อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ขึ้นป้ายต้อนรับนักท่องเที่ยวตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล Credit:Thai Gov

การท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปกป้องสิ่งแวดล้อมหลังโควิด 19

วิกฤตโควิดทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเนื่องจากการเดินทางที่หยุดชะงัก โดยในปี 2562 ประเทศไทยเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึงปีละ 3 ล้านล้านบาทหรือราว 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า วิกฤติเดียวกันก่อให้เกิดบทเรียนที่สำคัญในการปรับปรุงการท่องเที่ยวที่เคยสร้างผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า การท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity based tourism) ดร.เพชร มโนปวิตร ให้ความคิดเห็น

วิกฤตโควิดทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากการเดินทางที่หยุดชะงัก ในปี 2562 ประเทศไทยเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึงปีละ 3 ล้านล้านบาทหรือราว 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ที่ผ่านมาการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้สร้างผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ

การฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังจากนี้จึงจำเป็นต้องเน้นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่มีผลตอบแทนสูง สร้างผลกระทบน้อย เพิ่มการกระจายรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และแนวทางการฟื้นฟูสีเขียว (Green Recovery) ที่มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมไปกับการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม

หนึ่งในแนวทางที่เป็นไปได้คือ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity-based Tourism) ซึ่งกลับมาให้คุณค่าของต้นทุนธรรมชาติของประเทศ และสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวแบบ New Normal ให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง 

ประเทศไทยจัดได้ว่ามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูงมาก โดยในปี 2562 เรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศถึง 40 ล้านคนสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก และจากรายงานการประเมินศักยภาพความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว 140 ประเทศทั่วโลกของ World Economic Forum เราอยู่ในอันดับ 10 ในด้านคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ อันดับ 17 ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการบิน อันดับ 21 ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการนักท่องเที่ยว แต่เมื่อพิจารณาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเราตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 130 ซึ่งตอกย้ำความจริงที่ว่า เรามีของดีอยู่กับตัว มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริการ แต่สอบตกเรื่องการจัดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง

ในปี 2555 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มีการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับแรก (2555-2559) ขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการการท่องเที่ยวและสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ตลาดการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นกว่า 15% เกินเป้าหมายในช่วงระยะเวลา 5 ปี แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2 (2560-2564) ได้พยายามสานต่อโครงการต่างๆ และเตรียมพร้อมตลาดการท่องเที่ยวเพื่อรองรับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังเห็นได้จากยุทธศาสตร์ล่าสุดขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (DASTA) ที่มุ่งพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ได้มาตรฐานสากล

เช่นเดียวกับแนวคิด 7 Greens หรือการท่องเที่ยวสีเขียวที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งมีตั้งแต่ หัวใจสีเขียว เพื่อการสร้างจิตสำนึกของนักท่องเที่ยว รูปแบบการเดินทางสีเขียว เพื่อส่งเสริมการลดคาร์บอน แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว หรือแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจกรรมสีเขียว เพื่อสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลายไม่ทำลายธรรมชาติ ชุมชนสีเขียว เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บริการสีเขียว เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใส่ใจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และกรีนพลัส เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของผู้ประกอบการ

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ภาคใต้พร้อมกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวเร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกำลังเป็นที่จับตาว่าจะสำเร็จและนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหรือไม่

แม้จะมียุทธศาสตร์และกรอบการดำเนินการที่ครอบคลุมครบถ้วน แต่ดูเหมือนว่าผลสำเร็จของแนวคิดการท่องเที่ยวสีเขียวจะยังคงจำกัดอยู่ในลักษณะโครงการนำร่องหรือพื้นที่สาธิตจำนวนไม่มาก แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่เป็นที่นิยมหลายแห่งยังคงประสบกับปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกินความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ขยะ มลภาวะ น้ำเสียล้วนสะสมจนเกิดปัญหาต่อสัตว์ป่าและมากเกินความสามารถในการจัดการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่นับกรณีบุกรุกหรือครอบครองพื้นที่อย่างผิดกฎหมายเพื่อก่อสร้างที่พัก โรงแรม รีสอร์ตต่างๆ ดังเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ

เมื่อทรัพยากรธรรมชาติเกิดความเสื่อมโทรม หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลปกป้องทรัพยากรโดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชก็ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากสั่งปิดพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้แหล่งท่องเที่ยวมีการฟื้นฟูและจัดระเบียบใหม่ ดังเช่นกรณีของเกาะตาชัย ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อ่าวมาหยา ในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี หรือการสร้างรีสอร์ตผิดกฎหมายบนเกาะอาดัง ภายในอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา

ในมุมมองของหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมการท่องเที่ยวจึงถูกมองเป็นหนึ่งในปัจจัยคุกคามสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ดังจะเห็นได้จากรายงานแห่งชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพฉบับล่าสุด พ.ศ.​ 2562 (ฉบับที่ 6) ระบุว่าภาคส่วนต่างๆ ยังขาดการบูรณาการที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกลไกและเครื่องมือในการติดตามผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยว รายงานฯ ยังระบุด้วยว่า ควรมีการพัฒนามาตรการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้มาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงความอ่อนไหวของระบบนิเวศและปัจจัยคุกคามอื่นๆเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ฉะนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเปลี่ยนการท่องเที่ยวให้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการอนุรักษ์ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับรากหญ้า

นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวชมธรรมชาติที่พักฟื้น ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงการระบาดของโควิด 19 รอบแรกในปีที่แล้ว

Biodiversity based tourism

เราสามารถตอบคำถามนี้ได้ด้วยข้อเท็จจริงว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้จะเป็นประเทศขนาดไม่ใหญ่มากแต่ติดอันดับท็อป 16 เมื่อพิจารณาถึงความหลากหลายของสัตว์มีกระดูกสันหลังและไม้ยืนต้น มีระบบนิเวศหลากหลายตั้งแต่ป่าไม้ ภูเขา เกาะ พื้นที่ชายฝั่งและทะเล ไปจนถึงระบบนิเวศเกษตรดั้งเดิม เรามีพื้นที่ป่าไม้ราว 100 ล้านไร่ หรือราว 32% ของพื้นที่ มีพื้นที่เกษตรกรรมอีกราว 150 ล้านไร่ หรือ 46% และมีพื้นที่ชุ่มน้ำในแผ่นดินอีกถึง 11 ล้านไร่ หรือกว่า 3% ของพื้นที่ประเทศ ยังไม่รวมพื้นที่ชายฝั่งทะเลกว่า 3,000 กิโลเมตร เกาะขนาดใหญ่และเล็กอีกเกือบ 1,000 เกาะ พื้นที่เหล่านี้คือแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพชั้นดีที่มีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวได้

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกพื้นที่ธรรมชาติที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว อันดับแรกสุดคือ พื้นที่นั้นๆ จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์ ปกป้องและมีการจัดการดูแล จุดแข็งสำคัญอีกอย่างของประเทศไทยในเรื่องนี้คือ ระบบพื้นที่คุ้มครอง(protected area system) ที่มีความก้าวหน้ากว่าหลายประเทศในเอเชีย และกล่าวได้ว่าไม่น้อยหน้าใครในโลก

เรามีพื้นที่คุ้มครองครอบคลุมพื้นที่ทางบกประมาณ 17% ทางทะเลราวๆ 6% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งรวมถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 147 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 58 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 67 แห่ง และวนอุทยานอีก 120 แห่ง พื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้ส่วนมากถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและยังคงเผชิญแรงกดดันในการใช้ประโยชน์หลากหลายรูปแบบโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศดั้งเดิม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การตัดถนน สร้างอ่างเก็บน้ำ รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity-based Tourism) คือการบูรณาการการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับภาคการท่องเที่ยวและเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ประโยชน์จากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่อาศัยความหลากหลายทางชีวภาพเป็นตัวชูโรง ซึ่งอาจเป็นชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่โดดเด่นในธรรมชาติ ชนิดนกที่พบได้ในบริเวณที่พัก พันธุ์พืชที่มีลักษณะพิเศษ หรือสมุนไพรที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน กล่าวอีกนัยหนึ่ง หมายความว่า ทุกๆ กิจกรรมจะหันกลับมาให้คุณค่ากับความหลากหลายทางชีวภาพ และนำเอาสถานภาพของความหลากหลายทางชีวภาพมากำหนดเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ

การทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพกลายเป็นจุดดึงดูดและสร้างมูลค่าเพิ่ม จะช่วยให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรม พูดง่ายๆ คือการทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านร้านถิ่น ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ช่วยให้เกิดการอนุรักษ์โดยธรรมชาติ และจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าไปในตัว

การพัฒนาการท่องเที่ยวดูสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นแนวทางหนึ่งที่เราพอจะเห็นภาพความสำเร็จได้จากการพัฒนาการท่องเที่ยวดูช้างป่าและกระทิง ตามแนวคิด “ซาฟารีเมืองไทย” ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีการจัดตั้งชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี กลุ่มช้างป่ากุยบุรีโฮมสเตย์ และมีการอบรมการเป็นไกด์นำเที่ยว  ซึ่งทำให้ชาวบ้านที่เคยมีความขัดแย้งกับช้างเนื่องจากความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรเริ่มที่จะเห็นทางออกในการอยู่ร่วมกันกับช้าง นอกจากนั้น ยังช่วยเพิ่มโอกาสในเรื่องของกิจกรรมท่องเที่ยว ที่พัก และการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีความยั่งยืนมากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ดึงดูดช้างอย่างสัปปะรด 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยมคือการทำบ่อน้ำเทียมในพื้นที่ชายป่าอนุรักษ์เพื่อให้นกและสัตว์ป่าได้มาใช้ในช่วงฤดูแล้ง พร้อมกับการสร้างซุ้มบังไพรไว้ให้นักท่องเที่ยวได้สามารถเฝ้าดูพฤติกรรมและถ่ายรูปได้ในระยะใกล้ ถ้าในสมัยก่อนพื้นที่ขอบนอกเหล่านี้คือแดนเสี่ยงภัยของสัตว์ป่าอย่างแท้จริง เพราะถ้าสัตว์ป่าเผลอออกนอกแนวเขตอนุรักษ์เมื่อไหร่ก็เสี่ยงที่จะถูกล่าได้ง่ายเมื่อนั้น แม้กฎหมายจะให้ความคุ้มครองก็ตาม

กระแสการทำบ่อน้ำนกอย่างเป็นล่ำเป็นสันน่าจะเกิดขึ้นรอบๆ เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นที่แรก คำแนะนำจากเจ้าของรีสอร์ตที่บอกต่อๆกัน ทำให้การทำบ่อน้ำเทียมเริ่มได้รับความนิยม เพราะถ้ามีนกป่าเข้ามาใช้ รีอสร์ตแห่งนั้นก็จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวน่าดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยวคนเมืองขึ้นมาทันที โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มนักดูนก เจ้าของบ่อนกก็จะได้รายได้จากค่าเข้าชม เก็บกินกันได้ไปยาวๆ แทนที่จะอาศัยการล่าสัตว์เป็นรายได้เสริมเช่นในอดีต

ปัจจุบันพื้นที่บ้านพุไทร ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเคยมีปัญหาการล่าสัตว์ค่อนข้างมาก ได้เกิดชมรมอนุรักษ์นก สัตว์ป่าและธรรมชาติบ้านพุไทรขึ้น และมีการจัดทำบ่อน้ำเทียมและบริการซุ้มบังไพรที่สะดวกสบายให้กับผู้มาเยือนจำนวนกว่า 10 บ่อ จากที่เคยเป็นแค่บ่อล่อนก ปัจจุบันแหล่งน้ำเหล่านี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญให้กับผู้มาเยือน บางช่วงอาจมีนกและสัตว์ป่าออกมาให้เห็นตลอดทั้งวันกว่า 20 ชนิด รวมทั้งนกที่หาดูได้ไม่ง่ายอย่าง  นกแว่นสีเทา นกกระทาดงแข้งเขียว ไก่ฟ้าหลังเทา นกกระรางสร้อยคอใหญ่ นกกระรางหัวหงอก หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง กระจงหนู

เมื่อเจ้าของรีสอร์ตเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ ก็เริ่มมีการปรับปรุงพื้นที่รอบๆ ที่พักให้เอื้อต่อชนิดพันธุ์ดั้งเดิมมากขึ้น มีการปลูกไม้ผลที่เป็นพืชอาหารนก ปลูกไม้ดอกที่ช่วยล่อแมลงและผีเสื้อ บางแห่งมีการนำผลไม้มาวางให้เป็นอาหารเสริมและช่วยให้นักท่องเที่ยวพบเห็นตัวนกได้ง่ายขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นแนวโน้มที่น่าส่งเสริมเพราะช่วยทำให้พื้นที่โดยรวมเอื้อต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น

