คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ให้ความเห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงานของประเทศโดยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2065-2070 และจะเป็นโอกาสของประเทศไทยในการปรับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะกรอบการพัฒนาเศษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่เป็นวาระแห่งชาติ, ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ให้ความเห็น
การพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวและต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่ประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่วางเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิของโลก ไม่ให้เกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ขณะที่ประเทศที่มีความเสี่ยงหรือในพื้นที่อ่อนไหว อยากให้เป้าหมายการควบคุมที่ระดับไม่เกิน 1.5 องศาเซลซียส
โดยมีหลายประเทศได้แสดงเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปีฐานของตนเอง รวมถึงประเทศไทยซึ่งตั้งเป้าลด 20-25 % ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ส่วนประเทศอื่นก็ตั้งเป้าแตกต่างกันไปตามความสามารถของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ตามเป้าหมาย คงจะมีการเจรจาต่อรองในระหว่างทางต่อไป
ปัจจุบัน ในหลายภูมิภาคได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น อย่างกรณีน้ำท่วมในยุโรป หรือจีน รวมทั้งผลกระทบด้านอื่น ๆ ด้วย ที่มีความรุนแรงและมีการสูญเสียสูง ดังนั้นหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ปรับแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป้าแรก (ปี 2030) ได้ปรับให้มีการลดที่เพิ่มขึ้น และเป้าสำคัญที่หลายประเทศมุ่งไปเป็นเป้าการปลอดคาร์บอน หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เช่น สหภาพยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065-2070
กรณีสหภาพยุโรปได้กำหนดยุทธศาสตร์ “อียู กรีนดีล (EU Green Deal)” เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นแรงผลักดันให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเอาประเด็นสิ่งแวดล้อมนำ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวนี้มุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเป็น 55% ภายในปี 2030 และมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนหรือคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Carbon Emission) ในปี 2050 ตามแนวทางการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่เพิ่มการใช้ทรัพยากรให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ใช้พลังงานทดแทน และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
มาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรปมีทั้งมาตรการภาษีด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและได้รับแรงขับเคลื่อนจากยุทธศาสตร์อียู กรีนดีล ให้ดำเนินการต่อ เช่น กฎหมายบรรจุภัณฑ์ (EU Packaging and Packaging Waste Directive) กฎหมายและโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ได้ให้ความสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ทนทาน ใช้ซ้ำได้ ซ่อมแซมได้ รีไซเคิลได้ และ ใช้พลังงานน้อย เป็นต้น มีเป้าหมายที่จะรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ได้มากกว่า 75% ภายในปี 2030 ส่งผลให้สินค้าในตลาดอียูที่แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือสามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยใช้หลักการผู้ผลิตเป็นผู้รับผิดชอบ (Extended Producer Responsibility, EPR) เช่น การเรียกคืนขวด เป็นต้น รวมทั้งการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นภาพใหญ่ของการขับเคลื่อน
ขณะเดียวกันประทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป อย่างประเทศเยอรมัน ก็ได้นำไปออกเป็นกฎหมายของตนเอง เช่น กฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ได้กำหนดหน้าที่ในการดูแล (Duty of Care) ถ้าผลิตอะไรออกไปต้องมั่นใจว่ามีความเหมาะสมในการใช้และไม่กลับมาเป็นของเสีย โดยมีระบบการติดตามและรายงาน และยังมีการทบทวนกฎหมายบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้วัสดุ ในกรณีขยะพลาสติกโดยกำหนดว่าในปี 2030 ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มประเภท PET ต้องมีองค์ประกอบของพลาสติกรีไซเคิล 25 % และเพิ่มเป็น 30 % ในระยะต่อไป การเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบบาง มีระบบการเรียกคืนขวดพลาสติกและกระป๋องอลูมิเนียม เป็นต้น
ด้านสหรัฐอเมริกาหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งได้กลับทิศทางนโยบายสิ่งแวดล้อมของประเทศในการกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการนำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไปผูกกับนโยบายต่างประเทศ กลยุทธ์ด้านความมั่นคงของชาติ และด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยตั้งเป้าสหรัฐอเมริกาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และให้เป็นเศรษฐกิจพลังงานสะอาด 100% (Clean Energy Economy) ภายในปี 2050
นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาได้ตั้งเป้าลดการขุดเจาะพลังงานในที่ดินรัฐ และในมหาสมุทรลงอย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 เพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ รวมถึงเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเป็น 2 เท่า โดยการสร้างกลไกและการบังคับใช้กฎหมาย ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด การวิจัยด้าน Climate Change รวมทั้งการสร้างนวัตกรรม และการกระตุ้นให้เกิดการใช้นวัตกรรมพลังงานสะอาดทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ
โดยกำหนดเป้าหมายในการลงทุนในพลังงานสะอาดอย่างมหาศาลเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการรับประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม โดยจะมีลงทุนของรัฐ 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งสร้างงานในอเมริกาจาก Clean Energy Revolution โดยตั้งเป้าลงทุน 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อพลังงานสะอาดและรถยนต์ปลอดมลพิษ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากจากภาคการขนส่ง การเดินทางโดยรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาเชื้อเพลิงใหม่ การพัฒนาระบบรางความเร็วสูง การสร้างนวัตกรรมคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมปลูกป่าเพื่อเป็นแหล่งการกักเก็บคาร์บอน การทำฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง และการพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งการปรับนโยบายด้านการค้า กับเป้าหมายทางด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม
ในฝั่งเอเชียเอง ประเทศญี่ปุ่นก็ได้กำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ที่ได้กำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2050 และแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ก็ได้ตั้งเป้าหมาย ในปี 2035 จะงดผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล และจะเห็นได้จาการแสดงศักยภาพของการดูแลสิ่งแวดล้อมจากการเป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน โอลิมปิก 2020 ที่มีองค์ประกอบจากวัสดุรีไซเคิล ทั้งอาคารสิ่งก่อสร้าง การใช้พลังงานสะอาด เหรียญรางวัลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์นำมารีไซเคิล การเดินทางโดยพลังงานสะอาด เป็นต้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ได้ตั้งเป้าหมายแล้วเช่นกัน ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2060 เป็นต้น
เศรษฐกิจปลอดคาร์บอนของประเทศไทย
ในส่วนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ให้ความเห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงานของประเทศ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2065-2070 โดยรัฐบาลมีแผนที่จะปรับในเรื่องแหล่งพลังงานของประเทศที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต เพื่อให้ประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์ รวมทั้งเอกชนที่ร่วมมือกับรัฐบาลก็ต้องได้ผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ เรื่องยานยนต์พลังงานไฟฟ้า จะดำเนินการให้ครบวงจร ทั้งเรื่องรถและสถานีบริการชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อจูงใจให้คนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น ทั้งนี้ ต้องมีการสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงพลังงานของโลกที่ต้องเตรียมการให้พร้อม
สำหรับแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน ประกอบด้วย การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50 % การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM2.5 การปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่า 30 % โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่
นอกจากนี้ ยังมีการปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ตามแนวทาง 4D1E ซึ่งประกอบด้วย Decarbonization: การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน, Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน, Decentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน, Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า) ทั้งนี้ เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในช่วงปี 2065-2070 จะขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน
ขณะที่ประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะจากภาคพลังงาน โดยการมุ่งให้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติให้ได้ 100% นั้น การดูแลรักษาป่าไม้และลดการตัดไม้ทำลายป่านับกลไกที่สำคัญในการเพิ่มพูนและเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าต้นไม้ 1 ต้น สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 9-15 กิโลกรัมต่อปี ส่วนกรณีป่าไม้ในประเทศไทย 1 ไร่ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 8-26 ตันต่อปี ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทป่าและสภาพป่า ปัจจุบันได้มีกลไกเรดด์พลัส (REDD+) เป็นกลไกหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน องค์กรระหว่างประเทศ ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนและจูงใจให้มีการลดการทำลายป่าและทำให้ป่ามีสภาพเสื่อมโทรม
จึงนับเป็นโอกาสของประเทศไทยในการปรับกระบวนทัศน์ ในการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ไปด้วยกันอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะกรอบการพัฒนาเศษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่เป็นวาระแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมีอยู่ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อน ด้วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ใช้ได้นาน นำมารีไซเคิลได้ รวมทั้งการลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำนักข่าว Bangkok Tribune ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่บทความที่คอลัมน์ Green Recovery and Beyond
บทความ โอกาสประเทศไทยกับเศรษฐกิจปลอดคาร์บอน ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)