ประเด็นเนื้อหาถอดความและเรียบเรียงจากเวทีเสวนา Dialogue Forum 2 l Year 4: El Niño, จากโลกร้อนสู่โลกแล้ง (El Niño, from Global Warming to Global Boiling) โดยความร่วมมือของสำนักข่าว Bangkok Tribune, Decode.plus, ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม, และ SEA Junction ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (Konrad Adenauer Stiftung, Thailand Office)

จากโลกร้อนสู่โลกแล้ง
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา MQDC และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต (Climate Change and Disaster Center)
ท่านเลขาธิการสหประชาชาติออกมาให้ข้อมูลเรื่องโลกเดือด (Global Boiling) ทำให้กลายเป็น theme ใหญ่เลย ก่อนหน้านี้ท่านก็ให้ความเห็นหลายเรื่องก่อนจะมาถึงเรื่อง “สู่นรกทางสภาพภูมิอากาศ” เพื่อที่จะกระตุ้นประชาคมโลก ปลายปีนี้ เขาจะมีการประชุม COP28 ที่ Dubai ประธานาธิบดี บิ๊กๆ ทั้งหลายจะไปประชุม เพราะฉะนั้น เขาต้องกระตุ้นเราว่าหนทางที่จะรอดจะทำอย่างไร
ปีนี้มันร้อนแรงแน่นอน อุณหภูมิแตะ 1.1-1.2 องศาเซลเซียสในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น อนาคตข้างหน้า แถบสีแดงสีเหลืองเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่โลกไม่เคยเจอแต่มาเจอ ณ ตอนนี้ ความหมายคือ มันเพิ่มมาจากอดีตเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว
ตัวแรกเลย อุณหภูมิถ้าแดงๆ เข้มๆ นี่ 3-4 องศาเซลเซียส ถ้าดูประเทศไทย ประมาณกันยายนถึงพฤศจิกายนก็มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นมา 1 องศาเศษๆ ยุโรปตอนนี้เจอคลื่นความร้อน ญี่ปุ่นเจอคลื่นความร้อน หรือในส่วนของสหรัฐอเมริกาหรือแอฟริกาเองก็ตาม ประเทศไทยดูแล้วยังดีกว่าที่อื่นเยอะในเชิงของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อโลกเป็นอย่างนี้แล้ว อีก 6-9 เดือนข้างหน้ามันจะมาหาเรา (ไสลด์ที่ 3) เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ (2567) กับเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม (2567) จะเห็นว่า El Niño ไต่ระดับปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า พอต้นฤดูฝนหน้า (2567) มันก็ยังคงอยู่ แต่ว่าระดับมันจะลดลงไป แน่นอน ผลกระทบมันก็คือ 6-9 เดือนข้างหน้า
ขณะนี้กำลังเข้าสู่โหมดสูงสุดแล้ว ประมาณเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม แล้วจะลดลงมา แต่อย่าลืมว่ามันยังอยู่ในโหมดของความร้อนแรง เพราะว่าช่วงนี้มันจะกระทบช่วง 6 เดือนถัดไป จนกระทั่งมาถึงประมาณซัก January 2025 ก็คืออีก 2 ปี หรือเดือนมกราคม ปี 68 มันถึงจะเริ่มสงบ เพราะฉะนั้น ปีหน้าเราก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง
El Niño คือ ลมตะวันตกมันแรง พอแรง มันก็พัดเอาน้ำทะเลที่อุณหภูมิสูงไปกองอยู่ตรงอีกฝั่งหมด (ไสลด์ที่ 12) แล้วสีมันเริ่มจาง เมื่อเข้าต้นฤดูฝนหน้า สีมันจะเริ่มจาง แต่ว่าภาพล่างนี่คือฝน ฝนมันไม่ค่อยดีเลยในต้นฤดูฝน เฉดสีมันออกไปทางติดลบ เพราะฉะนั้น ฤดูฝนปีหน้าก็ไม่ค่อยดี เวลาเข้าพฤษภาคมจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็อาจจะเป็นเครื่องเตือนนิดหนึ่งว่า กรมชลประทานก็ต้องสำรองน้ำต้นฤดูฝนแล้วอย่างนี้ เพราะเกษตรกรจะหว่านจะอะไรแล้ว นี่คือภาพรวม
พอมาดูเรื่องอุณหภูมิก็ไม่มีทางที่จะต่ำลง มีแต่สูงขึ้น เราจะร้อนที่สุด ก็คือ เมษายนหน้าแน่นอน มันแดงที่สุด ภาพมันเป็นอย่างนั้น (สไลด์ที่ 13) เพราะฉะนั้น ต้องผ่านแล้งไปให้ได้ ก็คือ แล้งที่จะถึง 6 เดือนข้างหน้า ส่วนช่วงใกล้ๆ 3 เดือนข้างหน้านี้ เดือนกันยายนยังมีฝนอยู่ แต่พอเข้าตุลาคมกลายเป็นแถบสีเหลือง คือตุลาคมนี่ฝนจะหายไปเลย เพราะฉะนั้น ปลูกข้าวตอนนี้ต้องมีน้ำสำรอง จะไปอาศัยน้ำจากชลประทานเขาไม่ให้ ฝนก็ไม่มาให้ ยิ่งไปพฤศจิกายนยิ่งหายหนักเลย ปลายฝนปีนี้เลยไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้น คนที่จะปลูกข้าวตอนนี้ต้องตระหนักนิด มีน้ำของตัวเองหรือเปล่า คิดนิด อย่างน้อยสุด ใช้น้ำฝนอย่างเดียวไม่รอด
10 ปีที่ผ่านมาเราเจอ El Niño ปี 58 และปี 59 เราดูเฉพาะนาปรัง แถบสีส้ม (ไสลด์ที่ 15) แล้วก็สีเหลือง นี่คือนาปี เทียบกับสีเขียวที่เป็นช่วงปกติ แสดงให้เห็นว่านาปรัง ปี 58 และ ปี 59 มันลดลงมาตั้ง 7 ล้านไร่ นาปีลดลงประมาณ 2 ล้านไร่ ถ้ารวมกันแล้ว ก็คือ 9 ล้านไร่ ไร่ละ 12,000 บาท หรือตันละ 12,000 บาท ก็เท่ากับติดลบ เพราะฉะนั้น เห็นข้างหน้าแล้วมันติดลบแน่ แต่ว่าปีนี้มันอาจจะเบากว่าปี 58 และ ปี 59 ก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าจะทำอย่างไร

ในการประชุม COP28 เขาจะพูดกันเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง Global Stocktake คือเขาจะวิเคราะห์ว่าแต่ละประเทศปล่อยคาร์บอนไปอย่างไร แล้วจะลดอย่างไร มันไม่ได้เป็นมาตรการเชิงบังคับ แต่มันก็ออกสื่อเผยแพร่สู่สังคมโลกแล้วว่าคุณปล่อยมากแต่แผนงานที่คุณจะลด มันไปไม่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่ม (ลดการปล่อยก๊าซฯ) มาตั้งแต่ ปี 2000 ต้องลดประมาณ 4% ต่อปี แต่ว่าโอกาสมันผ่านไปแล้ว ปัจจุบัน เขาบอกว่าต้องลด 18% ต่อปี ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีทางเดียวเท่านั้นถ้าจะทำให้โลกนี้กลับไป ก็คือ ต้อง Negative Carbon ความหมายก็คือ กลายเป็นติดลบ มาตรการต้องติดลบ คือ ปล่อยเป็นศูนย์ก็ยังไม่พอ
เพราะฉะนั้น หนทางที่โลกจะไปกันแคบลงแล้ว ความหมายคืออะไร? คือหนทางแคบ แต่เราอยากจะไปตรงเส้นสีเขียว (ต่ำกว่า 1.5 องศา) ถ้าเราตัดสินใจ ณ ตอนนี้ มันก็มี 2 ทางเลือก แต่ถ้าตัดสินใจหลังจากนี้แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นเยอะมากเลย โอกาสสุดท้ายมันแทบเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะว่าโอกาสมันยากขึ้น เพราะฉะนั้น ถึงตอนนี้ เราก็ไม่รู้แล้ว
ตอนนี้เราว่าเราเหนื่อย แต่ที่หนักที่สุดคือ พวก Gen Z อุณหภูมิจะไปแตะถึงระดับแบบว่าไม่รู้ข้าวจะออกรวงได้หรือเปล่า ถ้าเราไม่มาปรับตัวเอง เช่น เราต้องกระตุ้นให้กรมวิชาการเกษตรฯ ออกพันธุ์ข้าวที่มันทนขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้น 28-29 องศาเซลเซียส ข้าวมันไม่ออกรวง ผลวิจัยมันเป็นอย่างนั้น อันนี้ก็คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น
สำหรับประเทศไทย อนาคตข้างหน้า เฉดสีมันแดงกับเหลือง (ไสลด์ที่ 7) นั่นหมายความว่า มันหนีไม่พ้น เดี๋ยวแล้งเดี๋ยวท่วม แล้วมันจะหนักขึ้น สีเหล่านี้มันโชว์อย่างนั้น ซึ่งในรายละเอียดก็ต้องไปวิเคราะห์แต่ละพื้นที่ต่อไป ส่วนทั้งประเทศ (สไลด์ที่ 8) ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ จุดๆ เหล่านี้ คือเหตุการณ์ (ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ) ที่เกิดขึ้น ถ้าจุดอยู่ในช่องไหนมาก มันแสดงว่าเกิดขึ้นมาก ภาคกลางของเรา ปี 54 ปี 40 และปี 58 มันคล้ายๆ อย่างนี้ มันหนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ถามว่าเราจะอยู่อย่างไรแค่นั้นเอง ต้องปรับตัวอย่างไร
อันนี้มันเป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ชี้วัดให้เห็นว่า ใน 100% ของช่วงเวลาที่เรามีข้อมูล ก็คือ 60 ปี เราจะอยู่อย่างปกติสัก 60% อีก 30-40% เราไม่ปกติ เพราะฉะนั้น เราจะแก้ไขอย่างไร อนาคตก็เช่นกัน นี่การคาดการณ์ของ IPCC อุณหภูมิเฉลี่ยจาก ณ ปัจจุบัน มันเพิ่มขึ้น ระฆังมันเพิ่มขึ้นไปทางขวา มันเพิ่มขึ้นถึง 1 องศาเซลเซียส ต่อ 20 ปี หรือ 20 ปี ประมาณ 1 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้น สูงสุดรายวันก็เพิ่ม ต่ำสุดรายวันก็เพิ่ม อุณหภูมิสูงสุดปีที่แล้วมันก็ต้องเพิ่มเป็นเรื่องธรรมดา แนวโน้มมันเป็นอย่างนั้น (สไลด์ที่ 9) เรื่องฝนก็เช่นกัน ฝนก็เพิ่มขึ้น สีเขียว แต่แล้วแต่เราจะเจาะว่าแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร นี่เป็นภาพรวม มันจะเป็นอย่างนี้ (สไลด์ที่ 10)





สถานการณ์ในพื้นที่
คุณทรงพล พูลสวัสดิ์ (ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง): ภาคกลางถ้ามีน้ำเขาปลูกกันตลอด พอเขาเกี่ยวเสร็จ เขาก็ปลูกอีก ทั้งๆ ที่ชลประทานตอนนี้ประกาศชะลอการทำนาปีซึ่งปกติไม่มี (การประกาศ) การทำนาปี ปกติถึงเวลาก็ต้องทำ แต่ตอนนี้ชลประทานประกาศชะลอการทำนาปีแล้ว
ปกติหน้านี้น้ำจะเต็มคลองส่งชลประทาน ตอนนี้จะมีเป็นคิว ประมาณ 7 วันแล้วก็จะแห้งไปประมาณสัก 15 หรือ 20 วัน ในอำเภอ ในจังหวัดอ่างทองจะแบ่งคิวกันแล้ว พอถ้าหน้านี้มีแบ่งคิว โอกาสที่เกษตรกรจะเสียหายในเรื่องภัยแล้งมี ภัยแล้งในฤดูฝนเป็นเรื่องที่แปลกสำหรับเกษตรกร แต่เกษตรกรเขาไม่เชื่อ จะเชื่อต่อเมื่อสถานการณ์มาถึง ถึงเวลาที่ให้เห็นว่า น้ำไม่มีจริงๆ แล้ว แต่เกษตรกรทำไปแล้วจะทำอย่างไร นี่คือปัญหาที่ต้องมาแก้ต่อไป
ดร.เสรี: เขาเก็บเกี่ยวแล้ว แล้วก็กำลังจะทำต่อ หมายความว่าที่กรมชลประทานบอกว่า ขออย่าทำนาต่อเนื่อง นาปีต่อเนื่องนี่แหละ เพราะฉะนั้น ก็เป็นประเด็นที่กังวลว่าทำต่อตอนนี้นับไป 4 เดือนก็จะกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายนพอดีเป๊ะเลย เพราะฉะนั้น ก็เลยเป็นประเด็นว่าจะต้องเก็บน้ำไว้ช่วงฝนตกตอนนี้
คุณประฏิพัทร์ กล่ำเพ็ง (ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์): สถานการณ์ตอนนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกันเพราะว่าปริมาณน้ำต้นทุนน้อย ตอนนี้ได้มีการขอน้ำเพิ่มเข้ามา แต่ว่ามุ่งเน้นในเรื่องของช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรช่วงที่ทำไปแล้วให้รอดก่อน ซึ่งคาดว่าจะเก็บเกี่ยวสิ้นสุดทั้งหมดเลย เฉพาะพื้นที่ของโครงการฯ ประมาณสิงหาคมรอบแรกที่เริ่มทำนามา ช่วงเดือนพฤษภาคมก็จะสิ้นสุดเรียบร้อย
ล็อตที่ 2 ด้วยราคาข้าวก็คาดว่าทำกันอีกแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ได้เตรียมแผนสำรองแล้วในฐานะประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ ได้เตรียมแผนสำรองแล้วว่าสำรวจแหล่งน้ำทุกแหล่งน้ำ ตอนนี้พยายามเติมเต็มไว้ให้หมด ตอนนี้น้ำที่อยู่ในพื้นที่ประมาณ 80% ของแหล่งน้ำแล้ว ตุนไว้สำรองแล้ว ก็คือวางแผนไว้หมดแล้ว
เราไม่ได้พึ่งชลประทานอย่างเดียว ในช่วงที่การจัดสรรรอบเวรน้ำ เขาก็จะมีช่วงให้เราสูบ 7 วันแล้วก็หยุด สูบ 7 วัน เพราะว่าโรงสูบของกลุ่มเป็นโรงสูบของชลประทาน ดังนั้นการควบคุมน้ำจะอยู่ที่ชลประทานตามนโยบายชลประทานทั้งหมด ในช่วงที่เราสูบเราก็จะสูบไว้กักเก็บไว้ส่วนหนึ่ง นาข้าวเขาจะไม่ได้ใช้น้ำตลอด 24 ชั่วโมงหรอกเวลาส่งน้ำเพราะระบบเรามันใหญ่ เราก็จะส่งน้ำให้นาข้าวส่วนหนึ่ง แล้วก็กักเก็บไว้ส่วนหนึ่ง ณ ปัจจุบันเรามีแหล่งกักเก็บน้ำ 80% แล้วน้ำที่มีอยู่ในแหล่งกักเก็บน้ำที่มีอยู่
