ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ขณะแถลงถึงสภาพการณ์สหภาพยุโรปครั้งแรกที่รัฐสภายุโรปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว Credit: CC-BY-4.0: © European Union 2020 – Source: EP

แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียวของสหภาพยุโรป (EU) และเยอรมนี: โอกาสทางธุรกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้ต้องเร่งดำเนินนโยบายและแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโรคโควิด 19 แต่ก็มีหลายประเทศมากขึ้นที่เริ่มให้ความสำคัญกับความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในขณะนี้ ดร.คริสเตียน ฮุบเนอร์ ให้ความเห็น

อาจจะยังมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ออกกฎหมายและมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ แต่ก็ถือได้ว่าโลกกำลังตื่นตัวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียว (Green Recovery)  อย่างไรก็ตาม แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือระดับ “ความเขียว” ที่แตกต่างหลากหลายกันไป

ขณะที่สหภาพยุโรปและเยอรมนีให้ความสำคัญกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศกำลังพัฒนายังคงพยายามรักษาสมดุลระหว่างการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับการปกป้องสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีอัตราการเติบโตทางการค้าและการบริโภคพลังงานสูงที่สุด ดังจะเห็นได้จากกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Regional Comprehensive Economic Partnership

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงเอง ก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้เช่นกัน การจะถอดบทเรียนและนำแนวทางของที่อื่นรวมทั้งยุโรปมาใช้โดยตรงก็อาจไม่ใช่แนวทางที่ควรจะเป็น เพราะแต่ละประเทศควรค้นหาแนวทางของตนเอง หากบทเรียนจากยุโรปอาจพอให้แนวคิดและโอกาสในการทำงานร่วมกันในอนาคตของคนในภูมิภาคนี้ได้

ในเดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว ผู้นำประเทศสมาชิกยุโรปเจรจาต่อรองกันอย่างเข้มข้นเพื่อกำหนดกรอบงบประมาณระยะยาว 7 ปี และเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ รวมทั้งกรอบเงินกู้ใหม่ที่เรียกว่า Next Generation EU.
Credit: European Union

แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียวของสหภาพยุโรป (Green Recovery) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองผ่านกรอบคิดของ “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวยุโรป” (European Green Deal) ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ยุโรปมีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (net emissions) ภายใน 30 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2050 (พ.ศ.2593)

ภายใต้การนำของประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนใหม่ Ursula von der Leyen  สหภาพยุโรปประกาศใช้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวยุโรปก่อนหน้าการระบาดของโควิด 19 ไม่นาน ซึ่งเป็นกรอบนโยบายที่ส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในยุโรปอย่างกว้างขวาง เพราะมุ่งพายุโรปไปสู่สังคมที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (climate neutrality) ให้ได้ในปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยมีแผนเริ่มต้นลดการปล่อยก๊าซฯ ในระยะเร่งด่วน 55% ของระดับการปล่อยก๊าซฯ ปี 1990 ภายในอีกสิบปีข้างหน้าหรือภายในปี 2030 (พ.ศ.2573)

กรอบงบประมาณระยะยาวของสหภาพยุโรปสำหรับปี 2564-2571 (Multi-annual Financial Framework for 2021-2027 (MFF)) ได้กำหนดงบประมาณสำหรับนโยบายนี้ไว้ราวประมาณ 1 ล้านล้านยูโร โดยร้อยละ 30 จะถูกใช้เพื่อเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญของการบรรลุเป้าหมายคือ กองทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Just Transition Fund) เพื่อช่วยเหลือประเทศอย่างโปแลนด์ เชค รีพับบลิก กรีซ และบัลกาเรีย ที่ยังพึ่งพลังงานจากเชื้อเพลิงถ่านหินให้เปลี่ยนไปสู่แหล่งพลังงานที่สะอาดโดยเกิดผลกระทบต่อสังคมน้อยที่สุด

