ชลิต เชืองเต็ม หนึ่งในเจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์ ในชุดเลียนแบบนกกระเรียน ซึ่งใช้สำหรับการดูแลและเข้าใกล้นกกระเรียนที่เกิดจากการเพาะเลี้ยง ชุดดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้นกกระเรียนมีความคุ้นชินกับมนุษย์ ซึ่งอาจกลายเป็นภาพจำและส่งผลเสียเมื่อถูกปล่อยกลับคืนสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ ความคุ้นชินกับมนุษย์จะทำให้พวกมันกลับเข้ามาขออาหารและไม่สามารถหากินได้ด้วยตัวเอง Photo: Sayan Chuenudomsavad

The Man and the Crane | นักสังเกตการณ์การกลับคืนถิ่นของนกกระเรียน

เป็นเวลา 50 กว่าปีที่นกกระเรียนพันธุ์ไทยได้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งที่อยู่อาศัยธรรมชาติ ปี พ.ศ. 2511 คือครั้งสุดท้ายที่มีรายงานการพบเห็นในบริเวณจังหวัดสุรินทร์ หากด้วยการทำงานหนักของหลายๆ ภาคส่วนในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ที่ “พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก” วันนี้ นกกระเรียนพันธุ์ไทยมากกว่า 150 ตัวได้กางปีกบินเหนือหนองน้ำและทุ่งนาอย่างอิสระอีกหน

โครงการวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมในการทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากสถานเพาะเลี้ยงคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติของประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2552 ด้วยความร่วมมือขององค์กรสวนสัตว์กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนเมื่อได้ปล่อยนกกระเรียนกลับคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำในจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว โครงการต่อเนื่องเพื่ออนุรักษ์นกกระเรียนและถิ่นอาศัยจึงเกิดขึ้น ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) โดยการกำกับดูแลของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ภายใต้ชื่อ โครงการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลกในพื้นที่ภาคการผลิต

ปัจจุบัน มีนกกระเรียนพันธุ์ไทย Sarus Crane (Grus antigone sharpii) จากการเพาะเลี้ยงของสวนสัตว์นครราชสีมาจำนวนกว่า 166 ตัวได้ถูกปล่อยกลับสู่ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ ใน พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก และ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ กว่า 70% ยังคงมีชีวิตรอด อีกทั้งยังมีลูกนกกระเรียนเกิดใหม่ในธรรมชาติจำนวนหนึ่งเป็นความหวังถึงการคืนถิ่นอย่างสมบูรณ์

การทำงานหนักของหลากหลายบุคคลากรที่เกี่ยวข้องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การคืนถิ่นของนกกระเรียนพันธุ์ไทยสู่แหล่งธรรมชาติประสบผลสำเร็จ หากกระบวนนั้นยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด ในมุมเล็กๆ ของพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก เจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทยจำนวนหนึ่ง ยังคงส่องกล้องเฝ้ามองและติดตามการคืนถิ่นของนกกระเรียนเหล่านั้นอย่างแข็งขัน พวกเขาจดบันทึกจำนวนและบริเวณการพบเห็น รายงานฤดูกาลน้ำขึ้นลง สำรวจแหล่งอาหารในธรรมชาติ เก็บข้อมูลเชิงสถิติ พูดคุยทำงานร่วมกับชุมชนโดยรอบในการอนุรักษ์ และเป็นผู้เล่าเรื่องราวระบบนิเวศในพื้นที่ให้กับนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา อีกทั้งเป็นผู้อนุบาลเตรียมความพร้อมและปรับสภาพให้กับนกกระเรียนที่ถูกปล่อยคืนถิ่นรุ่นแล้วรุ่นเล่า

การทำงานอย่างต่อเนื่องของพวกเขา นอกจากจะเป็นการสืบสานการทำงานหนักของบุคคลากรรุ่นก่อนๆ ในโครงการฯ แล้ว ยังเป็นการสร้างความหวังความมั่นใจว่า เสียงร้องหาคู่และเสียงกระพือปีกของนกกระเรียนพันธุ์ไทยจะไม่เงียบหายไปจากหนองน้ำและท้องนาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งหนึ่งในอดีต

ชลิต เชืองเต็ม เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่หลายๆ คนของศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์ กำลังจดบันทึกผลจากการสังเกตการณ์ประจำวันในพื้นที่ชุ่มน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากและบริเวณโดยรอบ บันทึกของเขานอกจากจะแสดงจำนวนนกกระเรียนที่พบเห็นในแต่ละวัน แต่ละช่วงเวลาแล้ว เขายังจดบันทึกบริเวณที่พบเห็นเพื่อติดตามการขยายอาณาเขตพื้นที่หากินของนกกระเรียนซึ่งถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ สถิติต่างๆ ในแต่ละวัน แต่ละเดือน เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการวางแผนร่วมกันกับชุมชนในท้องถิ่น เพื่อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ซึ่งจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจชุมชนและการอยู่รอดของนกกระเรียนร่วมกัน
Photo: Sayan Chuenudomsavad
นอกจากกิจวัตรประจำวันในการจดบันทึกสถิติต่างๆ ของนกกระเรียนแล้ว ชลิตยังต้องทำหน้าที่แบ่งปันความรู้ทางนิเวศของพื้นที่ให้กับนักท่องเที่ยว รวมไปถึงนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมอนุรักษ์ต่างๆ ในศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย แม้ว่าเขาจะเดินทางทำงานอยู่ริมรอบพื้นที่ชุ่มน้ำเดิมๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากหน้าที่ของเขาดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุดและนำพาเรื่องราวใหม่ๆ ให้เขาได้ทำความรู้จักอยู่เสมอๆ
Photo: Sayan Chuenudomsavad
ชลิต พาแนะนำให้รู้จักกับ “เฉิดโฉม” และ “แจ๋วแหวว” คู่นกกระเรียนที่ถูกเลี้ยงไว้ประจำศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย แม้ว่าจะถูกเลี้ยงไว้ในกรง หากก็เป็นบริเวณที่อยู่ชิดติดกับพื้นที่ชุ่มน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ทั้งคู่เปรียบเสมือนคู่มือแนะนำผู้มาเยือนศูนย์ฯ เป็นด่านหน้าก่อนจะนำพานักท่องเที่ยวให้เข้าถึงถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติและเรียนรู้ถึงโครงการนำกระเรียนคืนถิ่น
Photo: Sayan Chuenudomsavad
ในระหว่างที่ ชลิต สาธิตการสวมชุดเลียนแบบนกกระเรียน นกกระเรียนตัวหนึ่งซึ่งถูกปล่อยกลับสู่ธรรมชาติเมื่อหลายปีก่อน ได้เข้ามายังบริเวณกรงเลี้ยง “เฉิดโฉม” และ “แจ๋วแหวว” เพื่อหาอาหาร ชลิตต้องออกแรงอย่างแข็งขันวิ่งไล่ให้ออกจากบริเวณ เนื่องจากไม่ต้องการให้นกกระเรียนซึ่งปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติแล้ว มีพฤติกรรมใกล้ชิดกับมนุษย์และการขออาหาร กระบวนการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติในบางกรณี สัตว์ยังคงมีความคุ้นเคยกับการถูกเลี้ยงดูและมีแนวโน้มกลับเข้าหาคนโดยไม่มีระยะห่าง ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะเป็นอันตรายต่อทั้งสัตว์และตัวมนุษย์เอง
Photo: Sayan Chuenudomsavad
นกกระเรียนพันธุ์ไทยรุ่นแรกจำนวน 10 ตัวได้ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเป็นครั้งแรกที่ พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ปัจจุบันมีนกกระเรียนถูกปล่อยคืนแล้ว 12 รุ่นรวม 166 ตัว บินหากินอย่างอิสระโดยได้รับการร่วมมืออย่างดีในการดูแลสภาพแวดล้อมและถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติจากชุมชนเกษตรกรรมโดยรอบ
Photo: Sayan Chuenudomsavad
นกกระเรียนพันธุ์ไทยมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ตัวโตเต็มวัยอาจมีความสูงถึง 1.80 เมตร และหนักกว่า 10 กิโลกรัม ลักษณะเด่นคือบริเวณส่วนหัวจะไม่มีขนปกคลุม แต่มีตุ่มหนังสีแดงยาวตั้งแต่ใต้ตาลงมาจนถึงลำคอส่วนบน พื้นที่ชุ่มน้ำคือแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญ นับตั้งแต่การหากิน จับคู่ ทำรัง วางไข่ และเลี้ยงลูกนก
Photo: Sayan Chuenudomsavad
พื้นที่ชุ่มน้ำส่วนใหญ่ในปัจจุบันอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมจากหลากหลายปัจจัย ทำให้นกกระเรียนต้องขยายขอบเขตแหล่งอยู่อาศัยเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรม จากการติดตามนกกระเรียนที่ถูกปล่อย พบว่ามีการทำรังวางไข่ในนาข้าว ซึ่งทำให้งานของชลิตและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ต้องเกี่ยวข้องกับชุมชนโดยรอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฤดูวางไข่ นกกระเรียนคู่หนึ่งอาจใช้พื้นที่สร้างรังหลายตารางเมตรในนาข้าว การสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนโดยรอบจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการคืนถิ่น ซึ่งในปัจจุบันได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี หลายๆ ครั้งชาวบ้านจะช่วยรายงานการพบเห็นฝูงนกกระเรียนกลับมายังเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ
Photo: Sayan Chuenudomsavad
ภายในศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย มีการจัดแสดงเรื่องราวของนกกระเรียนและพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก นับตั้งแต่ประวัติความเป็นมาของโครงการนำนกกระเรียนกลับคืนสู่ธรรมชาติ การเพาะขยายพันธุ์ การคัดเลือกพื้นที่ การอนุบาลปรับความพร้อม ตลอดจนการติดตามผลหลังการปล่อย ส่วนด้านหน้าของศูนย์คือพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ซึ่งนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแหล่งดูนกที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์
Photo: Sayan Chuenudomsavad
ภาพเก่าซึ่งถูกระบุไว้ว่าถ่ายเมื่อประมาณปี พ.ศ.2475 ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แสดงให้เห็นถึงความชุกชุมและการเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนไทยในบริเวณแถบนี้มาตั้งแต่อดีต
(ภาพจัดแสดงในศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์)
หญ้าแห้วทรงกระเทียม หนึ่งในพืชอาหารที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้นำมาปลูกไว้ในพื้นที่อนุบาลนกกระเรียนเพื่อปรับสภาพและความคุ้นเคย เพื่อให้นกกระเรียนได้เรียนรู้ที่จะหากินเองก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
Photo: Sayan Chuenudomsavad
ห่วงขาใช้สำหรับระบุและติดตามนกกระเรียนที่ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในบางครั้งอาจมีการฝังไมโครชิปและเครื่องส่งสัญญาณติดตามตัว เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามพฤติกรรม ตรวจสุขภาพ ประเมินการอยู่รอดและแนวโน้มในการขยายขอบเขตพื้นที่หากินและอยู่อาศัย
Photo: Sayan Chuenudomsavad
จากการทำงานร่วมกับชุมชนมาระยะหนึ่ง นาข้าวอินทรีย์คือความพยายามของชุมชนโดยรอบที่ช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากสารเคมี เพื่อให้นกกระเรียนสามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังนำคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อตัวเกษตรกรเองด้วย ปัจจุบันมีข้าวหอมมะลิในชื่อ ‘ข้าวสารัช’ ซึ่งนำมาจากชื่อ Sarus Crane มีนกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นสัญลักษณ์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของชุมชน
Photo: Sayan Chuenudomsavad
ต้นฤดูฝนราวปลายเดือนพฤษภาคมคือช่วงเวลาของการจับคู่ผสมพันธุ์ ฝูงนกกระเรียนจะรวมตัวกันเปล่งเสียงร้องสอดประสาน ยืดคอและกระโดดเกี้ยวพาราสีกันคล้ายกับการเต้นรำ ก่อนจะแยกย้ายกันเป็นคู่ไปสร้างรังวางไข่ ตามธรรมชาติพ่อแม่นกกระเรียนจะสลับกันกกไข่ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-36 วัน
Photo: Sayan Chuenudomsavad