หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน SDGs in the New Politics

ประเด็นเนื้อหาถอดความและเรียบเรียงจากเวทีเสวนา SDGs หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (SDGs in the New Politics) โดยความร่วมมือของสำนักข่าว Bangkok Tribune, Decode.plus, SDG Move, และ SEA Junction ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (Konrad Adenauer Stiftung, Thailand Office) และ Museum Siam

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แนวคิดของ SDGs

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งอยู่บนหลักการที่สำคัญก็คือ เราต้องการจะเหลือโลกที่ยั่งยืนไว้ให้ลูกหลานของเราโดยการพยายามทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของเราไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปมากกว่านี้ ในขณะเดียวกันก็คือ มุ่งให้ผู้คนทุกคนได้ประโยชน์จากการพัฒนาที่ครอบคลุม แล้วก็สิ่งแวดล้อมเองก็ฟื้นฟูกลับมายั่งยืนได้ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ทิ้งคนไว้ข้างหลังด้วย เราก็ต้องพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงอย่างไม่คาดฝันในหลายๆ เรื่อง ดังนั้น ถ้าพูดเป็นคอนเซ็ปต์ keyword สำคัญก็จะมี 3 เรื่อง คือ คำว่า Sustainable ความยั่งยืน Inclusive ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แล้วก็ Resilience เรื่องของการตั้งรับปรับตัวความเปลี่ยนแปลง แต่ที่ต้องไม่ลืมเลยโดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทยก็คือ SDGs นั้น ตั้งอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนสากลด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ

สำหรับ SDGs มันเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่มีการพูดถึงตั้งแต่ปี 2030 ในเอกสารที่ชื่อว่า Transforming Our World: the 2030 Agenda for Sustainable Development ประเทศสมาชิก UN 193 ประเทศรวมถึงประเทศไทยก็ให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2015 นี่ก็คือปีที่ 8 แล้วครึ่งทางแล้ว แต่สิ่งที่อาจจะเน้นสำคัญเลยคือ ไม่อยากให้มองว่ามันเป็นเป้า UN แล้วมันไกลตัว SDGs จริงๆ เป็นภาพอนาคตที่ยั่งยืนของคนธรรมดาทุกคนบนโลก มันไม่ใช่ว่าเป็นเป้าหมายโลกใน sense ที่ว่าเป็นของ UN แต่ว่าคนทุกคนบนโลก น่าจะต้องการอนาคตแบบนี้ ชีวิตแบบนี้ ดังนั้น จริงๆ อาจจะต้องลองมาดูกันว่าแต่ละคนเห็นอย่างไรกับเป้า SDGs ถ้าเราอยากเห็นโลกหน้าตาทำนองนี้ เป้า SDGs ก็น่าจะเป็นเป้าของเราด้วย

อีกประการหนึ่งคือ SDGs มันช่วยให้เรามีตัวชี้วัดในการพัฒนาว่า ตอนนี้เรามีความยั่งยืนแค่ไหนแล้ว ก็เป็นตัวเฉพาะที่ใช้ร่วมกันทั้งโลกทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์ได้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไล่ไปถึงระดับชาติแล้วก็ระดับนานาชาติด้วย

เราต้องตระหนักด้วยว่า SDGs ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือด้วย เพราะตอนนี้มันเป็นบรรทัดฐานการพัฒนาที่ใช้ร่วมกันทั้งโลก ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ แล้วก็ภาคประชาสังคมด้วย ดังนั้น มันเป็นเครื่องมือที่เราใช้ในการมาส่งเสริม arguments ของเราเวลาเราผลักดันนโยบายบางอย่าง การพัฒนาระดับท้องถิ่น นโยบายการพัฒนาระดับชาติหรือระดับภูมิภาคได้ด้วย ดังนั้น เราควรจะมองเป็นเครื่องมือด้วย 

ปกติเรามอง SDG 17 เป้าหมาย แต่เราก็จะมีการมองแยกเป็น 5 กลุ่ม 5P ก็คือ กลุ่ม People ประเด็นด้านสังคม Prosperity ประเด็นด้านเศรษฐกิจ Planet ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อันนี้ คือครบ 3 เสาความยั่งยืน แต่ว่าทั้ง 3 เสานี้ จะเคลื่อนไปไม่ได้เลยถ้าเราขาดสังคมที่สงบสุขและเป็นธรรมคือเรื่อง Peace แล้วก็ทุกคนต้องร่วมมือกันพัฒนาคือ Partnership อันนี้คือ 17 เป้าหมาย บางท่านเห็น 17 เป้าหมายแล้วไม่เห็นครอบคลุมประเด็นที่เราสนใจ อย่าลืมลงไปดูในระดับของ Target หรือตัวเป้าหมายย่อย ตรงนั้นจริงๆ แล้วคือเนื้อหาสาระที่แท้จริงของ SDGs 

และที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อน ต้องไม่ลืมว่าแค่เอา SDGs มา match กับงานที่ทำไม่ได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ด้วย ต้อง Transformative ต้องผลิกโฉม จะต้องชวนทุกคนที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วม Inclusive และจะต้องมองเรื่องนี้แบบบูรณาการคือ จะทำแค่เรื่องเดียวไม่ได้ ต้องทำเรื่องนั้นที่เรารับผิดชอบและมองเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วย อันนี้สำคัญมากเรื่องการบูรณาการ แต่ถ้าเราสามารถใช้นี้เป็นกรอบในการทำงานทุกระดับได้ก็จะยิ่งดีก็คือ Universal

สถานะของ SDGs และความท้าทายของประเทศไทย

มันจะมีความซับซ้อนนิดหนึ่งเพราะว่ามันมี 3 แหล่งที่ทำหน้าที่ในการประเมิน SDGs แหล่งแรกที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย 2559-2563 เป็นการประเมินของสภาพัฒน์ อีกอันหนึ่งที่มีการกล่าวถึงเยอะมากๆ คือ  SDGs Index ซึ่งข้อมูลปีนี้จะประกาศพรุ่งนี้ (21 มิถุนายน) อันนี้รัฐบาลไทยก็มักจะถูกพูดถึงเสมอที่บอกว่าประเทศไทยอยู่อันดับ 44 ของโลก แล้วก็มีการประเมินสถานะ SDGs ต่างๆ ซึ่งอันนี้ก็ต้องย้ำว่าไม่ใช่การประเมินของ UN เป็นการประเมินของเครือข่ายวิชาการ Sustainable Development Solution Network และตัวชี้วัดเองก็ไม่ได้ครอบคลุมทุก target ของ SDGs เพียงแต่ว่ามันเป็น Index เดียวที่ประเมินทุกปีและทำให้เราพอจะมี reference ทุกปีเพื่อจะบอกว่าเราก้าวหน้าถอยหลังไปมากน้อยแค่ไหน 

แหล่งสุดท้ายที่คนกล่าวถึงน้อย แต่จริงๆ เป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพมากที่สุดแหล่งหนึ่งก็คือข้อมูลของทาง UNESCAP ซึ่งถ้าเราไปดู SDGs Data Gateway มันจะมีข้อมูลที่สำคัญหลายอย่าง อย่างอันนี้ก็เป็นข้อมูลล่าสุดของทาง UNESCAP ที่ได้มีการสรุปว่า ประเทศไทยทำได้ดีในประเด็นไหน ทำแย่ในประเด็นไหน ประเด็นไหนเป็นประเด็นท้าทายที่แย่ลง ประเด็นไหนประเด็นที่ทำให้ดีแล้วแต่ว่ากำลังแย่ลง ก็คือ เป็น Worsening Challenges กับ Emerging Issues ทาง SDG Move ได้สังเคราะห์ประเด็นปัญหาจากทั้ง 3 แหล่งนี้ได้มาเป็น 7 ประเด็น

อันแรกที่เป็นคีย์สำคัญเลยคือ เรื่องของระบบการผลิตอาหารที่ไม่ยั่งยืน เป็นคีย์สำคัญที่สะท้อนอยู่ใน SDG 2, SDG 3 ในเรื่องสุขภาพ, SDG 6 เรื่องน้ำ, SDG 11 เรื่องมลพิษทางอากาศในบริบทของเมือง แล้วก็ SDG 14 เรื่องมลพิษทางทะเลเชื่อมโยงกันหมด ดังนั้น เรื่องระบบอาหารที่ไม่ยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญของไทย นี่ยังไม่นับว่าเรามีปัญหาทุพโภชนาการซึ่งไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่ผลิตอาหารอย่างเราจะมีสภาวะทุพโภชนาการในเด็กต่ำกว่า 5 ปีด้วย 

ประเด็นที่ 2 ที่สังเคราะห์แล้วพูดตรงกัน ก็คือ เรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะในเขตทะเลและชายฝั่งแล้วก็ในเขตป่า มีปัญหาทั้งสองส่วน อันที่ 3 คือ ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน อันนี้จะมี 2 ประเด็นหลักๆ ก็คือ เรื่องของการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืนที่ยังน้อย แล้วก็การใช้วัสดุเรื่อง material use คือ พูดง่ายๆ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมันยังคู่ขนานไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรเราถึงจะ decouple แยกออกจากกัน ทำให้มันแยกทางกันระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่ง BCG เป็นหนึ่งในความพยายามนี้

ประเด็นที่ 4 การตั้งรับปรับตัวกับภัยพิบัติ ซึ่งอันนี้ต้องยอมรับว่าผลกระทบจากภัยพิบัติ จาก Climate Change แย่ลงมากนับตั้งแต่ปี 2015 จากข้อมูลของทาง UNESCAP ประเด็นที่ 5 คือเรื่องของระบบธรรมาภิบาล Governance แล้วก็เรื่องของกลไกการขับเคลื่อน ทั้งเรื่องของการมีส่วนร่วมของสตรีในรัฐสภา แล้วก็เรื่องของการคอร์รัปชั่นและการติดสินบน เรื่องการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แล้วก็เรื่องของการจัดสรรทรัพยากรและการเก็บรายได้เพื่อการพัฒนา อันนี้ก็เป็นประเด็นเรื่องเกี่ยวกับ Governance แล้วก็ตัวกลไกของการขับเคลื่อน 

แล้วก็เรื่องสุดท้ายที่ยังคงมีปัญหาอยู่ แต่ว่าถ้าโดยเปรียบเทียบอาจจะไม่มากเท่าอันแรกด้านสุขภาวะและการพัฒนาศักยภาพ เรื่องของการศึกษาจริงๆ การเข้าถึงเราดีมากแต่คุณภาพมีปัญหาอยู่ แล้วก็เรื่องสุขภาพ ถึงแม้ระบบสุขภาพเราจะดีมาก แต่ว่าโรคติดต่ออย่างเช่น วัณโรค ยังคงเป็นปัญหาหลักของเรา ซึ่งคนนอกวงการอาจจะยังไม่ทราบนัก เรื่องโรคไม่ติดต่อสำคัญ 5 โรค ได้แก่ เบาหวาน โรคหลอดเลือด มะเร็ง ก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แล้วก็เรื่องของสุขภาพจิตและอุบัติเหตุทางถนนก็ยังเป็นประเด็นที่เรายังเป็นผู้นำโลกอยู่

อันนี้คือ 7 กลุ่มประเด็นที่เรียกว่าเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยจากการวิเคราะห์ จะสังเกตว่าเราจะไม่พยายามที่จะบอกว่าเป็น SDGs อะไรแต่พยายามที่จะทำให้เห็นเป็นกลุ่มประเด็น เพราะว่าตอนนี้มันมีแนวคิดเรื่องของการมอง SDGs ให้บูรณาการมากขึ้น มองเป็นเหมือนกลุ่มประเด็น บางคนใช้คำว่า Transformation บางคนใช้คำว่า Entry Point อะไรก็ว่าไป แต่โดยหลักการมันคือ พยายามจะมองประเด็นเชื่อมโยงกันให้เห็นเป็นกลุ่มประเด็นก็จะได้มองแบบบูรณาการ อันนี้คือ 7 ประเด็นท้าทายของประเทศไทย

ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ความก้าวหน้าของ SDGs ในประเทศไทย

เรื่องของ SDGs ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่น่าจะมีความสำคัญกับทุกองค์กรแล้วก็ทุกคน ทางสภาพัฒน์ในฐานะองค์กรภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐ จริงๆ เราได้ทำและได้บูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แล้วก็จริงๆ เรื่องของ CSO หรือว่า Civil Society Organization ก็เกี่ยวข้องด้วย เอกชนต่างๆ ก็จะเกี่ยวข้องด้วยเหมือนกัน แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะตรงส่วนกลาง เราต้องพูดถึงในภาพรวมทั้งหมด

เวลาเราลงพื้นที่ เราถามพื้นที่ เราถามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งถามผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ทางภาครัฐก็เห็นประเด็นว่า SDGs ยังไม่เข้าถึงทุกคน อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ตระหนักเอาไว้เลยว่า SDGs ไม่ได้เข้าถึงทุกคน เพราะว่า คำว่า SDGs  หลายๆ คน โดยเฉพาะท้องถิ่นมองว่า มันคือตัวย่อตัวใหม่ที่ภาครัฐ หรือว่าใครสักคนสร้างขึ้นมาหรือเปล่า ซึ่งอันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทางสภาพัฒน์แล้วก็องค์กรเครือข่ายพยายามที่จะทำความเข้าใจกับทางคนในพื้นที่ คนในท้องถิ่น หรือว่าคนในหมู่บ้านเองก็ตาม ว่าเรื่อง SDGs ไม่จำเป็นต้องจำว่า 17 เป้าหมายหลัก หรือว่า 168/169 ตัวที่เป็น Target 248 ตัวชี้วัด เราไม่จำเป็นต้องจำว่ามันคืออะไรบ้าง แต่อยากจะให้เข้าใจว่า “ความยั่งยืน” คืออะไร 

ภาครัฐพยายามจะบอกว่า ทางเดินของเราสู่ความยั่งยืนมันเป็นทางเดียวกัน แม้กระทั่งว่าเราจะมีคำว่า “แผนพัฒนา” ที่เป็นแผนพัฒนาชาติ แผน 13 ขึ้นมาแล้วก็ตาม มีคำว่า “แผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ” หรือแม้กระทั่งว่ามีตัวแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ตอนนี้เราพยายามทำที่เราเรียกว่า “mainstreaming” คือว่า พยายามที่จะรวมทุกอย่างให้เกิดความสอดคล้องซึ่งกันและกัน เราพยายามที่จะเขียนตัวที่เป็นทางเดินสู่ความยั่งยืนขึ้นมาภาพเดียว ก็คือ เรามีเป้าหมายเดียวกัน มีหมุดหมายที่ตรงปลายทางเดียวกันคือ การสร้างความยั่งยืน 

เราเดินมาค่อนข้างจะเยอะแล้ว ตั้งแต่ปี 2015 จริงๆ เราเดินมาก่อนปี 2015 เราเดินมาตั้งแต่ปี 2000 ที่เรามีการพูดถึงตัว MDGs คือ สหัสวรรษ ช่วงนั้นเราตื่นเต้นมากกับการที่จะเปลี่ยนเป็น Y2K ปี 1999 เป็น 2000 คนก็ตื่นเต้นกับการที่เราพัฒนาอย่างไรให้ประเทศยั่งยืน โลกยั่งยืนได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ภาครัฐหรือภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเดินมาตั้งแต่ปี 2000 เราพูดได้ว่าเราเดินมา 23 ปี จากการที่วางจุดมุ่งหมายของความยั่งยืนขึ้นมา ตอนนี้เราเหลืออีก 7 ปี ที่ต้องก้าวต่อไป 

เราได้มีการประเมินในช่วงแรก 5 ปี เรารู้สึกว่า SDGs ก็ยังเป็นประเด็นที่เราต้องวิ่งต่อไป อาจจะไม่ใช่แค่เดินต่อไป ต้องวิ่งต่อไปให้ไปถึง เราใช้ตัว Dashboard ที่เป็นเหมือนไฟจราจร เขียว เหลือง แดง ส้ม ถ้าเกิดว่า “เขียว” คือ เราไปถึงเป้าหมายแล้ว ถ้าเกิด “เหลือง” กับ “ส้ม” เรายังต้องวิ่งกับต้องเดินอยู่ ถ้าเกิด “แดง” คือ ตัววิกฤตจริงๆ 

17 เป้าหมาย เรายังพบว่า “สีเหลือง” มีประมาณ 10 “สีส้ม” มีประมาณ 7 เป้าหมายหลัก แปลว่า เรายังต้องไปให้ถึง แต่ถ้าเกิดประเมินลงมาในเป้าหมายย่อยอีกคือ Target เราก็รู้สึกว่าเราสำเร็จแค่ 30% อีก 70% เรายังต้องวิ่งกับต้องเดินไปให้ถึง การทำอะไรต่อไป เราจะต้องรู้สถานะก่อน เพื่อที่เราจะได้ก้าวต่อไปข้างหน้าอีกทีหนึ่ง ในมุมของส่วนราชการที่เป็นส่วนกลางในการมองเรื่องของการบูรณาการกับพื้นที่ต่างๆ และทางหน่วยงานต่างๆ เรามองว่าทำยังไงให้เราเสริมจุดแข็งที่มีอยู่ เรื่องที่เราสีเขียวแล้วจะต้องไม่ทำให้เขาเป็นสีส้มหรือสีแดง แต่ว่าเราต้องเสริมจุดแข็งให้ดีอยู่ แล้วก็ซ่อมจุดอ่อนที่เรายังอยู่ในขั้นวิกฤตอยู่ในช่วงที่เราต้องตระหนักต้องพัฒนาไป 

ทางเราประเมินในทิศทางที่ใกล้กัน ของไทยสภาพัฒน์จะใช้บริบทของประเทศเป็นหลัก เพราะว่าหลายๆ เรื่องเราเข้าใจว่าเราไม่สามารถเอาบริบทโลกมาประเมินบริบทไทยได้ เพราะฉะนั้นบริบทประเทศก็จะขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนภายในประเทศเหมือนกัน ในเรื่อง 4 เรื่องหลัก ที่ทางสภาพัฒน์ได้ประเมินขึ้นมาก็ไม่พ้นเรื่องของเกษตร เราต้องทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นมาให้ได้ แล้วก็ยุติความหิวโหยต่างๆ เรื่องสาธารณสุขยังมีข้อมูลหลายๆ ข้อมูลบอกว่าเรายังพบว่ามีการบาดเจ็บ หรือว่ามีการสูญเสียชีวิตจากการเรื่องของสุขภาวะที่ไม่เหมาะสมอยู่ แล้วก็เรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งเป้าหมาย 14 และ 15 ซึ่ง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องจัดการให้ดีที่สุด 

ผู้เล่นหลักในการที่จะทำเรื่องต่างๆ ในอีก 7 ปี คือใคร? หนีไม่พ้นเลย ทุกภาคส่วน รัฐ เอกชน แล้วก็ภาคประชาสังคมต้องร่วมมือกัน การขับเคลื่อนไปสู่ผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมหรือผลลัพธ์ที่เป็นเชิงประจักษ์จำเป็นต้องทำร่วมกัน 

Mr. Renaud Meyer, UNDP Resident Representative to Thailand

หลักการและความหมายของ SDGs 

(สรุปความโดย ดร.เพชร มโนปวิตร เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ก่อตั้ง ReReef)

SDGs ไม่ใช่เป้าหมายที่คิดขึ้นมาลอยๆ แต่จริงๆ ก็คือ เป็นเป้าหมายที่คิดขึ้นมาเพื่อที่จะปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนภายในปี 2030 จุดเป้าหมายสูงสุด ก็คือ ทุกคนบนโลกนี้มีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น มันเป็น “ปณิธาน” เป็นความหวังของคนที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มีการศึกษาที่ดีขึ้น มีการงานที่ดีขึ้น ที่จริงแล้วอันนี้มันก็คือใจกลางหลักของ SDGs ว่าสุดท้ายแล้วจะบอกว่าเป็นสิทธิมนุษยชนก็ว่าได้ สิทธิของประชาชนทุกคน พลเมืองทุกคนที่มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม เรื่องของอาชีพ เรื่องของการศึกษา แล้วก็คิดว่ามันเป็นกระบวนการด้วย

