A young wildlife ranger on a training in HKK.

ระบบ “สมาร์ท” และความมุ่งมั่นในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพอันล้ำค่าในยุคหลังปี 2563

นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 นักวิทยาศาสตร์และนักนิเวศวิทยาต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การหยุดการสูญเสียและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศที่อุดมไปด้วยสายพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพเหล่านี้อาจช่วยรักษาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ในอนาคตได้ การปกป้องและขยายพื้นที่อนุรักษ์คุ้มครองได้กลายเป็นเป้าหมายหลักของประชาคมโลก ดั่งที่มีการเสนอในร่างกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพหลังปี 2563 (Post-2020) ฉบับใหม่ (Global Biodiversity Framework) ว่า “พื้นที่ทางบกและทางทะเลทั่วโลกอย่างน้อยร้อยละ 30 โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับความหลากหลายทางชีวภาพและที่ส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ต้องได้รับการอนุรักษ์ผ่านตัวแทนทางนิเวศและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม รวมทั้งพื้นที่คุ้มครองที่มีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและผ่านมาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ และบูรณาการเข้ากับพื้นที่ทางกายภาพทั้งทางบกและทะเลขนาดใหญ่” ระบบ SMART PATROL ของประเทศไทยในแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศ ได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางดังกล่าว แม้ว่าจะมีความท้าทายมากมายรออยู่ข้างหน้า ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ให้ความเห็น 

เมื่อคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (WHC) ได้ประกาศให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 หลายคนที่ทำงานและต่อสู้อย่างหนักเพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนฯ ท่ามกลางกระแสต่อต้านคัดค้านของกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างเฉลิมฉลองด้วยความยินดี และคนไทยอีกหลายๆ คนที่มีความห่วงใยเรื่องการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าอย่างลึกซึ้งก็รู้สึกขอบคุณสำหรับข่าวดีนี้

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเองก็อาจมองว่า นี่เป็นโอกาสสำคัญที่จะใช้สถานะมรดกโลกเพื่อส่งเสริมและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้มากขึ้น แน่นอนว่า นั่นหลังจากมีการยกเลิกข้อจำกัดด้านโควิด-19 อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้มากกว่าความซาบซึ้งใจ ความภาคภูมิใจ และรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อรักษาสถานะมรดกโลกนี้

แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติสองแห่งแรกของเรา ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นตัวอย่างของการละเลยและไม่แยแสต่อคุณค่ามรดกโลก แหล่งมรดกโลกเหล่านี้เผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่และการแสวงหาประโยชน์จากคนที่มุ่งหวังแต่เรื่องผลประโยชน์

หากพื้นที่เหล่านี้จะรอดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนและถนน ปัจจัยหลักๆ มาจากความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของพลเมืองที่มีใจอนุรักษ์ในสังคมไทยที่ยืนหยัดต่อสู้กับแผนพัฒนาที่ไร้ความรอบคอบและรอบด้าน พื้นที่เหล่านี้ได้รับการปกป้องจากการบุกรุกและการล่าสัตว์ในพื้นที่ โดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้และอุทยานฯ ที่ทุ่มเทและมุ่งมั่น

กล่าวให้ถึงที่สุด เจ้าหน้าที่ป่าไม้เหล่านี้ ไล่เรียงได้ตั้งแต่ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ภาคสนามนั่นเอง

มรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง (HKK-TY) (ปีที่รับรองการขึ้นทะเบียน: 1991)

  • ความมุ่งมั่นของสังคม (ในการอนุรักษ์พื้นที่)

เจตจำนงอันเข้มแข็งของประชาชนในการหยุดโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าน้ำโจน

โครงการเขื่อนน้ำโจน เป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่เต็มไปด้วยทะเยอทะยานซึ่งได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในช่วงกลางทศวรรษ 1980 หากถูกสร้างขึ้น โครงการดังกล่าวจะทำลายป่าอันอุดมสมบูรณ์จำนวน 600,000 ไร่ (96,000 เฮกตาร์) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

หลายคนในสังคมในขณะนั้นได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหายนะต่อสัตว์ป่าและป่าไม้ของเขื่อนขนาดใหญ่อีกแห่งที่มีชื่อว่าเขื่อนเชี่ยวหลานหรือเขื่อนรัชชประภา ซึ่งได้เปิดดำเนินการไปเมื่อปลายทศวรรษ 1980 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี งานกู้ชีวิตช่วยเหลือสัตว์ป่าของสืบ นาคะเสถียร ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าที่กรมป่าไม้ ถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ ผลงานของเขาแสดงให้เห็นว่า สัตว์ส่วนใหญ่ประสบความตายอย่างน่าเจ็บปวดระหว่างและหลังการช่วยเหลือ สืบเองยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า งานกู้ชีวิตสัตว์ป่าของเขาล้มเหลว

ผลสืบเนื่องมาจากการที่สืบและเพื่อนๆ ระดมพลังต่อต้านคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพในสังคมไทยลุกขึ้นร่วมประท้วงคัดค้านโครงการดังกล่าว เสียงแห่งการต่อต้านคัดค้านที่สอดประสานกันในสังคมดังมากจนรัฐบาลในสมัยนั้นตัดสินใจยกเลิกโครงการ

ความมุ่งมั่นของนักสู้ผู้กล้าเหล่านั้น ร่วมกับคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล (OUV) ของพื้นที่ ปูทางให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการเสนอชื่อและขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2534 ปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าว เป็นหนึ่งใน “บ้าน” ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับเสือโคร่ง

การต่อสู้ของสังคมเพื่อรักษาเขตกันชนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งจากเขื่อนแม่วงก์

ตามแหล่งมรดกโลกทั่วโลก โครงการพัฒนาใดๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่รอบๆ ถือว่าเป็นภัยคุกคามที่ควรหลีกเลี่ยง คณะกรรมการมรดกโลกสามารถลดสถานะของพื้นที่เป็น “มรดกโลกที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย” ได้ หากการพัฒนาใดๆ ในเขตกันชนมรดกโลกส่งผลกระทบต่อพื้นที่ดังกล่าว

ในช่วงต้นปี 2553 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ภายในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์โดยไม่ต้องรอการสรุปผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หากถูกสร้างขึ้น เขื่อนแม่วงก์จะทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่ดีที่สุดในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กว่า 13,000 ไร่ (2,080 เฮกตาร์) โครงการจะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายและการฟื้นฟูประชากรของเสือโคร่งและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อื่น ๆ ที่เคลื่อนย้ายไปมาระหว่างอุทยานฯ และ เขตรักษาพันธุ์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปทางใต้ของเขื่อนไม่ถึง 10 กิโลเมตร

การอนุมัติโครงการของรัฐบาล ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากผู้คนในส่วนต่างๆ ของสังคม และทำให้เกิดการชุมนุมที่กดดันให้รัฐบาลยกเลิกแผนงานในที่สุด โดยในช่วงที่การชุมนุมเป็นไปอย่างเข้มข้นที่สุดในปี 2556 ผู้คนหลายพันคนเข้าร่วมกับ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคนปัจจุบัน เมื่อเขาเดินขบวนจากไซต์งานเขื่อนไปยังกรุงเทพฯ

การเดินขบวนอย่างกล้าหาญ ตามมาด้วยการชุมนุมและการเจรจาที่นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และในปี 2560 ด้วยทิศทางของรัฐบาลในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าที่ลดน้อยลง กรมชลประทานจึงตัดสินใจถอน EHIA ออก ส่งผลให้ต้องยกเลิกโครงการในที่สุด

I Credit: WCS Thailand

  • พิทักษ์ป่าผู้มีปณิธานหาญกล้า

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและหน่วยลาดตระเวน “สมาร์ท พาร์โทรล” ในเขตรักษาพันธุ์ฯ

เขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่แรกที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (DNP) ปฏิรูปงานลาดตระเวนภายใต้ระบบลาดตระเวณเชิงคุณภาพหรือ “สมาร์ท พาร์โทรล” (SMART PATROL)

SMART ย่อมาจาก “Spatial Monitoring and Reporting Tool” ระบบนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อรับมือกับการลักลอบล่าช้างและแรดในแอฟริกา กรมอุทยานฯ โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ได้นำระบบนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 2548 การทำงานตามระบบ “สมาร์ท” (SMART) หมายถึง การดูแลพื้นที่อนุรักษ์คุ้มครองด้วยระบบที่สามารถตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า รวมทั้งระดับและการกระจายตัวของภัยคุกคาม และการกระจายตัวของสัตว์ป่าหลักๆ ได้

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องทำงานหนักมากภายใต้ระบบลาดตระเวน SMART อาทิเช่น

▪︎ ในเขตรักษาพันธุ์ฯ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าราว 50 ทีม ต้องเดินเท้าลาดตระเวนตรวจป่าเป็นระยะทางรวมประมาณ 4,000 กม. ต่อเดือน (ราว 50,000 กม. ต่อปี)

▪︎ พวกเขาต้องเดินให้ครอบคลุมมากกว่า 70% ของพื้นที่ หรือมากกว่า 3.75 ล้านไร่ (600,000 เฮกตาร์) ต่อปี

▪︎ ต้องเดินตรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงบ่อยๆ ปีละ 10-20 ครั้ง

ความพยายามเหล่านี้ ช่วยกดดันให้การบุกรุกและล่าสัตว์ลดน้อยลงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเห็นได้จากการตรวจเจอแคมป์ล่าสัตว์ของพรานที่มีอัตราน้อยกว่าสองแคมป์ต่อระยะทางลาดตระเวน 1,000 กม. ต่อปี การลาดตระเวนอย่างเข้มข้นยังหมายถึง การเพิ่มโอกาสที่ผู้ลักลอบล่าสัตว์จะถูกจับกุมและลดโอกาสที่พวกเขาจะลักลอบล่าสัตว์และวางบ่วงดักสัตว์ในพื้นที่

ความพยายามดังกล่าว ส่งผลให้สัตว์สายพันธุ์หลักๆ เช่น เสือ วัวกระทิง ช้าง และสัตว์ป่าที่ถูกคุกคามอื่นๆ ในพื้นที่เพิ่มขึ้นทีละน้อย ซึ่งเป็นที่พิสูจน์แล้วว่า งานลาดตะเวนดังกล่าว ทำให้การฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสัตว์ป่าในพื้นที่ที่เคยถูกรุกรานมานานกว่าครึ่งศตวรรษ มีความเป็นไปได้

Credit: WCS Thailand

พิทักษ์ป่าผู้กล้าหาญ

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่วันที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2534 เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหลายสิบนายถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติการขณะปฏิบัติหน้าที่ต่อสู้จีบกุมการลักลอบล่าสัตว์ ผู้คนต่างเดินทางเข้าเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานวีรบุรุษผู้ล่วงลับที่สำนักงานใหญ่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

และที่เขตรักษาพันธุ์ฯ ทุ่งใหญ่ตะวันออก อนุสรณ์สถานเล็กๆ อีกแห่งได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2010 เมื่อแก๊งลักลอบล่าเสือและช้างซึ่งก่อนหน้านี้ได้ฆ่าเสือมากกว่า 10 ตัวและช้างอีกหลายตัว ได้ถูกจับกุมหลังจากการต่อสู้ปะทะด้วยปืน โดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 2 นายได้เสียชีวิตในขณะปฏิบัติการ และอีก 2 นายได้รับบาดเจ็บสาหัส

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่มรดกโลกแห่งนี้ ไม่เคยปล่อยให้พรานเข้ามาล่าสัตว์ได้ง่ายเหมือนในอดีต และนี่คือวิถีที่ควรจะเป็นในพื้นที่มรดกโลกที่มีการจัดการอย่างดี

กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (DP-KY) (ปีที่รับรองการขึ้นทะเบียน: 2005)

ก่อนที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์บางคนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการบุกรุกและล่าสัตว์ในพื้นที่อันเนื่องมาจากการจัดการพื้นที่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หลายคนที่ยังมองโลกในแง่บวกได้แสดงให้เห็นถึงคำมั่นสัญญาในการจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพถ้าได้รับการขึ้นทะเบียน แต่น่าเสียดายที่สภาพดังกล่าวดำรงอยู่ไม่นานนักเมื่อภัยคุกคามเริ่มเกิดขึ้นหลังการขึ้นทะเบียน

พื้นที่ของกลุ่มป่าฯ ถูกบุกรุกทำลายอย่างรุนแรงโดยขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง (Dalbergia cochinchinensis) ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต้องเผชิญ ขบวนการเหล่านี้เริ่มรุกเข้ามาครั้งแรกๆ เพื่อตัดไม้พะยูงในพื้นที่อนุรักษ์ตามแนวชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาในต้นปี 2553 ซึ่งเปรียบเสมือน “สนามรบ” ในขณะนั้น กรมอุทยานฯ ต้องร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอีกหลายหน่วยงานเพื่อต่อสู้กับขบวนการดังกล่าว

มันเป็นงานที่หนักหนาสาหัสและพวกขบวนการลักลอบตัดไม้เหล่านี้ได้ลักลอบทำลายพื้นที่ป่าไม้พะยูงเป็นอย่างมาก และในปี 2556 ซึ่งเป็นเวลาเพียงเจ็ดปีหลังจากการขึ้นทะบียนกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่เป็นมรดกโลก ขบวนการเหล่านี้ก็คืบคลานลามลึกเข้าไปในพื้นที่เพื่อตัดไม้พะยูงในอุทยานแห่งชาติทับลานและบริเวณใกล้เคียง เมื่อยังไม่มีระบบการบังคับใช้กฏหมายและเครื่องมือป้องกันที่รัดกุม มันจึงเป็นเหมือนการต่อสู้ที่พ่ายแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น

หลังจากนั้น คณะกรรมการมรดกโลกได้จัดประชุมที่พนมเปญในปี 2556 และส่งคำเตือนอย่างเป็นทางการว่า หากประเทศไทยไม่ปรับปรุงระบบการปกป้องคุ้มครองและการจัดการพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ คณะกรรมการจะพิจารณาปรับลดสถานะของพื้นที่ให้เป็น “มรดกโลกที่อยู่ในสภาวะอันตราย” ซึ่งเป็นสถานะที่อาจส่งผลต่อการเพิกถอนสถานะความเป็นมรดกโลกในที่สุด

แม้ว่าคนในสังคมบางกลุ่มจะไม่สนใจเกี่ยวกับสถานะมรดกโลก แต่สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า พวกเขาต่างห่วงใยพื้นที่ดังกล่าวและสถานะมรดกโลกของมัน

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากับการปกป้องดูแลพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัย

พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ได้นำระบบลาดตระเวน SMART PATROL มาใช้อย่างเป็นระบบโดยได้รับการสนับสนุนกจาก WCS และพันธมิตรด้านการอนุรักษ์อื่นๆ พวกเขาได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายเพื่อป้องกันการบุกรุกที่รู้จักกันในชื่อ “Network Centric Anti-Poaching System (NCAPS)” เพื่อสกัดกั้นผู้บุกรุกและลักลอบล่าสัตว์เข้าและออกพื้นที่อุทยานฯ ในเส้นทางที่ใช้ประจำ

เทคนิคทั้งสองนี้เพียงอย่างเดียวได้เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฏหมายเป็นอย่างมาก ผู้บุกรุกและลักลอบล่าสัตว์จำนวนมากถูกจับกุมและถูกยึดอุปกรณ์ผิดกฎหมายทั้งก่อนและหลังการตัดไม้พะยูง พ่อค้าคนกลางในเมืองบางคนยังถูกติดตามและจับกุมโดยใช้เทคโนโลยีดังกล่าว อาทิเช่น เครื่องติดตาม GPS

กรมอุทยานฯ ได้ตั้งงบประมาณพิเศษจำนวนมากเพื่อสนับสนุนสวัสดิการและอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า การลาดตระเวนอย่างเข้มข้นและอุปกรณ์ที่ดีได้ทำลายเครือข่ายของกลุ่มผู้บุกรุกและลักลอบล่าสัตว์เหล่านี้ลงอย่างมาก

ด้วยการปรับปรุงบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในปี 2560 ที่โปแลนด์ ได้ยกดาบที่เงื้อง่าเหนือสถานะของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ลง และกล่าวย้ำถึงความตั้งใจของประเทศไทยในการดูแลปกป้องพื้นที่ด้วยระบบ SMART  PATROL และการใช้กล้อง NCAPS

โป่งและทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์ป่าที่หนองผักชี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

โครงการเขื่อนในอนาคตที่สังคมต้องจับตามอง

แผนงานของกรมชลประทานในการสร้างเขื่อนเจ็ดแห่งภายในและบริเวณพื้นที่รอบๆ กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จะเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ และจะเป็นตัวตัดสินว่า ประเทศไทยจะรักษาสถานะมรดกโลกไว้เพื่อปกป้องพื้นที่ป่าอันล้ำค่าของตนไว้ได้หรือไม่

ล่าสุด คณะกรรมการมรดกโลกได้ขอให้ประเทศไทยดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ในระดับลุ่มน้ำ รวมถึงพื้นที่ของกลุ่มป่าฯ โดยเน้นผลกระทบของเขื่อนที่อาจเกิดขึ้นต่อพื้นที่ และยังขอให้ประเทศไทยหยุดการก่อสร้างต่างๆ จนกว่า SEA จะแล้วเสร็จ

SEA เป็นกระบวนการเชิงระบบในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของนโยบายและแผนต่างๆ ที่เสนอ และมีแนวทางในการศึกษาผลกระทบสะสมและรูปแบบจัดการอย่างเหมาะสมในช่วงต้นของการตัดสินใจ พูดง่ายๆ ว่า SEA จะตอบคำถามสำคัญๆ อาทิเช่น พื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งกลุ่มป่า และที่อื่น ๆ จะต้องใช้อ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมหรือไม่ และผลกระทบที่สะสมของอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร หากมีการสร้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยรวม

คณะกรรมการมรดกโลกของประเทศไทย โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และได้แต่งตั้งหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อเข้าร่วมในการเตรียมการจัดทำ SEA หากมีการดำเนินการอย่างถูกต้อง  SEA สำหรับกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่จะเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่หน่วยงานที่จัดการทรัพยากรจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำในอนาคตโดยใช้แนวทางแบบองค์รวม

กระบวนการ SEA ภายใต้หน่วยงานที่ทำงานร่วมกันนั้น ถูกคาดหวังว่าคาดว่าจะดีกว่าการทำงานของหน่วยงานเดียวโดยลำพัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมชลประทานที่ผลักดันให้มีเขื่อนแต่ละแห่งโดยใช้บริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับการว่าจ้างในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งมักจะจบลงด้วยการสนับสนุนการสร้างเขื่อนมากกว่าทางเลือกอื่น

Credit: DNP

กลุ่มป่าแก่งกระจาน (KKFC) (ปีที่รับรองการขึ้นทะเบียน: 2021)

ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้าสำหรับกลุ่มป่าแก่งกระจาน (KKFC) ในการรักษาสถานะมรดกโลก ทั้งนี้ เนื่องจากมีการตั้งถิ่นฐานครัวเรือนจำนวนมากทั้งภายในและภายนอกบริเวณโดยรอบของพื้นที่

กาบุกรุกครอบครองและรุกล้ำพื้นที่ ไม่ว่าจะในระดับใด จะเป็นภัยคุกคามหลักต่อความสมบูรณ์ของกลุ่มป่าฯ การรักษาไว้ซึ่งคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นความรับผิดชอบของสังคมไทยในการรักษาสถานะมรดกโลกและพื้นที่คุ้มครองที่มีคุณค่านี้ หวังว่า คนรุ่นใหม่จะมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะต่อสู้เพื่อป่าไม้และสัตว์ป่าในกลุ่มป่าแก่งกระจานเหมือนอย่างที่คนรุ่นก่อนทำเพื่อห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร

ปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นับได้ว่ามีประสบการณ์มากมายในการอนุรักษ์คุ้มครองแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเหล่านี้ หวังว่า ผู้บริหารทรัพยากรทั้งในปัจจุบันและอนาคตจะไม่ลืมภารกิจของพวกเขาโดยหันไปมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้ และหวังว่า พวกเขาจะสามารถฝึกฝนและผลิตเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่กล้าหาญ เพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองทุกชีวิตในพื้นที่เหล่านี้ได้นานเท่านานในอนาคต