Photo: ©Pattana Jeingwattanasomsook

เทศกาลสมโภชพระเขี้ยวแก้ว: ค่ำคืนแห่งศรัทธา แสงคบไฟ และท่วงทำนองโบราณ I KANDY ESALA PERAHERA

ตำนานเก่าก่อนกล่าวถึง พระเขี้ยวแก้ว หรือพระทันตธาตุของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า คือสิ่งล้ำค่าและศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดินศรีลังกา หากผู้ใดได้ครอบครองก็จะได้สิทธิอันชอบธรรมในการปกครองแผ่นดิน 

เชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้ว ได้ประดิษฐานอยู่ที่เกาะศรีลังกามาเป็นเวลากว่า 1,700 ปีแล้ว เป็นของคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้อย่างดีที่วัดศรีทัลฒามัลลิกาวรวิหาร(Sri Dalada Maligawa | The Temple of the Sacred Tooth Relic) ใจกลางเมืองแคนดี และทุกๆ วันตั้งแต่เช้าตรู่จะมีพุทธศาสนิกชนรอเข้าแถวมาถวายดอกไม้สักการะเป็นจำนวนมาก

พระเขี้ยวแก้ว ได้รับการถวายบูชาอย่างสูงสุดจากชาวศรีลังกา พวกเขาเชื่อว่าเมื่อใดเกิดทุกข์ภัยความเดือดร้อนขึ้น การอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วออกมาให้ผู้คนสักการะบูชา จะช่วยปัดเป่าภัยพิบัตินั้นได้ เป็นที่มาของประเพณีอันยิ่งใหญ่ในราวเดือนสิงหาคมของทุกปี เมื่อพระเขี้ยวแก้วถูกอัญเชิญขึ้นบนหลังช้าง ตั้งขบวนแห่ยาวเหยียดไปตามถนนของเมืองแคนดีตั้งแต่บ่ายไปจนถึงค่ำคืนเป็นเวลาถึง 10 วัน

พิธีสมโภชพระเขี้ยวแก้ว (Esala Perahera ) ประกอบไปด้วยช้างนำขบวนนับร้อยเชือก ทรงเครื่องประดับประดาอย่างสวยงาม ระบำพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ ดนตรี การแสดง ซึ่งจำลองเหตุการณ์สมโภชแบบโบราณและการขับเคลื่อนฟันเฟืองแห่งศรัทธาด้วยคบไฟนับร้อยนับพันดวง ช่วยสร้างบรรยากาศขรึมขลังอลังการให้กับเมืองแคนดียามค่ำคืน

งานสมโภชพระเขี้ยวแก้วในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันดี และถือเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังอาจเป็นงานเฉลิมฉลองทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (อ้างอิง: britannica.com)

เมืองแคนดี (Kandy) บนเนินเขาเหนือระดับน้ำทะเล 500 เมตร ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกของประเทศศรีลังกาในปี พ.ศ. 2531 ปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ตั้งของวิหารพระเขี้ยวแก้วอันศักดิ์สิทธิ์
Photo: ©Rachot Visalarnkul
พระเขี้ยวแก้ว หรือพระทันตธาตุของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเก็บรักษาไว้ในวัดพระเขี้ยวแก้ว คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองศรีลังกาที่ได้รับการสักการะอย่างสูงสุด
Photo: ©Rachot Visalarnkul

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี พ.ศ. 2562 ได้เกิดกรณีช้างที่เข้าร่วมขบวนแห่พระเขี้ยวแก้วล้มป่วย (อ้างอิง: รัฐบาล “ศรีลังกา” สั่งสอบเหตุทรมานช้างแก่ ในขบวนแห่พระเขี้ยวแก้ว โดย PPTV Online เผยแพร่ 16 ส.ค. 2562) เกิดเป็นแคมเปญรณรงค์ให้ดูแลความเป็นอยู่และการใช้งานช้างที่เข้าร่วมขบวนแห่ใน www.change.org ในปี พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องจนมาถึงกรณีนำช้างไทยกลับบ้านเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

