สภาพการจราจรที่ติดขัดและการเติบโตที่ไร้ทิศทางของเมืองอย่างกรุงเทพมหานครท้าทายการจัดการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Photo: ©Thiti Wannamontha

อนาคตของ SDGs กับ 7 ประเด็นท้าทายที่ไม่ปรากฏในนโยบายพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล


รอบสองเดือนที่ผ่านมาคงไม่มีประเด็นใดอยู่ในวงความสนใจและมีผลต่อทิศทางของสังคมไทยมากไปกว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลายฝ่ายต่างจับตามองว่านโยบายไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดใหม่จะนำพาประเทศไปสู่ทิศทางใด ในแวดวง SDGs เรามักได้ยินข้อคำถามที่ว่า “หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่แล้ว SDGs จะหายไปหรือไม่?, SDG Move วิเคราะห์

ในทางหลักการ SDGs เป็นวาระการพัฒนาระดับโลกที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นไว้ต่อสหประชาชาติ ดังนั้น แม้จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ก็มิได้ทำให้คำมั่นที่ไทยเคยให้ไว้สิ้นผลผูกพันไป ส่วนในทางปฏิบัติประเด็นตามเป้าหมาย SDGs นั้นถูกนำไปบรรจุในแผนพัฒนาระดับประเทศ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนปฏิบัติราชระดับกระทรวง ระดับกรม กล่าวคือ ประเด็นการพัฒนาตาม SDGs ถูกกระจายลงสู่ส่วนงานระดับต่าง ๆ อย่างน้อยที่สุดก็ลงไปสู่ฝ่ายแผนงาน ฝ่ายติดตามประเมินผลไปแล้ว ประกอบท่าทีในทางระหว่างประเทศของไทย โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ รายงานความก้าวหน้าตาม SDGs ผ่านการจัดทำรายงานโดยสมัครใจ (VNRs) สม่ำเสมอทุกปี จึงเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลชุดใหม่จะปัดตก ไม่รับหลักการหรือยกเลิกการดำเนินงานไปโดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงความสอดคล้องเชิงนโยบายของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อาทิ ก้าวไกล เพื่อไทย ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย ต่างมีนโยบายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งยังมีความครอบคลุมทั้งในเชิงเนื้อหา เชิงกระบวนการทิศทางการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะหนุนเสริมและผลักดันให้สังคมไทยมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าการถูกปัดตกทิ้งดังที่มีความกังวล 

อย่างไรก็ดี ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่อาจมีการแปลงเปลี่ยนระบบหรือโครงสร้างการทำงานที่ปัจจุบันประเทศไทยใช้กลไกของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) เป็นกลไกกลางในการขับเคลื่อน ทว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมากลไก กพย. ถูกใช้ในลักษณะของการติดตาม รายงานผลเท่านั้น ยังพบการทำงานเชิงรุก การทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมประสานภาคส่วนค่อนข้างน้อย หากรัฐบาลชุดใหม่มีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อน SDGs ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนเชิงกระบวนการทำงานได้

ในขั้นต้น จึงขอสรุปให้ผู้ทำงานในภาคส่วนการพัฒนาและมีความตั้งใจจะนำ SDGs มาใช้วางใจได้ว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่มิได้ทำ SDGs สิ้นผลหรือหายไปจากประเทศไทยอย่างแน่นอน แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนการที่เป็นไปตามปกติของการเปลี่ยนผ่านผู้กำหนดนโยบาย

น้ำท่วมขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางจากอิทธิพลพายุโนรูเมื่อปลายปีที่แล้ว.
Photo: Sayan Chuenudomsavad

7 ประเด็นท้าทายที่ไม่ปราฏในนโยบายพรรครัฐบาล

ผลจากการวิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองผ่านบทความ SDG Policy Focus: เลือกตั้ง 66 นโยบายพรรคไหนตอบโจทย์ SDGs ที่สุด เราพบว่า นโยบายของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น มีความสอดคล้องกับประเด็นที่บรรจุใน SDGs อย่างมาก ทว่าก็ยังมีประเด็นที่เป็นความท้าทายสำคัญของสังคมไทย บางประเด็นอยู่ในสถานะวิกฤตตามสถานะ SDGs มาหลายปี แต่ประเด็นเหล่านี้กลับไม่ปรากฏในนโยบายของพรรคการเมืองใดเลย ได้แก่ 