นอกจากนี้ยังมีโครงการและมาตรการอื่นๆ อีกมากมายที่คณะกรรมาธิการยุโรปออกมาเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกที่ก่อความเสียหายต่อภูมิอากาศในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้พลังงานไฮโรเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน” ร่วมกับการกักคาร์บอนเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแก่ “ไฮโดรเจนสีเขียว” นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งลดปริมาณขยะด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิล และกำหนดให้อุตสาหกรรมผลิตและรีไซเคิลแบตเตอรี่ต้องลดการใช้วัตถุดิบประเภทนิกเกิล โคบอลต์ ทองแดง และลิเธียม แผนนวัตกรรมเพื่อลดการใช้พลังงานในครัวเรือนที่ต้องเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานด้านพลังงานของสหภาพยุโรป โรงไฟฟ้าพลังงานลมจากมหาสมุทรที่จะต้องเพิ่มขึ้น 5 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า และการเดินทางขนส่งในสหภาพยุโรปที่จะส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ เรือ และเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

กังหันผลิตพลังงานลม ณ ประเทศ ออสเตรีย.
Credit: Zbynek Burival/Unsplash
รถยนต์ชาร์ตแบตเตอรี่ไฟฟ้า ณ เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี.
Credit: Alexander Zahn/Unsplash

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวยุโรปยังส่งผลต่อตลาดการเงินและการลงทุนของสหภาพยุโรปด้วย โดยระบบภาษีของการเงินการลงทุนใหม่นี้จะมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่ได้ตั้งเอาไว้ และในอนาคตจะมีการบังคับใช้รวมไปถึงประเทศนอกสหภาพยุโรปที่ต้องการลงทุนในยุโรปด้วย

การซื้อขายโควต้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (The European Emission Trading (ETS)) ก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงให้เข้มงวดขึ้น โดยมีแนวคิดที่จะขยายจากภาคการผลิตไฟฟ้าไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งการคมนาคม ในขณะที่แผนการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของยุโรป (The European CO2 Border Adjustment) กำลังเป็นประเด็นสนใจทางการเมือง ประเทศภายนอกที่จะส่งสินค้าไปยุโรปต้องจ่ายค่าอากรธรรมเนียมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้าในอัตราเดียวกับที่ประเทศในยุโรปจ่าย มาตรการนี้เพื่อแก้ปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอน

อีกมาตรการที่สำคัญคือ แผน “Fit-for-55 Package” ที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จะทำให้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวยุโรปมีความสมบูรณ์มากขึ้น

ชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปในยุโรปก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 (เดนมาร์ก).
Credit: Irina Grotkjaer/Unsplash

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวยุโรปประสบความท้าทายครั้งใหญ่ต้นปี 2020 เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโคโรน่า ประเทศยุโรปทยอยล็อกดาวน์ และต้องแบกรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างหลักประกันรายได้ก่อน แต่ก็เป็นไปได้ไม่นาน ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวยุโรปก็กลับมาอยู่ในความสนใจและถูกให้ความสำคัญอีกครั้งด้วยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียว (Green Recovery) และคำขวัญ “สร้างโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิม” ก็กลายมาเป็นวาทกรรมหลักในเวลานี้

กรอบงบประมาณการฟื้นฟูยุโรปภายหลังจากโรคโควิด 19 (Next Generation EU (NGEU)) ครอบคลุมงบประมาณ 750 ล้านยูโร โดยส่วนหนึ่งถูกตั้งไว้เพื่อสนับสนุนแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ อาทิ กองทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สหภาพยุโรปทำเรื่องกู้ในนามสถาบัน และนับเป็นการขยับเชิงหลักการของภูมิภาค

แต่งบประมาณส่วนใหญ่คือ 672 ล้านยูโร จะตั้งไว้สำหรับประเทศสมาชิกในรูปแบบของเงินกู้และเงินให้เปล่า ตามแผนการฟื้นตัวและสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ (Recover and Resilience Facility) ซึ่งประเทศสมาชิกต้องเสนอแผนงานให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการรับมือกับโรคโควิดหรือไม่ โดยทางคณะกรรมาธิการฯ จะประเมินแผนงานว่าสนับสนุนความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เพิ่มการผลิต เป็นธรรม และช่วยสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจมหภาคด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ เงินราว 37% ของกองทุนต่างๆ ภายใต้กรอบงบประมาณนี้ต้องเป็นไปเพื่อการสนับสนุนเป้าหมายทางสภาพภูมิอากาศ และอีก 20% สำหรับการสนับสนุนความเป็นสังคมดิจิทัล โดนสรุปคือ ปลายทางของงบประมาณเพื่อการพื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียวนี้คือ การเชื่อมต่อโดยตรงกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ฯ

แผงโซลาห์เซลล์ขนาดใหญ่ ณ เมืองออฟฟินเจน ประเทศเยอรมนี.
Credit: Andreas Gücklhorn/Unsplash

ประเทศเยอรมนีได้รับเงินในส่วนนี้ไปแล้วประมาณ 25.6 ล้านยูโร โดยขอรับเฉพาะเงินให้เปล่าที่ไม่ต้องจ่ายคืน ในจำนวนนี้ 12.5 ล้านปอนด์ถูกใช้ไปกับโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน และอีกประมาณ 6 ล้านยูโรจะใช้สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐาน และส่วนหนึ่งถูกนำไปสนับสนุนด้านการศึกษาและการสาธารณสุข รวมทั้งด้านสังคม ขณะที่ประเทศอิตาลีได้รับงบจัดสรรมากที่สุด คือเงินให้เปล่า 68.9 ล้านยูโร และเงินกู้อีก 122.6 ล้านยูโร

การใช้เงินจากแผนการฟื้นตัวและสร้างภูมิค้มกันทางเศรษฐกิจของเยอรมนีสอดคล้องกับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐบาลเพิ่งประกาศในเดือนมิถุนายน 2020 เพื่อบรรเทาผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่ตั้งงบประมาณไว้ 130 ล้านยูโร ครอบคลุมถึงการใช้จ่ายในนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยงบประมาณ 11 ล้านยูโร จะใช้สำหรับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนภายใต้กฎหมายแหล่งพลังงานหมุนเวียน การให้เงินอุดหนุนด้านการขนส่งเช่น การซื้อ e-cars และการสนับสนุนให้มีขยายตัวของภาพเชื้อเพลิงไฮโดรเจน นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณสำหรับส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ 2 ล้านยูโร และพัฒนาศักยภาพในประเทศอีก 7 ล้านยูโร

สำหรับเยอรมนี การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสำคัญทางการเมือง โดยเร็วๆ นี้ รัฐบาลเพิ่งตัดสินใจประกาศให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิของประเทศเป็นศูนย์ภายในต้นปี 2045 (พ.ศ. 2588) จะเห็นได้ว่าแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียวของยุโรปและแผนแห่งชาติเพื่อการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโรคโควิด 19 ของเยอรมนี ยึดโยงอยู่กับกรอบใหญ่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวยุโรป ซึ่งเป็นไปเพื่อสนับสนุนให้ยุโรปและเยอรมนีบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางภูมิอากาศด้วยงบประมาณมหาศาล  

ปั่นจักรยานในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี.
Credit: Randy Tarampi/Unsplash

แผนต่างๆ นี้ไม่เพียงแต่รวมเอากลไกต่างๆ เช่น มาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน หรือมาตรการทางภาษีเพื่อความยั่งยืนของยุโรป แต่ยังทำให้เกิดรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสามารถเป็นรูปแบบที่จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับความร่วมมือใหม่ โดยเฉพาะกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างมีแผนกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของตัวเอง แต่หากมองในภาพรวมของภูมิภาคแล้ว แผนดังกล่าวยังได้รับความสำคัญรองลงไปเมื่อเทียบกับงานด้านอื่นๆ ความจริงประการหนึ่งคือ เราไม่ค่อยเห็นการปกป้องสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้ แม้มันจะเป็นโอกาสสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตาม และแม้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียวจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลก็ตาม

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศัยกภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งทางบกทางทะเล การพัฒนาเมือง ภาคการขนส่ง การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการขยายตัวของพลังงานสะอาดซึ่งรวมถึงการสร้างงานใหม่ๆ แนวทางแก้ไขปัญหาบนฐานทรัพยากรหรือด้วยมาตรการที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้ แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะการค้ากับสหภาพยุโรปซึ่งเข้มงวดเรื่องข้อกำหนดทางสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับฟุตพริ้นท์ของก๊าซเรือนกระจก 

แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างจะต่างกันก็จริง แต่โอกาสสำหรับความร่วมมือต่างๆมีมากขึ้น  โอกาสต่างๆ เติบโตขึ้น คำถามเดียวที่มีคือ ยุทธศาสตร์สีเขียวยุโรปที่มุ่งเน้นการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น จะสร้างแรงผลักดันทางการตลาดเพื่อโน้มน้าวให้ภูมิภาคอื่นๆ เช่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำตามหรือไม่

ถอดความจาก EU and Germany’s Green Recovery: A business chance for Southeast Asia