นโยบายที่ลงมาก็คือ ลดทำนาต่อเนื่อง แต่ว่าก็ต้องเข้าใจเอาความจริงมาคุยกันบนโต๊ะก่อน ข้าวเกวียนละหมื่นกว่าอย่างนี้ ลูกก็ต้องเรียน ข้าวก็ต้องกิน ของก็ต้องใช้อย่างนี้ ถ้าเราไม่ทำนาต่อเนื่อง พื้นที่การเกษตรจะให้ไปปลูกข้าวโพดปลูกอะไรมันทำไม่ได้ มันต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินที่ใช้เป็นพื้นที่ราบลุ่ม นโยบายพืชใช้น้ำน้อยเอามาใช้มันไม่ได้ผล นโยบายก็เป็นนโยบายที่ดี แต่ว่ามันอาจจะใช้ได้เฉพาะบางพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงหรือพื้นที่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันป้องกันตรงนั้น แต่ในกรณีที่มีภูมิคุ้มกันแล้วและไม่สุ่มเสี่ยงก็ให้โอกาสเขาเถอะที่จะได้ประโยชน์ตรงนี้ไป เพราะเราไม่สามารถที่จะเอาเสื้อตัวเดียวมาใช้ได้ทั้งประเทศ
สถานการณ์ของเกษตรกรตอนนี้เหมือนปลูกข้าวแล้วได้ผลผลิตเป็นแพะ หมายความว่า ทุกครั้งเวลาที่ฝนตกมากๆ เขาจะเอาผันน้ำเข้านา เวลาที่ฝนตกน้อยก็จะบอกว่าชาวนาใช้น้ำหมด จริงๆ แล้วข้อเท็จจริงอย่างนี้ไม่อยากให้มาโทษเฉพาะกลุ่มชาวนาอย่างเดียว การใช้น้ำทั่วประเทศมันต้องดูในภาพรวม เพราะเป้าหมายหลักๆ ในการจัดการน้ำ ผมไม่อยากให้ชาวนาเป็นแพะ ไม่อยากให้ El Niño เป็นแพะด้วยซ้ำไป เพราะเราต้องเอาปัญหามาคุยกันบนโต๊ะว่า สิ่งที่อาจารย์เสรีเตือนว่ามันจะเกิด El Niño มันจะเกิดผลกระทบอย่างไร
ผลกระทบของเราไม่ใช่ El Niño นั่นคือภาพกว้าง แต่ผลกระทบของเราก็คือน้ำมันไม่มี อันนี้มันต้องเอาความจริงที่อยู่บนโต๊ะเขามาวาง แล้วน้ำไม่มีมันขึ้นอยู่กับอะไร มันขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำไหม มันขึ้นอยู่กับอะไร อันนี้คือปัจจัยต่างหากที่จะมาส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน เราต้องพูดให้มันใกล้ตัวกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด เขาถึงจะตระหนักแล้วถึงจะเข้าใจ ไม่อย่างนั้น El Niño ก็คือ El Niño ตอนนั้นก็เลยต้องพยายามเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ
การบริหารจัดการน้ำสำคัญในฤดูที่มีน้ำมาก ถ้าเรากักเก็บน้ำไว้ได้เยอะก็จะช่วยได้ แต่ว่าที่ผ่านมาถ้าเราไปเอากราฟผันน้ำของกรมชลประทาน หรืออะไรต่างๆ เปรียบเทียบในแต่ละปีๆ ในปีก่อน ในช่วงฤดูน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนพฤษภาคม เราใช้น้ำไป 8,000 ล้าน ในขณะก่อนหน้านี้ก่อนที่จะเป็นน้ำท่วมเราใช้น้ำบริหารจัดการ 3,000 กว่าล้าน นั่นก็หมายความว่า ในช่วงปีที่เรามีน้ำ 3,000 กว่าล้าน เราบริหารจัดการน้ำเราก็รอดมาได้ เราก็ไม่ตาย ดังนั้น ถามว่าทำไมครั้งที่แล้วถึงต้องบริหารจัดการน้ำถึง 8,000 ล้านในช่วงนี้ มันก็เลยส่งผลกระทบมาให้ฤดูนี้ พฤษภาคมเดือนนี้ เราไม่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ ดังนั้น El Niño เป็นตัวบ่งชี้ แต่สิ่งที่ควรที่จะมีดีกว่านี้คือ การบริหารจัดการ

การบริหารจัดการน้ำท่ามกลางวิกฤติ
คุณฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
ขออนุญาตไล่เรียงเพื่อให้เห็นภาพรวมร่วมกัน ทางภาครัฐโดย สทนช. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะที่ดูในภาพรวม แล้วก็กำกับในเรื่องของนโยบายให้หน่วยงานปฏิบัตินั้นไปดำเนินการ ก็แน่ชัดตามดร.เสรี ก็คือ ในส่วนของ El Niño เกิดขึ้นแน่ แล้วก็เกิดขึ้นแล้ว เริ่มส่งผลกระทบแล้ว สิ่งที่เรามอง ไม่ใช่มองตอนปีนี้ เรามองมาก่อนหน้านั้นแล้ว เรามีการประเมิน มีการเปรียบเทียบ มีการคิดและก็วิเคราะห์
ในปัจจุบันลักษณะฝนที่ตก จะตกบริเวณชายขอบของประเทศ แล้วก็ด้านที่เป็นฝั่งรับลม ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นมาปะทะ ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้หรือภาคตะวันตกและยาวขึ้นไปภาคเหนือ แล้วก็วกจากภาคเหนือลงมา ก็เป็นด้านรับลมจากภาคเหนือมาปะทะ ก็จะเห็นภาพข่าวน้ำท่วมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน่าน เชียงราย แล้วก็ลงมาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันนี้เป็นพฤติกรรมของฝนในบ้านเรา
อันนี้คือจะเป็นหน้าเขาเลย ส่วนเขื่อนในประเทศไทยคือสร้างภายในประเทศ เพราะฉะนั้น ลมที่พัดมาแล้วตกก็คือด้านหน้าเขาบริเวณขอบประเทศ ณ ขณะนี้ ปริมาณน้ำฝนที่เลยมาตกในส่วนที่จะลงเขื่อนน้อย ถ้าภาพนี้จะเห็นชัดว่าภายในของประเทศเป็นสีเหลืองอ่อนๆ คือ ฝนตกน้อยมาก แล้วก็ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 19% (สไลด์ที่ 2)
จากการคาดการณ์ของ El Niño เราก็มาดูว่า pattern ฝนในประเทศไทยกับพฤติกรรมของ El Niño ที่เกิดขึ้นปี 62 กับปี 63 ซึ่งคล้ายคลึงกับปีนี้มาก แล้วก็คาดการณ์ว่าปี 67 จะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น pattern ฝนในประเทศไทยเป็นที่ประจักษ์แล้วจากการสรุปรวบรวมรวมกับหน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา แล้วก็หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างชี้ตรงกันว่า มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับ ปี 62 กับ 63 เพราะฉะนั้น เรามีโมเดลแล้ว เราก็เอาส่วนนี้มาประเมินปริมาณน้ำไปยันปี 67 เลย ปี 67 นั้นอาจจะมีความคลาดเคลื่อน แต่ว่าเราได้แนวโน้มหรือเห็นว่ามันเป็นไปทางปริมาณน้ำน้อย เพราะฉะนั้น เราก็มีโจทย์แล้วก็เราคิดจะแก้อย่างไร
อันนี้โชว์ให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาก็มีเกิดอุทกภัย ตั้งแต่มกราคมเลยในส่วนชายขอบของประเทศที่ผ่านมา 36 จังหวัด ก็เป็นลักษณะของเป็น flash flood แล้วก็ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผ่านมา ลุ่มน้ำโขงอีสานก็ตกซ้ำที่เดิมเลย ก็เริ่มมีน้ำไหลล้นตลิ่ง แล้วเราในนามของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่เป็นฝ่ายเลขาของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติก็มีประกาศแจ้งเตือนไปถึง 15 ฉบับ ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา มีประกาศเรื่องน้ำท่วม ยกเว้นอยู่ 2 เดือน มีนาคมกับเมษายนที่ไม่มีเรื่องของอุทกภัย เพราะฉะนั้น จะทำให้เห็นว่ามันมีความผันแปรระหว่างบางพื้นที่ที่ฝนตกหนัก แล้วก็ภายในประเทศฝนตกน้อยมาก
มาดูปริมาณน้ำที่เกริ่นไว้แล้วว่าปี 62 ต้นฤดูฝน (พ.ค.) มีปริมาณน้ำประมาณ 16,000 กว่าล้าน ลบ.ม. ต้นปีนี้ 1 พ.ค. มี 17,000 ล้าน ลบ.ม. ลักษณะของปริมาณน้ำต้นทุนก็คล้ายคลึงกันเมื่อเราเอาปริมาณน้ำในส่วนของการคาดการณ์เอามาเติม ตัวนี้เรามีหลักวิชาการ เมื่อก่อนไม่มีใครกล้าที่จะประเมินแบบนี้แล้วก็ชี้แบบนี้ แล้วก็การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน เดี๋ยวนี้เริ่มมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เมื่อมีความคลาดเคลื่อนในอดีต ปัจจุบันก็พยายามที่จะปรับปรุงให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น โดยสรุปง่ายๆ คือ ปี 66 จะคล้ายคลึงกับปี 62 ต้นฤดูคล้ายคลึงกันเลย ส่วนปี 67 (ประมาณการที่ 12,800 ล้าน ลบ.ม.) ก็จะคล้ายคลึงกับปี 63 (10,400 ล้าน ลบ.ม) (ในส่วนของต้นฤดูแล้ง (พ.ย.) สทนช.ประมาณการไว้ดังนี้คือ ปี 2562/2563 (23,800/19,800 ล้าน ลบ.ม.) เทียบกับ 2566/2567 (26,100/25,200 ล้าน ลบ.ม.) และเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ 35,800 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับน้ำต้นทุนต้นฤดูแล้งของปีนี้และปีหน้าจะน้อยกว่าของปีที่แล้วเกือบ 10,000 ล้าน ลบ.ม.) เพราะฉะนั้น แนวโน้ม ณ ขณะนี้ ตามสภาพของ El Niño น้ำจะน้อย แล้วก็คล้ายปี 62 แล้วก็ 63
ถัดมา ปริมาณน้ำฝนที่เรารวบรวม มีการประเมินควบคู่กันระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยาแล้วก็สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เกิดจากโมเดลในการคาดการณ์ เราพยายามที่จะปรับจูนให้เป็นโมเดลผลการคาดการณ์ตัวเดียว เราเรียกว่า ONE MAP ภาพที่โชว์ก็คือเดือนสิงหาคม ฝนที่ตกก็จะเป็นไปตามคาดการณ์เลย สีแดงๆ แล้วก็แผ่เข้ามา พอเดือนกันยายนก็เริ่มขยับลงมา หลังจากกันยายน พื้นที่ภายในประเทศ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ก็จะเป็นช่วงระยะเวลาในการที่จะต้องเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะเจ้าพระยา หากปริมาณน้ำฝนไม่ตกหนักจะไม่มีปริมาณน้ำสำหรับซับซึมลงมา พอเราไม่มีปริมาณน้ำรวมกับหน้าแล้งด้วย เราไม่มีน้ำต้นทุนที่จะส่งลงมาเติมให้กับเพาะปลูก ปริมาณน้ำที่จะไหลลงไปรวมแม่น้ำเจ้าพระยาในอนาคตรวมทั้งน้ำในเจ้าพระยาก็จะมีปริมาณน้อย ก็จะได้รับผลกระทบของเรื่องของน้ำเค็มที่จะหนุน เพราะฉะนั้น เราจะต้องเปลืองน้ำในส่วนของแหล่งน้ำเก็บกักที่จะต้องมาผลักดันน้ำเค็มเพื่อการประปา
อันนี้คือภาพที่สะท้อนการทำงานว่า ในแต่ละฤดูเรามีการคาดการณ์ทั้งแล้งและท่วมว่าพื้นที่ไหน คาดการณ์นี้ไม่ใช่ว่าคิดเอาเอง เอาผลการประเมินแล้วมาตรวจสอบกับพื้นที่ที่เกิด มาตรวจสอบกับปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่ แล้วก็ชี้ไปว่าพื้นที่ตรงไหนจะเป็นเสี่ยงแล้ง พื้นที่ไหนจะเป็นเสี่ยงน้ำท่วม อันนี้เราทำก่อนฤดูอย่างน้อย 6 เดือน แล้วก็ก่อนที่จะกำหนดเป็นมาตรการอย่างน้อย 2 เดือนที่จะผ่านครม. เมื่อผ่านครม.แล้วก็มอบหมายหน่วยงานให้ไปดำเนินการ (10/12 มาตรการ)
ในเรื่องของ El Niño เรามองไปก่อนแล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว ตั้งแต่ทาง ดร.เสรีพยายามแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นงานเสวนาหรือทางเพจ ก็ทราบถึงแนวโน้มในเรื่องของสิ่งที่จะเกิด ในเรื่องของ El Niño เราก็ตระหนัก ก็มาประเมิน แล้วก็มีมาตรการรองรับตั้งแต่ปีที่แล้วในเรื่องของการเก็บกักน้ำ การประหยัดน้ำ หาแหล่งน้ำสำรอง แล้วทำฝนหลวงด้วยในพื้นที่ที่เป็นอยู่ ฝนไม่ตก เป็นพื้นที่เงาฝน หรือแหล่งเก็บกักน้ำที่จำเป็นที่จะต้องทำฝนหลวงเพิ่มเติม เราทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
แล้วปีนี้ในช่วงนี้ ก็คือฤดูฝน ในฤดูฝนก็มีมาตรการอีกหนึ่งมาตรการเสริมจากเรื่องของฝน ก็คือ จะต้องมีการเก็บกักน้ำด้วยเหมือนกัน แหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ มันตกไม่ตก เข้าไม่เข้า ไม่เป็นไร เราก็คือมีมาตรการนี้ส่งเสริมไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยที่สามารถที่จะดำเนินการได้ก็คือ การเก็บกักน้ำสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กหรือสูบทอยน้ำ ซึ่งเราไปลงไปดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ขณะนี้ก็เป็นดาวกระจายลงไป ยกตัวอย่างเช่น เราลงไปที่นครราชสีมา แหล่งน้ำที่เป็นเพื่ออุปโภคบริโภค หรือการเกษตรเขาเริ่มหมดแล้ว แต่ว่ามีแหล่งน้ำอื่น ระยะทางเป็น 4-5 กิโลเมตร เราไปสูบน้ำเอามาเติมเพื่อการอุปโภคบริโภค แล้วก็บางที่ก็คือเพื่อการเกษตรด้วย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้เลยในงบประมาณที่เขาได้รับ ก็คือ 500,000 บาท เขาหมด ขออำเภอ อำเภอขอทางจังหวัด มีมติเป็นประกาศเป็นเขตไป ก็เอาไปใช้ได้ ใช้ได้ตลอด ยังไม่เกิดเหตุ เพื่อปกป้องก่อนเหตุที่จะเกิด 500,000 บาท เราพยายามที่จะไปขับเคลื่อนให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พยายามชูประเด็นนี้แล้วเอาเข้ามาดำเนินการให้ได้
