การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่กระทบอารมณ์ความรู้สึกอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นความทรงจำจากบาดแผล (Memory of Wounding) ที่รุนแรง ความทรงจำนี้คอยหลอกหลอนและสิงสถิตในตัวตนของผู้สูญเสียและตกทอดถึงลูกหลาน
การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ รวมทั้งโครงการพัฒนาเขื่อนแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา จะต้องให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากการถูกบีบบังคับจนมันกลายเป็น “ความบอบช้ำทางใจ” (Trauma) ของผู้ที่คาดว่าจะได้รับผล กระทบจากโครงการที่จะสร้างใหม่ให้มากขึ้น รองศาสตราจารย์ ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสนอแนะ
การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือแม้กระทั่งผลกระทบทางสังคมก่อนการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงที่ผ่านมา ผู้ประเมินมักมองข้ามผลกระทบด้านอารมณ์ความรู้สึกที่ก่อให้เกิด “ความบอบช้ำทางใจ” (Trauma) ของผู้คนที่คาดว่าจะเสียประโยชน์จากการสร้างเขื่อน เพราะเน้นให้ความสำคัญและใส่ใจกับวัตถุ (Material) และเทคนิคต่างๆ มากกว่า เช่น การสูญเสียรายได้ และทรัพยากรต่างๆ เพราะมันจับต้องได้ เข้าใจง่าย และเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากกว่า “ความบอบช้ำทางใจ” แต่ก็มิได้หมายความว่าวัตถุเหล่านี้จะไม่สำคัญ หากเป็นหัวใจหลักอันหนึ่งของการประเมินกระทบฯ เช่นกัน
ผู้เขียนอยากจะชวนเชิญให้หันมาให้ความสนใจกับ “ความบอบช้ำทางใจ” ให้มากพอๆกับวัตถุเหล่านั้น เพราะอะไรน่ะหรือ?
คนยุคแรกที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในสาขาของแม่น้ำโขง เช่น เขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร และเขื่อนราศีไศลที่ยังมีชีวิตอยู่จนปัจจุบัน และคนยุคปัจจุบัน ต่างมีอารมณ์ความรู้สึกและบาดแผลทางจิตใจสะสมมาต่อเนื่อง เขื่อนในสาขาของแม่น้ำโขงที่กล่าวมาข้างต้น มีอายุราวๆ 30 ปีมาแล้ว คนรุ่นแรก ทายาทรุ่นที่สองและรุ่นที่สามต่างมีอารมณ์ความรู้สึกและบาดแผลทางจิตใจจากผลกระทบของเขื่อนร่วมกัน
หลายคนอาจมองว่าคนรุ่นหลังมิได้ผูกพันกับแม้น้ำและใช้ทรัพยากรแม่น้ำเพื่อการทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ประเด็นนี้ไม่จริงเสมอไปเพราะผู้เขียนได้เก็บข้อมูลมาต่อเนื่องและล่าสุดได้ไปร่วมวงเสวนาเกี่ยวกับเขื่อนปากมูลในปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ณ แก่งตะนะ จังหวัดอุบลราชธานี ผู้เขียนสัมผัสได้ว่า ผู้หญิงยุคที่สามในพื้นที่เขื่อนปากมูลมีความเจ็บปวดจากการไม่มีทรัพยากรปลาในแม่น้ำมูลมากพอที่เลี้ยงชีวิตและครอบครัว ชาวบ้านหลายครัวเรือนเข้าไม่ถึงทรัพยากรอื่นๆ เพราะไม่มีการศึกษาขั้นสูงหรือมีทุนอื่นๆ เพื่อขยับฐานะทางเศรษฐกิจ เช่น ที่นา ทุนความรู้ และทักษะสมัยใหม่ที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน
สมัยก่อนที่จะมีเขื่อนปากมูลและเขื่อนอื่นๆ นั้น การหากินของชาวบ้านริมแม่น้ำสาขาขึ้นกับธรรมชาติ ชาวบ้านแทบจะไม่ใช้หรือใช้ทุนน้อยมากในการหาปลา สัตว์น้ำ และเก็บหาของป่า ทรัพยากรในแม่น้ำจึงเป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่สำคัญมากสำหรับชาวบ้านโดยที่รัฐไม่ต้องเข้ามาพัฒนาเสียด้วยซ้ำไป ชาวบ้านมีชีวิตอยู่รอดได้และมีรายได้ที่ดีเพื่อพัฒนาด้านอื่นๆ เสริมกับรายได้จากส่วนอื่นๆ ที่มีเข้ามาด้วยเพื่อใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกหลาน การซื้อทรัพย์สินบางอย่าง การสร้างบ้าน หรือการต่อเติมบ้าน
ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ราษีไศล และหัวนา ยังคงอาศัยอยู่ในที่พื้นที่ผลกระทบจากเขื่อนทั้งหมดนี้ มิได้โยกย้ายถิ่นฐานไกลจากเขื่อนเพราะพื้นที่ของชุมชนและบ้านเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกน้ำจากเขื่อนท่วมเสียหายหมดไป แต่น้ำจากเขื่อนท่วมแหล่งหาอยู่หากินและแหล่งหาเงินของชาวบ้าน อีกทั้งเขื่อนเหล่านี้ทำให้แม่น้ำไม่ได้ไหลตามธรรมชาติ จึงกระทบต่อสัตว์น้ำและปลาที่เป็นทรัพยากรสำคัญสำหรับชาวบ้าน
การสูญหายของทรัพยากรในฐานะขุมทรัพย์จากเขื่อนขนาดใหญ่กลับกลายเป็นฝันร้ายของชาวบ้าน เพราะชาวไม่คาดคิดว่าจะได้รับผลกระทบมหาศาลจากเขื่อน เช่น กรณีเขื่อนปากมูล เพราะก่อนมีเขื่อนชาวบ้านแทบมิได้สนใจการทำนาหรือคิดจะซื้อหาที่นาเพิ่มเติม เน้นสนใจแต่การหาปลาเป็นหลัก เพราะปลาสร้างอาชีพและรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าการทำนา
เช่น กรณีของเขื่อนปากมูลที่ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านที่สูญเสียอาชีพประมงได้ออกมาสู่สาธารณะเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ในแต่ละครั้งของการออกสู่สาธารณะเพื่อเรียกร้องต่อสู้นั้น ได้สร้างบาดแผลทางใจให้กับชาวบ้าน เพราะไร้ความแน่นอนในการแก้ไขปัญหาของรัฐ ชาวบ้านมีความกังวลเพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่เรียกร้องนั้นจะเป็นผลหรือไม่อย่างไร รัฐมักตอบสนองด้วยการซื้อเวลาหรือถ่วงเรื่องออกไปเรื่อยๆ เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่าจนเป็นที่มาของสโลแกนที่ว่า “13 นายกฯ 16 รัฐบาล ในห้วงเวลา 24 ปีการต่อสู้เขื่อนปากมูล”
การเรียกร้องในพื้นที่สาธารณะมักแลกมาด้วยการถูกตราหน้าและถากถางว่าเป็นผู้ขัดขวางความเจริญ พวกได้ไม่รู้จักพอ และได้คืบจะเอาศอก ไม่ว่าจะถูกมองอย่างไรก็ตามแต่ ทางเลือกของผู้สูญเสียทรัพยากรแม่น้ำและที่ดินในการทำมาหากินจากเขื่อนค่อนข้างตีบตัน ชาวบ้านจึงจำต้องใช้วิธีการสร้างแรงกระเพื่อมและเป็นที่รับรู้ของสังคมและรัฐ เช่น การที่ผู้หญิงจำนวน 100 คนลงไปนอนทับหลุ่มหินบริเวณระเบิดแก่งหินเพื่อสร้างเขื่อนปากมูล การนอนหน้าทำเนียบเป็นเวลานานเกือบ 100 วัน อาศัยอยู่ริมฟุตบาทในกรุงเทพฯ การยึดสันเขื่อนปากมูลและการก่อตั้งหมู่บ้านประท้วง (หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน) การเดินเท้ารณรงค์เกือบ 1,000 กิโลเมตร และการส่งหนังสือถึงรัฐบาลทุกระดับ เป็นต้น
