ไฟป่าและการเผาเพื่อการเกษตรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือปีนี้รุนแรงและสร้างผลกระทบในวงกว้างมากกว่าปีก่อนๆ แต่สำหรับ ป้าเหรียญ ธิมาคำ แล้ว ไฟปีนี้กลับรุนแรงสาหัสที่สุดในชีวิต เมื่อเธอต้องสูญเสียลูกชายซึ่งทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครดับไฟของหมู่บ้าน ในกองเพลิงที่ไล่ลามจากการเผาป่าเผาไร่ของใครสักคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้แม้แต่จะรับรู้ถึงความเศร้าเสียใจของเธอเลย
ป้าเหรียญ วัย 73 ปี นอนไม่ค่อยหลับมาหลายสัปดาห์แล้ว เธอต้องตกอยู่ในความโศกเศร้าจากการจากไปอย่างกะทันหันของ วิชัย ธิมาคำ หรือ ต้อม ลูกชายวัย 39 ปี เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 ส่วนสามีเธอกลับนั่งนิ่งเงียบเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน พูดคุยน้อยลง และแอบสะอื้นไห้อยู่เป็นพักๆ ทุกๆ วัน
เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ต้อมมักจะออกไปหางานทำในหมู่บ้าน เขารับจ้างงานทั่วไป ทั้งงานในสวนผลไม้ แรงงานต่างๆ ส่วนในเวลาว่างเขาทำหน้าที่เป็นอาสาสมัคร ตรวจตราความผิดปกติของชุมชน ตั้งแต่เรื่องยาเสพติดไปจนถึงไฟป่าที่อาจลุกลามเข้าหมู่บ้าน บ้านปงไคร้ตั้งอยู่กลางป่าต้นน้ำปงไคร้และล้อมรอบด้วยอุทยานแห่งชาติสองแห่งคือขุนขานและดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งไฟป่าจะลุกลามในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่หมู่บ้านปงไคร้ในอำเภอแม่ริมของจังหวัดเชียงใหม่จึงเป็นหนึ่งในชุมชนทางภาคเหนือที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง
วันที่ 30 มีนาคม 2566 ไฟป่าจากอุทยานแห่งชาติขุนขานไล่ลามเข้ามาใกล้เขตบ้านเรือนและชุมชน พ่อหลวงศักดิ์ พันธิยะ ได้รวบรวมอาสาสมัครในชุมชนมาช่วยดับไฟ ต้อมเป็นหนึ่งในกลุ่มอาสาฯ ซึ่งออกไปดับไฟตั้งแต่ช่วงบ่าย พวกเขาสามารถสกัดไฟได้ราวๆ เที่ยงคืน จึงแยกย้ายกันกลับ ทุกคนเพิ่งมารู้กันอีกทีเมื่อตอนรุ่งสางว่าคนของพวกเขาหายไปคนหนึ่ง
ต้อมถูกพบนอนอยู่ในป่าที่ไฟเผาผลาญจนเตียนโล่ง และพื้นดินเป็นสีดำจากเศษเถ้าถ่าน ผลนิติวิทยาศาสตร์บ่งบอกว่า เขาเสียชีวิตจากการสำลักควันไฟ และร่างกายของเขาถูกไฟไหม้อย่างหนัก ป้าเหรียญไม่อยากจะจินตนาการถึงช่วงเวลาก่อนเขาจะเสียชีวิต เธอเล่าด้วยน้ำเสียงเครือๆ ว่า ต้อมมักจะเป็นคนทำอาหารให้พ่อและแม่ทุกๆ วัน แต่ในวันเกิดเหตุเขาไม่มีเวลาเตรียมอาหารเย็นให้พวกเขา และมื้อเช้าก็เป็นมื้อสุดท้ายที่พวกเขาได้มีเวลาอยู่ด้วยกัน
“ป้าช็อคมากๆ เมื่อได้ยินข่าวต้อม ป้ารับไม่ไหว เลยเป็นลมไปเลย” ป้าเหรียญเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอเบ้า “ป้ายังทำใจไม่ได้ ป้ายังไม่รู้เลยว่าเราจะอยู่กันยังไงต่อโดยไม่มีเขา”
ต้อมเป็นหนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากไฟป่าซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ไฟป่าและอาสาสมัครตามหมู่บ้านในที่อื่นๆ พวกเขาคือความสูญเสียในปีล่าสุด แต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เมื่อการคุกคามจากไฟดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตลอดฤดูไฟป่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 28 พฤษภาคม 2566 พบว่าพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดตรวจพบจุดความร้อน (hotspot) ถึง 108,984 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 356% จากปีที่แล้ว
แม้ว่าสาเหตุของไฟป่าจะมีหลากหลาย แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ชี้ให้เห็นตรงกันว่า สาเหตุหรือแรงจูงใจเกือบทั้งหมดเกิดจากฝีมือมนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากป่าและพื้นที่การเกษตรในป่าที่เกี่ยวพันกับการดำรงชีพในวิถีเกษตรของคนท้องถิ่นอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นการเผาเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกในป่า การกำจัดเศษซากพืชในไร่ การเปิดพื้นที่ป่าเพื่อการปศุสัตว์ การล่าสัตว์ ไปจนถึงการเก็บหาของป่า
ไฟเหนือ
ในพื้นที่ภาคเหนือ ฤดูไฟป่าจะเริ่มขึ้นในกลางเดือนมกราคม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่จะเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงในกลางเดือนกุมภาพันธ์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อธิบายว่า PM2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็ง พวกมันมีขนาดเล็กจนสามารถเล็ดลอดเข้าไปได้ถึงปอด กระแสเลือด สร้างปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจและก่อให้เกิดโรคมะเร็งในระยะยาวได้
จากข้อมูลของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค. ถึง 15 ก.พ. มีจุดความร้อนเกิดขึ้น 18,988 จุดในภาคเหนือ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 118% จากปีก่อนแล้ว จนสิ้นเดือน ก.พ. จำนวนจุดความร้อนสะสมก็เพิ่มขึ้นเป็น 27,603 จุด ในขณะเดียวกัน จำนวนจุดความร้อนสะสมในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ก็เพิ่มขึ้นกว่า 256,700 จุด
เมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม คนภาคเหนือก็แทบไม่ได้พักจากมลพิษทางอากาศเลยตั้งแต่นั้นมา เมื่อมลพิษทางอากาศเริ่มไต่ระดับขึ้นจนเกินขีดจำกัดความปลอดภัยต่อสุขภาพ ตั้งแต่หนึ่งถึงสิบเท่าขึ้นไป ระดับความเข้มข้นสูงสุดถูกบันทึกไว้ที่ 537 µg/m³ ในวันที่ 27 มีนาคม 2566 ที่อำเภอแม่สายชายแดนจังหวัดเชียงราย ซึ่งมากกว่าระดับมาตรฐานปลอดภัยที่ WHO แนะนำไว้ถึง 35 เท่า!!
เมื่อสิ้นสุดฤดูไฟป่า กรมควบคุมมลพิษระบุว่า ระดับความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 ในภาคเหนืออยู่ที่ 63 µg/m³ หรือเพิ่มขึ้น 110% จาก 30 µg/m³ ของปีที่แล้ว จำนวนวันที่มี PM2.5 เกินขีดจำกัดปลอดภัยอยู่ที่ 112 วัน หรือเพิ่มขึ้น 60% จาก 70 วันของปีที่แล้ว ในส่วนของภาพรวมทั้งภูมิภาค จุดความร้อนสะสมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่ที่เกือบหนึ่งล้านจุด (992,718 จุด) โดยเมียนมาร์มีจุดความร้อนสะสมมากที่สุดถึง 413,041 จุด สปป.ลาว (254,734 จุด) ไทย (168,392 จุด) กัมพูชา (111,781 จุด) และเวียดนาม (44,770 จุด) ซึ่งจุดความร้อนของไทยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น 103% จากปีก่อน
“เราไม่ได้พูดถึงแค่ปัญหา PM2.5 หรือไฟป่า แท้จริงแล้ว มันเป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ยั่งยืนทั้งที่นี่และที่อื่นๆ เป็นปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเกือบทุกที่ในปัจจุบัน และจะดำเนินต่อไป หากเราไม่สามารถระบุสาเหตุหรือแรงผลักดันได้อย่างชัดเจน หรือแม้ว่าเราจะทำได้ สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นความท้าทายสำหรับเรา” ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี กล่าวขณะสรุปสถานการณ์ในปีนี้ต่อ Bangkok Tribune
สาเหตุ
โดยปกติ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพยายามจัดการเชิ้อเพลิงก่อนที่ฤดูไฟป่าจะเริ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมกราคมหรือก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม ระบบจัดการดังกล่าวดูเหมือนจะได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ การชิงเผาเพื่อลดเชื้อเพลิงในป่าธรรมชาติหรือแนวกันไฟ ได้เปิดช่องให้ชาวบ้านจุดไฟเผาเพื่อการเกษตรทำตาม ผสมกับการจุดไฟเพื่อล่าสัตว์ หาของป่า ขยายที่ทำกิน และเมื่อไฟลุกลามจนเกินการควบคุม หมอกควัน PM2.5 จึงเพิ่มขึ้นในระดับที่เป็นอันตราย คำสั่งห้ามเผาห้ามใช้ไฟแบบเด็ดขาดครอบคลุมจากภาครัฐจึงตามมาในที่สุด แต่แทนที่สถานการณ์จะดีขึ้น ชาวบ้านกลับรีบเร่งจุดไฟก่อนการบังคับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาไร่ในพื้นที่ป่าเขาเพื่อเตรียมการเพาะปลูกให้ทันก่อนฤดูฝน เมื่อผสมกับแรงจูงใจอื่น ๆ ไฟป่าในภาคเหนือก็กระจายวงกว้างออกไปอย่างไร้ทิศทางและเหนือการควบคุมใดๆ
ในช่วงปลายเดือนเมษายน Nikkei Asia ได้ขึ้นปกรายงานถึงสถานการณ์การเผาเพื่อการเกษตร ว่าเป็นสาเหตุหลักของปัญหาหมอกควัน PM2.5 ที่รุนแรงในภูมิภาค บทความชิ้นดังกล่าวได้อธิบายว่า “การเผาเพื่อการเกษตร” เป็นวิธีการราคาถูกสำหรับเกษตรกรที่ยากจนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต กำจัดเศษซากวัสดุการเกษตรในไร่ และขยายพื้นที่เพาะปลูก เกษตรกรจำนวนมากในพื้นที่ป่าเขาไม่สามารถซื้อเครื่องจักรทางการเกษตรขั้นสูงได้ หรือก็ไม่สามารถนำมาใช้บนพื้นที่ลาดชันมาก พวกเขาจึงจุดไฟเผาไร่ข้าวโพดและพืชผลอื่นๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป
จากนั้น พื้นที่ภาคเหนือก็ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควัน PM2.5 หนาทึบเกือบตลอดฤดูแล้ง ในช่วงเวลาหนึ่งเชียงใหม่ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก และสาเหตุหรือแรงผลักดันของไฟป่าในภาคเหนือก็มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการดำรงชีวิตและการทำเกษตรกรรมอย่างแยกไม่ออก
วาระแห่งชาติและแผนปฏิบัติการฯ
วาระแห่งชาติและแผนปฏิบัติการฉบับแรกเพื่อรับมือกับมลพิษทางอากาศได้ถูกกำหนดขึ้นเมื่อประเทศไทยเริ่มเรียนรู้สภาพปัญหาได้ดีขึ้นในช่วงปี 2562 แผนดังกล่าวกล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหา สาเหตุของปัญหาและที่มาของแหล่งกำเนิดมลพิษ
บัณรส บัวคลี่ ผู้แทนฝ่ายข้อมูลและนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ ซึ่งทำงานรณรงค์แก้ไขปัญหาหมอกควัน PM2.5 ในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า หมอกควัน PM2.5 และไฟป่าในภาคเหนือมีความซับซ้อนเมื่อพิจารณาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาและแอ่งกะทะ ประกอบกับวิถีชีวิตในท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดป่า ซึ่งหากปราศจากความรู้และความเข้าใจแล้ว รัฐก็จะเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือในระยะสั้นเพียงเท่านั้น เช่น การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนหรือการออกคำสั่งห้ามแบบครอบคลุมในช่วงฤดูไฟ
ทางด้านนายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ระดมหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการควบคุมไฟป่าเกือบทั้งหมด ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “เสือไฟ” เพื่อช่วยสถานีควบคุมไฟป่าในแต่ละพื้นที่และอาสาสมัครท้องถิ่น ในขณะเดียวกันก็สั่งการตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่าอย่างเข้มงวด อุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากว่า 100 แห่งเอง ได้ประกาศปิดไม่ให้สาธารณชนเข้าถึงในบางช่วงเวลา เพื่อช่วยบรรเทาสาเหตุของไฟป่าซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล พื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศอย่างน้อย 6.11 ล้านไร่ถูกเผา โดยจุดร้อนกระจุกตัวอยู่ในป่าภาคเหนือมากที่สุด
นายอรรถพล กล่าวว่าการปฏิรูปการใช้ประโยชน์ป่าไม้และการใช้ที่ดินเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขหลักที่เขากำลังผลักดันผ่านกลไกทางกฎหมาย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าและผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำบทเรียนเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขสำหรับอนาคต และเสนอต่อสาธารณชน ที่สำคัญก็คือการสร้างวิธีคิดใหม่ในการมองปัญหา
ฝุ่นควันข้ามพรมแดน
ในขณะที่จำนวนจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ภาคเหนือเพิ่มขึ้น จำนวนจุดความร้อนสะสมในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกตุเช่นกัน จำนวนจุดความร้อนสะสมในประเทศเพื่อนบ้านได้รับการกล่าวถึงโดยรัฐบาลว่า เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา PM2.5 ในประเทศไทย ตามแนวชายแดนจังหวัดพะเยา น่าน และเลยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา มีการเผาไร่ข้าวโพดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของแม่น้ำสาละวินก็ตรวจพบการเผาไร่นาและป่าเช่นเดียวกัน รวมไปถึงไร่ข้าวโพดขนาดใหญ่ใกล้กับชายแดนในจังหวัดตาก
ในขณะที่ปัจจัยกระตุ้นการเผาในประเทศเพื่อนบ้านยังไม่เป็นที่แน่ชัด Nikkei Asia อ้างถึงความต้องการอาหารที่ได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการในประเทศจีนว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นของการเผาพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภายหลังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ทวีความรุนแรงขึ้นในปีนี้ ทุกสายตาจับจ้องไปที่บริษัทเกษตรรายใหญ่ รวมถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทเกษตรรายใหญ่ที่สุดของประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ชั้นนำของโลก ตัวแทนของซีพีได้รับเชิญจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ร่วมประชุมในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของการพูดคุย
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ออกถ้อยแถลงยืนยันนโยบายหลักของบริษัทที่ว่า “No Mountain-No Burn-We Buy” โดยกลุ่มบริษัทและบริษัทย่อยได้พัฒนาและนำระบบติดตามแหล่งที่มาของข้าวโพดที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์มาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้มาจากการบุกรุกป่าและการเผาไร่ ปัจจุบัน บริษัทได้จัดหาข้าวโพดในประเทศไทยทั้งหมดจากพื้นที่ปลอดจากการทำลายป่า ระบบดังกล่าวได้ขยายไปยังการดำเนินงานในต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ เมียนมาร์ ลาว และเวียดนามในปี 2563 เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดหาข้าวโพดจากพื้นที่เพาะปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย
“บริษัทไม่สนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อาจส่งผลต่อการเกิดไฟป่า และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเผา และได้ริเริ่มสร้างต้นแบบระบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างจริงจัง และใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมติดตามแปลงปลูกเพื่อร่วมจัดการปัญหาได้อย่างถูกต้อง” ซีพีระบุในแถลงการณ์
อย่างไรก็ตาม องค์กรที่รณรงค์เรื่องอากาศบริสุทธิ์อย่าง FTA Watch, Bio Thai หรือ Greenpeace ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้บริษัทและบริษัทย่อยเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อสาธารณะ โดยอ้างว่า ไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลและหลักฐานที่หนักแน่นเพื่อสนับสนุนประเด็นดังกล่าว
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้พยายามประสานความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ติดต่อกับสำนักเลขาธิการอาเซียนตั้งแต่ต้นปี ก่อนที่ในที่สุดอาเซียนจะออกประกาศเตือนภัยระดับ 3 สูงสุดต่อสถานการณ์จำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในวันที่ 3 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ดูเหมือนจะช่วยได้เพียงเล็กน้อย
ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมไตรภาคีอย่างเร่งด่วนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน ของลาว และนายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำเมียนมา เพื่อพยายามแก้ไขวิกฤต PM2.5 ข้ามแดนร่วมกัน
สถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 กลายเป็นประเด็นปัญหาซับซ้อนโยงใยในระดับประเทศและระหว่างประเทศ หากสำหรับคนท้องถิ่นอย่างพ่อหลวงศักดิ์แล้ว เขาแทบไม่มีทางหยั่งถึงกระบวนการขั้นตอนอันสลับซับซ้อนของการแก้ปัญหาในห้องประชุมหรือบนโต๊ะเจรจา ผู้นำท้องถิ่นอย่างเขาแค่หวังว่า ผู้คนจะไม่เผาป่าอย่างไม่สมเหตุสมผล และอย่าได้เกิดเหตุร้ายในบ้านปงไคร้ของพวกเขาอีกเลย
“ชาวบ้านเผาป่า ล่าสัตว์ เก็บหาของป่า หรือแค่จุดไฟเล่นๆ? มันคงเป็นเหตุผลอะไรซักอย่างในพวกนี้แหละ จนป่านนี้ ผมยังไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นสาเหตุของไฟป่าใกล้หมู่บ้านของเราแน่ ผมรู้แค่มันไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เราต้องสูญเสียไปเอาเสียเลย” พ่อหลวงศักดิ์กล่าว เมื่อหวนนึกถึงความรู้สึกหนักอึ้งและกระอักกระอ่วนใจในขณะที่ต้องบอกข่าวความโชคร้ายของต้อมให้กับป้าเหรียญ ผู้ซึ่งตอนนี้ต้องอยู่กับสามีเพียงลำพังโดยไม่มีลูกชายอีกต่อไป
รายงานชิ้นนี้ได้รับการแปลและสรุปความโดยย่อจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ SPECIAL REPORT: The Hard Lessons of PM2.5 Haze
Indie • in-depth online news agency
to “bridge the gap” and “connect the dots” with critical and constructive minds on development and environmental policies in Thailand and the Mekong region; to deliver meaningful messages and create the big picture critical to public understanding and decision-making, thus truly being the public’s critical voice