ตอนนี้เราก็ดาวกระจายลงไปเพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนได้รับน้ำ หรือในพื้นที่ในเขตชลประทานอย่างน้อยว่าคุณปลูกใน crop แรก น้ำไม่พอ อย่างน้อยต้องหาวิธีเสริมน้ำไปส่งให้ได้ ที่ผ่านมาอย่างคลองมโนรมย์ อีกตัวอย่างหนึ่งรุนแรงยิ่งกว่านี้คือคลองมะขามเฒ่าอู่ทอง น้ำคลองเส้นตรงๆ เส้นเดียว 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้อยกว่านี้อีก อันนี้ 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คลองใหญ่ อันนี้ 30 ส่งน้ำไม่เคยถึงปลายคลอง ก็ต้องมีการจัดรอบเวร มีการสูบเสริมน้ำไปช่วยเพื่อให้ crop แรกของเขารอด
พื้นที่นอกชลประทาน
เรามีการประเมิน 2 ส่วน ในส่วนของพื้นที่ชลประทานแหล่งน้ำต้นทุนเราทราบหรือคาดการณ์ว่าแหล่งน้ำต้นทุนจะมีเท่าไหร่ พื้นที่จะเพาะปลูกได้เท่าไหร่ อันนี้เราทราบ แล้วก็แนวทางในการที่จะไปช่วยเหลือ ในการประเมินตามมาตรการคือ 1 crop หน่วยงานราชการจะต้องไปดำเนินการโดยเฉพาะในเขตชลประทานคือ กรมชลประทานที่ต้องดูแล
ส่วนนอกเขตชลประทานก็มีการคิดประเมินด้วยเหมือนกันเพราะว่าเขาจะปลูกข้าวหรือทำการเกษตรไม่ได้ถ้าเขาไม่มีแหล่งน้ำ รอน้ำฝนอย่างเดียว อย่างเช่น โคราช รอน้ำฝนอย่างเดียว พอฝนไม่ตกชุก เขาก็ต้องขอในเรื่องของฝนหลวง ฝนหลวงมีความเหมาะสมในการทำได้หรือไม่ อาจจะไม่ได้ นั่นก็คือเสี่ยงมากๆ อันนี้คือประชาชนเขารับทราบแล้วก็เสี่ยงเอง
อีกพื้นที่หนึ่งในนอกเขตก็คือมีแหล่งน้ำ เขาก็ประเมินตัวเองโดยกรมทรัพยากรน้ำร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประเมินว่าพื้นที่นี้จะปลูกได้เท่าไหร่แล้วไปแนะนำ เพราะฉะนั้น ในพื้นที่นอกเขตเขาต้องรู้ว่าแหล่งน้ำตัวเองมี แล้วก็สามารถที่สนับสนุนการเพาะปลูกของตัวเองได้ตลอดฤดู
น้ำเพื่อการเกษตร
คุณทรงพล: สทนช. เขามองในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ แต่ประเทศไทยเอาภาคเกษตรเป็นสินค้าหลัก เป็นโมเดลรองจากอุตสาหกรรม พอภาคเกษตรไม่มีน้ำ มันจบแล้ว มันจะไปได้อย่างไร แล้วเศรษฐกิจจะไปทางไหน การที่ชลประทานมีการบริหารจัดการน้ำ ถามว่าน้ำต้นทุน (สำหรับภาคเกษตร) มีไหม ได้มองน้ำต้นทุนหรือเปล่า เพราะสมัยก่อนในเขตภาคกลางชลประทาน 100% พอชลประทาน 100% เกษตรกรจะไม่มองแหล่งน้ำของตัวเอง บ่อ สระ เขาจะกลบหมดเลย เพื่อทำเกษตร แต่ตอนนั้นน้ำมันดีมาก ใหม่ๆ น้ำดี แต่หลังจากนั้นประมาณ 10 กว่าปี ตอนนี้เริ่มแล้ง เริ่มน้ำไม่พอ ตอนนี้เกษตรกรก็ไม่ได้คิดที่จะมีแหล่งน้ำของตัวเอง และแหล่งน้ำสาธารณะต่างๆ ก็ตื้นเขินโดยที่การลอกก็ไม่สามารถเก็บน้ำได้ แล้วก็บางพื้นที่ แหล่งที่เป็นสาธารณะ ผลสุดท้ายทำไม่ได้ เพราะอะไร? ถูกนายทุนยึดหมด ที่สาธารณะ
ที่ตรงนี้ 100 ไร่ ที่ตรงนี้ 200 ไร่ 50 ไร่ ที่จะทำแก้มลิงในจังหวัดอ่างทองได้เยอะ แต่ไม่สามารถทำได้ ก็คือ เจอนายทุนเข้าไปทำกิน ไม่สามารถที่จะไปไล่เขาได้โดยที่ยังเป็นที่สาธารณะอยู่ มันมีอย่างนี้เยอะ ถ้าทำตรงนี้ จะสามารถเอาน้ำต้นทุนตรงนี้เข้าไปได้ แล้วบึงมีอยู่อย่างบึงศรีบัวทอง เป็นบึงที่กว้างประมาณ 200 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร ตอนนี้เหลือกว้างไม่เกิน 20-30 เมตร เอาถนนไปอยู่ในคลองแล้วมันจะเก็บน้ำตรงไหน เพราะน้ำมาก็ท่วม
อย่างอ่างทองคราวที่แล้วน้ำท่วม อำเภอวิเศษชัยชาญน้ำท่วม เขาก็กันไม่ให้น้ำท่วม ผลสุดท้ายปีที่แล้วน้ำไม่เคยท่วมดันท่วม เพราะเขาไปห่วงตรงโน้น มันก็ท่วมอีกทางหนึ่ง น้ำจะไปตรงไหน? คือมันต้องกระจายน้ำ น้ำท่วมอ่างทองคราวที่แล้วท่วมเฉพาะจุดและท่วมมิดหัว ท่วมมิดหลังคา ถนนที่เดินเข้าหมู่บ้านนี่มิดหัว เพราะผมอยู่ตรงนั้น เขาบอกว่า 10 กว่าปีไม่เคยท่วม แต่ทำไมปีนี้ท่วม เพราะอะไร เพราะเขาห่วงที่อื่น พอเขาห่วงที่อื่น ตรงนี้ไม่ได้ห่วง กลับมาพังแล้วท่วมตรงนี้ นี่คือดูภาพรวมต้องดูทั้งหมด ไม่ใช่ดูว่าของอ่างทองแค่นี้ แต่ดูว่าอ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ถ้าน้ำไปตรงนี้จะกระจายอย่างไร ถ้ากระจายให้ทั่วถึง มันจะไม่เสียหายไปทั่ว ไม่ใช่กั้น บล็อกๆๆ พอบล็อกตรงนี้กลับกลายเป็นการบริหารน้ำที่เหมือนที่เขาพูด
ท่วมมันท่วมเสียหายเยอะ มันท่วมจนมิดหลังคา มิดจนเสียหาย แต่ถ้ากระจายน้ำทั่วถึง ไม่เกิน 50 เซนติเมตร ไม่มีเสียหายเลย ภาคการเกษตรและน้ำท่วม สมมุติถ้าไม่เกิน 50 เซนติเมตร เกษตรกรชาวนาเขาไม่เสียหาย แต่ตอนนี้โดนบล็อกให้น้ำอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ถ้าเกิดมันพังขึ้นมาเมื่อไหร่ มันก็จะท่วมตรงนั้นไป นี่คือปัญหาการบริหารจัดการน้ำ อันนี้เรามาพูดให้ฟังว่ามันเกิดอย่างนี้จริงๆ อันนี้ปัญหาเราต้องมาแก้กัน
คุณประฏิพัทร์: วันนี้คนในพื้นที่ยังไม่รู้จักสทนช. ถ้าเป็นยักษ์ ก็เป็นยักษ์ที่ไม่มีกระบอง เพราะเราไม่เห็นได้ว่า สทนช.ที่อยู่ในภาพกว้าง ภาพใหญ่ บนยอดสูง แต่ในเรื่องของการบริหารจัดการลงพื้นที่อยู่ตรงไหน ถ้าเราไม่รู้จักเจ้าหน้าที่บางท่านในสทนช. ที่เขาให้ความกรุณาลงไปดู เราก็ไม่รู้เลยว่าสทนช. ทำหน้าที่อะไร สทนช. มีหน้าที่มีคุมไปทั้งหมดเลย ทุกหน่วยงาน แต่ถ้าบริหารจัดการอะไรไม่ได้สักอย่าง จะทำอย่างไร
ในประเด็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ หลักๆ เลยถามว่า ที่ท่านบอกว่า อปท. คนที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันทำไม่ได้ วันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะไปกำจัดผักตบชวายังอาจจะโดน สตง.บอกใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ด้วยซ้ำไป ไปทำในเขตพื้นที่ชลประทาน ไปทำในเขตของกรมเจ้าท่า ทำได้ไหม มันทำไม่ได้ อยากจะเอางบไปขุดลอก นายกฯ บอกว่าผมอยากจะขุดลอกให้คุณเหลือเกิน แต่มันอยู่ในเขตชลประทาน มันครอบคลุมโดยเจ้าท่าเจ้าที่อะไรนี่ เขาก็ทำไม่ได้
วันนี้ต้องเอาความจริงมาคุยกันบนโต๊ะ วันนี้ลงชัยนาทสักครั้งไหม ลงพื้นที่โครงการฯ ก็ได้ จะชี้เป้าเลยว่าตรงนี้มันควรที่จะเป็นยังไง แต่ก็ต้องบอกว่า ปัญหาในการบริหารจัดการมันเป็นความทับซ้อนของพื้นที่ ไม่ได้ออกตัวแทนท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นมันทำไม่ได้ กว่าจะของบชลประทาน ชลประทานก็ต้องขอคำสั่งจากสำนักฯ ขอกรม ชลประทานเองมีเครื่องมืออยู่ที่ส่วนกลาง แต่ไม่มีเครื่องมืออยู่ในพื้นที่
สมมุติว่าน้ำท่วมที่ตำบลหางน้ำสาครในเขตชลประทาน ก็ต้องขอไปที่โครงการชลประทาน และขอไว้ที่สำนักฯ คือ มันไม่ทันเหตุการณ์ในการบริหารจัดการ ดังนั้นตอนนี้โครงการส่งน้ำก็เลยจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำมาทั้งหมดเลย แล้วให้อำนาจการบริหารจัดการน้ำขึ้นอยู่กับกลุ่มโดยกรมชลประทานเป็นพี่เลี้ยงกำหนดมาตรการนโยบาย ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงฤดูน้ำแล้ง เขามีการบริหารจัดการน้ำโดยการจัดสรรน้ำ เขาก็แจ้งมายังกลุ่มว่าวันนี้จะสูบถึงนี้ๆๆ เราช่วยเหลือตัวเองกันได้ หลักการอย่างนี้เอง อย่าง มีสทนช. ถามว่า ดีไหม? ดี แต่ชาวบ้านวันนี้เองยังไม่เห็น
ถ้า สทนช. ลงพื้นที่ แล้วกำกับหลักการว่าต้องทำอย่างนี้ๆ โอเค แต่ว่าถ้ามีเรื่องร้องเรียนไป เจ้าหน้าที่สทนช.บางท่านก็ลงพื้นที่ แต่ในเชิงรูปธรรมที่เป็นภาพกว้างแล้วเห็นผลสัมฤทธิ์ให้ชาวบ้านได้เห็นว่านี่คือ สทนช. ยังไม่เห็น
คุณทรงพล: ในฐานะที่เป็นประธานสภาจังหวัด หน่วยงานผู้ตรวจราชการลงไป เขาไม่ให้เข้าร่วม เขาจะไปตรวจที่ดีๆ และกลับมารายงานกระทรวง กระทรวงก็บอกว่าสำเร็จ และสทนช. ก็เอาจากนั้นมาว่าสำเร็จ เราขอเข้าร่วมด้วยจะได้อธิบายว่าเหตุการณ์ตรงนี้ที่พื้นที่เป็นแบบนี้ๆ เขาไม่ให้เข้า หน่วยงานราชการของจังหวัดอ่างทอง ผู้ตรวจกระทรวงเกษตรฯ ไม่ให้เข้าเลยสักครั้ง ทีนี้แล้วท่านจะรู้ความจริงไหม ไม่รู้หรอก
แล้วคณะกรรมการที่ตั้งผู้ใช้น้ำมา 2 ปีแล้ว ไม่เคยเรียกประชุมเลย ท่านตั้งคณะกรรมการผู้ใช้น้ำ ตั้งไปเลย ทุกอำเภอเลยทุกลุ่มน้ำทั้งหมดเลย แต่ในฐานะประธานไม่เคยได้รับการติดต่อมาร่วมประชุม เพื่อมีแนวทางอะไรไม่เคย จะครบปีแล้ว
ดร.เสรี: คิดว่าปัญหามันมี 2 ส่วน ส่วนแรก คือ พื้นที่ชาวนาเอง เกษตรกรเองเขาไม่ยินดีจะขุดบ่อขุดสระเพราะว่าเขาเช่านา แน่นอนเจ้าของนาไม่ยอมให้แน่ เขาก็กลับมาที่พื้นที่สาธารณะที่อยู่ในจังหวัดซึ่งเยอะแยะเลย ทำไมไม่มีน้ำ เพราะฉะนั้น ก็หวังว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะไปดูพื้นที่สาธารณะว่าใช้ได้ไหม โจทย์ง่ายนิดเดียว ทำหรือเปล่าก็ไม่รู้ ฝากถึงผู้หลักผู้ใหญ่ด้วย ตอนนี้จัดตั้งรัฐบาลอยู่ ดูตัวนี้ให้เกษตรกร ยังทัน เกษตรกรด้วย

ข้อเสนอเชิงนโยบาย
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พรรคก้าวไกล
จริงๆ เราก็เคยได้มีโอกาสลงพื้นที่ที่ชัยนาท แล้วก็เรียนเชิญอาจารย์เสรีแล้วก็พรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคที่เมื่อครั้งจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันอีก 7 พรรค ก็ได้ลงไปดูพื้นที่พร้อมกัน เราก็เห็นปัญหา ขอพูดในสถานการณ์เร่งด่วน 4 เรื่องที่ควรจะต้องทำคืออะไร แล้วก็ในแง่ระยะยาวอีก 3 เรื่องที่ควรจะต้องทำคืออะไร
ในเรื่องเร่งด่วน 4 เรื่องนี้ อาจจะแบ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่เราอาจจะยังไม่ได้พูดถึงเยอะนักในวันนี้ก็คือ พื้นที่ที่เป็นพื้นที่ในเขตชุมชน เป็นน้ำอุปโภคบริโภค เป็นพื้นที่ประปา ในจำนวนพื้นที่ประปาภูมิภาค 800 แห่งโดยประมาณ ยังไม่รวมประปาหมู่บ้าน อย่างน้อยน่าจะประมาณสัก 30% อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีแหล่งน้ำดิบเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างที่อาจารย์เสรีได้ฉายภาพก็คือ เดือนพฤศจิกายนซึ่งฝนน้อย แต่ปีนี้น้อยกว่าปกติอีก 20 กว่า% พอมกราคมน้อยกว่าปกติอีก 40% มันแปลว่าเขาต้องมี scenario นี้ ก็คือ มีภาพอยู่ว่าแหล่งน้ำดิบที่เขามีมันจะเพียงพอในกรณีที่ไม่มีฝนอย่างน้อยสัก 3 เดือนหรืออาจจะ 4 เดือน
เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นสิ่งแรกที่อยากจะแนะนำให้รัฐบาลชุดใหม่เข้าไปดำเนินการ ก็คือ ตรวจเช็คสภาพประปาทุกพื้นที่ แล้วก็มีการสำรองทั้งน้ำดิบแล้วก็น้ำสุก หมายถึงน้ำที่ผ่านการกรองผ่านระบบประปาเรียบร้อยแล้ว คำว่าน้ำสุกหรือน้ำที่ผ่านระบบประปาแล้วก็ไม่อยากให้คิดว่าสำรองไม่ได้ แน่นอนมันอาจจะสำรองได้ไม่เยอะ แต่ว่าสำหรับบางกรณี ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาล โรงเรียน มีความสำคัญมากที่เราจะต้องสำรองน้ำเหล่านี้ไว้ให้ได้ ลำดับแรกก็อยากจะให้เตรียมแผนสำหรับพื้นที่นี้
ส่วนประปานครหลวงปีนี้ ก็คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ที่จะเจอความเค็มในพื้นที่ที่เป็นโซนตะวันออก เพราะว่านอกเหนือจากการที่เรามีน้ำต้นทุนในเจ้าพระยาอาจจะเหลือประมาณสัก 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน น้ำต้นทุนฝั่งที่บางคนก็จะเรียกว่าเป็นก๊อกสองจากฝั่งเขื่อนวชิราลงกรณ์แล้วก็เขื่อนศรีนครินทร์ก็น้อยลงกว่าปีก่อนด้วย เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะเข้ามาสมทบเพื่อที่จะป้องกันน้ำเค็มก็คงจะน้อย การวางแผนมาตรการเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญคือเรื่องน้ำเค็ม เราไม่อยากให้มองแค่ว่ามันก็ทนๆ กินได้อะไรอย่างนี้ ซึ่งสำหรับคนปกติก็อาจจะทนได้ แต่ว่ามีกลุ่มผู้ที่มีความสุ่มเสี่ยงในแง่ของสุขภาพ มีกระบวนการผลิตบางส่วนที่อาจจะไม่สามารถรับกับค่าการนำไฟฟ้าหรือค่าความเค็มที่สูงได้ ก็ควรจะต้องเตรียมให้พร้อมไว้ในแง่การสำรอง นั่นคือส่วนที่ 1