เหตุการณ์ต่อเนื่องดังกล่าวแม้จะสร้างให้เกิดข้อขัดแย้งอยู่บ้าง หากก็นับเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยสร้างการตรวจสอบและยกระดับความเป็นอยู่ของช้างในขบวนแห่ ตลอดจนช้างที่อาศัยอยู่ประจำวัดต่างๆ ในประเทศศรีลังกาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องราวความผูกพันระหว่าง คน ช้าง พุทธศาสนา ในศรีลังกาก็มีความคล้ายคลึงกันกับในสังคมไทย การดูแลความเป็นอยู่ของช้างเหล่านั้นให้ดียิ่งขึ้น ยังเป็นการขับเคลื่อนศรัทธาในประเพณีอันเก่าแก่ที่เจือจานไปสู่สัตว์ร่วมโลกอื่นๆ และไม่ผูกขาดอยู่กับเพียงมนุษย์เท่านั้นอีกด้วย


วัดศรีทัลฒามัลลิกาวรวิหาร ใจกลางเมืองแคนดี คือจุดเริ่มต้นขบวนสมโภชพระเขี้ยวแก้ว ( Esala Perahera) ประจำทุกๆ ปีเป็นเวลา 10 วัน
Photo: ©Rachot Visalarnkul

พิธีสมโภชพระเขี้ยวแก้ว จะมีผู้เข้าร่วมจำนวนนับแสน เป็นงานใหญ่ที่ชาวศรีลังกาทั่วทั้งประเทศเฝ้ารอคอยเ ก่อนจะเริ่มขบวนแห่ในแต่ละวัน ผู้คนมาจับจองพื้นที่สองฟากฝั่งถนนแต่เช้าตรู่ และอยู่ร่วมชนจนดึกดื่นค่ำคืน
Photo: ©Wason Wanichakorn

ระหว่างที่ผู้คนเฝ้ารอคอยขบวนแห่ ในอีกมุมหนึ่งกำลังตระเตรียมขบวนอย่างแข็งขัน ช้างที่ร่วมขบวนจะได้รับการดูแล อาบน้ำขัดสีฉวีวรรณ ให้อาหารก่อนจะแต่งตัวประดับประดา เหล่านักดนตรีและนักแสดงก็เริ่มแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายประจำชาติอันมากมายด้วยสีสัน
Photo: ©Sayan Chuenudomsavad

พระเขี้ยวแก้วอันศักดิ์สิทธิ์ถูกอัญเชิญขึ้นบนหลังช้าง ออกจากวิหารเพื่อตั้งขบวน
Photo: ©Jirapong Wongwiwat
ขบวนแห่พระเขี้ยวแก้ว ทั้งนักดนตรี นักฟ้อนรำ คนถือคบเพลิง รอรับช้างนำขบวนหน้าวิหารพระเขี้ยวแก้ว
Photo: ©Wason Wanichakorn
ขบวนแห่เริ่มยาตราออกสู่ท้องถนนในเมืองแคนดีเพื่อให้ผู้คนถวายสักการะ
Photo: ©Wason Wanichakorn
การแสดงคบไฟอันน่าตื่นตาตื่นใจในขบวนแห่พระเขี้ยวแก้ว
Photo: ©Wason Wanichakorn

นักแสดงร่ายรำในท่วงทำนองศิลปะสิงหลอันเก่าแก่อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย การได้รับโอกาสให้ร่วมขบวนแห่พระเขี้ยวแก้ว คือหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์และภาคภูมิใจ
Photo: ©Pattana Jeingwattanasomsook

บรรยากาศยามค่ำคืน ขรึมขลังด้วยคบไฟ เฉกเช่นขบวนแห่ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน
Photo: ©Jirapong Wongwiwat
บรรยากาศในค่ำคืนพิธีสมโภชพระเขี้ยวแก้ว
Photo: ©Jirapong Wongwiwat
บรรยากาศในค่ำคืนพิธีสมโภชพระเขี้ยวแก้ว
Photo: ©Wason Wanichakorn
บรรยากาศในค่ำคืนพิธีสมโภชพระเขี้ยวแก้ว
Photo: ©Pattana Jeingwattanasomsook
บรรยากาศในค่ำคืนพิธีสมโภชพระเขี้ยวแก้ว
Photo: ©Wason Wanichakorn

ภาพชุดพิธีสมโภชพระเขี้ยวแก้วนี้ บันทึกเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566
ขอขอบคุณ 
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ 
คุณพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา
คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา