นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในวันที่ 4 กันยายน ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องนำมาพูดคุยกันใหม่หลังเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือในช่วงเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ชาวบ้านแก่งเสือเต้นระบุถึงเหตุผล 14 ประการที่ไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนขนาดใหญ่อื่นๆ ในพื้นที่ พร้อมทั้งแนวทางแก้ปัญหาโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
รองนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) ภูมิธรรม เวชยชัย วันที่ 4 กันยายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกันมานานแล้ว นับเป็นเวลา 10 ปี แต่ในการลงพื้นที่ไปครั้งนี้ อยากเรียนว่าน้ำเหนือที่หลากมาทั้งหมดระหว่าง 4 แม่น้ำ เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง ไม่มีปัญหา เพราะการไหลหลากลงมามีเขื่อนภูมิพลรองรับน้ำ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง ไม่มีปัญหา และอีกส่วนหนึ่งทางเชียงรายน้ำที่ไหลหลากก็ไหลลงแม่น้ำโขงไป ทั้งนี้ได้มีการประสานงานร่วมกับกรรมการลุ่มน้ำโขง ส่วนแม่น้ำน่านนั้นส่วนหนึ่งก็ไหลลงแม่น้ำโขง อีกส่วนหนึ่งแม่น้ำอิงไหลลงเขื่อนสิริกิติ์ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร แต่ปัญหาอยู่ที่แม่น้ำยม
โดยแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำที่ไม่มีเขื่อนหรืออะไรไปรองรับน้ำได้ เพราะฉะนั้นน้ำก็จะหลาก จะเห็นได้ว่าเมื่อเข้าฤดูฝนตกทุกปีในประเทศแม่น้ำยมจะรับมือหนักที่สุด จะมีการไหลท่วมจังหวัดแพร่ จังหวัดพะเยา ลงมาจังหวัดสุโขทัย ซึ่งจังหวัดสุโขทัยเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 4 – 5 จังหวัด โดยประชาชนเรียกร้องว่าต้องการอะไรที่มารองรับน้ำ ไม่ต้องการให้มาท่วมบ้านเรือน เพราะในทุกๆ ปีก็เป็นแบบนี้เสมอมา ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูทรัพยากรต่างๆ ก็มีมูลค่าหลายแสนล้าน ไม่ควรจะมีเหตุการณ์แบบนี้ ควรมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องสาธารณะ นำทุกความเห็น โดยเมื่อวานก็จะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่นำเข้าที่ประชุม ต้องใช้เวลาหาข้อสรุปร่วมกันเพราะเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ความเห็นต่างๆ ต้องมีการรับฟังทั้งหมด
นายภูมิธรรมกล่าวว่า สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านบอกว่ามันทำให้ผืนป่าผืนใหญ่สูญเสียหาย ขณะที่ประชาชนก็เป็นห่วงชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นประชาชนทั้ง 5 จังหวัด มีวิธีการอื่นจะสามารถช่วยอะไรพวกเขาได้หรือไม่ ไม่ใช่เพียงบอกแค่ว่าผืนป่ายังดีอยู่ต้องรักษาไว้ ทั้งนี้การที่จะมีการทำเป็นเขื่อน ก็ได้มีการรับฟังประชาชน ได้มีการบอกว่าป่าไม้ก็มีการปลูกได้ ในพื้นที่อื่นๆ ก็ยังปลูกได้ ไม่ได้คิดว่าอยากจะทำลายป่าไม้ แต่ชีวิตพวกเขาก็ได้รับผลกระทบมาก และตนคิดว่าการดูแลรักษาเรื่องการแก้ไขเยียวยาเรื่องดังกล่าวนั้น ใช้เงินเยอะมาก และไม่ได้สามารถแก้ได้อย่างทันที
ทั้งนี้ก็ได้เรียนไปว่า เรื่องการจัดการน้ำควรเป็นวาระแห่งชาติ ควรคิดทุกเรื่องทั้งกระบวนการและดูว่าจะมีทางออกทางไหน ที่ดีขึ้นเพราะฉะนั้น เรื่องของแก่งเสือเต้นต้องมีการนำมาพูดคุยกันใหม่แล้ว แต่ยังไม่ได้หมายความจะนำเรื่องเข้า อาจจะต้องมีกระบวนการอย่างไรหลายอย่างที่หาข้อสรุปเรื่องนี้ คงต้องรอไปอีกสักพัก นายภูมิธรรมกล่าว
ที่มา: ข่าวทำเนียบรัฐบาล
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ วันที่ 16 กันยายน 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล
เหตุผล 14 ประการที่ไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง
1.ผลการศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จุน้ำได้เพียงครึ่งเดียว ยิ่งไม่มีทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เลย
2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน ส่วนเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง นั้น ยิ่งใช้งบประมาณมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก จึงไม่มีทางที่จะคุ้มทุนได้
3. ผลการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยาที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์และชุมชนอย่างมาก เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ก็กระทบต่อพื้นที่เดียวกันนี้เพราะเป็นการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองตอนสองเขื่อนนั่นเอง
4. การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่าที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้นควรเก็บรักษาไว้เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งจังหวัดแพร่มีป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในโลก จึงไม่ควรทำลาย หันมาพัฒนาอุทยานแม่ยม รักษาป่าสักทอง พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าการทำลาย
5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออกและทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งไม่ต้องสร้างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง
6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้งน้ำท่วมได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้เช่นกัน
7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชัดว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกคือ รอยเลื่อนแพร่ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่ เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ก็ตั้งอยู่บริเวณแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกเช่นกัน กระทบทั้งรอยเลื่อนแพร่และรอยเลื่อนแม่ยม
