“โครงการผันน้ำยวม” หรือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาทได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) และมีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการพิจารณาโครงการฯ ในวันนี้ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ International Rivers ซึ่งได้ติดตามโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำขนาดใหญ่ในภูมิภาค ตั้งคำถามต่อรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ที่ถูกเรียกว่า “EIA ฉบับร้านลาบ” หลังพบข้อบกพร่องในการจัดทำ EIA โดยเฉพาะในประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่
ในวันนี้ มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการพิจารณาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือ “โครงการผันน้ำยวม” มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาทและรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการฯ ทั้งนี้ เจ้าของโครงการคือกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร
หลายคนที่ติดตามต่างกล่าวตรงกันว่า “ไวมาก” ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลาหลายปีมีการคัดค้าน ทักท้วง และประท้วง จากชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน
โครงการผันน้ำยวม อยู่ในการผลักดันของกรมชลประทานมาหลายปี แต่เคยติดขัดที่รายงาน EIA ที่ยังมีข้อบกพร่อง โดยยังมีคำถามจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ในรายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า เป็นประธาน และนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์เป็นรองประธาน ระบุว่า ข้อสังเกตของกมธ. ต่อผู้กำหนดนโยบาย คือ ระยะแรกดำเนินโครงการผันน้ำแนวส่งน้ำยวม-ภูมิพล ปริมาณน้ำ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเมย ที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และระยะที่สอง ดำเนินการผันน้ำแนวส่งน้ำสาละวิน-ยวม โดยสูบน้ำจากแม่น้ำสาละวินมาเติมในเขื่อนน้ำยวม 2,200 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็น 4,000 ล้านลบ.ม.
อย่างไรก็ตามรายงานของ กมธ.ระบุว่า “ดำเนินการออกแบบเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนขออนุมัติรายงาน EIA”

รายงาน EIA มีการแก้ไขมาหลายรอบหลายครั้ง มีหลายประเด็นคำถาม รายงานฉบับสุดท้ายที่ผ่านความเห็นขอบของคชก. ลงวันที่เดือนพฤษภาคม 2564 ระบุว่า โครงการฯ ประกอบด้วย
1.เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ความสูงจากระดับท้องน้ำถึงสันเขื่อน 69.5 เมตร ความยาวสันเขื่อน 260 เมตร เป็นเขื่อนดิน ถมดาดคอนกรีต ระดับกักเก็บปกติ142 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.)
2. สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำลึกจากพื้นดินประมาณ 40 เมตร และปรับปรุงลำน้ำยวม 6.4 กม.
3. อุโมงค์อัดน้ำ อุโมงค์พักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ ขุดเจาะด้วยวิธีเจาะระเบิด และเครื่องเจาะ มีพื้นที่จัดการวัสดุจากการขุดอุโมงค์ DA ตลอดแนวอุโมงค์ 6 แห่ง รวมพื้นที่ 440 ไร่ มีพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น1
4 อุโมงค์เข้าออก
5. ทางออกอุโมงค์ส่งน้ำลำห้วยแม่งูด ปรับปรุงลำห้วยแม่งูด 2.1 กม.

หนึ่งในข้อกังขาสำหรับผู้ที่ติดตามใกล้ชิด คือ ผลกระทบต่อพื้นที่ป่า ซึ่ง EIA ระบุว่าขอใช้พื้นที่ป่าไม้ 3,467 ไร่ ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ จ.เชียงใหม่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง ได้แก่ ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าอมก๋อย ป่าแม่แจ่ม ป่าแม่ตื่น พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแม่เงา ซึ่งรายงาน EIA ระบุมีมาตรการลดผลกระทบ ต้องปลูกป่าทดแทน 7,283 ไร่
แต่คำถามมากมายจากชุมชนคือ พื้นที่ทิ้งดินและวัสดุจากการขุดอุโมงค์ อย่างน้อย 6 จุด กองดินมหาศาลจากใต้ดินที่จะต้องเอามาทิ้ง จะกระทบต่อพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และพื้นที่ทำกินของชุมชนตลอดแนวโครงการอย่างไร
ต่อมาคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำ EIA แม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะได้ มีหนังสือชี้แจงถึงชาวบ้าน ภายหลังจากที่ชาวบ้านมีหนังสือแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการพร้อมทั้งขอให้มีการทบทวนรายงาน EIA ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งหนังสือของ ทส. ระบุว่า ในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน คชก. ได้พิจารณารายงาน EIA ดังกล่าวรวม 4 ครั้ง
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้านครบทุกกลุ่ม กรมชลประทานได้ดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนครอบคลุมในทุกพื้นที่และองค์ประกอบของโครงการทุกแห่ง ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ไร้สัญชาติ และกลุ่มประชาชนในพื้นที่ และได้รับการพิจารณาจาก คชก.ด้วยแล้ว
แต่หากกลับไปย้อนดูข่าวจะพบว่า กระบวนการมีส่วนร่วมดังกล่าวมีช่องโหว่มากมาย จนแทบจะเป็นการ “ทำให้เสร็จๆ ไป” เท่านั้น เช่น เมื่อปี 2563 กรมชลประทานได้เชิญผู้แทนชุมชนเข้าประชุมกลุ่มย่อยฯ แต่ชาวบ้านปฏิเสธไม่เข้าร่วม เนื่องจากมีความเห็นว่าชาวบ้านไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เพราะเหตุผลสำคัญ อาทิ จัดประชุมในช่วงฤดูฝน สภาพถนนออกจากชุมชนไปสถานที่ประชุมยากลำบาก อันตรายต่อการเดินทาง สภาพเป็นถนนลูกรังบนภูเขาต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากกว่าปกติ
นอกจากนี้ ยังไม่มีรายละเอียดกำหนดการเรื่องเวลาและใครจะเป็นผู้มาชี้แจงข้อมูล ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าหากต้องเดินทางไกลเข้าไปร่วมประชุม สุดท้ายจะเป็นเหมือนที่เคย คือ เมื่อชาวบ้านจะตั้งคำถาม ผู้จัดประชุมก็บอกว่าไม่มีเวลาเพียงพอให้ถาม และบางคำถามก็ไม่มีคำตอบ

จากการตรวจสอบพบว่า ในเอกสาร EIA มีการนำรูป ชื่อ และข้อมูลของบุคคลหลายคนมาใช้ในการเพิ่มความน่าเชื่อถือ ทำนองว่า พบ ประชุม และทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นเพียงการนัดพบที่ร้านกาแฟ หรือรับประทานอาหารในร้านลาบ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าไม่ให้ทำรูปไปใช้ยืนยันใน EIA แต่ท้ายสุดกลับปรากฏอยู่ในรายงาน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและใช้ข้อมูลเป็นเท็จ นำชื่อมาใช้โดยเจ้าตัวไม่รู้เรื่อง จนเป็นที่มาของ แฮชแท็ก #EIAร้านลาบ ข้อค้นพบเหล่านี้ยังไม่รวมกับการที่ในปี 2564 มีกลุ่มบุคคลเข้ามาแจกแบบสอบถามแก่ชุมชน เพื่อสำรวจการชดเชยทรัพย์สิน และแจ้งผู้นำชุมชนว่าหากไม่กรอกแบบฟอร์ม จะไม่ได้ค่าชดเชย
อีกประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบ คือ จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ มีกี่คน กี่ครอบครัว?
ในรายงาน EIA ระบุว่าสถานีสูบน้ำบ้านสบเงามีบ้านเรือนประชาชนตั้งอยู่ 4 หลังคาเรือน ส่วนระบบอุโมงค์นั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า “ส่วนที่เป็นพื้นที่อาศัยและพื้นที่ทำกินส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์” แต่ EIA เองก็ระบุพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายในแนวส่งน้ำ ทั้งเขื่อน ถนนเข้าเขื่อนน้ำยวม สถานีสูบน้ำสบเงา อุโมงค์อัดน้ำ ส่งน้ำ อุโมงค์เข้าออก พื้นที่กองเก็บวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์ ถนนเข้าหัวงาน ถนนเข้าทางออกอุโมงค์ส่งน้ำ และบ้านอื่นๆ ที่อาจมีการสัญจรผ่านพื้นที่องค์ประกอบโครงการ รวมแล้วมากถึง 46 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นชุมชนชาติพันธุ์ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง
ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญ แต่กลับไม่มีการระบุรายละเอียดใน EIA คือ ผลกระทบจากการก่อสร้างส่วนสำคัญของโครงการฯ คือ ไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำ ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากสถานีลำพูน 3 ผ่านพื้นที่ป่ามาตามแนวเดียวกับอุโมงค์ ยาวมาจนถึงสถานีสูบน้ำ ที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ International Rivers