ความกดดันภายในครัวเรือนขณะที่ผู้นำครอบครัวที่ต้องออกไปต่อสู้เรียกร้องยังต้องหารายได้และอาหารเลี้ยงครอบครัวควบคู่กัน และการสูญเงินทองระหว่างออกมาสู้ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรเวลา แรงงาน และการจัดความสัมพันธ์ของสมาชิกในครัวเรือน
(อ่านเรื่องที่ The Saga of Mekong Tributary Dams)
“ความบอบช้ำทางใจ”… บาดแผลความทรงจำจากรุ่นสู่รุ่น
ชาวบ้านหญิงปากมูลที่เป็นแกนนำรุ่นแรก กล่าวว่า;
“คนหาปลาไม่มีอนาคต”
“เราสู้เพื่อให้แม่น้ำได้มีอิสระ”
ชาวบ้านหญิงที่เป็นแกนนำรุ่นสาม กล่าวว่า;
“เขื่อนเป็นปัญหามาตลอดกับชาวบ้าน”
“ดิฉันหาปลาอย่างเดียว”
“หาปลาไม่ได้ รัฐสร้างความเดือดร้อน ลูกก็ต้องเรียนหนังสือ”
“ล่าสุดกลางเดือนตุลาคมปี 62 ฉันไปนอนที่หน้ากระทรวงศึกษาฯ เรียกร้องเรื่องเขื่อน เลยขอให้กระทรวงเอาเตนท์มาให้เพราะเราทนแดดและฝนไม่ไหว”
“เรามีแค่อาชีพประมง ความเจ็บปวดมันมาก”
“เขื่อนบอกว่าเขื่อนมีประโยชน์ แต่ฉันคิดว่าเขื่อนมีแต่ความเจ็บปวด ความเสียหายมหาศาล”
“เอาโครงการมา บังคับเราให้รับ มาสร้างแล้ว ไม่ดูแลเรา ชาวบ้านแทบจะตาย ชาวบ้านเต็มไปด้วยหนี้สิน ทั้งชีวิตมันเจ็บปวด”
ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า “ความบอบช้ำทางใจ” ที่เกิดจากการสูญเสียขุมทรัพย์ที่เรียกว่า ระบบนิเวศแม่น้ำ มิใช่เรื่องเล็กน้อยแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่กระทบอารมณ์ความรู้สึกอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็น “ความทรงจำจากบาดแผล” (Memory of Wounding) ที่รุนแรง ความทรงจำนี้คอยหลอกหลอนและสิงสถิตในตัวตนของผู้สูญเสียและตกทอดถึงลูกหลาน
l วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาวใต้ใกล้กับจุดสร้างเขื่อนภูงอยและเขื่อนดอนสะโฮง. Credit: คำปิ่น อักษร
การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่เคยเป็นแหล่งอาหาร รายได้ และ สร้างชีวิตที่ดี ได้ปิดกั้นความหวังและความมั่นคงของชีวิตชาวบ้าน มิหนำซ้ำการเยียวยาชดเชยจากรัฐและผู้สร้างเขื่อนก็ช่างเป็นไปอย่างเชื่องช้า ยาวนานและไม่รู้ว่าจะเริ่มดำเนินการเมื่อใดอย่างไร และเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ความเชื่องช้าและการเพิกเฉยต่อการชดเชยเยียวยาจากรัฐได้ซ้ำเติมบาดแผลทางจิตใจ สร้างความรุนแรงต่อความอารมณ์ และตอกย้ำบาดแผลทางจิตใจของชาวบ้านมาโดยตลอด
ผู้เขียนเห็นว่าการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมจะต้องให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากการถูกบีบบังคับจนมันกลายเป็น “ความบอบช้ำทางใจ” ของผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการที่จะสร้างใหม่ให้มากขึ้น
การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมจะต้องนำเอามิติอารมณ์ความรู้สึกที่กลายเป็น “ความบอบช้ำทางใจ” มาเป็นประเด็นหลักสำคัญเทียบเท่ากับประเด็นหลักอื่นๆ ในการประเมินผลกระทบโครงการพัฒนาในลำน้ำโขงที่มีแผนจะสร้าง เช่น กรณีเขื่อนบ้านกุ่ม (1,872 เมกะวัตต์) เขื่อนสานะคาม (684 เมกะวัตต์) เขื่อนภูงอย (728 เมกะวัตต์) เขื่อนปากชม (1,089 เมกะวัตต์) รวมทั้งเขื่อนอื่นๆ ในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี