แม่น้ำโขง ณ บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี Credit: คำปิ่น อักษร

“เขื่อน” ความป่วยไข้ และความตายอย่างช้าๆ ของระบบนิเวศแม่น้ำโขง

ณ “เก้าพันโบก” บริเวณบ้านกุ่มและบ้านตามุย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม ซึ่งห่างจากจุดที่คาดว่าจะสร้างเขื่อนบ้านกุ่มราวๆ 10 กิโลเมตร ความป่วยไข้และความตายของระบบนิเวศแม่น้ำโขงอาจปรากฏต่อสายตาขึ้นอีกครั้งหากมีการก่อสร้างโครงการเขื่อนบ้านกุ่มที่มีกำลังการผลิตติดตั้งถึงกว่า 1,782 เมกกะวัตต์

รองศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภาคแม่น้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเขียนถึงระบบนิเวศแม่น้ำจำเพาะถิ่น (Situated river) นี้ และให้คำอธิบายว่าเพราะเหตุใด

หากมีเขื่อนขนาดใหญ่ในลำน้ำโขงตอนล่างที่ไหลผ่านลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนามครบทุกเขื่อนคือ 11 เขื่อน และเขื่อนตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงอีก 120 โครงการตามแผนภายในปี 2583 จะทำให้ประโยชน์อันมหาศาลจากการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำและหน้าที่สำคัญของแม่น้ำโขงแทบจะสูญสิ้นไปเพราะความป่วยไข้เรื้อรังที่เกิดจากการขาดความสมดุลของระบบแม่น้ำ

เพราะเหตุใด? เพราะเขื่อนที่สร้างแล้วและกำลังจะสร้างต่อไปกำลังสร้างการแตกร้าวของระบบนิเวศแม่น้ำโขง (Mekong rupture) ด้วยการทำให้น้ำไม่ไหลตามธรรมชาติอีกต่อไป แม่น้ำจะผันผวนจากการทำหน้าที่ของเขื่อน ได้แก่ การลดปริมาณน้ำไหลเพราะต้องเก็บกักน้ำหน้าน้ำหลาก การเพิ่มมวลน้ำกรณีปล่อยน้ำออกมาให้ทำเกษตรกรรมหรือกรณีฝนตกมากเกินกว่าที่มันจะแบกรับมวลน้ำได้ตามที่มันถูกคิดคำนวณปริมาณความสามารถที่จะเก็บกักได้ และการชะลอการไหลของน้ำให้ผ่านตามที่มันถูกออกแบบมาให้ปั่นไฟฟ้า และการใช้ประโยชน์อื่นๆ

เขื่อนทำให้การไหลของน้ำโขงไม่เป็นธรรมชาติ ส่งผลกระทบสำคัญที่ตามมา เช่น ตลิ่งริมโขงทรุดหรือพังลง ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ การปลูกผัก การหาปลาของผู้หญิง ที่ละเล่นตามธรรมชาติของเด็กๆ ที่จัดบุญประเพณี และการเป็นแหล่งน้ำของสัตว์เลี้ยง

อีกทั้งมันได้สร้างปรากฎการณ์การใสของน้ำโขงจนจนเรียกว่า “น้ำโขงสีคราม” ดังที่เกิดมาแล้วจากกรณีของเขื่อนไซยะบุรี เพราะเขื่อนได้กักตะกอนด้วยประตูเขื่อนของมันไว้ตอนบนหรือหน้าเขื่อน ประตูเขื่อนเข้าไปขัดขวางการไหลลงของตะกอนไปยังท้ายเขื่อนหรือลำน้ำตอนล่าง ดูได้จากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission (MRC)) ที่ระบุว่า หากสร้างเขื่อนตามแผน จะทำให้การลดลงตะกอนลดลงมากถึง 97% ซึ่งกระทบต่อการลดลงของปลาและสัตว์น้ำ 40-80% ภายในปี 2583 และธาตุอาหารในดินที่สำคัญต่อการปลูกพืชผักริมโขง (คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง, 2560:III)

เขื่อนทุกเขื่อนที่จะเกิดขึ้นมาอีกในแม่น้ำโขงสายหลักและสาขาจึงทำหน้าที่บังคับการไหลของแม่น้ำไม่ว่าจะเป็นในลักษณะไหลแรงหรือไหลอย่างช้าๆ

เขื่อนตามลำน้ำโขงจึงกลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทอย่างสำคัญที่สุดในกำกับความเป็นไปของสายน้ำและระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งกระทบต่อผู้คนที่อาศัยทรัพยากรแม่น้ำโขงในการทำมาหากินสร้างรายได้ ความรู้เกี่ยวกับนิเวศแม่น้ำโขง รวมทั้งวิถีวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเมื่อคิดคำนวณเป็นเม็ดเงินแล้วจะพบว่า เขื่อนจะทำให้เกิดการสูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาติ (Gross Domestic Product) ระดับภูมิภาคแม่น้ำโขงเกือบจะ 40 % ภายในปี ค.ศ. 2060 (คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง, 2560:1)

ข้าวปลาอาหารที่ได้จากแม่น้ำโขงบริเวณเก้าพันโบก อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี. Credit: คำปิ่น อักษร

เขื่อนบ้านกุ่มและ “เก้าพันโบก”

เขื่อนบ้านกุ่มหรือเขื่อนสาละวัน นับเป็นเขื่อนขนาดใหญ่มากๆ เพราะมีกำลังการผลิตติดตั้งถึง 1,782 เมกกะวัตต์ ในขณะที่เขื่อนไซยะบุรีที่สร้างไปแล้วมีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกกะวัตต์ แม้ว่าความเป็นได้ด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่มีต่อประเทศลาวโดยจะมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนทางคิดเป็น 1.05% แต่ทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง จำต้องศึกษาให้ชัดเจนในด้านนี้ (Phongphat Phanthavong and Adis Israngkura, 2020)

