออะไร แต่เติมความรู้เทคนิคการถ่ายภาพ ได้แก่ ภาพถ่ายบุคคล ภาพถ่ายระยะใกล้ ภาพถ่ายวิวทิวทัศน์ ภาพสะท้อนชีวิตจริง พร้อมเทคนิคการถ่ายภาพผ่านกล้องโทรศัพท์มือถือให้สวยงามคมชัดและมีมุมมองที่น่าสนใจ

“วัว.. แม่เลียบ” ถ่ายภาพโดย นางสาวจันจิรา นาป่น ณ บ้านคันท่าเกวียน ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวุดอุบลราชธานี
วันที่ถ่าย 1 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เวลาถ่าย 12.00 น.

จันจิรา เล่าภาพว่า: “แม่เลี้ยงวัวตั้งแต่สมัยพ่อแม่พาเลี้ยง จำความได้ก็เลี้ยง ไม่เลี้ยงวัวก็ไม่มี ที่ดินมีที่จะทำนาริมโขงน้ำท่วม จะปลูกฝ้ายก็ไม่พอได้ ไม่มีก็เลี้ยงวัวให้กินน้ำตามบุ่งตามโขง หน้าฝนน้ำท่วมก็เอาขึ้นเขา หน้าแล้งก็เอาเลี้ยงกินน้ำริมโขง พอได้กินได้อยากอยู่ได้ ขี้วัวก็ได้ขายตัววัวก็ได้ขาย ไม่มีเงินก็ขายวัวซื้อข้าวกิน”

“สวนฝ้าย” ถ่ายโดย พิศมัย อินทวี ณ บ้านคันท่าเกวียน ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ถ่าย 1 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เวลาถ่าย 14.00 น.

พิสมัย เล่าภาพว่า: “ในบ้านส่วนมากแต่ก่อนก็จะปลูกฝ้าย เอาฝ้ายส่งขาย บางบ้านก็ทำฝ้ายเอง แต่ฝ้ายก็ลดลงมาก เพราะน้ำไม่ขึ้นก็ไม่มีตะกอน ดินปลูกฝ้ายก็ไม่ขึ้นไม่สวยคือแต่ก่อน ฝ้ายในบ้านหลังๆ ก็จะน้อยลง”

“เสียงจากภาพ” กำลังบอกเล่าเรื่องราวคนริมโขงที่ไม่มีแต่การหาปลา แต่คนริมโขงปลูกฝ้ายและเลี้ยงวัวในไร่ฝ้ายที่สะท้อนเห็นว่า คนถ่ายภาพนี้ต้องการบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันระหว่างสวนฝ้ายและวัว ดัง “เสียงจากภาพข้าง” ที่เล่าโดยจิตรา เพ็ญพักตร์

“วัวในสวนฝ้าย” ถ่ายโดย จิตรา เพ็ญพักตร์ ณ บ้านปากลา ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ถ่าย 22 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เวลาถ่าย 15.30 น.

จิตรา เล่าภาพว่า: “วัวมันไปกินใบฝ้ายแล้วก็หญ้าที่เกิดในสวน นี่ก็คือวิถีชีวิตของชาวบ้านอีกอย่างหนึ่งค่ะ เวลาเก็บดอกแล้ว (ดอกฝ้าย) ก็จะปล่อยวัวลงไปเลี้ยงค่ะ คือใช้ประโยชน์จากต้นฝ้าย เราเก็บดอกไปแล้ว เราก็ใช้ประโยชน์จากต้นฝ้ายค่ะ อยากสื่อว่ามันเป็นสวนฝ้ายริมโขงค่ะ ถ่ายเห็นแม่น้ำด้วยค่ะ ถ้ามีเขื่อนแล้ว ที่ตรงนี้ก็จะไม่มี ที่ถ่ายเพราะอยากให้เห็นว่ามันเป็นที่ริมโขงค่ะ ถ้ามีเขื่อนมาฝ้ายนี่ก็จะไม่ได้ปลูกเลย ที่เลี้ยงวัวก็จะไม่มี พอวัวกินใบฝ้ายหมดแล้วน้ำก็จะท่วม พอน้ำลดก็จะเริ่มปลูกใหม่

“วัวในภาพเป็นวัวของน้า ฝ้ายนี่ก็เป็นฝ้ายของน้า (เจ้าของวัว) ทุกคนจะรวมกันเลี้ยงวัว ถ้าช่วงนี้จะโละของปลูก จะเหลือแต่สวนที่เอาไว้ใช้เลี้ยงสัตว์อย่างเดียว ตั้งแต่เดือนเมษาเป็นต้นมาจะเริ่มโละออก วัวพี่น้องกันจะเข้ามากินได้ วัวจะชอบกินหญ้ามากกว่ากัน ฝ้ายนี่จะกินบางตัว บางตัวก็ไม่กิน แต่ว่าพอแล้งก็จะกินเพราะไม่มีทางเลือก เพราะว่าหญ้ามันไม่มี จะเป็นประมาณเดือนห้าของทุกปี จะเป็นฤดูกาลปล่อยสัตว์ ปล่อยตามใจ อยากกินของใครก็ช่าง เดือนห้าถึงเดือนหกค่ะ ถ้าใครไม่อยากให้วัวกินก็ต้องไปล้อมคอกเอาของตัวเองไว้”

บทส่งท้าย

“เสียงจากภาพ” ที่นำเสนอมาข้างบนนี้กำลังบอกผู้คนทั่วไปว่า คนอีสานริมแม่น้ำโขงมีความสามารถเป็นนักวิจัยและมีความเป็นศิลปิน ที่สามารถนำเสนอตัวตน ความรู้ คุณค่า ความเชื่อ และ ให้ความหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนริมโขงกับระบบนิเวศของแม่น้ำโขงผ่าน “เสียงจากภาพ” อีกทั้งคนริมโขงยังต้องการสื่อและนำเสนอให้เกิดบทสนทนาให้ผู้ตัดสินใจการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำได้รับรู้ว่า เขื่อนคือการพัฒนาที่ไม่สมดุล ขาดความยั่งยืนต่อระบบนิเวศและวิถีผู้คน และ ไม่เป็นไปตามธรรมาภิบาลการจัดการแม่น้ำนานาชาติซึ่งกำลังกลายเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และจะซึมลึกอย่างยาวนานชั่วลูกหลานของคนริมโขง เพราะธรรมชาติที่สมบูรณ์ของแม่น้ำกำลังถูกทำลายโดยไม่สามารถหวนฟื้นคืนมาได้เหมือนเดิมอีกต่อไป