8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่า มีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง เป็นต้น
9. ผลการศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า โครงการเขื่อนเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิชุมชนอย่างร้ายแรง ซึ่งต้องยกเลิกโครงการโดยเด็ดขาด อีกทั้งยังมีทางเลือกหรือทางออกอื่นๆ อีกมากในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
10. เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างที่ว่าหากไม่สร้างเขื่อนก็จะไม่มีไฟฟ้าใช้จึงเป็นความเท็จ เพราะเขื่อนไม่ได้ออกแบบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด อีกทั้งเขื่อนทั้งหมดของประเทศไทยผลิตไฟฟ้าได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากยกเลิกการผลิตไฟจากเขื่อนทั้งหมด ก็ยังมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ
11. เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่า 30,000-40,000 ไร่ ซึ่งมีพรรณไม้นานาชนิดหลายล้านต้น ซึ่งไม่มีทางที่จะปลูกป่าทดแทนได้ดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ที่ผ่านมามีเพียงการปลูกต้นไม้สร้างภาพแล้วปล่อยให้ตาย ไม่มีสภาพเป็นป่าดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง
12. เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่ามหาศาลอันจะนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน เป็นการทำลายแหล่งผลิตออกซิเจนซึ่งเป็นปัญหาของคนทั้งชาติและคนทั้งโลก
13. เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายแก่งเสือเต้น ท่วมทั้งแก่ง ท่วมทั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม ท่วมทั้งป่าสักทอง ทำให้หมดอัตลักษณ์ของความเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม ทั้งแก่งเสือเต้นและป่าสักทอง จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำลายอุทยานแห่งชาติแม่ยมที่เป็นสมบัติของตนไทยทั้งชาติและคนทั่วโลก
14. เขื่อนเป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ยุโรปและอเมริกาได้เลิกใช้แล้วและหันกลับมาฟื้นฟูแม่น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ เขื่อนจึงไม่ใช่สัญญาลักษณ์พัฒนาอีกต่อไป แต่เขื่อนคือสัญลักษณ์ของหายนะและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน
แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง
1. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่าให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืนและทำหน้าที่เก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งมวลมนุษยชาติอีกด้วย
2. รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชนไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น
3. ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเองซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า
4. ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนให้ทุกชุมชนได้พัฒนา ฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำชุมชน ให้องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแผนการจัดการน้ำชุมชน ใช้สะเอียบโมเดลเป็นแผนการจัดการน้ำชุมชนต้นแบบ
5. เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กทั้ง 77 ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ซึ่งกรมชลประทานสำรวจพบแล้ว 26 จุด สามารพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
6. ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
7. พัฒนาโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะสามารถลดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฝนตกที่ไหนน้ำเข้าที่นั่น กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำ ไม่ใช่รอให้ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้
8. สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือนและระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านและชุมชนอย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
9. พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่นควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน
10. กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่นในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่นโดยมีกฎหมายรองรับ
11. ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะในฤดูแล้งเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่าและลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
12. ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม
13. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ และมีบทลงโทษในการพัฒนาที่ผิดพลาด ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง รวมทั้งส่งเสริมมาตรการลงโทษทางสังคมต่อผู้ใช้อำนาจการตัดสินใจ ผู้วางแผนงาน การบริหารประเทศ การพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ให้มีโอกาสเข้ามามีอำนาจอีกเจ็ดชั่วโคตร
14. ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายลูก รองรับสิทธิชุมชน ให้สิทธิชุมชนในการปกป้อง รักษา และใช้ประโยชน์ในทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ
Indie • in-depth online news agency
to “bridge the gap” and “connect the dots” with critical and constructive minds on development and environmental policies in Thailand and the Mekong region; to deliver meaningful messages and create the big picture critical to public understanding and decision-making, thus truly being the public’s critical voice