หลายคนอาจคิดว่าคงจะมีพื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาการท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าวไม่กี่แห่ง แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เราขาดคือความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่นนั้นๆมากกว่า เพราะแทบจะทุกแห่งหนในประเทศไทยล้วนมีพื้นที่ธรรมชาติหรือพื้นที่คุ้มครองที่มีศักยภาพที่อยู่ไม่ไกลเกินไป นอกจากนี้เรายังสามารถปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบๆที่พักให้เอื้อต่อการดำรงอยู่ของธรรมชาติได้ไม่ยากเลย ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือริมป่า เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการปลูกไม้ยืนต้นและพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้หลากหลาย มีไม้ผล ไม้ดอก มีแหล่งน้ำให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้พึ่งพิง ปรับปรุงการรูปแบบการให้ข้อมูล ทำให้นักท่องเที่ยวเห็นคุณค่าของธรรมชาติรอบๆตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการสร้าง “สตอรี่” และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งสิ้น 

กวางป่าออกมาพักผ่อนใกล้โซนบริการนักท่องเที่ยวในวันที่ไร้นักท่องเที่ยว ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

การที่กิจกรรมท่องเที่ยวหยุดชะงักไปในช่วงโควิดทำให้เราได้เห็นปรากฏการณ์สัตว์ป่าร่าเริง เต่าทะเลหวนคืนกลับมาวางไข่บนหาดที่ไม่มีรายงานมานับสิบๆปี อย่างเต่าตนุบนเกาะสมุย เต่ามะเฟืองที่หาดไม้ขาว หาดกะตะ เกาะภูเก็ต มีการพบพะยูน หากินในบริเวณชายฝั่ง บ้านเพ จังหวัดระยอง ปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่า พื้นที่หลายแห่งในประเทศไทยยังมีศักยภาพเป็นแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติที่สำคัญ แม้แต่แหล่งท่องเที่ยวที่มีการพัฒนาเต็มรูปแบบอย่าง เกาะสมุย เกาะภูเก็ต เพียงแต่ต้องมีกฎ กติกา ในการอยู่ร่วมกัน เช่น การงดส่องไฟบริเวณชายหาดยามค่ำคืน มีการกันพื้นที่ป่าชายหาดเป็นแนวกันชนระหว่างที่พัก รีสอร์ตกับชายฝั่งทะเล  

มีแนวทางอีกมากมายที่จะช่วยเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในบ้านเรา ตั้งแต่การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนารูปแบบกิจกรรมที่สร้างผลกระทบต่ำและมีมูลค่าสูงเช่นการพายเรือคายัค การขี่จักรยานชมธรรมชาติ การเดินป่าระยะไกล การเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากิจกรรมต่างๆ พร้อมกับนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าของกิจกรรมและอาหารการกิน ไปจนถึงการนำนวัตกรรมลดโลกร้อนเข้ามาประยุกต์ใช้เช่น รถหรือเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่จะไม่ก่อให้เกิดขยะตกค้าง น้ำยาทำความสะอาดแบบปราศจากสารเคมีเพื่อลดปัญหาน้ำเสียที่จะถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ

แต่ที่แน่ๆ การท่องเที่ยวในยุคหลังจากนี้จะต้องไม่ทำผิดซ้ำเดิมอีก นั่นคือการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงปริมาณโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา เช่นเดียวกับที่เลขาธิการองค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า “ความยั่งยืนจะต้องไม่เป็นเพียงส่วนเล็กๆของการท่องเที่ยวอีกแล้ว แต่จะต้องกลายเป็นหัวใจของทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว”

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ แต่การฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤตการณ์โควิดจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในการรับมือภาวะวิกฤตต่างๆในอนาคต การท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ การส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนกลายเป็นเป้าหมายที่จับต้องและตรวจวัดได้  ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพพจน์ใหม่ (Rebranding) ให้กับการท่องเที่ยวเมืองไทยอย่างแท้จริง

บรรยากาศยามเช้า ณ ทุ่งแสลงหลวง จังหวัดเพชรบูรณ์