ส่วนที่ 2 ก็คือโจทย์ในเรื่องพื้นที่ชลประทานนี้แหละ ปีก่อนๆ อาจจะมีน้ำ ถ้าเป็นปีโดยเฉลี่ยน้ำต้นทุนในเขตเจ้าพระยาอาจจะมีประมาณสัก 9,000-10,000 ล้าน ลบ.ม. ในเดือนพฤศจิกายนก็คือปลายฤดูฝน แต่ปีนี้อาจจะเหลือประมาณสัก 7,000 ล้าน ลบ.ม. เพราะฉะนั้น มันแปลว่า มันหายไปสัก 3,000 ล้าน ลบ.ม. ก็หนีไม่พ้นที่หลายท่านบอกว่าต้องเอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน คือ ด้านหนึ่งเราก็คงอยากจะทำนาในช่วงปีที่ข้าวราคาดี อยากจะขยายความนิด ข้าวราคาดีเพราะ El Niño ก็คือประเทศอื่นเขาเกิดผลกระทบก็เลยทำให้ข้าวราคาดี ถ้าเป็นเกม มันก็เหมือนกับการที่เราจะต้องเสี่ยงก็คือ ในขณะที่คนอื่นเดือดร้อนกันหมด ถ้าเราลองเสี่ยงเพิ่มแล้วถ้ามันรอดเราก็อาจจะได้กำไรเยอะไปด้วย แต่ถ้าไม่รอดก็เจ๊ง เพราะฉะนั้น มันก็เลยจำเป็นที่จะต้องเอา scenario นี้มาคุยกันว่า ในขณะที่น้ำอาจจะลดลงไปประมาณสัก 2,000-3,000 ล้าน พื้นที่ที่จะต้องลดลงมันควรจะเป็นอย่างไร
คราวนี้ อยู่ๆ เราจะไปบอกว่าคุณลดๆ ชี้นู่นชี้นี่ ไม่ว่าจะเอาข้อมูลหลักฐานอะไรมาก็แล้วแต่ แต่ว่ามันไม่สามารถตอบโจทย์ของพี่น้องเกษตรกรได้ มันจึงจำเป็นที่จะต้องมีการเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจ ในครั้งที่ตอนนั้นเรายังเป็นคณะทำงานจัดตั้งรัฐบาลอยู่ แล้วก็ได้เรียนเชิญอาจารย์เสรีเข้าร่วม ก็พูดถึงว่าเราอาจจะต้องเตรียมพื้นที่ประมาณสัก 2 ล้านไร่ที่อาจจะจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนจากข้าวไปเป็นพืชอื่น แล้วก็ขณะเดียวกันต้องเตรียมงบประมาณสนับสนุนพี่น้อง จะเรียกว่าชดเชยก็ได้ อย่างน้อยสัก 2,000 บาทต่อไร่ ซึ่งก็รวมเป็นเงินประมาณสัก 4,000-6,000 ล้านบาทที่รัฐบาลในขณะนั้นที่เราเสนอ รัฐบาลที่กำลังจัดตั้งจำเป็นจะต้องเตรียมเพื่อที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีทางเลือก ก็คือ ถ้าไม่ปลูกข้าว แต่จะปลูกพืชอื่น ก็มีเงินอุดหนุนมีเงินสนับสนุนที่น่าจะใกล้เคียงกันกับการปลูกข้าว เมื่อชดเชยกับความเสี่ยงว่าถ้าลุยเรื่องข้าวไปแล้วอาจจะมีความเสี่ยงด้วย ก็อาจจะเป็นคำตอบที่มันดีขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเวลามันก็ผ่านเลยมาตามระบอบในการเมืองของเรา มันก็จะเข้าข่ายที่ท่านอาจารย์เสรีได้โชว์ภาพให้เราดู ก็คือ ยิ่งเลือก ยิ่งเลือกได้น้อย แล้วก็จะไม่ได้เลือกที่ดีที่สุด สถานการณ์วันนี้ ก็คือ หลายพื้นที่ก็ตัดสินใจ และเนื่องจากเรายังไม่มีตัวเลือกให้เขา เรายังไม่มี 2,000 บาทต่อไร่ให้เขา เขาก็เลือกที่จะทำนาไปเรียบร้อยแล้ว ก็กลายเป็นสถานการณ์ที่จะต้องลุ้น ไม่ได้อ้างว่าสิ่งที่เสนอนี่ดีที่สุด แต่ก็อยากจะฝากบอกกับรัฐบาลใหม่ว่าทางเลือกตรงนี้ต้องมาโดยไว มันคงไม่ใช่สิ่งที่จะไปบอกว่าขอความร่วมมืองดทำนาปรังอะไรอย่างนี้ แต่เรามีทางเลือกอะไรให้กับพี่น้องเกษตรกร ให้เขาได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับเพื่อนที่ปลูกพืชที่คุ้นเคย อย่างเช่น การทำนา
ส่วนที่ 3 ก็คือ พืชที่มีความอ่อนไหวสูง ที่น่าเป็นห่วงมาก ก็คือ ไม้ผล ไม้ผลมันไม่ได้เจอแค่ภัยแล้งอย่างเดียว มันจะเจอเรื่องภัยร้อนด้วย ก็คือ อุณหภูมิที่สูงขึ้น ถ้าเราดูในรูปที่อาจารย์เสรี แล้วก็ทางสทนช. ได้โชว์ จะเห็นว่า ภาคตะวันออกที่ผ่านมาในปีนี้ฝนน้อยกว่าปกติไปแล้ว 31% แล้วพอเข้าเดือนธันวาคม มกราคม ตรงนั้นสีส้มๆ แดงๆ อีก แล้วถ้าไปดูรูปอุณหภูมิก็สูงขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ในพื้นที่ตรงนั้นจำเป็นต้องการมาตรการพิเศษ ซึ่งได้มีโอกาสลงไปที่จันทบุรีก็ต้องตอบว่า มาตรการพิเศษเหล่านั้นยังไปไม่ถึงว่าจะต้องทำอย่างไร
ประเด็นสุดท้ายก็คือ พื้นที่ที่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ค่อยให้น้ำหนักกับพื้นที่นอกเขตชลประทานมากนัก แต่ว่าข้อเท็จจริงมันปรากฏว่า ปัจจุบันนี้เรามีพื้นที่นอกเขตชลประทานประมาณซัก 75% สมมุติว่าเรามีงบประมาณให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ ทำขยายพื้นที่ชลประทานได้ตามแผนที่วางไว้เลย จนถึงปี 2580 เราจะมีพื้นที่ชลประทานขยายจากประมาณ 25% เป็นประมาณ 40% นั่นแปลว่า แม้กระทั่งถึงปี 2580 เราจะมีพื้นที่นอกเขตชลประทานอยู่ประมาณ 60% อันนี้ คือสิ่งที่อยากจะย้ำเสมอ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องสนใจพื้นที่ชลประทาน แต่เราต้องพูดข้อเท็จจริงว่าเรากำลังจะอยู่กับพื้นที่นอกเขตชลประทานไปอีกนานเลย เพราะว่ารอ 15 ปีแล้วมันก็จะยัง 60% อยู่เลย
คราวนี้ ถามว่ามันมีปัญหาอะไร? เอาบ่อที่ขุดแล้วก่อน ขณะนี้ระบบของกรมชลประทาน แล้วก็ สทนช. สามารถเช็คข้อมูลได้ทุกวันในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง แต่ปัญหาก็คือ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เราไม่มีระบบเช็คข้อมูลเลย เราไม่รู้ว่าอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กประมาณ 140,000 กว่าบ่อทั่วประเทศมีน้ำมากหรือน้อยแค่ไหน มันก็จะโยงกลับมาที่พี่ประฏิพัทร์และพี่ทรงพลพูด แล้วเราจะบริหารจัดการอย่างไร
ที่ไปดูที่ชัยนาท ถ้ามีการรู้ข้อมูลแล้วมีการทอยน้ำจากอ่างหนึ่งไปยังอ่างหนึ่ง รู้ระดับแล้วก็มีระบบในการจัดการน้ำ เราก็จะเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนได้เต็มที่ แต่เราไม่มี เพราะฉะนั้น ระบบนี้ซึ่งทราบว่าทาง GISTDA พยายามดำเนินการอยู่ พอดีตอนที่คุณพิธาไปเยี่ยม GISTDA ทาง GISTDA ก็ได้เล่าให้ฟัง เพราะฉะนั้น ตรงนี้ทำยังอย่างไรที่จะนำมาใช้ในการวางแผนในระดับพื้นที่ให้เร็วที่สุด
ข้อที่ 2 ก็คือว่า ปัจจุบันเวลาดำเนินการ มันมีข้อติดขัดระบบระเบียบเยอะ ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวพันกับเรื่องของ Thai Water Plan ด้วย ซึ่งมันก็อาจจะมีความหวังดีในแง่ของการที่จะทำให้ข้อมูลทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็เกิดเป็นความล่าช้าด้วย คราวนี้ระบบนี้มันจะทำอย่างไรให้ไปจัดการในพื้นที่ที่ใกล้กับพี่น้องประชาชนมากที่สุด อย่างที่อาจารย์เสรีเสนอก็คือ ไปจัดการกับที่จังหวัดได้ไหม หรือถ้าเป็นประฏิพัทร์พูดก็อาจจะไปจัดการกันตามลักษณะของการใช้น้ำ เช่น คลอง 2 ขวาอะไรนี้ หรือเป็นโครงการได้ไหม ทำอย่างไรให้การบริหารจัดการทั้งปริมาณน้ำ ทั้งงบประมาณ ทั้งการตัดสินใจมันลงไปอยู่ที่ประชาชนในพื้นที่มากที่สุด
ดร.เสรี: เห็นด้วยกับอาจารย์เดชรัต ผมคิดว่ารัฐบาลที่จะมาต้องชัดเจน สมมติว่าเขาบอกพี่ทรงพลกับพี่ประฏิพัทร์ว่า ของดนาปรังเถอะ คำตอบคืออะไร
ประเด็นตอนนี้ ข้าวตันละ 12,000 บาท ข้าวราคาดีมักมาตอนไม่มีน้ำ พอราคาไม่ดีน้ำเต็มทุ่ง ใช่ไหม เพราะฉะนั้น สมมติว่าอีก 2 เดือน ถ้ารัฐบาลใหม่มา ใครมาดู คิดว่าไม่มีใครกล้าจะมาบอกหรอก “อย่าทำนาปรังเลย” “งดทำนาปรัง” ในขณะที่ข้าวราคาดี เขาทำหมดแหละ ใช่ไหม พอทำหมดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็กลับมาที่พี่ประฏิพัทร์ พี่ทรงพลพูด ปัญหาเร่งด่วนคือ บึง บ่อต่างๆ ที่มันไม่มีน้ำตอนนี้ เขาทำอะไรไม่ได้ไง เขาตอบมาแล้ว นี่คือปัญหา เขาก็ทำอะไรไม่ได้ ใช่ไหม แล้วคุณมีมหาดไทย ต้องมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ไปดูภายใน 2 เดือน คุณต้องมีคำตอบให้ผม ไม่งั้นผมย้าย ผู้ว่าฯ ทำเลยนะ ทันทีเลยนะ เห็นไหม แต่ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลใครจะมาเป็นรมต.มหาดไทยตอนนี้
นี่คือความจริง เพราะบ่อในไร่ในนาไม่มีไง เพราะว่าขุดไม่ได้ ส่วนใหญ่นาเป็นนาเช่า เพราะฉะนั้น ทางเดียวเท่านั้นก็คือฝน ตอนนี้ฝนจะตก สมมติ สิงหาคม กันยายน อย่างที่สทนช.บอก มันจะได้สูบเข้าไปใช่ไหม ขุดแล้วก็ต้องมีระบบอย่างที่สทนช.บอกด้วย สูบแล้วไม่มีระบบดึงก็ไม่ได้อีก แล้วเขาจะได้ทำนาปรังกัน รายได้มันก็จะได้กลับมาเลี้ยงครอบครัวได้ นี่คือปัญหาที่เขาเจออยู่ตอนนี้
คุณฐนโรจน์: ที่กำหนดมาเป็นสิ่งที่เรากลั่นมาแล้ว กลั่นมาจากหน่วยงานแล้ว แล้วก็มีการทำในเรื่องของความคิดเห็นต่างๆ แล้วก็สรุป รวมผ่านคณะกรรมการมาเรียบร้อยแล้ว ณ ขณะนี้ สิ่งแรกก็คือ การประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์โดยภาพรวมก็ทำไป ทีนี้การประชาสัมพันธ์โดยที่จะไปถึงกลุ่มเกษตรกรเลย ก็ต้องใช้กลไกของหน่วยงานรัฐที่มีองค์กรผู้ใช้น้ำอยู่ในมือ เพราะฉะนั้น จะต้องไปทำความเข้าใจให้ชัดว่าสถานการณ์น้ำขนาดนี้คุณไหว คุณมีน้ำไหม คุณกล้าที่จะเสี่ยงใช่ไหมถ้าน้ำไม่พอ อันนี้คือให้เกษตรกรเป็นคนตัดสินใจ เป็นการรณรงค์แต่ละภาครัฐ
พอมาถึงภาพรวม ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเรามีแผนการระบายน้ำอยู่แล้วว่าจะต้องระบายเท่าไหร่ ถึงแม้ว่าเกษตรกรจะไม่ฟัง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราระบายน้ำเมื่อสิ้นสุดฤดูแล้วปริมาณน้ำจะเรี่ยๆ ลงมาเลย เลี้ยงเฉพาะของระบบนิเวศ หรือเพื่อผลักดันน้ำเค็ม เหลือเพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้น น้ำที่จะส่งเข้าไปในคลองก็ไม่ได้เต็มที่หรือสิ้นสุดแล้วก็จะมีการปิด เพราะฉะนั้น พอปิดประตูลักษณะนี้ สิ่งที่เกษตรกรหวังว่าน้ำต้นทุนจะมี ไม่มีแล้ว มีแต่น้ำฝนในชุดนี้ที่จะมาเติมเต็มได้ ก็คือเป็นความหวังสุดท้ายได้เท่านั้น เพราะฉะนั้นในส่วนที่นำเสนอในเรื่องของมาตรการเป็นสิ่งที่ดี จูงใจเกษตรกรที่กำลังคิดอยู่ ก้ำกึ่ง เขาปลูก ข้างบ้านก็ปลูก เราจะทำยังไงมันก็จะเสี่ยง แต่ถ้ามีมาตรการจูงใจตามที่ทางดร.เดชรัตนำเสนอ ก็จะทำให้เกษตรกรตัดสินใจได้ง่ายเลย
ดร.เสรี: เสริมนิดคือ สมมติว่านาปรัง แน่นอนนาปรังปกติผลผลิตมันดี ตอนนี้ตามที่ท่านอาจารย์เดชรัต สนทช. บอก สมมติมีน้ำต้นทุนตีว่า 6,000 ล้าน ลบ.ม. (ลุ่มเจ้าพระยา) แต่แน่นอนต้องสงวนไว้สำหรับต้นฤดูฝนประมาณ 2,000-3,000 ล้าน ในเจ้าพระยา 1 ไร่ ใช้น้ำประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อ 1 ฤดู เพราะฉะนั้น นาปรังปีนี้ในลุ่มเจ้าพระยาจะทำได้แค่ 2 ล้านไร่ แต่ว่าราคาข้าวดี เพราะฉะนั้น มันก็เกิน 2 ล้านไร่ใช่ไหม ทีนี้สมมติว่าปกติในลุ่มเจ้าพระยาประมาณสัก 7-8 ล้านไร่ ก็จะมีอีก 6 ล้านไร่ที่ขาดน้ำ แต่เขาทำเพราะว่าราคาข้าวดี จะทำอย่างไร
คุณทรงพล: เกษตรกร ถ้ามีน้ำเขาทำแน่นอน เพราะราคาข้าวดี ถึงข้าวไม่ดีเขาก็ทำ เพราะถ้าไม่ทำแล้วจะไปทำอะไร คืออาชีพเกษตรกร อาชีพทำนา คือ ทำนา ที่พูดอย่าไปให้ทำอย่างอื่น อ่างทองเคยเปลี่ยนเป็นโครงการลดทำนา ปลูกข้าวโพด เจ๊งทั้งจังหวัดเลย คือ ไม่เป็น ข้าวโพดต้นงามดีแต่ไม่มีฝักไม่มีเมล็ด คือชาวนาก็ไม่เป็น เกษตรที่อยู่ เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมเกษตรเขาเก่งเรื่องนา ไม่ได้อยู่ทางลพบุรี ถ้าลพบุรีเขาจะเก่ง พอมาทำอย่างนี้มันก็ไม่ได้
แต่ถ้าจะให้ได้ อาจต้องหาน้ำใต้ดินมาช่วยบ้าง แต่ไม่ใช่น้ำใต้ดิน 100% ถ้าน้ำใต้ดินตอนนี้ 100% เป็นน้ำเปรี้ยว น้ำเค็มสามารถที่จะทำให้ข้าว ต้นไม้ มะม่วงส่งออกที่สามโก้เจ๊งหมดแล้ว เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว สามโก้ส่งออกน้ำดอกไม้สีทองได้ดีมาก แต่มีแล้งอยู่ปีหนึ่ง พอแล้งปุ๊บไม่มีน้ำ เอาน้ำใต้ดินขึ้นไปรด ตายหมดทั้งสวนเลย พอเอาไปตรวจเจอเป็นน้ำเปรี้ยวน้ำเค็ม
ก็คือว่า น้ำใต้ดินเราใช้กันเยอะ พอใช้กันเยอะน้ำทะเลมันย้อนเข้าไปใต้ล่าง ที่เขาบอกว่าน้ำใต้ทะเลมันย้อน มันคืออย่างนี้ พระนครศรีอยุธยาลองใช้น้ำใต้ดินไปรดเป็นน้ำเปรี้ยวน้ำเค็มที่ต้นไม้ไม่สามารถที่จะยืนต้นได้ นี่คือปัญหา เพราะน้ำเยอะ น้ำลงทะเลหมด เพราะอะไร ทำไมไม่เก็บธนาคารน้ำใต้ดินที่ลงใต้ดิน บ่อต่างๆ อะไรต่างๆ อย่างคลองต่างๆ แม่น้ำเจ้าพระยาสมัยก่อนไม่เคยแห้ง บึงต่างๆ ไม่เคยแห้ง ก็เคยคิดว่า ทำไมคุณไม่ลอก ไม่ต้องลอกทั้งคลองหรอก ลอก 10 กิโลเมตร แล้วเว้นไว้สัก 2-3 กิโลเมตร แล้วก็ลอกไว้ให้เป็นกระพักเพื่อน้ำจะได้พัก ปลาตามหน้าวัดปลาตามทางแหล่งน้ำต่างๆ มันจะได้มี ไม่ใช่พอแห้งแห้งทั้งคลองเลย จากท่อนบนจากสิงห์บุรีมาถึง แต่มันก็จะมีน้อยมากเลย เพื่อจะไปให้คนกรุงเทพฯ ได้มีน้ำ น้ำแถวโน้นก็จะตื้นแล้ว จากช่วงอ่างทองถ้าเดินข้ามได้เลย
แต่ถ้าเราเก็บน้ำแต่หาที่แหล่งน้ำไม่ได้ เอาบึงต่างๆ เอาคลอง ขุดให้ลึกเป็นกระพัก เป็นชั้น ขุดไปลึกสัก 2 เมตร แล้วก็ทำพักทำชานไว้สักเมตรหนึ่ง แล้วก็ขุดให้ลึกไปสัก 5 เมตร 10 เมตร น้ำจะเก็บได้แล้วก็จะลงใต้ดิน แล้วจะไม่ต้องไปขอที่ของหน่วยงานไหน ไปขอก็มีแต่ปัญหากันที่พูด ผมทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ ว่า แก้มลิงตรงนี้ขอสำรวจ ขอที่ว่างเปล่า 100 ไร่ ขอให้เช็คให้หน่อย จะทำแก้มลิง ผู้ว่าฯ ก็โยนให้อำเภอ อำเภอโยนให้ท้องถิ่น ท้องถิ่นกล้าทำไหม ต่อไปใครจะเลือกคุณ มันโยนกลับมา ท้องถิ่นก็ต้องเงียบ เพราะคนที่ไปเข้าไปในที่นั้น เกษตรกรบ้าง นายทุนบ้างอะไรบ้าง นี่คือปัญหาที่แก้ไม่ได้
คิดว่านายกฯ คนเดียวที่สั่งได้ รัฐมนตรีฯ ก็ไม่กล้าสั่ง รัฐมนตรีฯ ก็มาจากการเลือกตั้งทั้งนั้น มันกระทบหมด คนที่กระทบคือเกษตรกร เกษตรกรถ้าไม่มีน้ำ จะพืชอะไรก็แล้วแต่ แม้แต่สัตว์ก็ยังตายเลย ถ้าไม่มีน้ำ น้ำมันใช้ได้ทุกพืช แต่ทำไมเราไม่เก็บไว้ในที่สูงเป็นหลัก มีอยู่ปีหนึ่งน้ำท่วมสุโขทัย ทำไมปล่อยเรื่อยมาเลย ท่วมนครสวรรค์ เรื่อยมาถึงอยุธยา ชัยนาท ท่วมหมดเลย แล้วมาปล่อยไว้ปทุมธานีแล้วลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำไมคุณไม่ดูแลคนสุโขทัยแล้วเอาน้ำเก็บไว้สัก 1-2 เดือน น้ำจะยุบแล้ว ดังนั้นค่อยๆ ปล่อยลงมา ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะแก้ได้ แต่ถ้ายังเป็นอย่างนี้ การบริหารจัดการน้ำ แก้มลิงอยู่ที่ไหน อยุธยา อ่างทองยังไม่มีเลย ชัยนาทก็ไม่มี พออยุธยาแล้วลงทะเล น้ำมันไม่สามารถย้อนขึ้นได้ นี่คือ ปัญหาที่เราแก้กัน น้ำท่วมที่ไหนให้ท่วมตรงนั้น แล้วดูแลประชาชนตรงนั้นให้ดี แล้วที่อื่นก็จะได้อานิสงส์
ดร.เสรี: กลับมาที่ปัญหาขณะนี้ ผมคิดว่าเราพูดเฉพาะระบบชลประทานที่ดีที่สุดในประเทศคือ ลุ่มเจ้าพระยา ยังมีปัญหาที่อื่นอีก อย่างภาคอีสานน่าสงสารมาก เห็นใจมากเลย ยิ่งไปใหญ่เลย มีปัญหา เพราะฉะนั้น ตรงนี้เองถึงบอกว่า ผู้ว่าฯ ท่านต้องทำให้ ถ้าท่านทำไม่ได้ อย่าเป็นผู้ว่าเลย จริงๆ นะ ทำไมทำไม่ได้ ท่านใส่ใจประสานกับสทนช. ไหมว่า โอเค บึงนี้สาธารณะ อีก 2 เดือน คุณจะเก็บน้ำให้เต็ม จะทำยังไง นี่คือโจทย์เลย
ดร.เดชรัต: ทำได้หรือไม่ได้ ก็จะมี 3 องค์ประกอบ อันดับแรก ก็คือ อำนาจการตัดสินใจนั้นอยู่ที่ใคร พอดีการออกแบบของประเทศไทยมันออกแบบแล้วทับซ้อนกันพอสมควร ทั้งพื้นที่ดินอาจจะเป็นของส่วนกลาง หรือบางที่ก็จะเป็นของส่วนท้องถิ่น แล้วก็งบประมาณ ก็คือข้อที่ 2 งบประมาณจะลงไปที่ไหนอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมางบประมาณก็ไม่ได้มากนักสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน ถ้าเราพูดตัวเลขงบประมาณที่ไปที่กรมชลประทานอาจจะปีหนึ่งประมาณสัก 7 หมื่นล้านบาท แต่ว่าไปที่นอกเขตชลประทาน อาจจะเป็นหลักประมาณสักพันกว่าล้าน ซึ่งมันแตกต่างกันมาก
ในขณะที่ในเขตชลประทานอย่างที่บอกไปจะขยายเต็มที่ก็ 20 กว่า % เป็น 40% แต่นอกเขตชลประทานนั้นปัจจุบันคือ 70 กว่า % ต่อไปก็ยังเหลืออีก 60% เพราะฉะนั้น งบประมาณนี้ก็เป็นส่วนสำคัญ
ส่วนสุดท้ายที่มันหนีไม่พ้นก็คือ เรื่องความรู้ความสามารถในการจัดการ ซึ่งมันไม่ได้แปลว่าไม่มี อย่างพี่ประฏิพัทร์มีความรู้ความสามารถดีมาก แต่ว่าจะมาเชื่อมโยงอย่างไรในแง่ของการที่จะมาช่วยในการออกแบบ วางแผน แล้วก็บริหารจัดการ และนี่คือตัวอย่างที่คิดว่าเราขาด 3 อย่างนี้ มันก็เลยทำให้ทำไม่ค่อยได้
ท่านผู้ว่าฯ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่ได้ว่าท่าน แต่หมายความว่าโครงสร้างของท่านมีลักษณะแบบอยู่ๆ ก็มาจังหวัดนี้ แล้วยังไม่รู้ด้วยว่าอยู่ๆ ก็จะไปเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น ก็ทำให้การบริหารจัดการก็ลำบากมากขึ้น อันนี้เราก็เชื่อว่า ถ้าผู้ที่เลือกว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าของจังหวัดเอง เป็นการเลือกจากประชาชนโดยตรง เลือกจากคนที่อยู่ในพื้นที่ มีงบประมาณที่เพียงพอ แล้วก็มีคนที่มีความรู้เข้าไปช่วยในการวางแผนบริหารจัดการ ย้ำว่าคนที่มีความรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ส่วนกลาง คนในพื้นที่ที่มีความรู้เยอะแยะ
ที่ห้วยหนองโรง วันนั้นผมก็ไปกับอาจารย์เสรี เขาวางแผนว่าเขามีอ่างเก็บน้ำอยู่ไม่ใหญ่หรอก 40 ล้านลูกบาศก์เมตร เขาก็สามารถที่จะวางแผนว่า โอเค จากวันนี้ไปจนถึงพฤษภาคมปี 67 เขาจะบริหารน้ำของเขาอย่างไร ก็มีกรมชลประทานนี่แหละช่วยในการบริหาร ถ้าเราโยงกันแบบนี้ได้ก็จะเป็นคำตอบ
ขอเสนอตัวเลขในเรื่องงบประมาณนิดหนึ่ง เราเคยเสนอว่าอย่างน้อยนอกเขตชลประทาน ทั้งประเทศแต่ละปีควรที่จะปักหมุดไว้ที่ 25,000 ล้านบาท ซึ่งก็คาดว่าจะช่วยทำให้ได้พื้นที่ชลประทาน พื้นที่ที่ได้รับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณสัก 4 ล้านไร่ในแต่ละปี
คุณฐนโรจน์: สิ่งที่เราออกแบบไว้ว่าจะต้องมีการกลั่นกรอง งบประมาณที่นำเสนอหรือคิดปัญหาในแต่ละพื้นที่ เรามีคณะอนุกรรมการจังหวัดในการพิจารณาว่าโครงการไหนหรือปัญหาไหนที่จะต้องแก้ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดมีผู้ว่าเป็นประธาน เพราะฉะนั้น งบประมาณในจังหวัดเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ปัญหาอันไหนสำคัญและมีโครงการตรงไหนที่จะไปแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้ความรู้ การซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ ตรงนี้จะพิจารณา แล้วก็จะไปในส่วนของคณะกรรมการลุ่มน้ำซึ่งเป็นบอร์ดตามพ.ร.บ.ที่จะต้องพิจารณากลั่นกรองอีกรอบแล้วก็เสนอมา เพราะฉะนั้น โดยกระบวนการมีการพิจารณาและกลั่นกรองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะไปเน้นย้ำ ขับเคลื่อนในส่วนนั้นให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างไร
แนวทางหนึ่งที่ทางดร.เสรี มองก็คือ พยายามที่จะเป็นการบอกชี้ทางผู้ว่าฯ ให้ช่วยมาเข้มแข็งในเรื่องนี้ เป็นต้น งานมันก็จะเข้ามาเข้ารูปเข้ารอยและมีประสิทธิภาพในกรอบที่เราได้วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณเอง งบประมาณที่ว่า Thai Water Plan ได้สะท้อนไปก็คือ ความพร้อมของแบบ ความพร้อมในเรื่องของที่ดินมีหรือไม่ ถ้ามี คุณได้อยู่แล้ว เสนอผ่านมา คุณได้รับการพิจารณาอยู่แล้ว
คุณทรงพล: ผมอยู่ในอนุกรรมการ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำของจังหวัด เคยนำเสนอจังหวัดนำเสนออนุกรรมการแต่ไม่ไปถึงไหน มันเป็นอย่างนี้ คลองส่งน้ำมีอยู่คลองหนึ่งที่บ้านผมเอง ประมาณ 18 กิโลเมตร หน้าน้ำ น้ำจะเต็มคลองสบายเลย ทางท้ายท่วม ท้ายคลองท่วม พอหน้าแล้งปุ๊บ จะได้แค่ 10 กิโลเมตร 5 กิโลเมตร ข้างหน้าทำนาทั้งปีเลย ทางท้ายไม่ได้เลย มันเป็นมาหลายปี เลยต้องทำเองในนามสภาฯ เชิญหน่วยงานทั้งหมด เชิญชลประทาน เชิญนายอำเภอมาพูดคุยกันก่อนว่า ถ้าเป็นอย่างนี้เกษตรกรไทยน้ำท่วมกับแล้ง เราจะต้องมาบริหารจัดการน้ำ น้ำมาหน้าน้ำ คุณกักไว้ข้างบนได้บ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้ท่วมท้าย ก็ช่วยกัน เพราะหน้าแล้งสำคัญ หน้าแล้งอย่างน้ำไม่มี ทำอย่างไรให้น้ำถึงท้ายก่อน ก็ต้องเอานายอำเภอ ชลประทาน ตำรวจ ทหาร กำนันผู้ใหญ่บ้านเข้ามาทำประชาคมเลย
หน้าแล้งน้ำมา ให้ 7 วัน ใน 7 วันนี้ คนที่อยู่ข้างหน้าวิดหมดแล้ว ทำนาสบาย แต่นี้ทำอย่างไรให้ถึงท้ายก่อน มันจะประมาณ 2 วัน ถึงท้ายคลอง ท้ายคลองวิด กลางและต้นวิดก็จะได้ทุกวัน ถ้าน้ำมีน้อย คลองนี้ให้หยุดเพื่อให้น้ำมีหล่อคลอง เพื่อเกษตรกรปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ได้มี นี่คือทำแล้วมันก็ได้ผล แต่หน่วยงาน พอเป็นหน่วยงานก็ไม่รู้เป็นไง ตอนนี้ ก็ต้องทำเองในหลายๆ คลอง เชิญชลประทานมา เชิญนายอำเภอมา เชิญทุกคนมา และให้ผู้ว่าฯ มาเซ็นสัญญาเซ็น MOU ร่วมกันแบบนี้ ทำมา 3-4 ปีเพิ่งได้คลองเดียว ตอนนี้กำลังจะทำอีก 3-4 คลอง มันได้ผล
เบื้องต้น ฝากสทนช.เลย ถ้าทำอย่างนี้ท่านทำได้เลย แต่ต้องมีเจ้าภาพ ทีนี้สภาเกษตรกรไปเป็นเจ้าภาพ ไปเชิญผู้ว่าฯ ไปเชิญนายอำเภอ ท่านคิดเอาเอง เราต้องทำ ต้องบากหน้าไปทั้งๆ ที่ไม่มีงบประมาณ? งบประมาณทั้งประเทศ 77 จังหวัด 300 ล้าน ได้แค่นี้เองจะไปทำอะไรได้ ถ้าเห็นว่าตรงนี้ดี ให้รับไปด้วย มันได้ผลจริงๆ ไม่งั้นการบริหารจัดการน้ำก็เป็นแบบชลประทานมาบอกว่า น้ำปล่อยไปแล้ว ให้แล้วก็แล้วกัน เกษตรกรเขาก็ได้แต่ร้องขอ ผลสุดท้ายน้ำไปไม่ถึงท้าย ทางต้นได้ทั้งปี ตอนคลองท้ายไม่ได้เลย นี่คือปัญหาที่แก้ง่ายๆ แต่ไม่แก้ ไปแก้ในระดับใหญ่ๆ ต้องแก้ตรงนี้ก่อนแล้วค่อยไล่ไป
ทำไมผมต้องเชิญนายอำเภอ? เพราะว่านายอำเภอสามารถคุมคนที่ทำนาเยอะๆ คือใคร? กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เขาทำนา เขานายทุน เขามีเครื่องดีๆ เขาก็วิดหมด ถ้านายอำเภอไม่ลงมา ผู้ว่าไม่ลงมาไม่ได้แล้ว ทำไมผมต้องเอาตรงนั้นมา เกษตรกรมาคุยเอง คนพวกนั้นจะไม่คุยกับเกษตรกร มันต้องดูหลายๆ บริบท อย่าบอกว่าชลประทานทำแล้ว ชลประทานไม่กล้าทำ ขลประทานไม่ทำ อยากฝากสทนช. เป็นคำสั่งออกเลยให้หน่วยงานตำบลสั่งมาว่าต้องเป็นอย่างนี้ หรือมาดูงานที่สามโก้ก็ได้
ดร.เดชรัต: วิธีการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แล้วมันอาจจะต้องใช้อะไรหลายๆ อย่างนอกเหนือจากการทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานกับประชาชนเท่านั้น การที่เรามี ใช้คำว่าอะไรดี conceptual Design แนวคิดในการออกแบบ มันอาจจะจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด ผมเองได้เคยไปดูงานที่โครงการของคุณประฏิพัทร์ เขาก็ปรับรื้อระบบของการจัดสรรน้ำในพื้นที่ ซึ่งทำให้ต้นคลองปลายคลองได้รับน้ำทั่วถึงกันภายในระยะเวลาจำกัด ซึ่งมันก็จะนำมาสู่การที่จะลดทั้งปริมาณน้ำที่ต้องส่งแล้วก็ค่าใช้จ่าย อย่างเช่นค่าไฟ หรือค่าน้ำมันในการสูบน้ำ ที่ต้องเล่าประเด็นนี้ บางทีมันไปไกลกว่าการขอความร่วมมือเฉยๆ เราอาจจะต้องกลับมาทบทวนความคิดในการออกแบบของเราด้วย