1. การจัดการค้นหาและรักษาเชื้อวัณโรค ทั้งที่ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่ WHO จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศภาระวัณโรคสูง นโยบายที่จะช่วยค้นหาเเละรักษาผู้ป่วยอย่างครอบคลุมมากที่สุดจึงเป็นโจทย์สำคัญที่จะลดภาระวัณโรคในไทย

2. การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปี 2565 องค์การสหประชาชาติเคยระบุว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของโลก ผู้ชายใช้ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง อย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว สถิติจาก สสส. เปิดเผยว่าถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 คน

3. การประกันความเป็นธรรมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรมของเกษตรกรรายย่อย ที่ผ่านมาระบบผลิตอาหารของประเทศมุ่งผลิตพืชผลการเกษตรสายพันธุ์เดียวกัน ชนิดเดียวกันเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และง่ายต่อการวางแผนบริหารจัดการ ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมมิใช่ประเด็นที่ถูกพูดถึงหรือให้ความสำคัญในวงกว้างมากนัก แต่หากพิจารณาแง่มุมของการผลิตอาหารให้กว้างไปกว่าการผลิตเพื่อตอบโจทย์ตลาด  ความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้นเป็นเสมือนหลักประกันที่ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกและความสามารถในการตั้งรับปรับตัวจากปัจจัยที่ไม่คาดคิด เช่น โรคระบาดในพืช ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การสามารถเข้าถึงและเลือกใช้พันธุกรรมที่หลากหลายช่วยลดความเสี่ยง และความรุนแรงของผลกระทบให้เกษตรกรได้มากกว่าการปลูกผลผลิตเกษตรเชิงเดี่ยว  

4. การส่งเสริมการให้ความรู้และผนวกประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ในหลักสูตรการศึกษา เนื่องจากการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นร่วมสมัยที่ก่อผลกระทบวงกว้างต่อหลายภาคส่วน และประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก การส่งเสริมการเรียนรู้ ทำความเข้าใจถึงต้นสายปลายเหตุ ผลกระทบ เเละเเนวทางตั้งรับปรับตัวจึงเป็นเรื่องที่ควรผลักดันไว้ในเนื้อหาทางการศึกษา  รายงานการศึกษา “การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย” ของยูนิเซฟ พบว่า นโยบายและแผนที่มีอยู่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และยังขาดมาตรการเฉพาะเพื่อปกป้องเด็กจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

5. การจัดการขยะพลาสติกในทะเล ปี 2564 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก มีปริมาณมากถึง 22.8 ล้านกิโลกรัม ขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายของสัตว์ทะเล ทำลายระบบนิเวศทางทะเล ทำให้นาโนพลาสติกปนเปื้อนในสัตว์ทะเลและอาจก่ออันตรายต่อผู้บริโภคในอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่แม้แต่ละประเทศรวมถึงไทยจะมีแผนงานและมาตรการการจัดการขยะพลาสติกแล้ว ขณะที่ในระดับภูมิภาคก็มีแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564 – 2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris, 2021 – 2025) แล้ว ทว่ายังไม่มีความแน่ชัดถึงความเพียงพอของระดับความเข้มข้นในมาตรการ ทรัพยากรสนับสนุน การขับเน้นให้เป็นเรื่องสำคัญจึงต้องได้รับความสนใจจากผู้กำหนดนโยบาย ทั้งนี้ หากพิจารณานโยบายหาเสียงของพรรคแกนนำรัฐบาลจะพบว่า มาตรการจัดการขยะถูกระบุว่าจัดการทุกแหล่งกำเนิด ในแง่หนึ่งอาจหมายความว่าครอบคลุมถึงการจัดการขยะในทะเลแล้ว แต่ในทางกลับกัน การมิได้ถูกขับเน้นออกมาอย่างชัดเจนแต่แรกอาจเสี่ยงต่อการถูกลดทอนลำดับความสำคัญ หรือมีความเบาบางในการจัดการได้เช่นกัน

6. การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just energy transition) โดยเฉพาะ การรองรับผลกระทบต่อแรงงานจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด  การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด เช่น การเปลี่ยนมาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น มีประมาณ 800,000 คน การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่าอุตสาหกรรมแบบเดิม 10 เท่า ทำให้แรงงานต้องปรับเปลี่ยนทักษะ และหากปรับตัวไม่ทันจะมีผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มใหญ่ การเปลี่ยนผ่านจำเป็นต้องคำนึงความเป็นธรรม การมีนโยบายที่ช่วยเหลือหรือพัฒนาศักยภาพของเเรงงานให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านจะช่วยให้พวกเขาไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

7. การคุ้มครองและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ  การประชุม COP27 เน้นย้ำถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อการจัดการกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภุมิอากาศว่า ‘ไม่มีทางเป็นไปได้‘ ที่จะจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) หากไม่มีการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติอย่างเร่งด่วน การอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เเละใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางชีวภาพที่หลากหลาย รวมถึงการป้องกันการสูญพันธุ์ของพืชเเละสัตว์จึงมีผลโดยตรงต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมจัดการไม่ให้อุณหภูมิเลิกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ลำพังเพียงนโยบายการยับยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การซื้อจายคาร์บอนเครดิตเท่าที่เสนอมาจึงไม่เพียงพอ และจำต้องผนวกประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปอยู่ในลำดับความสำคัญด้วย

7 ประเด็นข้างต้นส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่หน่วยงานภาครัฐผู้รับผิดชอบนั้นเห็นถึงปัญหา และเริ่มจัดให้มีมาตรการรองรับจัดการอยู่บ้างแล้ว การไม่มีนโยบายจากพรรคการเมืองมิได้หมายความว่าประเด็นเหล่านี้จะไม่ถูกจัดการเลย เพียงแต่หากผู้กำหนดนโยบายรับรู้และเล็งเห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าวจะมีส่วนช่วยปรับทิศทาง และหนุนเสริมหน่วยงานผู้รับผิดชอบได้อย่างดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขับเน้น ส่งสารให้ไปถึงผู้กำหนดนโยบาย

บันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลตอบโจทย์ SDGs เป้าหมายใดกันบ้าง?

1.ฟื้นฟูประชาธิปไตย/จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เร็วที่สุด [SDG16]

2.ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม [SDG5, SDG10]

3.ผลักดันปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ [SDG16]

4.เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ [SDG16]

5.สร้างสันติภาพยั่งยืนชายเเดนใต้ [SDG16]

6.ผลักดันการกระจายอำนาจ [SDG16]

7.แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน [SDG16]

8.ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ [SDG8, SDG10]

9.ยกเครื่องกฎหมายการทำมาหากิน หนุนสินค้าไทยให้เข้มแข็ง [SDG8, SDG10]

10.ยกเลิกผูกขาดการค้า ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ [SDG10] (อาจกระทบต่อ SDG3)

11.ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม [SDG1, SDG15, SDG16]

12.ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า [SDG7, SDG9]

13.ทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ [SDG8, SDG10]

14.สร้างระบบสวัสดิการตั้งแต่แรกเกิดถึงผู้สูงวัย [SDG1, SDG3]

15.แก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วน [SDG3, SDG16]

16.นำกัญชาไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ [SDG3]

17.ส่งเสริมเกษตรปศุสัตว์ปลอดภัย เพิ่มการเข้าถึงตลาด [SDG2]

18.แก้ไขกฎหมายประมง พัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน [SDG14]

19.ยกระดับการจ้างงานเป็นธรรม ค่าแรงเป็นธรรม [SDG8]

20.ยกระดับระบบสาธารณสุข ให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพ [SDG3]

21.ปฏิรูประบบการศึกษา [SDG4]

22.สร้างความร่วมมือแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ลดคาร์บอนเป็นศูนย์ [SDG11, SDG13, SDG17]

23.ฟื้นฟูบทบาทผู้นำไทยในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศ [SDG17]

สรุปได้ว่า MOU ของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมีความเกี่ยวข้องกับ SDGs ทั้งสิ้น 15 เป้าหมาย โดยมีเพียง 2 เป้าหมายเท่านั้นที่ไม่ปรากฏใน MOU คือ SDG6 น้ำสะอาดเเละการสุขาภิบาล เเละ SDG12 การผลิตเเละบริโภคที่ยั่งยืน ขณะที่ SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง เป็นเป้าหมายที่ปรากฏใน MOU มากที่สุดถึง 8 ประเด็น

อ่านเพิ่มเติม: SDG Move Director’s Note: พรรคก้าวไกลกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

บทความ, อนาคตของ SDGs กับ 7 ประเด็นท้าทายที่ไม่ปรากฏในนโยบายพรรครัฐบาล, เผยแพร่ครั้งแรกที่ SDG Move