หลังรับทราบการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เขื่อนปากแบงในการประชุมรับฟังข้อเท็จจริงกรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ณ จ.เชียงราย, นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของและเจ้าของรางวัล 2022 Goldman Environmental Prize และเครือข่ายภาคประชาสังคมลุ่มน้ำโขง ได้พร้อมใจกันส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจที่กรุงเทพฯและประเทศจีนอีกครั้ง ถึงเหตุผลที่พวกเขาคัดค้านโครงการฯ เขื่อนปากแบง แม้จะเป็นเสียงที่ไม่เคยถูกรับฟังมาเป็นเวลาหลายปี
“ครูตี๋” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของและเจ้าของรางวัล 2022 Goldman Environmental Prize
รัฐไม่เอาใจใส่โดยเฉพาะเรื่องน้ำเท้อที่จะเห็นชัดเจนว่า ถ้าเกิดความเสียหายกับที่อยู่ที่ทำกินพี่น้องชาวบ้าน เรือกสวนไร่นา ถ้าน้ำเท้อมาท่วม ชาวบ้านยังไม่รู้เลยจะท่วมที่ดินตรงไหน ความเอาใจใส่ในเรื่องเหล่านี้ของภาครัฐไม่มีเลย
โครงการเขื่อนปากแบงตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA) ผลกระทบข้ามพรมแดน ก็ชัดเจนแล้วว่า หน่วยงานของรัฐไทยที่เกี่ยวข้องมีความเห็นว่า ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ข้อมูลไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังดันทุรัง ในกระบวนการรับฟัง (PNPCA) ตามระเบียบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เอกสารสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่มีความน่าห่วงกังวล แต่สุดท้ายก็ไม่ถูกวางแผนจัดการกับเรื่องเหล่านั้น
เมื่อมองภาพรวมของการขับเคลื่อนเรื่องนี้แล้ว รัฐมีพลังในการขับเคลื่อนในโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมในการจัดการแม่น้ำโขงเพื่อสร้างเขื่อน ซึ่งสามารถทำได้รวดเร็วโดยเริ่มในปี 2565 แล้วสามารถเซ็นสัญญาในปี 2566 แสดงให้เห็นว่า ความคิดของรัฐและทุน กับสิทธิของพี่น้องชาวบ้าน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องชาวบ้านที่จะกระทบไปถึงชีวิตผู้คนต่าง ๆ ภาครัฐและทุนไม่ได้สนใจเรื่องนี้แล้ว
กรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเวทีรับฟังการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาว่า ฟังคำชี้แจงแล้วพบว่า โครงการสร้างเขื่อนปากแบงเป็นความไม่พร้อมและไม่สมบูรณ์ในทุกๆ ด้านถึงเหตุผลในการที่จะสร้าง เพราะไม่สามารถตอบในสิ่งที่ชาวบ้านกังวลได้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐพยายามพูดไปถึงเรื่องกองทุนเยียวยา ซึ่งไม่ได้กำหนดรายละเอียดอะไรต่างๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะเยียวยาอะไร
ถ้ายังทำแบบนี้ จัดการแม่น้ำโขงด้วยโครงสร้างแบบเก่า แม่น้ำโขงตายแน่ เรื่องการสร้างเขื่อนปากแบงที่เราทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เพราะต้องการให้ท่านทราบว่า การตัดสินใจในการสร้างเขื่อนปากแบง มันผิด ที่ผิดมากก็คือเรื่องของการจัดการ และเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้านที่จะเกิดขึ้น เรื่องสิทธิต่างๆ ควรต้องได้รับการจัดการทุกสิ่งทุกอย่างหมดแล้ว ถึงจะไปถึงเรื่องของการเซ็นสัญญาได้
เซ็นสัญญาแล้วก็ยังไม่รู้ว่ารัฐจะต้องทำอย่างไร แก้ไขอย่างไร น้ำท่วมถึงไหนยังไม่รู้ จึงบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกรณีเขื่อนปากแบง คือความไม่เอาใจใส่ของรัฐที่จะปกป้องผู้คน ที่จะปกป้องทรัพยากร ไม่ปกป้องดินแดน รัฐไม่เอาใจใส่ ท่ามกลางโครงสร้างที่ไม่เอาใจใส่นี้ กลับไปเป็นประโยชน์ของทุนในการขับเคลื่อนที่เร็วขึ้น
สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการ คือประการแรกในระยะสั้น ต้องระงับสัญญาซื้อขายก่อน โดยภาคประชาชนได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้วให้มีการทบทวนเรื่องเขื่อนปากแบง ประการที่สอง คือต้องพูดคุยกันในเรื่องนโยบายการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงของประเทศไทย โดยรัฐไทยต้องเอาใจใส่เรื่องธรรมาภิบาลของเอกชนไทย ที่เข้าไปสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง และสถานบันการเงินที่ปล่อยกู้ต้องยึดหลักธรรมาภิบาล ประการที่สาม คือหน่วยงานรัฐไทยทำหน้าที่ใน MRC คือสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ต้องผลักดันนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น การแก้ไขกฎหมาย และทบทวนข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538