คุณประฏิพัทร์: ปีนี้เป็นปี 2023 มันหมดยุคการรณรงค์แล้ว มันหมดยุคเรื่องของการที่จะไม่ต้องบอกว่า ขอความร่วมมือนะ แต่ว่ามันต้องเป็นยุคของการใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมการออกแบบ คำถามแรกที่อยากจะถามว่า วันนี้ สทนช.วางแผนยังไงกับน้ำเพื่อการเกษตรในปีหน้า ทุกครั้งที่มีปัญหาเราจะมาคุยกันหลังจากส่งเกษตรไปแล้ว ประมาณสักสิงหาคมทุกปี แต่เราไม่เคยมีแผนสำรองเลย สมมุติว่าน้ำเพื่อการเกษตรปีหน้าที่จะปลูก สมมุติว่าใช้น้ำ 2 ล้าน คุณเก็บไว้เผื่อเราไหม เชื่อว่าไม่มีในสมองราชการ และไม่มีที่จะสำรองไว้น้ำเพื่อตรงนู้นตรงนี้
พอมันเป็นหลักการอย่างนี้แล้ว เรามองแล้วว่ามันไม่มีความมั่นคง เมื่อประมาณ 2548 ผมก็ทำไปก่อนเกิด สทนช.อีก วางแผนไว้ว่าในอนาคตมันจะเป็นอย่างไร พอดีไปเรียนจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท แล้วก็มีโอกาสไปฝึกงานที่อิสราเอลมา 1 ปี อิสราเอลไม่เคยประกาศภัยแล้ง เข้าใจความหมายไหม อิสราเอลไม่เคยมาบอกว่าเกษตรกรหยุดปลูกพริกหยวกนาปีได้ไหม ไม่มี แต่เรามีทุกอย่างเลยยกเว้นความทันสมัย ความที่เราโทษกันไปกันมาอย่างนี้ ผมเหนื่อย ก็เลยบอกเกษตรกรว่า เอาแบบนี้ จะตั้งเป้าว่าจะใช้แนวทางความคิดที่มี ออกแบบระบบชลประทานร่วมกับชลประทาน
เราเลยเสนอแนวทางกับชลประทานว่า วันนี้สิ่งที่เปลืองน้ำมากที่สุดคือ การจัดสรรรอบเวร ฝั่งซ้ายกับฝั่งขวา ท่านจัดสรรน้ำให้รอบเวรฝั่งซ้าย แล้วมาจัดรอบเวรให้ฝั่งขวา แต่ท่านลืมหรือเปล่าว่าข้าวใช้น้ำอยู่ 90 วัน 100 วัน นั่นก็หมายความว่า ท่านต้องจัดสรรน้ำเพิ่มเป็น 200 วันหรือเปล่า เพื่อให้แปลงสุดท้ายได้เก็บเกี่ยว เปลืองน้ำไหม เปลืองพลังงานไหม ก็เลยมาจัดมาจัดสรรในรูปแบบใหม่ว่า เราส่งน้ำให้ทีเดียว แล้วเราครอปน้ำเขาเลยว่า 90 วันหยุดส่งแล้วมันจบ การจัดสรรน้ำรอบเวรใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 เดือน เพราะนาแปลงสุดท้ายยังไม่ได้เกี่ยว แปลงข้างหน้ามันทำแล้ว แต่ที่คลอง 2 ขวาตอนนี้ส่งน้ำพรวดทีเดียวให้เขาทำนาได้พร้อมกัน ส่งน้ำได้พร้อมกัน รับน้ำและพร้อมกัน สิ้นสุดสิงหาคมเก็บเกี่ยวหมดแล้ว วันนี้ถ้าจะหยุดก็แค่หยุดเครื่องแล้วมันจบ ถ้าทำนารอบ 2 ก็อย่างน้อยก็ไม่เกิน 31 ตุลาคมทุกอย่างต้องหยุดแล้ว พอหยุดได้เพราะเราไม่ได้ส่งน้ำ แต่เขาอยู่ได้เพราะมีน้ำที่อยู่ก้นคลอง มีน้ำที่อยู่ในบ่อบาดาล ช่วงปลายปีน้ำท่วม อันนี้เขาอยู่ได้
วันนี้ต้องเข้าใจอย่างนี้ว่า ต้องให้เขาได้รับผลประโยชน์ก่อน ก่อนที่ท่านจะไปจัดการเขา คลองสองขวาเขาทำนาไป 1 ครั้งหรือ 2 ครั้งแล้ว ทีนี้พอไปบอกว่า หยุดทำนานะ ฤดูนาปี โอเคครับ ผมได้ตังค์แล้ว ผมได้เก็บเกี่ยวแล้ว มันพูดง่าย เลิกซะทีเถอะ เจอมาตั้งแต่เด็กแล้ว รณรงค์ลูกน้ำยุงลาย รณรงค์ไม่ซื้อเสียง ทำได้ไหม วันนี้มารณรงค์ไม่ใช้น้ำอีก เรามีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับน้ำล้นประเทศ แต่ทำให้ประเทศนี้อุดมสมบูรณ์ไม่ได้ ท่านคิดยังไง เพราะฉะนั้น วันนี้วิศวกรรมการออกแบบมันเหมือนรถ 1 คัน การที่รถจะขับไปถึงฝั่งเป้าหมายดีหรือไม่ดี มันไม่ได้อยู่ที่คนขับด้วย ถ้าคุณเอารถกระป๋องกระแป๋งมามันจะถึงฝั่งนั้นเมื่อไหร่ แต่ถ้าคุณออกแบบรถมาดีออกแบบระบบชลประทานมันก็ถึงฝั่งได้เร็ว เป้าหมายที่วางไว้ก็ถูกต้อง ไม่มีความขัดแย้งไม่มีอะไรทั้งสิ้น ความสำเร็จเป็นผลงานวันนี้เอง มันน่าจะประกาศก่อนเลือกตั้งนะว่าให้พี่น้องเกษตรกรหยุดทำนาหน้าฤดูนาปรัง จะสนุกกว่านี้เยอะเลย แต่ดันมาประกาศในวันที่ได้นายกฯ แล้วอีก มันก็เลยต้องอย่างนี้
วันนี้ก็ฝาก สทนช. รูปแบบคลอง 2 ขวา มีความยินดีทุกครั้งที่จะมีคนเข้าไปดูงาน แต่ก็ต้องบอกว่าเราไม่ได้ทำอะไรที่มันนอกเหนือนโยบาย เราทำตามนโยบาย ทำนาปีละ 1 ครั้ง 2 ครั้ง ทำได้หมด ขึ้นอยู่กับนโยบายที่สั่งการมา แล้วมีความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำในระดับหนึ่ง และตอนนี้กำลังกระจายไปยังพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ทั้งหมด 3 แสนไร่ วันนี้เชิญ สทนช.ลงพื้นที่ได้เลย
ดร.เดชรัต: หลักคิดสั้นๆ ก็คือ ทำให้กำลังของการสูบน้ำใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะสามารถส่งเข้าไป ตัวคลองก็ออกแบบให้ใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะสามารถส่งไปได้ถึงปลายครองได้โดยเร็วที่สุด ฟังดูทั้งคำว่า ”ใหญ่” 2 รอบ มันดูเหมือนจะสิ้นเปลือง แต่ว่าการย่นระยะเวลาให้สั้นลง มันคือการประหยัด น้ำนี่ลดลงไปได้ประมาณสักครึ่งหนึ่ง ได้ไหม ส่วนค่าไฟลดลงไปประมาณ 80% เพราะว่าระยะเวลาการสูบมันเหลือน้อยลง
(ค่าไฟฟ้าที่กรมชลประทานให้ข้อมูล ถ้าสูบน้ำเข้า โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 300,000 บาท 6 เดือน 22,000 ไร่ หารออกมาอยู่ไม่ถึง 100 บาท ไร่ละ 100 บาท ระบบใหญ่ แต่ว่าค่าไฟไม่ได้แพง: คุณประฏิพัทร์)
มาตรการระยะยาว
ดร.เดชรัต: ระยะยาวเลยจากนี้ก็คือว่า เรื่องประสิทธิภาพแบบลักษณะอย่างนี้ มันเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้มีโอกาสทบทวนกันแล้วก็เผยแพร่ข้อมูลความรู้กันอย่างจริงจังว่าอะไรทำได้บ้าง อะไรทำไม่ได้ คือถ้าเรามาทบทวนเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง คิดว่าอันนี้น่าจะเป็นตัวเร่งที่จะทำให้เกิดเหมือนอย่างที่คลอง 2 ขวา หรือโครงการมโนรมย์ หรือไปเกิดในพื้นที่อื่นหรือเกิดในรูปแบบอื่น แต่ว่าเราไม่ค่อยได้มีการจัดการความรู้
อย่างไรก็ดี การจัดการความรู้ก็อาจจะจำเป็นต้องคำนึงถึงหลายสิ่งที่มีคนเป็นห่วง แล้วเราก็จะได้ถือโอกาสจัดการความรู้ไปพร้อมกัน อย่างเช่น เรื่องธนาคารน้ำใต้ดิน ก็มีคนที่มีความเป็นห่วงว่ามันอาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนแล้วก็ซึมลงไปสู่น้ำใต้ดินได้ ในเดนมาร์ก เรื่องธนาคารน้ำใต้ดินเป็น concept ที่มีมานานแล้วเป็นปกติ แต่ว่าเวลาพูดถึงธนาคารน้ำใต้ดินไม่ได้เน้นให้น้ำลงไปใต้ดินเร็ว แต่หมายถึงว่าบริเวณนั้นจะต้องเป็นบริเวณที่ไม่มีการปนเปื้อน ถ้าเป็นพื้นที่เกษตรก็ถึงขั้นเรียกว่าเป็นออแกนิคกันเลย เพื่อที่จะทำให้ตรงจุดนั้นไม่มีอะไรปนเปื้อนลงไปในน้ำใต้ดิน เพราะฉะนั้น เราก็ไม่แน่ใจว่าการดำเนินการที่ผ่านมามันมีความปลอดภัยเพียงพอหรือยัง ถ้าปลอดภัยเพียงพอแล้วก็ดีเราจะได้ทำต่อ แต่ถ้าไม่ปลอดภัยวิธีที่จะแก้มันคืออะไร ก็อยากจะให้มีการจัดการความรู้แบบนี้ ฝายก็เช่นกัน เข้าใจเลยว่ามันสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ไปดูที่ชุมพรก็เห็น แต่ว่ามันก็จะมีจุดบางจุดที่ถ้าทำไปแล้วมันก็อาจจะไปกระทบกับระบบนิเวศในบางพื้นที่ได้ องค์ความรู้เหล่านี้ที่เราจะมาศึกษาแล้วก็ตกลงกันเพื่อที่จะเตรียมรับมือกับภาวะโลกรวน เราก็ต้องให้องค์ความรู้เรามันชัดเจนตกผลึกร่วมกัน
เรื่องของการสื่อสารความเสี่ยง เป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อเนื่อง วิธีการสื่อสารแล้วมันจะเข้าใจสถานการณ์พร้อมกัน เข้าใจข้อจำกัดของพี่น้องเกษตรกร แล้วก็เข้าใจข้อจำกัดโดยเฉพาะประเด็นเรื่องปริมาณน้ำ แล้วก็ข้อจำกัดทางเทคนิคไปพร้อมๆ กัน มันไม่สามารถที่จะคิดว่าเราจะมีเทคนิคหรือวิธีการเดียวเหมือนอย่างที่เราพูด แล้วเราทุกคนก็ควรจะรับทราบ มันจำเป็นต้องสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง ค่อยๆ เห็น ค่อยๆ คลี่คลายไปพร้อมๆ กันว่า ทางเลือกอื่นมันอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี อย่าง Openchat ของเตือนภัยพิบัติที่อุบลราชธานี จะเห็นว่าถ้ามีการเตือนภัยอยู่เป็นระยะๆ ต่อเนื่องกันมา มันจะทำให้คนมีความเข้าอกเข้าใจมากขึ้น แล้วก็ในขณะเดียวกันก็จะมีคนที่ไปช่วยเผยแพร่ข้อมูลต่อยังพื้นที่ต่างๆ Openchat ก็หลักพัน แต่ว่าการมีคนหลักพันที่คุยกันเป็นประจำ มันเพียงพอที่จะสามารถสื่อสารต่อไปในระดับจังหวัด
ตอนนี้ข้อมูลในระดับท้องถิ่นเรื่องน้ำ อาจจะต้องบอกว่ามันยังไม่ค่อยดี โดยเฉพาะถ้าไม่ได้มีหน่วยงานหรือไม่ได้มีโครงการชลประทานอยู่ เราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางขนาดเล็กของเราเท่าไหร่ ก็คือ ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปถาม คือจริงๆ แล้วมันเป็นพวกที่เราสั่งที่จะเซ็ตระบบอะไรที่มันสามารถทำเป็นกลุ่มๆ เป็นส่วนย่อยๆ ได้อีกส่วนหนึ่ง ตัวอย่างหนึ่งที่ทำได้ดีก็คือ ลุ่มน้ำคลองหลวงที่ชลบุรี ใช้ LINE นี่แหละ เพราะฉะนั้น การพัฒนาเรื่องการสื่อสารแบบนี้เป็นสิ่งที่อยากจะให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
เรื่องสุดท้ายที่เป็นเรื่องระยะยาวก็คือ เรื่องการจัดการน้ำท่วม เราก็เพิ่งผ่านไปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง จริงๆ หลายพื้นที่กว่าจะพ้นจากท่วมนี่ก็ต้นปีนี้ แล้วเราก็เหมือนกับว่าปีนี้เรามาเล่นเรื่องภัยแล้งกัน เล่นเรื่อง El Niño กัน แล้วเราก็อาจจะละเลยเรื่องนี้ไป หรือไม่ได้ละเลยแต่ก็ไม่ได้ทุ่มทำอย่างที่มันควรจะเป็น
โจทย์แรกก็คือน้ำท่วมในเขตเมือง อันนี้เป็นปัญหาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใครผิดใครถูกอย่างเดียว มันเกี่ยวข้องกับเรื่องของสภาพโครงสร้างพื้นฐานที่เราออกแบบไว้ เช่น ท่อระบายน้ำ ถนน เราออกแบบไว้รองรับกับฝนชุกสูงสุดไม่เกินกี่ลูกบาศก์เมตรในแต่ละชั่วโมง แต่ถ้าเราดูกราฟที่อาจารย์เสรีโชว์ให้เราดู กราฟที่มันเส้นโด่งๆ ที่มันจะมีฝนหนักมันมีมากขึ้น เพราะฉะนั้น มันอาจจะเป็นไปได้หรือเปล่าที่เราจำเป็นต้องรื้อการออกแบบภายในเมืองใหม่ ไม่เช่นนั้น ก็ไม่สามารถรองรับฝนตกหนักๆ ในช่วงใดช่วงหนึ่งได้
ประเด็นที่ 2 ก็คือ ในพื้นที่ที่เราเรียกกันว่าเป็น “พื้นที่ทุ่งรับน้ำ” ปีนี้น่าจะไม่ท่วม คำถามก็คือ เราจะใช้เวลาและใช้งบประมาณของเราอย่างไรดีในการปรับปรุงถ้ามันเกิดท่วมในอีกไม่รู้กี่ปีต่อๆ ไปจากนี้ เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีความเดือดร้อนน้อยลง กลไกการชดเชยเยียวยามีความเป็นธรรมมากขึ้น การระบายน้ำออกได้ใกล้เคียงกับการระบายน้ำเข้า คือ ไม่ใช่ตอนระบายน้ำเข้าระบายมาจังเลย แต่ตอนระบายออกบอกๆ ได้แค่นี้ มันก็ทำให้ความเดือดร้อนของเขายาวนาน
ส่วนอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญด้วยนอกเหนือจากพื้นที่เมือง พื้นที่ทุ่งรับน้ำก็คือ โครงการในการที่จะระบายน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอันนี้มันก็จะไปเกี่ยวพันกับบ้านของคุณประฏิพัทร์ด้วยก็คือ โครงการชัยนาท-ป่าสัก เดี๋ยวสักพักหนึ่งเราอาจจะได้ยินการประท้วงระหว่างโครงการจากป่าสักมาออกอ่าวไทย คือ ถ้ามาแค่ป่าสัก มันคงไม่ได้ช่วยอะไร มันจะผันมา มันก็จะต้องมาออกอ่าวไทย แต่ในขณะเดียวกันพรรคที่เป็นแกนนำ เป็นนายกฯ แล้ววันนี้ในระหว่างการหาเสียงก็มีการพูดถึงการผันน้ำไปทางตะวันตก ก็คือ ไปจากกำแพงเพชรไปออกสมุทรสงคราม ตกลงว่าเราอาจจะจำเป็นต้องมีการศึกษา ในด้านหนึ่ง ชัยนาท-ป่าสักตอนต้นกำลังจะเริ่มขุด แต่ตอนปลายป่าสักอ่าวไทยยังไม่ได้ขุด แล้วถ้าจะเปลี่ยนมาทำตะวันตกแทนมันจะเป็นอย่างไร หรือถ้าไม่เปลี่ยน ก็เอาให้ชัดว่าแล้วตะวันออกจะออกแบบอย่างไร นี่ยังไม่รวมว่าการออกแบบชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งน่าจะได้ทำแล้ว อยากจะไม่ให้เราโฟกัสเฉพาะ El Niño จนลืมโอกาสที่เราจะต้องย้อนกลับมาเจอกันน้ำท่วมในอนาคต
หนี้และน้ำ
คุณสมนึก ดวงประทีป รองประธานสภาเกษตรจังหวัดอ่างทอง
ที่เราคุยกันมา เข้าใจแล้วว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่จริงๆ แล้วปลายเหตุก็คือ เกษตรกร เกษตรกรไทย จริงๆแล้วไม่ใช่เป็นคนดื้อรั้น สังเกตที่มีม็อบมาต่างๆ ที่ผ่านมา มีการปิดถนนก็แล้วแต่จะไม่มีกลุ่มชาวนาไปคนที่เป็นเกษตรกรหรือกลุ่มชาวนาจะเป็นคนที่พูดง่าย แต่ว่าทำไมครั้งนี้หรือทุกครั้งที่ผ่านมา ชลประทานขอร้องว่าให้หยุดทำนาปีต่อเนื่อง หยุดทำนาปรัง ถามว่าทำไมเกษตรกรถึงยังรั้นทำอยู่ ปัญหาคือหนี้สิน เขาเรียกว่า หนี้สินมรดก
ต้องเข้าใจว่าคำว่า หนี้สินมรดก คืออะไร ยกตัวอย่างเกษตรกรบางราย 2-3 ท่าน ก่อนที่จะมาร่วมเวทีตรงนี้ ธ.ก.ส เริ่มทวงหนี้แล้ว สิ้นเดือนตุลาคมต้องส่งดอกเท่านี้ ต้องส่งต้นเท่านี้ เดือนพฤศจิกายนคุณต้องส่งเท่านั้น คุณต้องส่งเท่านี้ ถามว่าถ้าขอร้องให้เกษตรกรหยุด ถามว่าทุกๆ ท่านหยุดได้ไหม ในเมื่อทุกคนต้องกินต้องใช้ ลูกต้องเรียน แล้วเกษตรกรมีรายได้ด้านเดียว นี่คือประเด็นหลักของเกษตรกรไทย ที่ผ่านมา ภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกี่รัฐบาลก็แล้วแต่ ไม่ได้คำนึงถึงหรือไม่ได้มีนโยบายเพื่อลดภาระหรือปลดหนี้ให้กับเกษตรกรไทย เต็มที่ก็แค่พักดอกเบี้ย 3 ปี อันนี้พูดตรงๆ ผ่านไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า เต็มที่ก็คือพักหนี้ 3 ปี เสร็จแล้วพอครบ 3 ปีก็เหมือนเดิม คุณพักหนี้พอครบ 3 ปี ทุกคนก็ต้องไปใช้หนี้เหมือนเดิม ส่งดอกเหมือนเดิม ส่งต้นเหมือนเดิม นี่คือปัญหาภาระที่มันผูกพัน
แล้วที่จะคุยต่อคือ พี่น้องเราทุกคนที่รับราชการก็ดี ทำงานสูงๆ เรียนเก่งๆ ต้องเข้าใจว่าเกษตรกรไทยไม่อยากให้คนรุ่นหลัง หรือรุ่นลูกรุ่นหลานลำบากเหมือนพ่อเหมือนแม่ ถูกไหม ส่งลูกเรียนให้สูงๆ เป็นหนี้เป็นสินไม่ว่า มีนาขาย ไม่มีกู้ ส่งให้ลูกได้เรียนสูงๆ ไปเป็นเจ้าคนนายคน เสร็จแล้วไอ้คนที่ไปเป็นเจ้าคนนายคนไม่เคยกลับมามองรากหญ้า แล้วมันก็เป็นปัญหาผูกพันที่บอกว่า มันคือหนี้มรดกจากรุ่นสู่รุ่น ยกตัวอย่างครอบครัวผม ง่ายๆ พ่อมีอาชีพทำนา แม่ก็มีอาชีพทำนา เสร็จแล้วก็ไม่ได้มีนาเป็นของตัวเอง ทำนาเช่า พอพ่อตายทุกวันนี้แม่ยังมีชีวิตอยู่ แม่อายุเยอะแล้ว จะ 80 แล้ว มีหนี้ธ.ก.ส.อยู่ 280,000 บาท เสร็จแล้วพ่อไม่มีสมบัติ แม่ไม่มีสมบัติ แม่มีบ้านอยู่หลังหนึ่งบนพื้นที่ใครก็ไม่รู้ เป็นโฉนดรวม เสร็จแล้วแม่ยกบ้านให้ 1 หลัง รับมรดกตกทอดไปด้วยหนี้อีก 280,000 บาท เห็นไหมเกษตรกรส่วนใหญ่จมปลักกันอยู่อย่างนี้ เพราะมันเป็นหนี้มรดกผูกพันจากรุ่นสู่รุ่น
แล้วเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่มีใครที่คิดจะย้อนกลับมาทำภาคเกษตร เพราะมันลำบาก ส่งไปเป็นเจ้าคนนายคนหมดแล้วก็ไม่มีใครหวนกลับที่จะมาอุ้ม ผมเกิดมาโดยอายุจะ 60 แล้ว ไม่เคยมีลูกคนไหนที่ไปได้ดีแล้วกลับมาปลดเปลื้องภาระหนี้สินให้พ่อแม่ ไม่มี กลับไปเลี้ยงดูครอบครัวตนเอง มีครอบครัวสร้างฐานะให้กับตนเอง จะให้พ่อจะให้แม่กินทั้งที มันเหมือนเศษเนื้อข้างเขียง นี่คือคำเปรียบเทียบว่าเศษเนื้อที่พ่อแม่ได้ก็คือ เศษเนื้อข้างเขียง เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าชาวนาไทยมันก็จะมีอยู่คนรุ่น 50, 60 ขึ้น 70, 80 ปีที่ทำนา คนรุ่นใหม่นี้น้อยมากที่จะที่จะหวนกลับไปทำนา เพราะฉะนั้น จะบอกว่าเราถกกันมาตั้งนาน โอเค เอลนินญ่า โรนินโญ่ อะไรก็แล้วแต่ เราถกกันมาอย่างนี้มันวนเวียนตั้งปี 62, 63, 64 ไล่มาถึงปี 66 มันก็จะเป็นแบบนี้
สุดท้าย เราได้นายกฯแล้ว อยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า ให้กลับมามองเรื่องปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยที่คุณไม่ต้องเอาเงินไปทำโครงการอื่นแล้ว ตั้งห้าหมื่นล้าน ห้าแสนล้านล้านอะไรพวกนี้ ไม่ต้องไปทำ แค่คุณกลับมาช่วยเกษตรกร ช่วยเหลือหนี้สินภาคเกษตรกร ผมเชื่อว่าชาวนาไทย หรือเกษตรกรไทยคงไม่รั้นท่านหรอก ถ้าภาครัฐขอร้องขอความร่วมมือให้ช่วยทำอะไร เชื่อว่าทุกคนทำ ทุกคนหัวอ่อนหัวไม่แข็งแล้ว เพียงแต่ว่ามันมีภาระอยู่ข้างหลังที่ทุกคนจะต้องรับผิดชอบเท่านั้นเอง
ดร.เสรี: วลีคำว่า “ทำมากได้น้อย” มันติดอยู่ในหัวตลอด แล้วก็อยากให้รัฐบาลชุดนี้กลับหน่อยสิ “ทำน้อยได้มาก” กลับหน่อย ผมยกตัวอย่างเกษตรกรชาวนาทำ 10 ไร่ ตอนนี้โดยเฉลี่ย ไร่หนึ่งก็ได้ประมาณสัก 400 กิโลกรัม 430 ก.ก. ถือว่าดีที่สุดแล้ว แต่เท่าที่ข้อมูลมีอยู่ คือจะทำให้เขาได้ 800 ถึง 900 กิโล หรือ เป็น1,000 กิโลกรัม ถ้า 10 ไร่ก็ 10,000 กิโลกรัม หรือ 10 ตัน ตันละ 12,000 บาท 1 crop เขาได้ 120,000 บาท ทำ 2 crop ได้ปีละ 200,000-300,000 บาท ถ้าอย่างนี้ใครๆ ก็อยากจะกลับมาใช่ไหม แต่ถ้าทำไปทำมาแล้วได้อย่างขอนแก่น ตัวเลขปีหนึ่งได้แค่ 20,000 บาท ใครเขาจะอยากมาทำใช่ไหม มันก็เจอแต่เกษตรกรอายุ 50 ปีขึ้นไปอย่างนี้ แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร ใครจะปลูกข้าว เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่รัฐบาลต้องลงมาดูภายใน 4 ปีนี้ แก้หนี้ เพิ่มผลผลิต ทำยังไง เป็นโจทย์เลย อย่าลืมว่ามันโยงมาเรื่องน้ำ น้ำไม่ดีผลผลิตมันก็ไม่ดี
ดร.เดชรัต: ในคำถามเดียวกัน มันมีเรื่องที่อาจจะต่างจากปี 62 และ ปี 63 อยู่ ก็คือ ความยาวของของ El Niño อันนี้ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถที่จะฟันธงได้ ก็คือ ถ้ามันยาวเลยไปจนถึงเหมือนปี 58 และ ปี 59 มันก็อาจจะกระทบปีหน้าทั้งปี อันนี้ก็คือปัจจัยหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ว่า ทั้งหมดที่เราคุยไปยังอยู่บนพื้นฐานของการฟันธงได้ประมาณถึงเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นยังฟันธงไม่ได้ แต่ว่าอันนึงที่ไม่เหมือนแล้วแน่ๆ ก็คือ ราคาข้าว ปีนี้ราคาข้าวดีที่สุดในรอบ 11 ปี มันแปลว่าความที่พี่น้องอยากจะทำนามันก็จะมาก การที่สมมติมีการทำนามาก ไม่ได้ลดลง ก็จะแปลว่าน้ำที่ต้นทุนที่เหลือน้อยบวกกับทำไปแล้ว คราวนี้ก็จะต้องมาถึงโจทย์ว่า จะช่วยหรือไม่ช่วย
ถ้าไม่ช่วย คราวนี้ก็ตกอยู่ในปัญหาเรื่องหนี้สินที่พูดถึง ก็จะมีมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าช่วย ต้นปีฝนปีหน้าก็เตรียมลุ้นกันหนักขึ้นอีก อันนี้ถ้าพูดแบบ scenario ก็จะเป็น scenario ที่ยากมาก เพราะฉะนั้น อยากจะเห็นมาตรการที่ชัดเจนว่า สำหรับพี่น้องที่มีความจำเป็นที่จะทำนาไม่ได้ อะไรคือมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะช่วยพี่น้องเกษตรกร ถ้าไม่มี มันก็จะเกิดปัญหาลักษณะแบบนี้
อีกหนึ่งเรื่องที่เรายังไม่ได้พูดคุยกัน ก็คือ ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 จริงๆข้อมูลในอดีตชัดเจนปี 62 และปี 63 ฝุ่นสูงอันเนื่องมาจากความแล้งจากที่มันเกิดขึ้นทางภาคเหนือ แล้วก็มาบวกกับราคาข้าว ก็อาจจะทำให้พี่น้องในบริเวณรอบๆ กรุงเทพฯ มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งการทำนา เพราะฉะนั้น การเผาในไร่นาก็อาจจะมีเพิ่มขึ้น บวกกันกับไฟป่าที่จริงๆ เรียกไฟป่าแต่มันไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ ไฟที่เราดับไม่ได้ที่อยู่ในป่ามันก็อาจจะมีมากขึ้น เพราะฉะนั้น ปีนี้ PM2.5 อาจจะมาเร็วขึ้นแล้วก็แรงขึ้นได้ อาจจะนอกเรื่องจากวันนี้ แต่อยากหมายเหตุเอาไว้ว่ามันสัมพันธ์กับเรื่องนี้ด้วย

นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา MQDC และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต
เรื่องของกรมโลกร้อน เหมือนกับว่าเป็นการเอาสำนักหนึ่งในสำนักนโยบายและแผนฯ ไปอยู่อีกกรมหนึ่งอะไรอย่างนี้ ประเด็นหลักของเราคือ เรื่องโลกร้อนเราอ่อนมาก ต้องเรียนตรงๆ ก่อน เพราะฉะนั้น ตั้งกรมแล้วรัฐมนตรีที่มากำกับต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ในคณะทำงาน IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เขาเลือกประธานกันใหม่ เป็นศาสตราจารย์คนหนึ่งจากประเทศอังกฤษ ประเทศรอบๆ บ้านเราเขาไปล็อบบี้หมดแล้วว่าเที่ยวหน้าจะส่งคนเข้าไป แต่ละประเทศอย่างต่ำๆ ก็ 3-4 คน ส่งเข้าไปในกก.ชุดนี้เพื่อที่จะไปดูปัญหาอนาคตข้างหน้ากับเขา อนาคตมันหนักนะ ถ้าเราไม่มีแผนจะรองรับ เพราะฉะนั้น การที่เรามีหน่วยงานราชการที่หลักนโยบายเข้าไปอยู่ในคณะทำงานเขา มันก็จะเป็นความได้เปรียบในเชิงการจัดการ เพราะว่าเขาจะไปเรียนรู้พวกมาตรการอะไรต่างๆ ก่อนจะมาประกาศ
ทำงานมันต้องศึกษา 3 ปี 4 ปี 5 ปี กว่าจะออกมา เพราะฉะนั้น ทำไมเวียดนามส่งคนไป 3-4 คน ทำไมอินโดนีเซียส่งคนไปแล้ว ก็เพราะว่าปีแรกเขาอาจจะได้มาตรการมาเลย เขาก็รีบปรับใช้ทันที เห็นไหม เพราะฉะนั้น ด้านต่างประเทศต้องล็อบบี้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะเข้าไป คุณต้องล็อบบี้ คุณต้องมีอำนาจนิดหนึ่งในการเจรจาซึ่งเขาทำแล้ว แต่ประเทศไทยเข้าใจว่ายังไม่ได้ทำแน่ เพราะฉะนั้นในอีก 5 ปีข้างหน้า IPCC จะออก report ใหม่มา ถ้าไม่มีคนไทยอยู่ในนั้น นั่นคือความเสียเปรียบ เราจะไม่ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ กลับมา โดยเฉพาะอย่างที่บอก การทำน้อยได้มาก ไม่ได้หมายความว่าให้เกษตรกรอยู่เฉยๆ แล้วได้เงิน หมายความว่าเขาต้องใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยี เหมือนอิสราเอลที่เขาบอก ความหมายคืออย่างนั้น เพราะฉะนั้น การจะได้มาพวกนั้น อยู่ดีๆ มันจะมาเอามาให้เราเลยเป็นไปไม่ได้ เราต้องไปแสวงหา ถูกไหม ไปเสาะแสวง และเป็นเรื่องการต่างประเทศที่สำคัญ
อนาคตเมื่อเรารู้ปัญหาอย่างนี้แล้ว ปัญหามันเกิดขึ้นที่ท้องถิ่นใช่ไหม ท้องถิ่นที่เปราะบาง คนจะจน พูดง่ายๆ เพราะฉะนั้น หลักสุดท้ายแล้วคือหนีไม่พ้นต้องกระจายอำนาจไป กระจายอำนาจไปให้เขาให้เขาตัดสินอนาคตเขาเองบนพื้นฐาน บนข้อจำกัด หน่วยงานรัฐต้องติดตามเพียงมอนิเตอร์เฉยๆ ว่าการดำเนินการของท้องถิ่นเป็นไปตามหลักการ ในทางงบประมาณหรือหลักการวิชาการอะไร อย่าไปบอกเขาว่าเขาทำไม่ได้
ประเทศไทยบอกว่าทำไม่ได้หรอก เพราะว่าไอ้นี่ๆๆ ให้เขาทำเถอะ ให้เขาทำ พอให้ไปแล้ว องค์ความรู้ในท้องถิ่นเอง ภูมิปัญญาชาวบ้าน สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น มันจะทำให้เขาเข้มแข็งขึ้นๆ แล้วในที่สุด เป้าหมายของเราก็คือสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนให้ชุมชน ภาษาอังกฤษก็คือ Cimate Resilience ก็คือ ต้องให้ชุมชนเขาเข้มแข็ง อย่าไปรัฐบาลเข้มแข็ง ไม่ได้ ชุมชนต้องเข้มแข็ง โดยหลักการ ผมก็คิดว่าในอนาคตการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าท่านไม่กระจายอำนาจ ท่านไม่มีทางทำให้ชุมชนหรือชาวนาเข้มแข็งได้ แล้วจะไม่มีใครมาปลูกข้าวให้เรา
ในรายงาน (IPCC) ฉบับที่แล้ว ฉบับที่ 6 เราแนะนำให้ประเทศกำลังพัฒนา ก็เช่นประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการปรับตัว Climate Change Adaptation อย่าไปให้ความใส่ใจมากเกินไปเกี่ยวกับ Mitigation เพราะอะไร? เพราะว่าประเทศไทย เหตุผลหนึ่งคือ ถ้าใช้ Mitigation เมื่อไหร่ เท่ากับว่าใช้เงินมหาศาล เราจะไปเอาเทคโนโลยีจากไหนมาลดก๊าซฯ เราจะเอาเงินจากไหนมาซื้อรถไฟฟ้ากัน มีผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งเขาคุยกับผม เป็นคนอังกฤษ เขาบอกว่าประเทศไทยนี่ตกลงคุณจะรณรงค์ให้ใช้รถไฟฟ้า Mass Transit หรือว่าคุณจะรณรงค์ให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้า เขาถามผม ผมก็เลยงงเหมือนกัน ผมก็ตอบงงไปว่าให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า แล้ว Mass Transit สายสีแดงก็ไม่มีคนขึ้นเลย เห็นไหม มันก็เป็นประเด็นหลักที่ต้องคิด
แน่นอนเพราะเราคิดเแต่เรื่อง Mitigation ใน 100% เขาแนะนำให้ใช้ไปกับ Adaptation มากกว่า 80% เพราะว่าอย่างที่บอก ผลกระทบมันเกิดขึ้นแล้วไงที่เกษตรกร เพราะฉะนั้น คุณจะไปใช้อย่างอื่น จะไปมัวแต่บอกว่า ไปเวทีโลกประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 จะเป็น Net Zero 2065 ตกลงได้อะไร ประเทศไทยได้อะไร ได้หน้าอย่างเดียว ถูกไหม ไม่ได้อะไร ได้หน้า เพราะว่าเราปล่อยไม่ถึง 1% ถูกไหม เราไม่ได้อะไรเลยนะ
ภาคเอกชนไม่ต้องไปบอกเขา เขาจะโดนภาษีสงครามการค้า เขาต้องปรับตัวเองอยู่แล้ว บริษัทใหญ่ในตลาดเขาปรับตัวเอง เขาจะส่งสินค้าไปอเมริกาไปอังกฤษ เขาโดนอยู่แล้วด้วยมาตรการแบบนั้น เพราะฉะนั้น ตรงนี้เองเป็นจุดที่อยากจะให้รัฐบาลใหม่หันกลับมา Adaptation หันมาทำให้เกษตรกร ”ทำน้อยได้มาก” ใช้ innovation เข้าไปช่วยเขา เพราะว่าเราเจอแน่ เดี๋ยวท่วมเดี๋ยวแล้ง เราจะมัวแต่ให้ สทนช.มาบริหารน้ำอย่างนี้มันไม่ได้ ใช่ไหม ชุมชนเองต้องเข้มแข็ง ทำอย่างไร? ก็ innovation เหล่านี้
กี่ปีมาแล้วผลผลิตข้าวของเราก็ยังเหนื่อยอยู่ดี 400 กิโลกรัม ปีหน้าก็ 400 อีก ปีถัดไป 400 กว่าอีก แล้วตกลงเขาจะลืมตาอ้าปากยังไง ใช่ไหม นี่คือประเด็นที่จะเน้นย้ำว่า ให้หันมา Climate Adaptation ให้มากกว่านี้
คุณฐนโรจน์: ก็เป็นความท้าทาย แล้วเราก็มองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโรคระบาด ซึ่งกระทบกับปริมาณน้ำ หรือในเรื่องของ Climate Change ซึ่งเราก็เอามาบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติที่จะต้องมีกระบวนการหรือการปรับตัว ที่อยู่อาศัย หรือในเรื่องของเชิงป้องกัน หรือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แล้วก็ตรงกับอาจารย์ อันนี้คืออยู่ในแผนแม่บทเลยว่า การที่เราจะพยายามไป Mitigation เราต้องปรับตัวด้วย อย่างเช่น พื้นที่ชุมชนที่เป็นวิถีชีวิตอยู่กับน้ำ เราพยายามแต่จะไปสร้างสิ่งก่อสร้างที่พยายามที่จะ protect เราพยายามที่จะมีนโยบายให้ทำในเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของชุมชน เพื่อไม่ต้องไปทุ่มงบในเรื่องของ Mitigation ลดในส่วนนี้ แล้วสิ่งสำคัญก็คือในเรื่องของการนำเอาเทคโนโลยีเอามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการติดตาม หรือเรื่องของการประเมิน
การประเมินปริมาณน้ำอย่างไร 140,000 กว่าแห่ง? ตรงนี้เราก็ร่วมกับทาง GISTDA ใช้ดาวเทียมมาประเมินโดยที่คนไม่ต้องไปลง เราสามารถที่จะรู้ปริมาณน้ำ ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำอยู่ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในส่วนนี้ ซึ่งทั้งหมดเราปรับในเรื่องของแผนแม่บท เราปรับรอบ 5 ปีนี้เป็นตัวใหม่ ซึ่งจะมีในเรื่องของ Climate Change
ในเรื่องของการภาวะโลกเปลี่ยนแปลงที่จะต้องมีการปรับตัว อีกส่วนหนึ่งที่จะเห็นก็คือ ระบบของการระบายน้ำ เดิมเราสามารถรองรับได้ 2 ปี 5 ปี แต่ ณ ขณะนี้เปลี่ยนแล้ว อย่างเกณฑ์ของระบบระบายน้ำสมควรที่จะมีการปรับเพิ่มหรือไม่ หรือระบบในการที่จะป้องกันน้ำท่วม ปัจจุบันเซตไว้ที่ 25 ปี พอมีเรื่อง Climate Change แล้วจะต้องมีการเพิ่มขึ้นไปเท่าไหร่ เพื่อที่จะรองรับภาวะเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้งหมดนี้ เราบรรจุเป็นมาตรการอยู่ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์นานเรียบร้อยแล้ว
ดร.เดชรัต: จริงๆ เรื่อง El Niño แล้วก็ต่อจากปีที่แล้ว ก็คือปีที่มันเป็น La Niña แล้วก็มีน้ำท่วม มันเป็นจุดช่วงเวลาสำคัญที่เราจะทำให้สังคมไทยเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการปรับตัวรับมือกับโลกร้อนหรือในส่วนของ Adaptation แต่ว่าสิ่งที่จะทำให้เราปรับตัวได้ มันต้องมีองค์ประกอบอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง หนึ่งก็คือการสื่อสารที่ชวนให้คนคิดวางแผนร่วมกัน อันที่ 2 ก็คือมีความรู้ความเข้าใจที่จะสามารถที่จะลงมือปฏิบัติการได้ ยกตัวอย่างที่เมื่อสักครู่เราคุยกันเรื่องการประเมินด้วยดาวเทียม ในแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตอนนี้ข้อมูลอยู่ที่ส่วนกลางมี แต่ว่าเรากระจายข้อมูลเหล่านี้ไปอยู่ที่ส่วนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่โดยใช้ channel อย่างไร แล้วมันทำให้เกิดการหารือ ก็คือข้อสื่อสารข้อแรก แล้วมันนำไปสู่การที่จะวางแผนเหมือนอย่างที่คุณประฏิพัทร์ชวนให้เกิดการวางแผนในพื้นที่ได้อย่างไร แล้วก็ข้อสุดท้ายก็คืออย่างที่ท่านอาจารย์เสรีพูดถึง ก็คืองบประมาณที่จะทำให้เขาสามารถที่จะดำเนินการได้ตามแผนที่เขาวาง รวมถึงเรื่องอำนาจด้วย 3 อย่างนี้มันเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องสื่อสารว่านี่คือเรื่องที่คุณจะต้องรับมือ และจริงๆ เรารับมือได้ และรัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้คุณจัดการได้
แต่ตอนนี้ message ของเรามันไปไม่ได้ทั้ง 3 ตัว คือไปได้แต่ว่าไม่เต็มที่ทั้ง 3 ตัว อย่างเช่น ประเมินได้ไหม บางที่ก็อาจจะประเมินได้ บางที่ก็ประเมินไม่ได้ อย่างนี้ ทำได้ไหม ก็ต้องขออนุญาต บางที่ก็ทำ ได้ส่วนใหญ่ก็ทำไม่ได้ งบประมาณก็ติดขัด มันก็เลยวนกลับมาว่าหลายๆ เรื่องเราไม่อยากรู้เท่าไหร่หรอก ถ้าเราไม่สามารถลงมือได้ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่กระทบกับเรา และเราลงมือได้ เรามีทางเลือกมากพอในการที่จะจัดการ คิดว่ามันก็เป็นเรื่องที่ประชาชนพร้อมที่จะลงมือพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน เราจะเห็นว่าโจทย์ใหญ่ที่สุดของ Adaptation เป็นเรื่องเกษตร จริงๆ ไม่ใช่เรื่องเกษตรเรื่องเดียว เรื่องเมืองก็ใช่ แต่ว่าโจทย์ใหญ่คือเรื่องเกษตร
คราวนี้พอถามว่าโจทย์ใหญ่ฝั่ง Mitigation ถ้าสมมติยังทำต่อ ยังไงก็ต้องทำ แต่ว่าถามว่ามันจะอยู่ในฝั่งไหน คำตอบก็คือฝั่งพลังงาน แล้วก็อุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น กลไกการมีกรมโลกร้อนที่อยู่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่กลไกที่จะตอบโจทย์การทำงานในเชิงข้ามกระทรวง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องรอดูพระราชบัญญัติ อันนี้สำคัญมากกว่าชื่อกรม เพราะว่าชื่อกรมก็คือชื่อกรม แต่กรมชื่อนี้จะมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพระราชบัญญัติซึ่งกำลังจะมีมา ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนเลือกตั้งเขาเคยบอกว่าน่าจะเข้าสภาได้ประมาณเดือนกันยายน ตุลาคม หรืออย่างช้าไม่เกินปลายปีนี้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องรอดูในตัวพระราชบัญญัติว่าโครงสร้างการทำงานเรื่องโลกร้อนของเราจะดีขึ้นหรือเปล่า
คุณทรงพล: ทุกอย่างลงภาคเกษตรหมด แล้วผมถามว่าภาคเกษตรได้อะไรทุกวันนี้ มันลงมาทุกสมัย อะไรก็แล้วแต่ภาคเกษตรไอ้โน่นดีไอ้นี่ดี ถามว่าเกษตรกรก็ยังเหนื่อยที่สุด ยังจนที่สุด แล้วจะตอบโจทย์ตรงไหน คือทุกวันนี้ ถ้าเรายังไม่ไปถึงภาคเกษตรจริงๆ ภาคเกษตรจะทำอะไรรู้คนสุดท้ายแล้วจะทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีได้อย่างไร นี่คือปัญหาเลย ปัญหาใหญ่เลย ทุกพรรคทุกการเมืองจะลงอะไร ภาคเกษตร เรายิ้มแล้วทุกอย่างจะได้ดี พอเลือกตั้งไปแล้ว พออะไรแล้ว ผลสุดท้ายก็เหมือนเดิม เหมือนเดิมเกือบทุกสมัยเลย จะเป็นอย่างนี้มาตลอด ผมทำนามาหลายเทคนิคก็ยังเป็นอย่างนี้ เพราะอะไร? เพราะผลสุดท้ายก็สั่งการจากบน ไม่เคยที่จะบอกว่าสั่งจากล่างขึ้นบน ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น สั่งจากบนลงล่างก็อยู่แค่หน่วยงาน ภาคเกษตร หน่วยงานไปทำก็ไป อยู่ดีๆ เกษตรกรก็ได้รับ เขาให้มาทำโน่นทำนี่ เขารู้จริงไหม รู้ไม่จริง คือเขาไม่รู้ก่อนว่าจะทำ แล้วผลสุดท้ายทำไปก็เจ๊งทำไปก็ล้มเหลว นี่คือหนี้สะสมอย่างที่ท่านสมนึกได้พูด หนี้สะสม ทำยังไงตรงนี้ คุณต้องล้างไพ่ตรงนี้ ทำไงจะช่วยเกษตรกรลดหนี้ก่อน เกษตรกรเป็นคนที่ทำงานหนักที่สุด เหนื่อยที่สุด แล้วก็จนที่สุด ทำยังไงให้คนตรงนี้กลับมาอยู่ขึ้นกลางๆ ได้
คุณประฏิพัทร์: เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดในชีวิต ผมว่ามันขึ้นอยู่กับว่าเป็น ( รัฐบาล) แล้วทำหรือเปล่า คือถ้านายกฯ ดีแค่ไหน ถ้านโยบายที่ประกาศไว้แล้วไม่ทำตาม ที่พูดมาก็เท่านั้น
El Niño คือโอกาสที่ดีที่สุดของหน่วยงานราชการ El Niño คือโอกาสที่ดีที่สุดของหน่วยงานภาครัฐ ท่านจะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้กับพี่น้องประชาชนอยู่รอดในอนาคต อย่ามองว่า El Niño คือเพชฌฆาตร้าย แต่ El Niño คือโอกาสที่ท่านจะพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อรองรับรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลนของเราในอนาคต ผมมองว่า El Niño คือโอกาส สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาลควรที่จะทำก็คือ ท่านต้องกระจายอำนาจอย่างที่บอก ลงก่อน ยังไม่ต้องไปลงผู้ว่าฯ ลงไปท้องถิ่นเลย วันนี้ท้องถิ่นที่มันทำไม่ได้เพราะมันไม่มีหน่วยงานกรมกองที่เกี่ยวข้อง อบต. เทศบาล มีกองเกษตรกรรมไหม ไม่มี พอเขาไม่มีกองเกษตรกรรม เขาจะเอาหน่วยงานที่ไหนมารับผิดชอบด้านนี้ งานเทศบาล งานประปาเขาก็ทำเกี่ยวกับประปา ถูกไหม การกระจายอำนาจหลักๆ
ส่วนต่อมาก็คือว่า เมื่อเราเห็นโมเดลไหนก็ตามที่ดูแล้วมันเข้าท่ามันประสบผลสำเร็จ ขยายสิ พื้นที่ ถ้าท่านยอมรับในสิ่งที่ผมทำอยู่ว่ามันประสบผลสำเร็จและมีผล ท่านขยายทั้งโครงการมโนรมย์ได้ไหม จาก 20,000 ไร่เป็น 300,000 ไร่ กำกับโดย สทนช. เป็นพี่เลี้ยงได้ไหม ถูกไหม ท่านขยายโอกาสหลังจาก 300,000 ไร่ แล้วก็กระจายเข้าไป แน่นอน งบประมาณมาไม่ได้ทั้งหมดหรอก แล้วโครงการที่พี่น้องเกษตรกรจะได้รับเงินแจกต่างๆ ชะลอไว้ก่อน ท่านรู้ไหมว่าการปรับปรุงระบบชลประทาน ใช้ต้นทุนในราคาไร่ละประมาณ 10,000 บาท ท่านทำ 1 ล้านไร่ ทั่วประเทศใช้เงิน 1 ล้านบาทแล้วท่านจะเป็นอย่างที่เราทำ
ถามว่าจะหยุดเกษตรกรทำนาได้ยังไง ถ้าผมเป็นรัฐบาล ง่ายมาก สมมติว่าผมจะให้คลอง 2 หยุดทำนา ผมเอางบประมาณไปให้เขาพัฒนาคลอง ปรับปรุงคลอง ในช่วงที่เขาปรับปรุงพัฒนา เขาก็ต้องหยุดทำนา เพราะไม่มีน้ำเข้าไม่มีอะไรเข้า พอเขาหยุดแล้วปุ๊บโอกาสปีหน้าครั้งใหม่มาเขาใช้ได้ผล win-win ท่านได้พัฒนา เกษตรกรได้หยุดทำนา เรื่องง่ายๆ ดังนั้น อะไรก็ตามบางครั้งผมมองว่าเราอาจจะคิดเยอะไปหรือคิดน้อยไปก็แล้วแต่ แต่สิ่งใดก็ตามหน่วยงานภาครัฐเอง พี่น้องประชาชนเอง ต้องร่วมมือกันอยู่แล้ว ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน สทนช.จะนั่งอยู่ข้างบน ชลประทานนั่งอยู่ตรงกลาง ประชาชนจะนั่งอยู่ด้านล่างก็แล้วแต่ เราต้องร่วมมือกัน
ณ วันนี้ สิ่งที่จะเรียกร้องก็คือว่า ลงพื้นที่รับรู้รับทราบปัญหา
FB LIVE RECORDING: DIALOGUE FORUM 2 | YEAR 4: El Niño, from Global Warming to Global Boiling