นักวิชาการจากหลายศาสตร์ได้แก่ ประมง ภูมิศาสตร์ และสังคมศาสตร์ที่ศึกษาผลกระทบของเขื่อนไซยยะบุรีต่างเห็นร่วมกันว่า เขื่อนไซยะบุรีได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างชัดเจน เช่น การกักตะกอนของเขื่อนไว้ด้านบนส่งผลกระทบให้แม่น้ำโขงผิดธรรมชาติ แม่น้ำโขงกลายสีเป็นสีคราม แม่น้ำขาดธาตุอาหารที่มากับตะกอน การลดลงของน้ำและปลา ขัดขวางการอพยพของปลา (Soukhaphon, et al., 2021)

เขื่อนบ้านกุ่ม ณ บริเวณบ้านกุ่มและบ้านตามุย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม คาดว่าจะสร้างโดยบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA Absolute ที่ได้จับมือบริษัทเอกชนของลาว ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินความเป็นไปได้ในลำน้ำโขงฝั่งลาวและในชุมชนฝั่งไทย จุดที่จะสร้างเขื่อนบ้านกุ่มและพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบนั้นมีความจำเพาะถิ่นของระบบนิเวศแม่น้ำ (Situated river) ที่เรียกว่า “เก้าพันโบก” (9,000 holes) ซึ่งตั้งชื่อโดยคนท้องถิ่นที่จัดการท่องเที่ยวแม่น้ำโขง

“เก้าพันโบก” ห่างจากจุดที่คาดว่าจะสร้างเขื่อนบ้านกุ่มราวๆ 10 กิโลเมตร ระบบนิเวศเฉพาะที่เรียกว่า “โบก” คือภาษาอีสานที่หมายถึงหลุมที่ปรากฎในหิน เกิดจากที่น้ำโขงกัดเซาะหินเป็นเวลานับพันๆปี โบกมีหลากหลายทั้งขนาด ความลึกและรูปทรงเล็กจนขนาดใหญ่อันมากมาย ทำให้คนท้องถิ่นที่นำเที่ยวแม่น้ำโขงคาดคะเนว่ามีมากถึง 9,000 โบก

“เก้าพันโบก” คือระบบนิเวศเฉพาะ ที่มีความสำคัญต่อคนท้องถิ่นอย่างมหาศาล มันห่างจากจุดที่คาดว่าจะสร้างเขื่อนบ้านกุ่มราวๆ 10 กิโลเมตร และ ชาวบ้านละแวกนั้นต่างบอกว่า การโผล่ของ “โบก” ขึ้นกับระดับของแม่น้ำโขงเป็นหลัก หากน้ำโขงลดลงตามธรรมชาตินับแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงราวๆไม่เกินเดือนมีนาคม คนท้องถิ่นและคนนอกชุมชนใช้พื้นที่เก้าพันโบกเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและท่องเที่ยวที่สร้างทั้งรายได้และความสุขของพื้นที่ที่ เรียกว่า ความงามยามแล้ง

I วิถีชีวิตและธรรมชาติบริเวณเก้าพันโบก อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี. Credit: คำปิ่น อักษร

นอกจากนี้ ความสำคัญของระบบนิเวศเฉพาะของโบกในลานหินหรือหลุมหินนี้ ในประสบการณ์ของชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญด้านประมงแม่น้ำโขง มันคือแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรมชาติในแม่น้ำโขง (IUCN, 2013: 117-118) คำบอกกล่าวของชาวบ้านในพื้นที่บ่งชี้ได้ว่า ระบบนิเวศเฉพาะที่เรียกว่า “เก้าพันโบก” จะหายไปจำนวนมาก และแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติจะลดลงไปกว่าเดิมที่หายไปจากผลกระทบของเขื่อนไซยะบุรี

ผู้เขียนต้องการบอกว่า เขื่อนในลำน้ำโขงทั้งตั้งบนแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงหากสร้างตามแผนทั้งหมดแล้ว จะทำให้เขื่อนเป็นผู้กุมชะตากรรมของระบบแม่น้ำโดยผู้เดียว ซึ่งหากปล่อยให้เขื่อนถูกสร้างขึ้นต่อไปเช่นนี้ เขื่อนจะมีบทบาทหน้าที่ควบคุมกำกับและกำหนดความเป็นไปของการไหลของแม่น้ำโขงและระบบนิเวศแม่น้ำโขงแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อไป

สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นนอนจากการมีเขื่อนบนแม่โขงสายหลักทั้ง 11 แห่งและแม่น้ำสาขาอีกนับร้อยๆแห่งคือ แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาจะค่อยๆ ตายลงอย่างช้าๆ จากการป่วยไข้เรื้อรังที่มาจากเขื่อน เขื่อนสร้างความรุนแรงอย่างช้าๆ (Slow violence) ข้ามกาลเวลาต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงทั้งระบบ

ดังนั้น การทบทวนการสร้างเขื่อนจะไปต่อหรือหยุดเท่านี้จึงมีนัยยะอย่างสำคัญที่สุด เพื่อให้แม่น้ำโขงได้ทำหน้าที่ของแม่น้ำที่ไหลตามธรรมชาติและรักษาระบบนิเวศแม่น้ำ ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะมองหาแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าที่มากกว่าการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง

“เก้าพันโบก” ในความงามยามแล้ง. Credit: รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์