ชุมชนมองว่าใครจะติดตามในเรื่องนี้ให้เราได้ เช่น นักข่าวช่วยตั้งคำถามแบบด่วนๆ ทั้งปัญหาที่กระทบต่อประชาชน และปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อเขตแดน ต่อผลกระทบข้ามพรมแดน นายกรัฐมนตรีต้องรู้ ซึ่งเวลานี้นายกฯ รู้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของชาติที่อยู่ในความรับผิดชอบขอบนายกรัฐมนตรีโดยตรง ถ้าหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีต้องรับรู้ ภาคประชาสังคมและเครือข่าย อาจต้องส่งหนังสือสอบถามรัฐบาลจีนด้วยหลังได้สอบถามบริษัทต้าถังแล้ว เพื่อให้เห็นว่าบริษัทของประเทศเขามาลงทุนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงจะสร้างผลกระทบมากมาย”
บริษัท ต้าถัง ( China Datang Overseas Investment co., Ltd.) เคยมาพูดคุยกับทางชุมชนและเครือข่ายจังหวัดลุ่มน้ำโขง มีความเห็นพ้องต้องกันคือเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดน และน้ำเท้อ ที่น่าจะมีการศึกษา แต่สิ่งที่ได้คุยบริษัทต้าถังเกี่ยวกับเรื่องชาวบ้านได้รับผลกระทบ การสูญเสียที่ดินทำกิน ความเป็นห่วงต่างๆ จนถึงปัจจุบันที่มีการลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าแล้ว ชาวบ้านยังไม่รู้เลยว่าน้ำจะท่วมถึงไหน และใครจะมาแก้ไขปัญหาที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่บริษัทต้าถังก็ได้รับรู้ ซึ่งการเซ็นสัญญาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าเป็นการเซ็นสัญญาที่ไม่มีธรรมาภิบาล ขณะที่บริษัทต้าถังเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล ซึ่งน่าจะมีความพยายามที่จะพูดคุยกับบริษัทร่วมทุนในเรื่องนี้
“นี่แสดงให้ว่าพลังของทุนมันแรงในยุคสมัยนี้และท่ามกลางกระแสที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ เป็นการขยายความเหลื่อมล้ำให้กับสังคม” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าว
เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
โครงการเขื่อนปากแบง ได้มีการจัดกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 -19 มิถุนายน 2560 ตามกรอบระยะเวลา 6 เดือน ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ในขณะนั้น โดยได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงแก่ประชาชนจำนวน 4 ครั้ง คือ จังหวัดเชียงราย 2 ครั้ง หนองคาย 1 ครั้ง และอุบลราชธานี 1 ครั้ง โดยประชาชนในพื้นที่ที่ได้เข้าร่วมเวทีมีคำถามและข้อกังวลจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนปากแบงอย่างยิ่งใน 7 ประเด็น อาทิ
1. ผลกระทบจากภาวะ “น้ำเท้อ” จากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ในเขตชายแดนไทยในเขต อ.เวียงแก่น, อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งมีชุมชนตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง และบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสาขาน้ำโขง เช่น น้ำอิง น้ำงาว เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรจำนวนมาก
2. ผลกระทบสะสมจากเขื่อนจิงหงที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนทางตอนบนแม่น้ำโขงห่างจากชายแดนไทย-ลาว-พม่า ราว 200 กิโลเมตร เป็นเหตุให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชาชนไทยที่อยู่ท้ายน้ำในเขต จ.เชียงราย มากว่า 20 ปี โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าและไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ
3.ผลกระทบต่อการอพยพของปลา และการประมงของชุมชนริมแม่น้ำโขง
4. ผลกระทบต่อการเก็บ ไก-สาหร่ายแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูแล้งที่เป็นสินค้าเศรษฐกิจท้องถิ่นสำคัญของคนทั้ง 3 อำเภอ ที่สร้างรายได้คนละร่วมแสนบาท
5. ผลกระทบต่อเส้นเขตแดนชายแดนไทย-ลาว ที่มีเกาะแก่งเป็นจำนวนมาก อาจจะเสียดินแดนทางอธิปไตยจากกรณีภาวะน้ำเท้อตลอดทั้งปี
ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งความคิดเห็นต่อหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีเวทีพูดคุยระหว่างเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กับบริษัทผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท China Datang Oversea investment Co,Ltd ในปี 256 และปี 2562 ถึงความไม่จำเป็นและความบกพร่องของเขื่อนปากแบงในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.ความไม่สมบูรณ์ของเอกสารรายงานการศึกษาผลกระทบทั้งหมดของโครงการเขื่อนปากแบง มีการใช้ข้อมูลเก่า ไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลกระทบทำให้เกิดการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและมาตรการที่จะป้องกัน ติดตามและบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง และไม่มีมาตรฐาน
2.ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอไม่เคยได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาวะน้ำเท้อจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากแบงว่า น้ำจะท่วมเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนตนอย่างไร มีระดับสูงขนาดไหนและจะเสียหายอย่างไร ระยะเวลาเท่าใด หากเกิดผลกระทบจากน้ำเท้อ จะทำให้แม่น้ำโขงมีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ และจะมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ประชาชนไทยที่อาศัยการไหลของน้ำในการประมง จะไม่สามารถทำมาหากินทั้งการจับปลา การเก็บไก และยังมีความเสี่ยงของน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ในที่ราบลุ่มน้ำงาว และน้ำอิง ซึ่งเป็นที่ทำกินของประชาชนจำนวนมาก
ความไม่จำเป็นของการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง เนื่องจากพลังงานสำรองของไทยนั้นมีมากถึง 45% และปัจจุบันคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาแพง พลังงานจากเขื่อนนี้จึงไม่จำเป็นต่อประชาชนไทย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งยังไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่า เป็นพลังงานสะอาด เพราะต้องแลกด้วยวิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตชายแดนไทยลาว ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ และระบบนิเวศของแม่น้ำโขงที่ต้องเสียสมดุลอย่างรุนแรง จนสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และเสียพื้นที่ดูดซับคาร์บอนที่สำคัญในภูมิภาคแม่น้ำโขง เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา
ในระหว่างที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่และประชุมร่วมกับภาคส่วนราชการ รวมถึงผู้แทนกฟผ. เมื่อวันที่ 14-15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา กฟผ.ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ามีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับบริษัทปากแบงพาวเวอร์จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นการเซ็นสัญญาที่ไม่รับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เลย และหน่วยงานรัฐไม่ได้นำความคิดเห็น ข้อคัดค้าน และข้อกังวลของประชาชนที่มีมาตลอดระยะเวลาหลายปีไปประกอบการตัดสินใจก่อนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
“ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขง ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีคนใหม่พิจารณาทบทวนและยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง ขอให้คำนึงถึงเสียงและสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ต้องแบกรับภาระผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นกลุ่มแรก ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบข้ามพรมแดนดังกล่าวในอนาคตต่อไป รวมทั้งประชาชนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนที่ต้องแบกภาระต้นทุนจากเขื่อนที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ” เครือข่ายระบุในหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 17 กันยายน
ทัศนะ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศยามล ไกยูรวงศ์
เรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนั้น ด้เกิดกับชาวบ้านมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งเขื่อนจากประเทศจีนและเขื่อนไซยะบุรีในลาว แต่หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงเพิ่มอีก ก็จะทำให้เปิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ขณะนี้เกิดปัญหากัดเซาะตลิ่งซึ่งกรมโยธาธิการ ได้สร้างเขื่อนกันตลิ่งพังเป็นระยะทางยาวถึง 97 กิโลเมตร ซึ่งเรื่องนี้คงได้มีการตรวจสอบไปด้วย
ตอนนี้ชาวบ้านยังไม่รู้เลยว่า หากสร้างเขื่อนแล้ว น้ำจะเท้อสูงแค่ไหน เรายังไม่ได้รับรายงานอีไอเอจากลาวที่ศึกษาอยู่ หากได้เราจะนำมาประกอบ แต่ที่น่าห่วงใยคือ ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าไปแล้ว ต่อไปต้องแผนปฎิบัติการร่วมเพื่อลดผลกระทบ โดยเฉพาะข้อกังวลต่างๆ แต่ปัจจุบันหน่วยงานราชการแค่บอกว่ายังศึกษาอยู่ เขาจะเอาไปคุยกับลาว แต่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงต้องรีบลงนามในสัญญาแทนที่จะมีแผนรองรับผลกระทบให้เสร็จก่อน
จะเสนอเรื่องใน กสม.เพื่อเสนอเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มีการทบทวนหาทางออก เนื่องจากหลังจากที่ กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วต้องทำสายส่งภายใน 1 ปี ขณะที่หน่วยงานบางแห่งยืนยันว่าจะยังไม่มีการสร้างเขื่อนจนกว่าจะมีการทำแผนรองรับแล้วเสร็จ ดังนั้นเกรงว่า กฟผ.อาจต้องเสียค่าปรับ
สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ศุภโชค ไชยสัจ
ได้นำปัญหาโครงการสร้างเขื่อนปากแบงโพสต์ให้สังคมได้รับทราบ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องชี้แจงอาจเพราะได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันไปเรียบร้อยและเขาคงไม่อยากกลับไปแก้ไข แม้เขาจะอ้างว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ แต่เนื้อหาในรายงานอีไอเออาจยังไม่ครอบคลุม เพราะมีประชาชนหลายกลุ่มได้รับผลกระทบ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม
ในเมื่อเป็นการปรับเปลี่ยนชีวิตของประชาชนริมแม่น้ำโขงที่ใช้ชีวิตมายาวนานและอยู่กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกื้อกูล แต่การสร้างเขื่อนครั้งนี้จะทำให้เกิดน้ำเท้อหรือน้ำท่วมสูงกว่าเดิมแน่นอน จะทำให้วิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไป เช่น คนที่เคยมีรายได้จากการเก็บไกหรือสาหร่ายแม่น้ำโขงก็ไม่มีรายได้ส่วนนี้อีกแล้ว เขาจึงอยากให้หน่วยงานรัฐลงมาดู เพราะจนถึงตอนนี้ยังไม่มีคำตอบใดๆ ให้พวกเขาเลย
“สส.พรรคก้าวไกลช่วยกันเกาะติดเรื่องนี้กันหลายคน เชื่อว่าคงต้องมีการตั้งกระทู้หรือญัตติสอบถามรัฐบาลแน่นอน”นายศุภโชคกล่าว
หมายเหตุ: หลังการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เขื่อนปากแบง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 Pak Beng Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และ CDTO ในสัดส่วนร้อยละ 49 และ 51 ตามลำดับ เพื่อดำเนินโครงการ Pak Beng (โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง) ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) กับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อย โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลา 29 ปีนับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเงินกู้กับสถาบันการเงิน โดยคาดว่าจะสามารถปิดการจัดหาเงินกู้ได้ภายในปลายปี 2567 และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 8 ปี โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2576 หนังสือฯ ของบริษัทระบุ
Sources: Transborder News/ หนังสือด่วนถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานโดยเครือข่ายประชาชนชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
Indie • in-depth online news agency
to “bridge the gap” and “connect the dots” with critical and constructive minds on development and environmental policies in Thailand and the Mekong region; to deliver meaningful messages and create the big picture critical to public understanding and decision-making, thus truly being the public’s critical voice