ป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศไทยที่ชาวบ้านสะเอียบต่อสู้เพื่อรักษาไว้จากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น. Photo courtesy of CESD

บทเรียน 34 ปีแห่งการหยุดเขื่อนแก่งเสือเต้นและปกป้องป่าสักทองของชาวสะเอียบ

กว่า 34 ปีที่ชาวบ้านตำบลสะเอียบ จังหวัดแพร่ ยืนหยัดต่อสู้กับแนวคิดการพัฒนาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของรัฐ “เขื่อนแก่งเสือเต้น” พวกเขาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์การต่อสู้ที่ยาวนานถอดเป็นบทเรียนให้สังคมไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CESD) เรียบเรียงความทรงจำของผู้นำชุมชนรุ่นบุกเบิก กำนันเส็ง ขวัญยืนที่มีโอกาสแบ่งปันบทเรียนกับชาวบ้านที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวมเมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Actions for Rivers against Dams) ในวันที่ 14 มีนาคม 2566

ก่อนหน้านี้ผมก็เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา ไม่มีตำแหน่ง และต่อต้านโครงการเขื่อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ในยุคชาติชาย ชุณหวัณ และเดินขบวนจากสะเอียบไปที่เชียงใหม่ เป็นดาราอยู่ระยะหนึ่งทุกสื่อทีวีจับตามองตลอด จนได้มาเป็นนักเคลื่อนไหวและรู้จักกับเครือข่ายกลุ่มอื่นๆ ทั่วประเทศ

ผมเริ่มต่อสู้แรกๆ ก็เจอคำถามจากนักวิชาการ นักศึกษาต่างๆ ว่าผมเรียนจบชั้นไหน ผมบอกไปว่าผมจบแค่ ป.4 และทั้งหมู่บ้านในตอนนั้นเองก็ยังไม่มีใครเรียนจบปริญญาตรีเลย เขาเลยให้คำแนะนำว่า งั้นต้องดึงเอาคนชนชั้นกลางที่จบปริญญาตรีมาช่วยนำเคลื่อนไหวเพราะเขามีความรู้ที่จะนำมาต่อรองมาก ชาวบ้านจึงไปเข้าใจว่าเราเป็นคนไม่มีความรู้

เวลาร่างหนังสือไปยื่นผู้ว่า นายอำเภอ และคณะรัฐมนตรี เราก็ต้องรวมตัวกันทั้งคืน เพื่อช่วยกันร่างหนังสือคัดค้าน ตอนนั้นไม่มีเครื่องพิมพ์จะไปจ้างก็กลัวความลับเปิดเผย เพราะว่าสมัยนั้นชาวแพร่ที่อยู่ด้านล่างเขาเอาเขื่อนหมด สื่อมวลชนก็ไม่เข้าข้าง เนื่องจากชาวบ้านยังไม่มีความไม่ไว้ใจสื่อเพราะเคยพบเหตุการณ์ที่กรมชลฯ กฟผ. และนายทุนที่อยากซื้อจ้างคนเข้ามาสืบข่าว เราเองก็ไม่รู้จักกันก็ให้ข่าวมาก่อน

ต่อมาเมื่อได้เรียนรู้จากนักศึกษาและอาจารย์ที่เขาเข้ามาในพื้นที่ก็แนะนำว่าให้เราต้อนรับสื่อดีดี ต้องเอาเขา (สื่อ) มาเป็นพวกเรา เพราะจะได้รับรู้ข่าวสารโครงการเมื่อมีการยกเรื่องเข้า ครม. พอเราสานสัมพันธ์ไว้มีเรื่องอะไรคืบหน้าเขาก็จะโทรมา

ส่วนสำคัญเลยคือน้องนักศึกษาที่สละเวลามาเรียนรู้กับชุมชนและช่วยกันคัดค้าน รวมทั้งกลุ่มมูลนิธิกระจกเงาที่มาช่วยตั้งกลุ่มเยาวชนและสนับสนุนให้เยาวชนมาร่วมทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่พี่น้อง จนเกิดการซึมซับคุณค่าและเกิดความรักผูกผันต่อบ้านเกิด กลายเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนทุกคนตั้งใจเรียน พอนักเรียนจบปริญญาตรีก็ได้นำความรู้และเงินทุนมาช่วยพัฒนาการต่อสู้เสมอ โดยเยาวชนนั้นก็อาสาทำเองมาตั้งแต่ในอดีต ผมจึงคิดว่าพลังของลูกหลานเรานั้นสำคัญที่สุด พลังที่มาจากการซึมซับและสังเกตการณ์จากคนเฒ่าคนแก่ที่เขาทำ และเราไม่ได้บังคับเขา เขามาเอง

ในอดีตผมเคยคิดว่าผมจะไม่ชนะ เพราะผมต้องขัดแย้งกับพ่อค้าไม้เถื่อน รัฐบาล นายทุนซื้อที่ ผมจึงทำทุกทางไปอบรมทุกที่ รวมทั้งเวทีต่างประเทศด้วย และในช่วงนั้นเองก็เกิดเหตุการณ์ที่มีการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่หากไม่ยอมขายที่ดินเพื่อนำไปปลูกไม้สักและตัดไปขาย เราจึงเริ่มเกาะกลุ่มกันให้แข็งแรงก่อน โดยเริ่มจากประเด็นร้อนเล็ก ๆ ในชุมชน เพราะเราไม่สามารถยอมให้ชาวบ้านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ต้องถูกกดดันให้ขายที่ดินอีก เบื้องต้นผมก็ได้เข้าไปคุยให้กำลังใจและผลักดันให้มีรวมตัวกันให้เกิดการต่อสู้เพื่อเจรจาคืนที่ดินจนสำเร็จ เพราะหากเขาไม่สู้ตั้งแต่ตอนนี้ ที่ดินเหล่านั้นจะถูกนำไปเป็นพื้นที่สร้างเขื่อนหมด มันจึงมีความเชื่อมโยงกันที่จะให้ชาวบ้านเห็นปัญหาและร่วมต่อสู้คัดค้านเขื่อนต่อไปได้

l Photos courtersy of CESD

สิ่งสำคัญในการต่อสู้คือ “การรู้มิตรรู้ศัตรู” ในตอนนั้นมีการเสนอให้สร้างโรงเรียนขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่รัฐก็เข้ามาในพื้นที่ทำทีมาขอสำรวจจำนวนประชากร ฯลฯ แต่เราก็ไม่ยอมให้ข้อมูลและไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ จากเหตุการณ์นั้นเราจึงถูกคนในจังหวัดมองว่า เป็นกลุ่มคนที่ไม่อยากพัฒนา เป็นพวกอิสรชน จนลูกหลานบางคนถูกกีดกันสิทธิทางการศึกษา เพียงเพราะบุคลากรมีอคติกับคนในชุมชนของเรา มีครั้งหนึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนได้ให้นักเรียนทั้งหมดเขียนจดหมายว่าขอให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่มีเยาวชนในชุมชนของเราที่เขียนทั้งข้อดีข้อเสียของเขื่อน ทำให้คะแนนกิจกรรมการเขียนจดหมายได้ 0 ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมใด ๆ ในตอนนั้นเขากดดันเราทุกสิ่งทุกอย่าง

จนภายหลังมาปี พ.ศ.2540 ได้มีการชุมนุมเครือข่ายสมัชชาคนจนทั่วประเทศ ตอนนั้นมีผม พฤ โอ่โดเชา คนปกาเกอะญอได้เป็นตัวแทนเข้าไปในห้องเจรจาหาทางออก จนได้ข้อสรุปว่า ข้อเรียกร้องสมัชชาคนจนคือ เขื่อนที่ยังไม่ได้สร้างจะต้องไม่ดำเนินการต่อ รวมทั้งโครงการที่ชุมชนอยากจะทำรัฐห้ามเข้ามายุ่ง แต่มีคนมองว่าทางออกนี้จะนำไปสู่ความรุนแรงซึ่งก็เป็นความจริง

เมื่อมีความขัดแย้งรุนแรงกับเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้ชาวบ้านก็รุนแรงขึ้น มีอยู่ครั้งหนึ่งที่กรมชลฯ และชาวต่างชาติจากธนาคารโลกได้เข้ามาในพื้นที่เพื่อหาข้อตกลง และอยากให้ชาวบ้านแบ่งกลุ่มว่าใครเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ทั้งๆ ที่ชาวบ้านก็ยืนยันเสมอว่าไม่เอาเขื่อน จึงไม่ต้องการแบ่งกลุ่ม ตอนนั้นอากาศก็ร้อนทำให้ชาวบ้านทยอยกลับ และนายกก็ไปกล่าวโทษชาวบ้านว่าไม่ยอมให้ความร่วมมือ ชาวบ้านก็ไม่พอใจจึงตอบกลับไปว่าอย่าเข้ามาในพื้นที่อีก แต่วันต่อมาด้วยการสื่อสารผิดพลาดตัวแทนจากธนาคารโลกก็กลับเข้ามาในพื้นที่ จนเกิดเหตุที่ชาวบ้านเข้าไปทุบรถ และเกิดการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่จนเกิดข้อพิพาทลงข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ว่าจะมีการจับแกนนำ และชาวบ้านกว่า 20 คน แต่ผมบอกไปว่างั้นก็เตรียมขังคนทั้งหมู่บ้านเลย 4,000 คน พวกเราจะไปมอบตัวด้วยกันทั้งหมด แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ต่อมาในยุคนายก ชวน หลีกภัย เขาก็เคยผ่านมาในพื้นที่เพื่อดูพื้นที่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นโดยมีกองกำลังทหารพร้อมเพรียง ชาวบ้านจึงเข้าไปเจรจาว่าขอให้ตำรวจ สันติบาล และทหารที่ตามมาไปอยู่ที่วัดเสียก่อน เพื่อเปิดทางให้ชาวบ้านเข้าไปเจรจาโดยชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอว่าหากมีการทำร้ายร่างกายอีกให้จับแกนนำได้เลย จึงเกิดการเจรจาว่าจะให้ชาวบ้านในวันนั้นไปมอบตัวและจ่ายค่าปรับที่ศาลให้เรื่องจบโดยชาวบ้านเป็นคนยื่นข้อเสนอ

หลังจากนั้นจึงได้ข้อสรุปกันว่าหากเกิดการขัดแย้งเช่นนี้มันไม่มีอะไรดีต่อทั้งสองฝ่าย แต่เราต้องหันหน้าเข้าหากัน โดยชาวบ้านต้องการคนที่เป็นกลางจากฝั่งรัฐที่พอจะคุยกันได้เพื่อขอความร่วมมือโดยคำนึงถึงความสมัครใจการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านด้วย ชาวบ้านจึงยอมให้หน่วยงานเข้ามาได้ แต่จะต้องประสานงานเข้ามาก่อนและบอกจุดประสงค์ให้ชัดเจน

ครั้งหนึ่งความขัดแย้งรุนแรงและมีการขึ้นป้ายคัดค้านเขื่อนทั่วไปในหบู่บ้าน. Photo: Bangkok Tribune

ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือบ้าง หลบบ้าง เวลาผมดินทางไปต่างประเทศก็จะต้องหลบด้วยเพราะกลัวอันตราย แต่ปัจจุบันสถานการณ์ก็ดีขึ้นเราสามารถแจ้งนายอำเภอได้บ้างตามโอกาส ในพื้นที่บริเวณก่อสร้างแก่งเสือเต้นเดิมทีมีคนสุโขทัยมาซื้อที่ดินอยู่ที่นี่มาก (ลงทุนซื้อที่ไว้หน้าเขื่อน) แม้จะเกิดปัญหาน้ำท่วมบ้างน้ำแล้งบ้าง แต่เนื่องจากรัฐบาลได้โน้มน้าวประชาชนว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นจะแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพิษณุโลก นครสวรรค์ได้ และจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้ เขาจึงเข้ามาซื้อที่และกลายเป็นกลุ่มคนสนับสนุนเขื่อนไปโดยปริยาย

สิ่งที่ผมทำในตอนนั้นคือการขยายเครือข่าย โดยเข้าไปบอกความจริงกับคนเหล่านั้นว่า เขื่อนไม่ได้ช่วยในเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้ง ผืนป่าต่างหากที่ช่วย แต่ถ้าป่าหายไป เอาไม้ไปทำบ้านเสียหมด เขื่อนคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ข้อมูลของเขื่อนแก่งเสือเต้นคือจะมีการทำเขื่อนจะกั้นแม่น้ำยม 11 สาขา จาก 70 สาขา แต่ข้อมูลนี้รัฐบาลไม่รู้เลยว่าหากสร้างเขื่อนแล้วเราจะไม่มีน้ำใช้เลยในหน้าแล้ง

เมื่อผมขึ้นมาเป็นคณะกรรมการแม่น้ำยม ผมจึงเสนอให้เจ้าหน้าที่และผู้เข้าร่วมอีก 3 คันรถบัสที่เป็นคนสุโขทัย แพร่ พิจิตรไปทัวร์แม่น้ำยมกับผม เริ่มต้นจากต้นน้ำที่อ.ปง ล่องแม่น้ำมาเรื่อยๆ ว่าในร่องน้ำยมแต่ละที่นั้นมีการทำฝายส่งน้ำอย่างไร ล่องเรือไปจนถึง จ.พิจิตร จนวันที่สรุปปิดโครงการ รองผู้ว่าพิจิตรจึงได้นำเสนอเรื่องการเยียวยาน้ำท่วมน้ำแล้ง พยายามอธิบายว่าจะจ่ายค่าชดเชยยังไง เมื่อชาวบ้านถูกถามว่า หากต้องเลือกระหว่างน้ำท่วมกับน้ำแล้งจะเอาอันไหน ชาวบ้านทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเอาน้ำท่วมดีกว่าเพราะยังสามารถจับปลาทำปลาร้าขายได้ เมื่อน้ำแล้งก็แค่สร้างฝายกักน้ำและดูดน้ำมาใช้เมื่อต้องการ

รองผู้ว่าเมื่อได้รับฟังดังนั้นจึงยอมรับว่าปรามาสชาวบ้านไม่สำเร็จ แม้จะพยายามโน้มน้าวว่าหากไม่ได้สร้างเขื่อนแต่ป่าก็หมดไปอยู่ดีเพราะไม้สักทองสะเอียบมีมูลค่ามาก แต่ผมตอบกลับไปว่า หากท่านคิดเห็นเช่นนี้ก็ยุบกรมป่าไม้เถอะถ้าจะดูแลป่าไม่ได้ เพราะผมเคยไปสำรวจคนลักลอบตัดไม้ เขาไม่ใช่ชาวบ้าน แต่กลับเป็นทหาร ตชด. เข้ามาเอาไม้สักไปซ่อมพระราชวังที่ชะอำ ตอนนั้นพวกเราก็ล้อมเอาไว้ไม่ยอมให้ออกไป เขาจึงมาขอเจรจาให้ชาวบ้านบริจาคไม้ไปซ่อมวังแทน ดังนั้นเราจึงต้องรู้มิตรรู้ศัตรู หากเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมก็ยอมได้ ซึ่งภายหลังการประนีประนอมก็พบว่าจากนั้นมาก็ไม่ค่อยมีการสนับสนุนให้ทำเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม เราเองก็ต้องทำให้ชาวบ้านและคนภายนอกเห็นว่าเราเชื่อถือได้ ปัจจัยหลักในการต่อสู้คือ “เราจะต้องอยู่ได้ก่อน” เราจะไม่ให้ผู้นำของเราถูกจับ ถูกฆ่า อย่างในอดีต

เมื่อก่อนเขื่อนภูมิพลก็เคยทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้านก้อน จ.แพร่ ซึ่งมีแกนนำถูกยิงตาย เป็นต้น อย่างผู้ใหญ่บ้านเราจะต้องเก็บเขาไว้ให้ประสานงานระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานรัฐ เราให้ชาวบ้านเป็นเบื้องหลังและต้องทำตัวให้เหมือนชาวบ้าน เช่น ผู้นำจะต้องยกมือให้กับมติเดียวกัน และต้องปฏิบัติตามมติ กฎระเบียบของชาวบ้าน ถ้าผมไม่ทำตามผมไม่สามารถเรียกชาวบ้านมาประชุมได้ หรือหากผู้ใหญ่บ้านไปด่านายอำเภอ,นายกก็จะอยู่ยาก ดังนั้นเราต้องยึดให้ชาวบ้านอยู่ด้านหลังและห้ามเดินต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว การไปคนเดียวเพื่อประชุมตัวแทนนั้นทำได้ แต่หากมีคนเข้าพื้นที่เราต้องรวมกันให้ได้มาก ต้องมีความเป็นปึกแผ่น เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของเราจำเป็นต้องหาคนมาเป็นเครือข่าย มาเป็นมิตร โดยเฉพาะแม่น้ำของเรานั้นทางเหนือทางใต้ได้ไปผ่านที่ไหนบ้าง

นอกจากนี้ ชุมชนของเราจะต้องมีความสามารถในการติดตามข่าว หาข้อมูลมากระจายต่อให้ชาวบ้านชุมชนอื่นมารับรู้ด้วย เช่น ผลกระทบทางระบบนิเวศ สายพันธุ์ปลาหาย หากโครงสร้างเขื่อนพังทลายบ้านไหนจะกระทบก่อน เป็นต้น จะต้องรู้เขารู้เรา เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ ดังนั้น ผมจึงขอฝากว่า การต่อสู่นั้นต้องทราบว่าระยะของผลกระทบ ผลได้ผลเสียจะเกิดอย่างไรเป็นพื้นฐาน บางพื้นที่หากเราไปชักชวนคนที่ได้ผลประโยชน์อาจจะทำให้เขารู้ข่าวเคลื่อนไหวของเราก็ต้องระมัดระวัง เมื่อก่อนผมก็ไปกระจายข่าว ขอข้าวสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลไปเรื่อยจนเจอว่าบางพื้นที่ก็ยืนยันว่าตนไม่มีผลกระทบ เราเองก็ต้องประเมินหมู่บ้านเพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง

ในท้ายที่สุด เมื่อเราได้โอกาสในการเจรจรา เราไม่จำเป็นต้องเด็ดขาดให้เขายกเลิกทันที ช้าช่างมัน เพราะนโยบายของรัฐที่ออกมามันไม่มีทางตัดทันที วันใดวันหนึ่งถ้าผู้บริหารมีความคิดแบบนี้อีกก็คงจะเอาโครงการเดิมมาเสมอ เพราะมันไม่มีแนวคิดอื่นแล้ว เรื่องทางออกในการจัดการน้ำโดยการสร้างเขื่อนเป็นโมเดลที่คิดครั้งเดียว สร้างไม่ได้ แต่ก็ฝังอยู่แบบนั้น รอจังหวะหากพี่น้องอ่อนแอลงมันจะปัดฝุ่นขึ้นมาเสนอใหม่ สส.นักการเมืองก็มักจะนำมาหาเสียงเหมือนเดิมเช่นกัน

ผมต่อสู้มา 30 กว่าปี ที่ยังวางมือไม่ได้ก็เพราะมันมีโครงการศึกษาผลกระทบและความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่เขาลงทุนไปแล้วใช้งบประมาณเกือบ 40-50 ล้านเกือบทำมาแล้วกว่า 20 ครั้ง และยังใช้วิธีจ้างงานกับบริษัทเดิม ๆ ที่มาทำข้อมูลไปหมดแล้วแต่ทำทีมาศึกษาในชุมชนและมาขอลายเซ็นชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านก็รู้ทันจึงไม่ให้ลายเซ็น รวมทั้งพวกนักการเมืองที่เข้ามาหาเสียงหรือขอคะแนนความนิยมเราก็ต้องรับรู้ด้วยว่าเขามาจริงใจไหม

สิ่งสำคัญคือถ้าเราไม่มีเครือข่าย ผู้นำของเราไม่ซื่อสัตย์ เราก็มืดมน ไม่รู้จะไปต่อสู้กับเขาได้อย่างไร ผมเคยถูกเสนอเงินค่าหัวให้ 30 ล้านเพื่อเปิดทางให้เกิดโครงการแก่งเสือเต้น แต่ผมปฏิเสธ ผมต้องการอยู่เคียงข้างกับชาวบ้าน แม้เขาจะเสนอให้ไปอยู่ที่อื่นเพื่อทิ้งอุดมการณ์ ผมจะไม่ยอม เพราะเชื่อว่าความเป็นจริงและผมอาจจะโดนเผาบ้านก่อนได้เงิน 30 ล้านก็ได้ ที่แย่ไปกว่านั้นคือสำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติ รัฐบาลมักจะใช้การข่มขู่ไล่ออกประเทศ ดังนั้นการต่อสู้มันก็มีทั้งคำขู่ คำปลอบ ข้อเสนอมากมาย ผมเจอมาหมดแล้วแต่เราจะต้องวิเคราะห์ จัดแจง แยกแยะมันให้ดี ผมเองก็กังวลต่อพี่น้องที่ไม่มีอำนาจตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

มีครั้งหนึ่งที่รัฐบาลพยายามใช้เรื่องโฉนดมาขู่ว่าเราไม่มีเอกสารสิทธิ์เขาจึงมีความชอบธรรมในการไล่ที่ ผมก็บอกกลับไปว่า ผมไม่สนใจเพราะชุมชนของผมอยู่มา 200 ปี แต่อุทยานพึ่งจะมาสร้าง พวกเรามีหลักฐานเป็นสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ฯลฯ ที่ยืนยันสิทธิของเราได้ เขาจึงออกอุบายยื่นข้อเสนอให้มาว่า ให้ชาวบ้านจ่ายค่าทำทะเบียนบ้าน หรือจะย้ายไปอยู่ที่ใหม่แล้วได้ค่าชดเชย แต่ถ้าเลือกเช่นนั้นครอบครัวก็จะถูกจับแยกกัน ต้องเอาเงินไปซื้อรถ ไปสร้างบ้านใหม่แต่ที่ดินทำกินไม่มีแล้ว

ดังนั้นอย่าไปหลงทาง (ค่าชดเชย) นี้เลย ตัวอย่างเช่น กรณีเขื่อนปากมูลมีบ้านหลังหนึ่งได้ค่าชดเชย 9 ล้าน เอาไปซื้อรถท่องเที่ยวแต่ประสบอุบัติเหตุ ลูกตายหนึ่งคน พิการหนึ่งคน พ่อก็ชราต้องดูแลลูกติดเตียง เป็นบทเรียนให้ตระหนักคิดได้ว่า เงินไม่คุ้มค่า อย่าไปหลงเชื่อการก่อสร้างเขื่อน

ผมศึกษามาทุกเขื่อนแล้ว เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสัก ฯลฯ เริ่มต้นเป็นโครงการพระราชดำริตั้งต้นด้วยเรื่องที่ดีแต่พอกรมชลฯ เข้ามาจัดการก็เกิดการทุจริตร่วมกับนายทุน ตระเวนซื้อที่ดินถูกๆ และย้ายชาวบ้านไปอยู่ที่อื่นเพื่อให้ได้เงินทอนจากงบก่อสร้าง การเสนอค่าชดเชยบางทีก็มาเจรจาให้เปอร์เซ็นต์ กดเครื่องคิดเลขให้เห็นตัวเลขเยอะๆ ชาวบ้านก็คิดว่าคุ้ม แต่มักทำให้ชุมชนเกิดความแตกแยก ชี้หัวได้เลยว่าใครอยากได้เงินใส่กระเป๋าตัวเอง ดังนั้นอย่าไปหลงกล ฝากผู้นำชุมชนด้วย ผมอยู่ได้เพราะพี่น้องชาวบ้านรักและนับถือ ผมไม่เคยขายที่ดิน ผมเก็บไว้ใช้วันหน้า และผมอ่านกฎหมายที่ดินไว้หมดแล้ว เราอยู่ที่นั่นมันต้องเป็นของเรา ผมเป็นกำนันที่ไม่เคยเสียเงินสักบาท ผมไม่เคยใช้เงินซื้อเสียง ชาวบ้านก็ไม่มีใครมาเรียกร้องเงินจากผม แต่ผมจะรับใช้ช่วยเหลือชาวบ้านเต็มที่

ปล. ปัจจุบันโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอยู่ระหว่างชะลอการก่อสร้าง และยังคงฝังอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาจถูกรื้นฟื้นขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ ดังนั้นการต่อสู้ของชาวบ้านสะเอียบยังต้องดำเนินต่อไป

l การแถลงคัดค้านโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูลเมื่อเร็วๆนี้. Courtesy of CESD

ทางสำนักข่าว Bangkok Tribune ได้รับอนุญาตจากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เผยแพร่บทความนี้บนเว็บไซต์ของสำนักข่าวฯ