เราเหลือเวลาอีกแค่ 7 ปีเท่านั้น การที่ SDGs มีไทม์ไลน์ที่แน่ชัดมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะคิดว่าสิ่งที่ทุกคนทำ หรือว่าที่รัฐบาลต่างๆ ทำ มีอยู่ใน SDGs อยู่แล้ว แต่ว่าการที่เรามีหมุดหมายที่ชัดเจนว่าภายในปี 2030 หรือแค่ 7 ปีเอง เราต้องการที่จะทำให้มันสำเร็จ ก็จะเท่ากับว่า ทุกคนหรือว่าทุกประเทศ จริงๆ ก็ต้องเร่งด้วย คิดว่าเป็น keyword อีกอันหนึ่งว่า  เราจะเร่งกระบวนการต่างๆ ปรับปรุงนโยบายต่างๆ ที่จะทำให้ SDGs บรรลุผลได้ยังไง แล้วก็สรุปสุดท้ายเลยก็คือเรื่องของการ think globally เพราะว่า SDGs เป็นเป้าหมายใหญ่เลยระดับโลก แต่ทำยังไงให้ระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น รู้ได้ว่าตัวเองสามารถลงมือทำอะไรได้บ้าง

คุณวนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการบริหาร Climate Watch Thailand

SDGs กับโลกร้อน

บางทีเราต้องนึกย้อนกลับไปใหม่นิด แทนที่จะไปมองว่ามันคือของโลก จริงๆ เราไม่ต้องพูดคำว่า SDGs ก็ได้แล้ว ถ้าลงไปคุยกับพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่คุยกับเกษตรกร สิ่งที่เขาทำมันคือ SDGs อยู่แล้ว มันคือ Sustainable Development อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แค่ต้องไม่ใช่เอา SDGs ของโลกหรือของประเทศเข้าไปใส่เขา แต่ทำยังไงจึงจะเรียนรู้สิ่งที่เขาทำ ซึ่งมันคือความยั่งยืนอยู่แล้วเอากลับขึ้นมาข้างบน สิ่งที่พี่น้องชาวบ้าน แล้วก็เกษตรกรหรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้หญิง แล้วก็กลุ่มชาวประมงเขาทำการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้ว แต่แล้วมันเกิดอะไรขึ้น?

สิ่งที่เกิดขึ้นกับทางฝั่งพี่น้องที่ได้เป็นสัมผัสมาผ่านกิจกรรมหลายๆ อัน ก็คือ โลกร้อนมันเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ค่อนข้างจะเด่นชัด เกษตรกรและผู้หญิงเขาไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่เขารู้ เพราะว่าการปลูกข้าวและการเกษตรของเขามันขึ้นอยู่กับ ดิน ฟ้า อากาศ เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนไปนิดหน่อยหรือการเปลี่ยนแปลง เช่น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำมาเยอะมากกว่าปกติ ความแห้งแล้งที่ยาวนาน มันทำลายผลผลิตของเขา ฉะนั้นเมื่อทำลายผลผลิต แปลว่า รายได้หาย อาหารหาย เมล็ดพันธุ์หาย ไม่สามารถที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อไปปลูกได้ กู้หนี้ยืมสินไหมกู้หนี้ยืมสินขึ้น เพราะฉะนั้น ในอนาคตถ้าไม่มีการจัดการเรื่องโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งก็เป็นหนึ่งใน SDGs มันก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยัง SDGs อื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ความเชื่อมโยงของแต่ละ SDGs มันไม่ได้มองเป็นไซโล ไม่เหมือนตอนสมัยแรกๆ ที่เราคุยเรื่อง SDGs ตอนนี้เราเริ่มมีการมองเป็นแนวขวางเพิ่มมากขึ้น 

แล้วพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนหรือจากภัยแห้งแล้ง  หรือน้ำท่วมไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบจากผลผลิตทางการเกษตร สุขภาพพี่น้องที่เลี้ยงวัวที่จังหวัดตาก พี่น้องที่ต้องไปดูแลสวนมะม่วง แปลว่า เวลาของพี่น้องที่ไปดูแลมันเปลี่ยนมากขึ้น เพราะว่าอากาศมันร้อนมาก คำว่า ร้อน แปลว่า แสงแดด มันส่องมาแรงขึ้น มันจะ Strong Solar Radiation เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น เขาจะถูกเปิดตัวเองแล้วก็ผิวหนังออกสู่แสงแดด มันเลยไม่ใช่แค่เรื่องแล้งหรือว่าน้ำท่วมอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่อง Heat ที่เป็นเรื่องความร้อนด้วย ถ้าคนอยู่กับแสงแดดนานๆ ก็จะเป็นผื่นที่ผิวหนัง เพราะฉะนั้นพอผื่นแล้วไม่รักษามันก็จะคัน พอคันมันก็จะติดเชื้อเรื้อรังแล้วก็ลุกลามอาจจะติดต่อกันอีกก็ได้ คำถาม คือ เรื่องร้อนมันไปอยู่ในแผนของประเทศตรงไหนบ้างไหม ยังไม่เคยคิด แต่น้ำท่วมมันอยู่แล้ว ภัยแล้งมันก็อยู่ แต่ร้อนมันอยู่ตรงไหน เพราะเมื่อมันไม่ได้อยู่ในแผน ไม่ว่าจะเป็นแผนไหน มันก็จะไม่ถูก Address มันก็จะไม่ถูกจัดการ ข้อเสนอจัดการจะเป็นยังไง

ถ้าร้อนแล้วมันแสบผิว ครีมกันแดด? บางคนบอก เวอร์ไปไหม ถ้ามองมุมนี้ครีมกันแดดมันเป็น cosmetics หรือเป็นยา? ถ้าเป็นยา 30 บาท (รักษาทุกโรค) ได้ไหม นึกออกไหม เพราะฉะนั้นคือ ถ้าเรามองในเชิงของ SDGs และเรื่องการจัดการเรื่องโลกร้อนให้มันเป็นเป้าที่เราอยากจะไปให้ถึง เราต้องดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วจะได้จัดการกับปัญหานั้น ในกรณีอันนี้ที่เห็นชัด ก็คือ ร้อนมันแผดเผาผิว เขาไม่ได้อยากสวยอยากงาม ไม่ได้ต้องการไม่ให้ผิวเป็นสีแทน หรือไม่ต้องการให้ผิวเป็นสีคล้ำ แต่เพื่อรักษาโรค ต่อไปในอนาคตอาจมีนโยบายซึ่งเพิ่ม cosmetics เช่น เรื่องครีมกันแดดให้กลายเป็นหนึ่งในยาที่สามารถป้องกันไม่ให้ผิวแสบร้อนได้ไหม? นั่นคือเรื่องของการปรับตัวด้วย 

ประเทศไทยพูดแต่เรื่องการลดการปล่อยหรือ Mitigation จริงๆ แล้วถ้ามองในภาพใหญ่ของโลก ประเทศไทยปล่อยเพียงน้อยอยู่ ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องมีความรับผิดชอบประเทศไทยปล่อยน้อย แต่สิ่งที่เราต้องการเยอะและควรต้องให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ หรือแม้กระทั่งอันดับ 1 ก็คือ การปรับตัวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกจากโลกร้อน แล้วก็พยายามพูดถึงความสูญเสียและความเสียหายที่มันจะเกิดขึ้น เมื่อการปรับตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้ายิ่งคุณช้าที่จะรับมือกับปรับตัว ต้นทุนและเหตุการณ์ต่างๆ มันจะเกิดเลวร้ายขึ้น เพราะฉะนั้นทำยังไงจึงจะอยู่กับมันให้ได้ อันนั้นคือ เรื่องของการปรับตัว แล้วถ้าอยู่ไม่ได้เพราะมันเกินเลยไปกว่าการปรับตัวที่จะทำได้ คุณเกิดความสูญเสียและความเสียหายตรงนั้นต้องจัดการยังไง 

SDGs ที่ทำโดยโลกเชื่อมกับเรื่องของโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเด็นที่ว่า มันเป็นภาพเบลอซึ่งทำให้เรามองไม่ออกเลยว่าทำไมเรามาถึงจุดนี้ได้ ทำไมโลกจึงมีการคุยเรื่องโลกร้อน ทำไมโลกต้องมีการคุยเรื่อง MDGs และ SDGs มันเกิดจากยุคประวัติศาสตร์ Colonization ที่ประเทศพัฒนาแล้วโหมเอาทรัพยากรต่างๆไปใช้ จนกระทั่งร่ำรวย มีศักยภาพในการรับมือและปรับตัว และมีการความเจริญก้าวหน้า เจริญเติบโตทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ แล้วก็ทางด้านเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเราต้องจัดการปัญหาเรื่องนี้ด้วย 

ประเด็นเรื่อง Differentiation ความไม่เท่าเทียมกันของประเทศ ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างของแต่ละประเทศ เพราะฉะนั้น การที่เราจะพูดว่าในอีก 7 ปี จะ achieve ไหม นอกเหนือจากปัจจัยภายในประเทศเอง ก็คือ การเงินมันไม่มา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องเรียกร้องต่อ คือ การเงินทำไมไม่มา จะมาให้ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งถูกดูดเอาทรัพยากรไปใช้แล้วมาลงทุนเพื่อจัดการกับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เท่าเทียมกับประเทศทางอื่นๆ มันไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น เม็ดเงินมันจะต้องมา สิ่งที่สัญญาไว้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ ODA ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Climate Finance หรือการเงินเพื่อโลกร้อน มันต้องถูกเอามาให้กับประเทศกำลังพัฒนา และไม่ใช่เป็นในลักษณะของเงินกู้ แต่ต้องเป็นเงินให้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราต้องจัดการเราต้องพูดถึงเรื่องนี้ด้วย

แล้วก็อันสุดท้ายเราต้องพูดถึงเรื่อง gaps ก็คือ ช่องว่างที่ทำให้เราไปไม่ถึงนอกเหนือจากเรื่องของการเงินคือ Inclusive แปลว่า เราจะทำยังไงจึงจะมีพี่น้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ติดตามตรวจสอบ ภาคประชาสังคมมีความหลากหลาย เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะให้มีความครอบคลุมเพียงพอถึงทุกหน่วยและทุกเครือข่ายของภาคประชาสังคม ถ้าเรามองดูในคณะกรรมการต่างๆ เช่น คณะกรรมการเรื่องโลกร้อน คณะกรรมการเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจะเห็นภาคประชาสังคมเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ และภาคประชาสังคมนั้นเป็นในนามองค์กรหรือในนามเครือข่ายไม่กี่องค์กร ไม่สามารถพูดแทนภาคประชาสังคมทั้งหมดได้ ทำอย่างไร อาจจะเป็นโจทย์ว่า จะให้เกิดเป็น inclusive enough ได้อย่างไร แล้วก็มีระบบในการที่จะติดตามตรวจสอบ เราต้องให้มันมี Accountability ต่อคนด้วย 

ดร.เพชร มโนปวิตร เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ก่อตั้ง ReReef

SDGsและความหลากหลายทางชีวภาพ

เราก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญมากๆ แล้วมันก็เป็นความหวังสำคัญด้วย เพราะสิ่งที่ผ่านมา เราต้องการการเมืองแบบใหม่ใช่ไหม อันนั้น คือ สิ่งที่หวัง SDGs เกิดขึ้นมาจากว่า ทิศทางการพัฒนกระแสหลักที่ผ่านมามันไปต่อไม่ได้จริงๆ แล้วมันก็เลยเกิดเป็น Paris Agreement พร้อมๆ กับการที่เรามี SDGs ในปี 2015 

เราเป็นเผ่าพันธุ์ที่เห็นแก่ตัวเรามีพันธุกรรมที่เห็นแก่ตัวมาก แล้วมันก็ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มันเกิดขนาด การเกิดขึ้นของ SDGs มันก็เกิดขึ้นจากความเห็นแก่ตัวก็คือ รู้ว่ามันไปต่อไม่ได้จริงๆ มันจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยน

ตอนช่วง COVID-19 หลายคนคิดว่าสิ่งที่ตามมาแน่นอนก็คือ จะเป็น Recession แต่จริงๆ Climate Change มันใหญ่กว่า Biodiversity Collapse จะยิ่งใหญ่กว่าอีก แต่พอ COVID-19 หายไปคนลืมแล้ว มันก็เป็นบทเรียนสำคัญด้วยว่าประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เลย เพราะว่าในกรณีของ COVID-19 มันเป็นแค่ภาพตัวอย่างเท่านั้นเองว่า ถ้ามันเกิด Impact ที่ใหญ่ขนาดนั้นในระดับโลก มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจะปรับตัวไม่ทันยังไง 

ทิศทางการพัฒนามันไม่ยั่งยืน มันตอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์  เราไม่เห็นบ่อยนักที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนเป็นหมื่นจะลงชื่อจดหมายพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Climate Crisis นักวิทยาศาสตร์กว่า 10,000 คน ลงชื่อเรียกร้องว่า มันต้องมี Action ได้แล้ว ข้อมูลมันประจักษ์ขนาดนี้แล้ วสิ่งที่หลายคนกังวล ก็คือ มันเกิดขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้เยอะ หลายคนเมื่อก่อนเวลาเราพูดถึง Climate Change มันคือ ภัยพิบัติสิ่งที่จะเกิดขึ้นในร้อยปีข้างหน้า

ในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพเองซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่คนมองข้าม เพราะว่าเราพูดถึงโลกร้อนเดี๋ยวนี้คนยังอิน แต่พูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพ มันเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นนามธรรมเหลือเกิน แต่ความจริงแล้วเรื่องของการวิกฤตด้านธรรมชาติ หรือการสูญพันธุ์ ก็ไม่ต่างกัน นักวิทยาศาสตร์มีผลการศึกษาที่มันตอกย้ำว่าวิกฤตด้านธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพมันรุนแรงยิ่งกว่าโลกร้อนด้วยซ้ำไป มีแนวความคิดเรื่องของ Planetary Boundaries ว่าขอบเขตอันไหนที่โลกมันยังจะพอที่จะไปต่อได้  ซึ่งเขาก็มีการวิเคราะห์ มีงานวิจัย ดึงข้อมูลงานวิจัยออกมา ก็พบว่าจริงๆแล้ววิกฤต 3 ด้านใหญ่ๆ เรื่องของโลกร้อนความจริงไม่วิกฤตเท่ากับการสูญพันธุ์ด้วยซ้ำไป

SDGs 17 ข้อ มี Biosphere SDGs ที่เป็นฐานรากที่จะทำให้สังคมพัฒนาเศรษฐกิจได้มีความเท่าเทียมได้อยู่ต่อไปได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า SDGs 4 ฐานรากที่มันเป็น Biosphere ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมทางบก ทางทะเล แล้วก็ Climate Change มันคือ ฐานรากสำคัญ ถ้าเราไม่สามารถ achieve SDGs ตรงนี้ได้อันอื่นก็จะมีปัญหาไปหมด

แนวคิดเรื่อง area-based conservation กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ การอนุรักษ์เชิงพื้นที่ การเก็บพื้นที่ธรรมชาติเอาไว้ การประชุม COP15 หรือว่าการประชุมสุดยอดเรื่องว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพบรรลุผลที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า SDGs หรือว่า Paris Agreement  ก็คือ Cop15 มีข้อตกลงสำคัญหลายๆ อย่าง อันหนึ่งก็คือ แต่ละประเทศในโลกควรที่จะต้องมีการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ซึ่งก็คือเป็นปีเดียวกับ SDGs เหมือนกัน มันก็คือ การทำยังไงที่จะยกระดับการปกป้องคุ้มครองพื้นที่ธรรมชาติที่มันเหลืออยู่ 30% เป็นตัวเลขที่ทะเยอทะยานมาก ความจริงก่อนหน้านี้ ก็คือ เรามีเป้าหมาย Aichi เคยกำหนดไว้ว่าเราควรที่จะมีพื้นที่อนุรักษ์ทางบกอย่างน้อย 17% ทางทะเล 10% แต่ปรากฏว่า COP15 เมื่อปลายปีที่ผ่านมาบอกว่า เอาใหม่ จากงานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าเรายังจำเป็นจะต้องมีพื้นที่ๆ ได้รับการปกป้องดูแลไว้อย่างน้อยร้อยละ 30 มันถึงจะทำให้เราอยู่ใน safe operating system

นอกจากนี้เอง ใน COP15 มีเป้าหมายหลายๆ อย่าง อย่างเช่น เรื่องของ Zero Tolerance ในเรื่องของการทำลายธรรมชาติ หมายความว่า นโยบายที่มันจะย้อนกลับไปหาการพัฒนาแบบเดิมๆ ที่บอกว่าพัฒนาไปก่อนเดี๋ยวค่อยมาอนุรักษ์ทีหลัง ต้องทบทวน นโยบายอย่างเช่นในเรื่องของการทำเขื่อนในป่าอนุรักษ์ ซึ่งก็ยังมีอยู่ ยังมีข้อเสนอจำนวนมากในการที่สร้างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในป่าอนุรักษ์อย่างนี้ นโยบายพวกนี้จำเป็นต้องทบทวนอย่างยิ่ง เพราะว่ามันสวนทาง หรือแม้แต่การตั้งเป้าว่าอาจจะต้องมีการฟื้นฟูธรรมชาติให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ซึ่งก็มีข้อควรระวัง ก็คือ ปัจจุบันเราก็ยังเห็นการฟื้นฟูธรรมชาติที่ไม่ได้ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วก็นำไปสู่ผลเสียมากกว่าผลดีจำนวนมากในนามของ CSR 

อีกคำหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจาก COP15 ก็คือในเรื่องของ Nature Positive เดี๋ยวนี้เราพูดถึงเรื่องของการทำธุรกิจที่มันไม่ใช่แค่ลดผลกระทบแล้ว แต่มันควรเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น แนวคิดใหม่ๆ มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอย่างที่บอกว่าเรามี SDGs เป็นหมุดหมายสำคัญ มี Paris Agreement เป็นหมุดหมายสำคัญ แล้วตอนนี้ ในส่วนของอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพเองก็ตั้งหมุดหมายเอาไว้ที่ค่อนข้างที่จะจับต้องได้เช่นกัน

ในบ้านเรามี BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งความจริงแล้วมันเป็นกรอบคิดที่ดีมาก ก็คือเอาแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาจับคู่กับ SDGs แต่สิ่งทียังไม่เห็น ก็คือ มันมีแนวความคิดที่ดีแต่มันยังไม่นำไปสู่ Action จริงๆ เราก็เลยอยากยกตัวอย่างว่า การเมืองดีมันจะนำไปสู่นโยบายที่ดีได้อย่างไร ก็คือ ในส่วนของกรณี European Green Deal ที่เขาก็ตั้งหมุดหมายว่าถ้าเกิดประเทศจะต้องเป็น Carbon-neutral ให้ได้ภายในปี 2050 มันจำเป็นจะต้องมีหมุดหมายอะไรบ้าง แล้วเราจะเห็นว่า Green Deal ของสหภาพยุโรปจะแตะทุกภาคส่วน มันไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม มันเป็น Cross-cutting issues มันต้องเปลี่ยนผ่านไปทั้งองคาพยพ ทั้งสังคมเลยมันถึงจะสามารถบรรลุได้ 

สิ่งที่ตั้งคำถามแล้วโยนเอาไว้กับรัฐบาลใหม่ ก็คือ BCG มันเป็นกรอบแนวคิดที่ดีแล้ว แต่ทำยังไงที่มันจะนำไปสู่ Action ได้ ซึ่ง Green Deal นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ตอนนี้ เขามี Fit for Fifty Five หมายความว่า เขามีการนำเสนอแก้กฏหมาย 55 ชิ้นสำคัญ เพื่อที่จะนำไปสู่การลดการปล่อยการเรือนกระจก 55% ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นปีที่เป็นกฎหมายของ SDGs ทำยังไงให้มันบ้านเราเกิดนโยบายในรูปแบบนี้มากขึ้น

ต้องมีการมีส่วนร่วมจากทุกคน แล้วก็เบื่อไม่ได้จริงๆ เพราะถ้าเบื่อ การเปลี่ยนแปลงมันจะกลับไปอยู่เหมือนเดิม ถ้าภาคประชาสังคมไม่ติดตาม ไม่ส่งเสียง สื่อปล่อยผ่านทุกอย่าง แม้แต่ประกาศเอาไว้แล้วที่ควรจะต้องมีการแก้ไขก็ไม่ได้รับการแก้ไข (ยกตัวอย่างเรื่องการแบนพลาสติกที่ซาลงไป) เราอยากจะเห็นการเมืองใหม่ที่มีความรับผิดชอบ accountable แล้วก็สามารถที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมที่จะติดตามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกลเราคิดหนักอยู่เหมือนกันว่าเราจะผลักดัน SDGs ได้อย่างไร เราเห็นปัญหามาพอสมควรว่ามันมีลักษณะการขับเคลื่อนที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย ผู้ที่ตั้งใจจะขับเคลื่อนจริงๆ ก็คงไม่ได้หวังให้เป็นแบบนั้น ไม่ได้คิดให้เป็นแบบนั้น แต่ด้วยข้อจำกัดของการสื่อสารของการทำงานในเชิงการบริหารราชการต่างๆ มันก็ไม่สามารถที่จะผนึกกำลังรวมกันให้ได้

พรรคก้าวไกลคิดว่ามันมี 8 ประเด็นใหญ่ๆ ที่เราจะต้องผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง อาจจะตรงกับคำว่า กลุ่มประเด็นเปลี่ยนโฉม หรือว่ามันเป็นประเด็นที่เราจะต้อง transform คือเปลี่ยนไปให้ได้ใน 8 ประเด็นนี้

ประเด็นแรกก็คือเรื่องการศึกษา ประเด็นนี้มันมีประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทั้งในแง่โอกาส ในแง่คุณภาพ แล้วก็มันมีประเด็นเรื่องความเท่าทัน จริงๆหลายเรื่องผมขออนุญาตยกตัวอย่าง ที่ดร.เพชรพูดมาอาจจะไม่ค่อยได้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาของประเทศเรา หลายเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงานที่คุณวนันทำงานอยู่ก็อาจจะไม่ค่อยได้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา ทำอย่างไรที่ประเด็นเหล่านี้มันจะเท่าทัน อันนี้ก็เป็นโจทย์หนึ่ง

ประเด็นที่ 2 เรื่องสุขภาพ อีกสิ่งหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องอุบัติเหตุทางถนนที่เราก็เป็นห่วงอยู่และจะไฮไลท์มากขึ้น คือ เรื่องสุขภาพจิต เราก็คิดว่ามันเป็นภาพตัดขวางเชื่อมโยงไปสู่เรื่องอื่นๆ ค่อนข้างมาก เรามองไปในอนาคตว่าปัญหานี้จะมีความรุนแรงมากขึ้น ประเด็นที่ 3 เรื่องของการเปลี่ยนโฉมทางด้านระบบพลังงานให้มันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง เป็นระบบที่ใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น หมายถึง รถยนต์ของเราก็ควรจะเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เป็นขนส่งสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้า  และไฟฟ้าก็มาจากพลังงานหมุนเวียน

ประเด็นที่ 4 ก็คือ ประเด็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหารและการเกษตร ระเด็นที่ 5 ก็คือเรื่องของเมืองและชุมชนอันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหลายๆเรื่อง เช่น มันก็จะไปโยงสู่เรื่องเกษตร พลังงาน ไปสู่เรื่องการศึกษา  เรื่องสุขภาพจิต แล้วก็ไปโยงสู่ประเด็นเรื่องขยะ เรื่องการจัดการน้ำเสียต่างๆ เหล่านี้ 

ประเด็นที่ 6 ก็คือ เรื่อง Digitalization  ก็คือ การทำให้เทคโนโลยีต่างๆ เชื่อมโยงเข้าถึงเรื่องต่างๆ เป็นไปในระบบดิจิทัล ซึ่งเราก็เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ตั้งแต่ระบบสวัสดิการ เราไม่ได้ขายแค่ว่าแต่ละคนจะได้รับเท่าไหร่ แต่ว่าเราอยากจะทำให้ระบบสวัสดิการของไทยนั้นอยู่บนพื้นฐานของระบบดิจิทัลที่ไม่มีใครตกหล่น

 6 ข้อนี้ Prof. Jeffrey Sachs พูดไว้ว่ามันเป็น Six Transformations พรรคก้าวไกลอาจจะขอเติมอีก 2 เรื่องก็คือ ประเด็นเรื่องการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่ชุ่มน้ำ ประเทศไทยเรามีพื้นที่ชุ่มน้ำมากเลยแล้วก็พื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่ง เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนั้น กว๊านพะเยา หนองหาร อะไรอย่างนี้ แต่วิธีการแก้ไข วิธีการดีล วิธีการจัดการมันมีปัญหาไปหมด ยังไม่ต้องเถียงกันว่าเนื้อหาจะควรจะเป็นแบบไหน กลไกการจัดการมันวุ่นไปหมด มันมั่วไปหมด อันนี้คือตัวอย่างที่เราก็คิดว่ามันจำเป็นจะต้องมาปรับรื้อกันในเชิงโครงสร้าง ขณะเดียวกันเราก็มีประเด็นเรื่องพื้นที่ป่า อย่างที่เราก็ต้องเจอปัญหาหมอกควันกันทุกปี ปีที่ผ่านมา เราก็พบว่ามันมีพื้นที่ป่าใหญ่ๆเนี่ยอยู่ 11 ป่าที่มีไฟไหม้ มีการเผาไหม้รวมกันแล้วประมาณ 20 ล้านไร่ นั่นก็หมายความว่า ถ้าเราไม่สามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนให้ผู้พิทักษ์ป่า ให้เจ้าหน้าที่อุทยาน ให้อาสาดับไฟทำงานอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ได้ดีขึ้น รวมถึงประชาชนที่อาจจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าเหล่านี้แล้วช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดไฟ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้

เรื่องที่ 8 ที่เป็นเรื่องสุดท้ายก็คือ เรื่องของโครงสร้างอำนาจ ประเด็นเรื่องโครงสร้างอำนาจเป็นประเด็นใหญ่ที่เราต้องตัดขวางทั้ง 7 ประเด็นที่เหลือเพื่อที่จะมาตอบโจทย์ในแง่ของการไปสู่ SDGs ให้ได้ เวลาเราพูดเรื่องโครงสร้างอำนาจในที่นี้ ไม่ได้พูดเรื่องปฏิรูปกองทัพหรือปฏิรูปตำรวจ แต่เป็นเรื่องกฎหมายเรามีปัญหาจริงๆ เรื่องการปรับแก้กฎหมาย ทั้งในส่วนของความล่าช้าของกระบวนการในการปรับแก้กฎหมาย ทั้งความเชื่อมโยงเวลาเราแก้กฎหมาย มันไม่สามารถที่จะมีระบบที่เช็คโดยอัตโนมัติ หรือมันมีแต่เราไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะเช็คโดยอัตโนมัติว่า ถ้าเราต้องการจะทำอย่างนี้เราจะต้องไปแก้ตรงจุดไหนประกอบกันด้วยเพื่อให้ทั้งหมดมันเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพ

ยังมีประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น อันนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญว่าแล้วท้องถิ่นจะมีขีดความสามารถในการรับ SDGs ได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด เท่าที่ผ่านมาก็อาจจะยังไม่ได้มีกรอบชัดเจนในการที่เราไปแนะนำท้องถิ่นได้ว่าการดำเนินการเรื่อง SDGs ภายใต้อำนาจที่จะมีเพิ่มขึ้น ภายใต้งบประมาณที่จะมีเพิ่มขึ้น ควรจะเป็นอย่างไร อีกอันหนึ่งก็คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราขาดอยู่ เราก็พยายามจะคิดกลไกที่จะทำให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมได้ ตอนนี้เบื้องต้นที่เป็นไปได้ก็คือ อยู่ภายใต้ 7 ข้อข้างต้นที่เราอาจจะต้องให้ภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในการเปลี่ยนโฉม นอกจากนั้นอาจจะมีกลไกเพิ่มเติม อย่างประเด็นในเรื่องสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกลเราก็เคยเสนอว่ามันถึงเวลาที่จะมีคณะกรรมการร่วมระหว่างสภากับภาคประชาชน

แล้วก็ประเด็นสุดท้ายก็คือ ประเด็นเรื่องของกลไกในทางเศรษฐกิจก็คือ โครงสร้างอำนาจในทางเศรษฐกิจ เราอยู่ภายใต้ปัญหาที่การกำหนดเศรษฐกิจอยู่ในมือของธุรกิจขนาดใหญ่มากเกินไป การที่เราจะกระจายโอกาสมาสู่ธุรกิจรายย่อยๆ เราไม่ได้มีแผนการรูปธรรมที่ชัดเจนมากพอ ซึ่งจริงๆ แล้วการดำเนินงานเรื่อง SDGs หมายถึง การเห็นคุณค่าส่วนย่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมิติสังคม Human Rights มันสามารถเปิดโอกาสให้หน่วยธุรกิจย่อยๆ เข้ามามีส่วน ไม่ใช่แค่ดำเนินธุรกิจ แต่เข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายของประเทศนี้ได้มากขึ้น อันนี้เราก็ยังไม่ค่อยมีกรอบ framework เราก็คิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่

ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจเห็นด้วยกับดร.เพชรเรื่องความรับผิดชอบ ที่ผ่านมาเวลาเราพูดเรื่องกลไกจัดการทางเศรษฐกิจ เราชอบพูดถึงเรื่องอะไรที่มันเป็นผลประโยชน์เพิ่ม มันเหมือนกับเราก็จะตื่นเต้นกับ Carbon Credit เป็นพิเศษเพราะว่ามันเป็นผลประโยชน์เพิ่ม แต่เราก็จะไม่ค่อยเอาจริงเอาจังกับการคุยกันเรื่อง Carbon Tax หรือ Carbon Cap ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ประเทศเราก็อยู่ในประเทศที่ไม่ได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อย ความรับผิดชอบของพวกเรามันควรจะอยู่ในระดับไหน และจริงๆ คนที่จะรับผลจากพวกเราก็ไม่ใช่ใคร ก็คือ ลูกหลานของเรา เพราะฉะนั้นการตั้งคำถามลักษณะนี้มันน้อยไป 

มันควรจะจำเป็นต้องตั้งคำถามในเชิงเศรษฐกิจที่เราไม่อยากใช้คำว่า ลงโทษตัวเราเอง แต่ควบคุมตัวเราเองให้ดีขึ้น เรื่องพลาสติก เรื่องบรรจุภัณฑ์ มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องเอาความรับผิดชอบของผู้ผลิตและความรับผิดชอบของผู้บริโภคเข้ามาให้มากขึ้น อันนี้เป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่เราต้องพูดถึงด้วย สำหรับพรรคก้าวไกล มันคือโครงสร้างอำนาจแบบหนึ่ง หมายถึงว่า โครงสร้างอำนาจในความหมายที่ว่า ถ้าเราพูดเฉพาะสิ่งที่เราได้ประโยชน์ เราก็กำลังใช้อำนาจของเราผลักภาระที่เหลือให้กับคนรุ่นหลัง เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะรับผิดชอบต่ออนาคตของคนรุ่นหลัง มันก็หนีไม่พ้นที่เราจะต้องเอาประเด็นเหล่านี้เข้ามาคิดในการออกแบบทางเศรษฐกิจนโยบายทางเศรษฐกิจของพวกเราด้วย

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มี 2 ประเด็นใหญ่ๆ ประเด็นแรก คือ การขับเคลื่อนเรื่อง SDGs เราต้องเอามันอยู่ใน Context ของโลกแล้วก็ของประเทศด้วย คือเวลาเราคิดใน SDGs บางทีเราคิดถึงแค่ในประเทศของเรา แล้วก็คิดในบริบทที่ไม่ได้มีความขัดแย้งใดๆ อยู่ในนั้น แต่ในความเป็นจริง เรากำลังอยู่ในโลกที่มีความขัดแย้งในเชิงภูมิศาสตร์ แล้วก็ประเด็นความยั่งยืนหลายประเด็นในประเทศเราเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงกับประเทศอื่นที่เราทำการค้าด้วยทั้งสิ้น ดังนั้น เราอาจจะต้องเอาประเด็นเหล่านี้เข้ามาพิจารณาด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องพูดเรื่องนี้ เพราะว่าเมื่อมันมีเรื่องภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง บางทีมันไปโยงกับประเด็น SDGs

แต่ไม่ว่าจะมีประเด็นความแตกต่างในการเมืองใดๆ ก็ตาม เรื่อง SDGs ควรจะเป็นประเด็นร่วมของขั้วใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นระดับโลกหรือระดับท้องถิ่น ระดับโลก COP15 เป็นตัวพิสูจน์แล้วว่า ไม่ว่าจีนหรืออเมริกาก็ตกลงกันที่จะร่วมกันจะขับเคลื่อนเรื่อง Biodiversity ในประเทศไทยก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝั่ง Conservative หรือ ฝั่งที่ก้าวหน้า ก็ตาม SDGs ต้องเป็นประเด็นร่วมของพรรคทั้ง 2 ฝั่ง นั่นแปลว่า ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ตาม เรื่องธรรมชาติก็ตาม ประเด็นเรื่อง Inclusive เรื่องพวกนี้ ไม่ควรจะต้องมาเถียงกันว่า ควรทำ ไม่ควรทำ มันเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นเป้าเดียวกันที่จะต้องไป แน่นอนเส้นทางอาจจะแตกต่างกันระหว่างฝั่ง Conservative กับ ฝั่งก้าวหน้า ซึ่งอันนี้ถกเถียงกันได้ แต่ไม่ควรที่จะต้องเถียงเรื่องเป้าอีกต่อไป อย่างเรื่องพม่า เราไม่ควรจะต้องเถียงกันต่อไปว่า เราควรจะ support รัฐบาลพม่าหรือเปล่า ตราบเท่าที่เขายังทำร้ายชนกลุ่มน้อยในประเทศเขาอยู่ เป็นต้น เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่จริงๆ ไม่ควรจะต้องเถียงกันแล้ว มันควรจะต้องรู้ว่าถ้าเกิดมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหนก็ตาม ต้องไม่เห็นด้วย อย่างนี้เป็นต้น แต่ปัจจุบันในเมืองไทยทั้ง 2 ฝั่งมันมีความอิหลักอิเหลื่อกันแบบนี้ พอบางทีเราไม่เห็นด้วย ว่าฝั่งนึงมากเกินไป เราก็อาจจะกระโดดเข้าไปในดินแดนอันมืดมิด ที่ทำให้เราอาจจะลืมไปว่าเราเคยสัญญากับโลกว่าเราจะดำเนินการตามหลักการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 

ประเด็นที่ 2 SDGs มันไปได้ช้ามากในปัจจุบัน จะเร่งเครื่อง เร่งได้หรือเปล่า ในความเป็นจริงคือ การมุ่งไปสู่เป้าหมาย SDGs   จริงๆ มันไม่ใช่ทางราบ ทางราบมันผ่านมาแล้ว หมายถึงว่าส่วนที่เป็นผลไม้ที่เราเก็บได้ง่ายๆ Quick win ทำไปหมดแล้ว จากการประเมินของ SDGs Index เราลองแยกประเด็นที่เป็นประเด็นวิกฤต ประเด็นสีส้ม สีแดงออกมา สิ่งที่พบก็คือ สมมติเราแยกออกมา 20 ประเด็น ในประเด็นวิกฤต 13 ประเด็น คือประเด็นที่ถดถอยลงกว่าเดิมหรือไม่ก้าวหน้า ดังนั้น แปลว่า ประเด็นวิกฤตของ SDGs ของไทยมันมีความท้าทายเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นแปลว่า เร่งเครื่อง นี่คือเหมือนทำแบบเดิมแล้วเพิ่มความเร็ว แต่ในความเป็นจริงตอนนี้มันทำแบบเดิมไม่ได้ มันต้องกระโดด มันต้องพลิกโฉม มันต้อง transform ดังนั้นคำว่า Transformation เป็น keyword สำคัญ จริงๆ แล้วไม่ใช่ในแง่ของการมอง SDGs ให้เป็นกลุ่มประเด็น แต่ว่าวิธีการทำงานต้องเปลี่ยนด้วย 

ซึ่งวิธีการทำงานที่ว่า ขอพูดถึงประเด็นหลักๆ ประมาณ 4 ประเด็น ประเด็นแรก ก็คือ ประเด็นของการที่ทำยังไงจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม contribution from the people ของ คุณ Renaud ซึ่งอันนี้โยงไปสู่เรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ทำยังไงเราจะมีเวทีภาคประชาสังคมในระดับนโยบายเรื่อง SDGs ทำยังไงเราจะมีคณะอนุกรรมการ กพย. ในเรื่องนี้ที่เป็นของภาคประชาสังคมที่สามารถที่จะนำเสนอไอเดียเรื่องนโยบายความยั่งยืนได้ ควบคู่กับการที่เรามีอนุกรรมการหรือกรรมการภาคเอกชนและภาคเยาวชน แล้วก็ทำยังไงจะทำให้เรื่อง SDGs กลายเป็นประเด็นที่จะต้อง accountable กับรัฐสภา ไม่ใช่ accountable แค่เฉพาะตัวคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

ถ้าเกิดมันสามารถที่จะทำให้รัฐสภาได้รับทราบเรื่องนี้ มีกระบวนการงานงบประมาณที่มีทำให้เรื่อง SDGs มันเป็นเรื่องที่มัน exclusive อยู่ในกระบวนการงบประมาณได้ มันจะทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยได้มีการ contribute ให้เรื่อง SDGs มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ต้องมีคำว่า SDGs ก็ได้ แต่ว่าในงบประมาณแต่ละชิ้นมันควรจะต้อง t rack ได้ว่า อันไหนมีจุดมุ่งหมายที่เกี่ยวข้องกับ SDGs แน่นอน เราคงไม่ได้สามารถไปดูว่างบประมาณก้อนนี้มันสร้าง outcome ได้ตรง SDGs ไหม แต่อย่างน้อย เราก็อยากจะรู้ว่างบประมาณไหนมันมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบโจทย์ SDGs บ้าง เราจะได้พอเห็นภาพ แต่ละนโยบาย แต่ละงบประมาณก็คงมีเป้าหมายการใช้งบการใช้เงินที่แตกต่างกัน เราแค่อยากจะรู้ว่ามันมัน track SDG 17 เป้าหมายได้อย่างไร 

เรื่อง contribution of the people ก็คือ ทำยังไงเราถึงจะ recognize local wisdom ประเด็นที่คุณวนันพูดตอนแรก มันคือเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือกระทั่งภูมิปัญญาของชนกลุ่มน้อยหรือคนกลุ่มชาติพันธุ์ที่จริงๆ แล้วมีวิถีปฏิบัติดั้งเดิมที่ยั่งยืน แต่ทำยังไงเราถึงจะทำให้ประเด็นเหล่านี้ ได้รับการยอมรับในระดับภาพใหญ่ได้มากขึ้น อย่างเช่น การทำไร่หมุนเวียน ซึ่งจริงๆ ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ หรือกระทั่งแนวปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ความหลากหลายชีวภาพ

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะเน้นย้ำ ประเด็นที่ 2 ก็คือ SDGs ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ บางประเด็นที่ทำมันขัดกันได้ อย่างประเด็นที่เราจะเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์เป็น 30% มันจะต้องมีผลอะไรบางอย่างกับชุมชนที่อยู่ในเขตบริเวณนั้นแน่นอน ยิ่งถ้าเราใช้คำนิยามที่ strict อย่างของ IUCN ซึ่งนั่น แปลว่า จะต้องมี objective แรกของการอนุรักษ์ ซึ่งนั่นแปลว่า อาจจะส่งผลต่อการอยู่อาศัยของคนที่อยู่ในพื้นที่ธรรมชาติแบบนี้ ประเด็นพวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องต้อง address หมายถึงว่า SDGs มี trade offs เราต้อง address ประเด็นเหล่านั้น แล้วหา solutions ร่วมกันว่าทำยังไง trade offs เหล่านั้นถึงจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด หรือมีการชดเชยอย่างเหมาะสมเป็นธรรมที่สุด 

ประเด็นที่ 3 ก็คือเรื่องของบทบาทของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ปัจจุบันอันนี้พูดโยงไปส่งกระทรวง อว. ด้วยก็คือ นโยบายด้านการวิจัยในภาพรวมมันเน้นไปเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจซะเยอะ ส่วนประเด็นเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนมันน้อยมาก น้อยในระดับที่กระทรวง อว. ไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นฝั่งของมหาวิทยาลัยหรือฝั่งวิจัย ฝั่งวิจัยก็ต้องยอมรับว่าเขามีการเอา SDGs Index เข้าไปอยู่ในนโยบาย แต่ว่าปัจจุบันมันก็ไม่ได้มีความชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณขนาดนั้น      ดังนั้นมันต้องมี agenda เรื่อง SDGs ต้องเป็น agenda สำคัญของกระทรวงอว. เพื่อจะเอาเทคโนโลยีนวัตกรรม มา address trade offs ที่เรากำลังพูดถึง

ประเด็นสุดท้าย ก็คือ เรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนซึ่งอันนี้เป็นบทบาทสำคัญ 2 ส่วน คือ หนึ่ง สื่อ อย่างที่ Bangkok Tribune, Thai PBS แล้วก็ Decode.plus มาทำเรื่องนี้ เรารอคอยมานานเหลือเกินเมื่อไหร่จะมีภาคีของสื่อที่จะมาร่วมผลักดันเรื่องนี้ ระดับโลกมี SDGs Media Compact เราจะมีอย่างนี้ในเมืองไทยได้ไหม เพื่อเราจะได้มี Pact ของสื่อที่มาผลักดันเรื่องนี้ ทำให้คนเข้าใจเรื่องความยั่งยืน ไม่ต้อง SDGs ก็ได้ แต่รู้ว่ามันเป็นประเด็นที่มันเป็นปัญหาในโลกนี้ ในประเทศของเรา กระทบกับผู้คนอย่างไร แล้วอะไรคือทางเลือกที่ผู้คนจะสามารถจะรู้ได้ว่ามันมีทางเลือกอะไรได้บ้าง 

อีกส่วนก็คือเรื่องของ Education for Sustainable Development การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นชายขอบของการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย เป็นประเด็นที่ไม่มีอยู่เลยในการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างน้อยในนโยบาย ถึงแม้มหาวิทยาลัยตั้งแต่ผนวกประเด็นนี้เข้าไป แต่ว่ามันไม่เคยปรากฏเป็นนโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา ดังนั้น เรื่องเหล่านี้นอกเหนือจากความเท่าเทียม นอกเหนือจากการเพิ่มคุณภาพการศึกษา เรื่อง Education for Sustainable Development จำเป็นจะต้องถูกผนวกเข้าไปในการศึกษาทั้งระดับพื้นฐานและระดับอุดมศึกษาเพื่อให้เราสร้างคนรุ่นใหม่มาเปลี่ยนแปลงโลกให้ยั่งยืน

ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สภาพัฒน์เป็นฝ่ายเลขานุการกลางของเรื่อง SDGs ในเรื่องของตัวการขับเคลื่อนและการวางแผนรวมทั้งประเมินผลด้วย ประเด็นหนึ่งที่น่าจะเป็นข้อท้าทาย คือ การที่เราจะต้องเอาเรื่องแผนไปสู่การปฏิบัติ แล้วก็โดยเฉพาะกับทางหน่วยงานปฏิบัติที่เราเรียกว่าเป็นเป็น executing body ที่เราต้องทำอย่างเรื่องที่ได้พูดถึงการศึกษา จริงๆ ได้มีการคุยกันกับทางกระทรวงศึกษาฯ ด้วย แล้วก็ทางกระทรวง อว. ด้วยว่า การศึกษาเรื่อง SDGs จริงๆตอนนี้เป็นทางเลือก ก็คือ จะอยู่ในระบบของการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษานอกโรงเรียน แล้วก็รวมทั้งวิชาเลือกในมหาวิทยาลัย

ในทางของมุมหน่วยนโยบายที่เราได้คุยกันเรื่องการศึกษา หรือ Education for SDGs เราคิดว่าการศึกษาควรจะต้องเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้กับเด็กๆ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่อยากให้เป็นแค่วิชาเลือก เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสอน ให้รู้จักการแยกขยะหรือการงดใช้ถุงพลาสติก การพัฒนาการของเด็กจะแตกต่างกันทุกชั้นการรับรู้ของเด็กในทุกๆช่วงวัย เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราได้มีการพยายามอย่างเต็มที่ว่า เรื่องของการศึกษา ทำยังไงให้สามารถสร้างหรือผนวกเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัยให้ได้ ซึ่งอันนี้ในส่วนของการคิดหรือการผลักดัน ก็อาจต้องฝากทางรัฐบาลที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ช่วยผลักดันขึ้นด้วยเหมือนกัน

ประเด็นที่ 2 ขออนุญาตเสริมประเด็นเรื่องของการขับเคลื่อน ก็คือ ควรเป็นการก้าวกระโดด แต่ประเด็นหนึ่งที่ทางสภาพัฒน์ในฐานะของหน่วยนโยบาย เราคิดว่าข้อจำกัดนึงที่ประเทศเรายังมี คือ เรื่องขององค์ความรู้เทคโนโลยี เพราะว่าจริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราพยายามที่จะคุยว่านอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายกฎระเบียที่จะมีการผูกพันผูกมัดกับในเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน เรื่องขององค์ความรู้เทคโนโลยีเป็นตัวหนึ่งที่เราพยายาม ควรจะใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แล้วก็องค์ความรู้มาใช้ในการในการพัฒนา แล้วก็ปิดช่องว่างของ SDGs ให้ได้

ตอนนี้หลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องของ Carbon Tax ที่ไม่ใช่แค่ตัว Carbon Footprint ต่างๆ หรือว่าเรื่องของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม Just Energy Transition จริงๆ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยมีปัญหา ที่ได้ประสานงานกับทางองค์กรระหว่างประเทศ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างที่จะท้าทายทุกประเทศเหมือนกัน จริงๆ ภาครัฐตอนนี้เราก็ได้มีการคุยกับทั้ง OECD และ ADB  ในการที่เราพยายามที่จะนำแนวปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศรวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมาใช้กับไทยให้ได้ อาจจะไม่ใช่ในช่วงของการที่เราสั่งสมความรู้ใหม่ แต่เราอาจจะต้องซื้อเทคโนโลยี หรือว่านำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วพร้อมใช้เข้ามาปรับปรุงกับบริบทของเราให้ได้ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ภาครัฐเองพยายามที่จะดันอยู่ว่าในส่วนของปัจจัยสำคัญเลย คือ เรื่องของ Innovation เรื่องของสิ่งที่มีอยู่สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็น Social Innovation ก็ตาม หรือว่า Scientific Innovation ก็ตาม ต้องเอาเข้ามาใช้เพื่อปิดช่องว่างแล้วก็ขับเคลื่อน SDGs ให้ได้

ส่วนเรื่องสุดท้ายเรื่องของตัว enabling factors ต่างๆ รวมทั้งเรื่องการปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ จริงๆเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทางสภาพัฒน์เองก็ได้คุยกับกฤษฎีกา เทคโนโลยีเปลี่ยนไปทั้งหมด หรือบริบทโลกเปลี่ยนไปทั้งหมด การปรับปรุงกฎหมายที่จะต้องวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงกับกฎหมายตัวอื่นมันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งจริงๆกฤษฎีกาได้ทำงานใกล้ชิดกับ OECD ในเรื่องนี้มาก แล้วก็พยายามที่จะทำให้การปรับระบบกฎหมายของไทยให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดโดยเฉพาะการตอบโจทย์ทุกเรื่อง รวมถึง SDGs ด้วย จะต้องไปพร้อมกันแล้วก็จะต้องเป็นภาครัฐสมัยใหม่ให้ได้ นี่ก็เป็นความพยายามหนึ่งที่ดำเนินการอยู่

ดร.เพชร มโนปวิตร เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ก่อตั้ง ReReef

มันมี tool box มีเครื่องมืออีกเยอะแยะเลยในการที่จะทำให้การอนุรักษ์เชิงพื้นที่สำเร็จได้ ซึ่งความจริงในตัว COP15 ตอนนี้สิ่งที่เขาพูดกันเยอะ ก็คือ ในส่วนของ OECM (Other Effective Area Based Conservation Measure) หรือว่ามาตรการอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพ ที่อาจจะไม่ใช่เชิงกฎหมายก็ได้ บ้านเราก็มีตัวอย่างความสำเร็จที่เยอะที่เกิดมาจากภาคประชาชน ภาค NGO สมาคมรักษ์นก ระดมทุนในการซื้อที่เพื่อให้เป็นเขตอนุรักษ์พื้นที่นกชายทะเลซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพราะฉะนั้นมันสามารถสร้าง win-win scenario ได้ ถ้าเรามองว่าความหลากหลายทางชีวภาพมันคือต้นทุนธรรมชาติในการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

นโยบายที่มันทำลายธรรมชาติแบบเห็นๆ ที่มันขัดแย้งกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน การนำโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เข้าไปในป่าอนุรักษ์ที่มันมีหมุดหมายอยู่แล้วว่ามันคือพื้นที่อนุรักษ์ อันนี้ควรต้องทบทวนและไม่ควรจะต้องมานั่งเถียงกันเรื่องเดิมอีกแล้ว 

นโยบายที่มันนำไปสู่การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอาจจะโดยไม่ตั้งใจอย่างเช่นเรื่องภาษีที่ดิน ในขณะที่คนที่ลุกขึ้นมาจัดตั้งพื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์ กลายเป็นว่าไม่มีแรงจูงใจอะไรให้เขาเลย เขาลงทุนของเขาเองทั้งหมด อย่างเช่น อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ก็มีการจัดการพื้นที่ที่บริเวณเชียงดาว ลงทุนในเรื่องของการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำกลับมาเอง เราอยากเห็นนโยบายที่ทำให้เกิดการขยายผลตรงนี้ได้ แล้วประเด็นสำคัญอีกประการ มันคือ การทำด้วยความรู้ สิ่งที่ขาดไปในสมการการพัฒนาอย่างมากในบ้านเรา ก็คือ นักนิเวศวิทยา หรือคนที่มีความรู้ เราถึงยังต้องเถียงกันเรื่องเดิมๆ อย่างเช่น การแก้ปัญหาการกัดเซาะที่ใช้ลักษณะของโครงสร้างแข็งอะไรอย่างนี้ แล้วกว่าจะแก้ปัญหากว่าจะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเนี่ยมันยากเย็นเหลือเกิน

ประเทศเรามีส่วนผสมทุกอย่างที่จะทำให้การอนุรักษ์ประสบความสำเร็จได้เรามีรัฐบาลที่จะดีจะชั่วที่ผ่านมา ก็ลงทุนในเรื่องของการอนุรักษ์มากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ เราลงทุนในเรื่องของการจัดตั้งพื้นที่อุทยานฯ เรามีเจ้าหน้าที่ คือ ประเทศอื่น NGO ต้องออกเงินจ้างเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนซึ่งมันไม่มีความยั่งยืนอยู่แล้ว ของบ้านเรามันยังมีโอกาสในการพัฒนาได้ดีกว่านี้ รัฐบาลมีการลงทุนในเรื่องนี้แล้วอย่างระดับหนึ่ง แล้วโมเดลที่เราเห็นประสบความสำเร็จ ก็คือรัฐบาลทำงานร่วมกับ NGO ที่เอาในเรื่องของการศึกษาวิจัยเอาในเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้เข้ามาช่วย เราเป็นประเทศต้นแบบของการอนุรักษ์เสือโคร่งที่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น เรามีโมเดลการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จเนี่ยหลายรูปแบบมาก แต่ปัญหาที่ผ่านมา ก็คือ เราไม่เคยมีความสามารถในการขยายผลได้เลย เราจะมีโครงการนำร่องแล้วนำร่องอีก ซึ่งพอจบแล้วก็จบไป ซึ่งอันนี้คือปัญหามากๆ 

หรือนโยบายที่มันเอื้อให้ภาคธุรกิจเองก็สามารถที่จะลงทุนในเรื่องของการพัฒนาที่อาจจะเป็นผลเชิงบวกให้กับการอนุรักษ์ หรือว่าในเรื่องของ SDGs โดยรวมได้ รัฐบาลเราไม่ได้ขาดแคลนเงินขนาดนั้น เพียงแต่จะจัดสรรยังไงให้มีการ prioritize ความสำคัญได้มากกว่านี้ มีคนเก่งๆ คนทุ่มเทอยู่ในระบบเยอะ ทำยังไงให้คนพวกนี้ได้มี career path มีโอกาสมองเห็นอนาคตตัวเอง แล้วก็การสร้างความเข้มแข็ง การเปิดให้มีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม สำคัญเช่นกัน 

คุณวนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการบริหาร Climate Watch Thailand

ไม่รู้ยังไงเราจะสามารถที่จะ leapfrog ได้ไหม เราไม่สามารถที่จะเดินได้อีกแล้ว (ยกประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน) ทางสภาพัฒน์บอกเราต้องวิ่ง เราวิ่งไม่ได้แล้ว เราต้องกระโดด เพราะว่าเรื่องโลกร้อนมันเป็นเรื่องมันเป็นเรื่อง urgency มันมาอยู่หน้าประตู เพราะฉะนั้น ทำยังไงจึงจะ leapfrog ได้ ปรับเปลี่ยนไปเลยโดยไม่ต้องผ่าน ไม่ต้องมี transition พลังงาน ทำยังไงก้าวกระโดดไปเลยไปที่พลังงานหมุนเวียน แล้วก็ปิด loop ทุกอันที่จะเดินหน้า เช่น ไปใช้พลังงานในรูปแบบใหม่ที่มันเกิดขึ้น

เรื่อง shifting the power การเปลี่ยนผ่านอำนาจควรจะเป็น shifting the power to the peoples ไม่ใช่ยังคง maintain หรือแม้กระทั่ง facilitate power นั้นให้อยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ 

ปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นปัญหามลพิษ ปัญหาเรื่องโรคร้อน มันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่เพิ่งเกิด มี root causes มันมีตั้งแต่ตัวตั้งต้น เพราะฉะนั้น มันต้อง challenge system ที่มันเป็นเรื่องของ root causes เพราะฉะนั้น ใครที่ทำให้เราอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็จะเป็นพวกกลุ่มที่เป็น Corporate เพราะฉะนั้น ลองดูสิว่าในแนวนโยบายเราเอื้อให้ Corporate เดินหน้าเป็นสีเขียวไหม ทั้งๆ ที่เขาเป็นกลุ่มคนที่สร้างปัญหาให้เราอยู่ในขณะนี้ ต้อง unpack และ address ที่มันเป็น systemic issues 

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พรรคก้าวไกล

จริงๆ แล้วเราก็เน้นเรื่องของการที่ใช้คำว่า “คนเท่ากัน” หลายท่านก็คงคุ้นเคยกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามจะสื่อสารอันนี้ก็คือ สิ่งที่หลายๆ ตัวชี้วัดใน SDGs มันก็คือ การพยายามที่จะมุ่งไปสู่ความเป็นคนเท่ากัน ไม่ใช่เฉพาะในมิติทางการเมือง แต่ว่าในมิติของโอกาสในการพัฒนา ในมิติของคุณภาพชีวิต ในมิติของการมีสิทธิ์มีส่วนในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นในเรื่องของ SDGs ทิศทางมันจึงสอดคล้องกับความพยายามของพรรคก้าวไกลในการที่จะสร้างให้คนเท่ากัน แต่ว่าขณะเดียวกันมันก็มีอีกประเด็นหนึ่งก็คือ เราก็หวังว่าจะให้ประเทศเท่าทันกับโลก ก็คือว่า ทั่วโลกเขาสนใจเรื่องไหนกัน เขาเอาจริงเอาจังเรื่องนี้ เราก็อยากจะทำให้เห็นว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราเอาจริงเอาจังมากกว่าเพียงแค่เราเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องทำ แต่เราอยากจะทำให้ประเทศไทยเราเป็นตัวอย่างที่ดีในหลายๆ เรื่องที่เราทำได้

เรื่อง Climate Change เรื่อง Biodiversity เราก็อยากจะทำให้ประเทศของเราเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้น รวมถึงประเด็นเรื่องของ Adaptation เพราะฉะนั้น มันจึงทั้งเท่าเทียมและเท่าทัน มันจึงเป็นโจทย์โดยตรงที่พรรคก้าวไกลเราให้ความสำคัญ แต่ถามว่า แล้วจากนี้ต่อไปจะเป็นยังไง? การมีส่วนร่วมของประชาชนนั่นแหละ มันคือโจทย์สำคัญที่เราจะต้องตอบให้ได้ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนทที่มันจับต้องได้ ที่มันมีความหมายจริงๆ มันคืออะไร อันนี้เป็นเรื่องที่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถทำให้ภาคส่วนของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง มันก็จะตอบเรื่องการมีส่วนร่วมด้วยลำบาก เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราอยากจะทำให้ได้ 

แล้วก็อีกเรื่องนึงก็คือเรื่องของการสื่อสารในสาธารณะ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรายังคุยกันน้อยไป ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นปัญหา หรือเป็นความผิดของสายวิชาการ แต่ว่ามันเป็นภารกิจที่ทั้งรัฐบาล ทั้งฝ่ายวิชากา รทั้งภาคประชาชน จะทำยังไงให้การคุยเรื่องพวกนี้มันมีประเด็น มันมีความสำคัญมากขึ้น เพราะฉะนั้น การมีส่วนร่วมที่เราจะกำหนด setting ประเด็นเหล่านี้กันมันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก บางครั้งมันก็มาอย่างนึกไม่ถึงอย่างเช่น การอนุรักษ์ความมืด ปรากฏว่าก็มีคนส่วนหนึ่งที่เก็ตและการเชื่อมโยงคนที่เก็ตให้มันเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นี่คือการมีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุดเพราะมันคือ Agenda Setting แล้วถ้ามัน Agenda Setting ได้ เดี๋ยวคณะกรรมการเขาก็พูดเรื่องนี้ เดี๋ยวคนทำงบประมาณเขาก็ทำเรื่องนี้ เดี๋ยวคนออกกฎหมายเขาก็ออกเรื่องนี้ อะไรอย่างนี้ แต่พลังของเราในประเด็นนี้ยังอาจจะไม่พอ

FB LIVE RECORDING: SPECIAL FORUM: SDGs in the New Politics